ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 56993 ครั้ง

ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง


บทความนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากบทความทางวิชาการซึ่งผู้เขียนนำเสนอและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 1 ปะจำปี พ.ศ.2552 สาระสำคัญเชิงเนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนได้นำมาแบ่งเป็นหลายตอนนี้ ได้นำเสนอองค์ความรู้เชิงแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน รวมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์การ อันจะช่วยโน้มนำหรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ในเชิงการรับรู้เครื่องมือของการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การของผู้สนใจทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วย


มิติชี้วัดสุขภาพองค์การ

ไมลส์ (Mile, 1969)  ได้เสนอบทความกล่าวถึงการศึกษาสุขภาพองค์การไว้ว่าเป็นการวางแผนการเปลี่ยนแปลงองค์การ ในหนังสือชื่อ “Organizations and Human Behavior: Focus on Schools”  โดยแบ่งลักษณะของสุขภาพองค์การหรือมิติที่ใช้ชี้วัดสุขภาพองค์การ (Miles’s Dimensions of Organizational Health) ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของระบบ 3  ด้าน รวม 10 มิติ  ดังนี้  


1. ความต้องการด้านภารกิจ
(Task Needs)  พิจารณาจาก


  
1.1 ความชัดเจนของเป้าหมาย (Goal Focus) หมายถึง การที่บุคคลในองค์การต้องเข้าใจและยอมรับเป้าหมายองค์การ ซึ่งจะต้องมีความเป็นไปได้และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม


  
1.2  ความเพียงพอของการสื่อสาร (Communication Adequacy) หมายถึง องค์การต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอก ต้องมีข้อมูลข่าวสารที่พร้อมเสมอใน   การวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาองค์การ


2.
  ความต้องการด้านบำรุงรักษา (Maintenance Needs) พิจารณาจาก        


  
2.1  การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ (Resource Utilization) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารในการจัดสรรทรัพยากร ประเภทสื่อ วัสดุการเรียน งบประมาณ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เหมาะสมกับความต้องการของครูและนักเรียน เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างสูงสุด


  
2.2 ความสามัคคี (Cohesiveness)  หมายถึง การมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันต้องการที่จะคงอยู่ในองค์การ มีความเคารพซึ่งกันและกัน 


  2.3  ขวัญและกำลังใจ (Morale)  หมายถึง ความรู้สึกในจิตใจที่ดีของคณะครูในโรงเรียนโดยแสดงความเป็นมิตรรักใคร่สนิทสนม มีน้ำใจกว้าง ไว้ใจซึ่งกันและกันมีความกระตือรือร้นที่จะสอน ช่วยเหลือกันทำงาน มีความเต็มใจและภูมิใจที่จะปฏิบัติงานในโรงเรียนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ 


 
3. ความต้องการด้านความเจริญและการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ (Growth  and Changefulness Needs or Growth and Development Needs)  พิจารณาจาก


  
3.1 การมีนวัตกรรมใหม่ (Innovativeness) หมายถึง การคิดค้นวิธีการแนวคิดใหม่ ทางการศึกษาขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาและสนองความต้องการต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาให้สูงขึ้น


  
3.2 ความเป็นอิสระ (Autonomy) หมายถึง การเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระในการตอบสนองความต้องการของสภาพแวดล้อม 


  
3.3 การปรับตัว (Adaptation) หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว มั่นคงทนต่อความเครียดที่เกิดจากความยุ่งยากที่เกิดจากกระบวนการปรับตัวได้ดี 


  3.4 ความเหมาะสมของการแก้ปัญหา (Problem-Solving Adequacy) หมายถึง
ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดและเกิดความตึงเครียดน้อยที่สุด


จากที่ได้กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า มิติที่ใช้วัดสุขภาพองค์การทั้ง
10 มิติตามข้อเสนอของไมลส์นั้น   เป็นแนวคิดที่กำหนดขึ้นมาภายใต้กรอบแนวคิดขององค์การที่เป็นระบบเปิดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อันมีลักษณะของการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างระบบย่อยตลอดเวลา   และโดยประการนี้เอง  สุขภาพองค์การจึงนับเป็นผลผลิต (Output)  ที่ออกมาจากระบบ อันแสดงถึงความสามารถขององค์การ  ซึ่งเมื่อมององค์การ
ในเชิงระบบ เฮอร์เซย์และแบลนชาร์ด (
Hersey & Blanchard, 1993: 9-10)  ได้เสนอไว้ว่า องค์การมีระบบย่อยที่เป็นองค์ประกอบเปรียบเทียบได้เช่นเดียวกับระบบมนุษย์ (Human  Systems)  อันมีระบบย่อยของมนุษย์ (Human Sub-system) ระบบโครงสร้าง (Structural Sub-system) ระบบข้อมูลข่าวสาร (Information Sub-system) และระบบเทคโนโลยี (Technological Sub-system)  เป็นส่วนประกอบ ซึ่งในแต่ละระบบย่อยนี้จะทำหน้าที่เป็นกลไกการทำงานเช่นเดียวกับอวัยวะของร่างกายมนุษย์ โดยหากองค์ประกอบหรือระบบย่อยสามารถทำงานได้อย่างดี และสัมพันธ์กับระบบย่อยอื่น ก็จะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายในภาพรวมเป็นไปด้วยดีเช่นกัน  เมื่อเปรียบกับองค์การ  การที่ระบอบย่อยขององค์การเกิดปัญหา  จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการทำงานขององค์การในลักษณะของการทำงานที่ไม่สมดุลในที่สุดนั่นเอง 


นอกเหนือจากไมลส์ (
Miles, 1969) แล้ว  นักวิชาการที่มีชื่อเสียงซึ่งได้เสนอเกณฑ์
การชี้วัดความมีสุขภาพองค์การที่ดีกล่าวได้ว่า คือ ฮอยและฟอร์ซิธ (
Hoy & Forsyth, 1986: 156-157) ข้อเสนอตัวชี้วัดสุขภาพองค์การของทั้งสองท่านนี้ ให้ความสนใจกับการบรรลุเป้าหมายพื้นฐานขององค์การตามกรอบการมองหรือกรอบแนวคิดของพาร์สัน (Parsons, 1953) และอีกท่านหนึ่งที่ได้นำเสนอตัวชี้วัดสุขภาพองค์การ หรือองค์ประกอบที่สะท้อนถึงการเป็นองค์การสุขภาพดีที่น่าสนใจได้แก่ โอเวนส์ (Owens, 1991: 222)  ซึ่งกล่าวไว้ว่า  หากองค์การต้องการมีสุขภาพดี  จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์สำคัญ 10 ประการ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่าสอดคล้องกับแนวคิดของไมลส์ ฮอยและฟอร์ซิธ ดังนี้


  1. การมุ่งเน้นเป้าหมาย (Goal Focus)  หมายถึง การที่บุคลากรในองค์การมีความเข้าใจและยอมรับเป้าหมายขององค์การ โดยที่เป้าหมายขององค์การจะต้องมีความเป็นไปได้ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ


  2.  การติดต่อสื่อสารอย่างเพียงพอ (Communication Adequacy) หมายถึง องค์การจะต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ ต้องมีข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศที่พร้อมเสนอประกอบการวินิจฉัยแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินใจทางการบริหารที่ส่งผลกระทบต่อองค์การ


  3. การใช้อำนาจที่เป็นธรรม (Optimal Power Equalization) หมายถึง การที่องค์การมีการกระจายอำนาตอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมในทุกระดับ


  4. การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพ (Resource Utilization) หมายถึง การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น  ทรัพยากรบุคคล มีการใช้งานที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป มีความเครียดในการทำงานน้อย  บุคลากรทำงานโดยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นงานที่เกินตัว มีความพอดีเหมาะสมในการวางตัวและแสดงบทบาทหน้าที่ตามที่องค์การต้องการ มีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง  และไม่เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีต่องานเท่านั้น  หากแต่ยังต้องรู้สึกว่าองค์การช่วยส่งเสริมให้เขามีการเรียนรู้และมีความก้าวหน้า


  5.  ความกลมเกลียว (Cohesiveness) เป็นการมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องการที่จะคงอยู่ในองค์การ มีความเคารพซึ่งกัน เป็นต้น


  6. ขวัญกำลังใจ (Morale) เป็นความรู้สึกที่บุคลากรมีต่อองค์การในลักษณะความพึงพอใจต่อการทำงาน  ซึ่งทำให้บุคลากรมีความสุข และมีความผูกพันที่ดีต่อองค์การ 


  7.
การมีนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovativeness)  หมายถึง การที่องค์การมีความเจริญ พัฒนา และมีการเปลี่ยนแปลง  มีการคิดเป้าหมายใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่


  8. ความเป็นอิสระ (Autonomy) เป็นการเป็นตัวของตัวเอง  มีอิสระในการตอบสนองต่อความต้องการขององค์การและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ


  9. การปรับตัว (Adaptation) หมายถึง การมีความสามาสรถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง  มีความมั่นคง ทนต่อความเครียดที่เกิดขึ้นจากความยุ่งยากของงาน และมีการปรับตัวได้ดี


  10. ความสามารถในการแก้ไขปัญหา (Problem-solving Adequacy) หมายถึง การที่องค์การมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ  ในทางที่สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และเกิดความเครียดจากการจัดการปัญหาน้อยที่สุด


หลักเกณฑ์ชี้วัดสุขภาพองค์การที่เน้นถึงการที่องค์การมีสุขภาพดีที่เสนอโดย โอเวนส์ (
Owens) ดังกล่าว  เวบบ์และคณะ (Webb et al., 1987: 55) ได้ทำการจำแนกแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบใหญ่ๆ  ประกอบด้วย  


  (1) องค์ประกอบสุขภาพองค์การที่เน้นภารกิจ  (The task-centered component)  


  (2) องค์ประกอบ
สุขภาพองค์การภายในองค์การ (The internal state  component) และ


  (3) องค์ประกอบสุขภาพ
องค์การที่เน้นความเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลง (Growth & Changefulness)


ความสนใจของการพัฒนาตัวชี้วัดสุขภาพองค์การปรากฎอย่างแพร่หลายในสังคมวิชาการตะวันตก โดยได้มีการพัฒนาเกณฑ์การชี้วัดที่เน้นไปในด้านประสิทธิผลและความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ  นักวิชาการที่นำเสนอแนวคิดใหม่นี้ได้แก่ ทาร์เทอร์  ฮอยและคอทท์แคมป์
(Tarter, Hoy, and  Kottkamp,1990: 236) ในผลงานเรื่อง “School climate and organizational commitment” ซึ่งได้กำหนดมิติที่ใช้สำหรับชี้วัดสุขภาพองค์การไว้ 5 มิติประกอบด้วย  (1) มิติภาวะผู้นำฉันท์เพื่อนร่วมงาน   (2) มิติการสนับสนุนทรัพยากร (3) มิติขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน (4) การติดต่อสื่อสาร และ   (5) ความสามัคคี  และพัฒนาเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า “Organizational Health Inventory-OHI”  อันได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นทั้งแนวคิดพื้นฐานและเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพองค์การสถานศึกษาอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ผ่านขั้นตอนเครื่องมือที่มีความเน่าเชื่อถือได้ในทางหลักวิชาการ  นอกจากนี้ยังได้แก่  พอดเกอร์สกี้ (T. P. Podgurski, 1990) ซึ่งได้นำเสนอมิติชี้วัดสุขภาพองค์การที่พัฒนาจากแบบวัดสุขภาพองค์การ (OHI) ที่เสนอไว้โดยฮอย และเฟลด์แมน (Hoy & Feldman, 1987) และกรอบแนวคิดของพาร์สัน (Parsonian Perspective)  ไปทดลองใช้กับโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษาจำนวนรวม 78 แห่ง  ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) พบว่า ตัวแปรด้านสุขภาพองค์การที่ใช้วัดลดลงเหลือ 5 ด้าน เรียกว่า “OHI-E”  เป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยองค์การเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน ที่สามารถวัดพฤติกรรมในการทำงานได้ทั้ง 3 ระดับคือ ระดับสถาบัน  ระดับการจัดการ และระดับเทคนิค หรือพิจารณาในเรื่องของการใช้เป็นเครื่องมือ (Instrument) และกิจกรรมที่แสดงออก (Expressive) และเมื่อทราบคะแนนจากการวัดแล้ว  จะสามารถบ่งชี้ได้ว่า องค์การหรือโรงเรียนนั้น มีสุขภาพดี (Healthy) หรือมีสุขภาพไม่ดี (Unhealthy)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที