editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94021 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


อยากได้ผู้นำผู้รับใช้

อยากได้ผู้นำผู้รับใช้

ปีที่ 2 ฉบับที่ 18
18 พฤษภาคม 2552

“The leader shall consider as good, not what pleases himself but what pleases his followers.” Chanakya

คำกล่าวของ Chanakya ผู้นำความคิดของชาวอินเดียในสมัยChandragupta ที่เขียนบันทึกในหลักการปกครองชื่อ Arthashastraเป็นคำสอนให้สังคมตระหนักเสมอว่าผู้นำมีหน้าที่ทำแต่สิ่งดี ที่ไม่ใช่เป็นการตอบสนองความพึงพอใจของตนเองแต่ตอบสนองความพึงพอใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ติดตามเขา Robert K. Greenleaf อดีตผู้บริหารของ AT&T เป็นท่านแรกที่จุดประเด็นเรื่อง ผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership)โดยเขียนในบทความเรื่อง “The Servant as Leader” เมื่อปี 1970 ความคิดหลักของท่านผู้นี้คือ ผู้นำต้องเป็นผู้รับใช้ก่อน (Servant first) คำว่าผู้รับใช้ หมายถึง ความรู้สึกโดยธรรมชาติที่ต้องการรับใช้ผู้อื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจทั่วไปว่า ผู้นำคือผู้ที่มาก่อน (Leader first) ที่ได้รับสิทธิต่างๆก่อนผู้อื่น การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ จะต้องพยายามช่วยให้คนที่เรารับใช้ได้พัฒนาเติบโตเป็นคนเต็มคน (Grow as persons)และเป็นคนที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น (More healthier) มีความฉลาดขึ้น (Wiser) มีเสรีภาพมากขึ้น (Freer) และมีความอิสระเป็นตัวของตัวเอง (Autonomous) มากขึ้น พันธกิจทั้งหมดที่ต้องทำนี้คือบททดสอบที่ดีที่สุด (The Best Test) ในการเป็นผู้รับใช้คน หลักคิดของ Greenleaf ต่อมาLarry Spears ได้นำมาขยายความออกมาเป็นลักษณะของผู้นำผู้รับใช้ (Characteristics of Servant Leaders) ซึ่งมีทั้งหมด10 ประการ ขออนุญาตเอาลักษณะทั้ง10 ประการมาขยายความต่อตามบริบทสังคมไทยดังนี้

  1. Listening การฟัง หมายถึงการตั้งใจฟังเสียงเรียกร้องของคนในสังคมที่ได้รับความเดือดร้อน ฟังด้วยสมาธิเพื่อให้เข้าใจถึงต้นเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่ประชาชนทุกข์ยากลำบาก และผู้นำจะต้องฟังเสียงข้างใน (Inner Voice) เสียงแห่งคุณธรรมในจิตใจเพื่อให้เจริญสติปัญญาในการหาวิธีการดับทุกข์ของประชาชนและตนเอง
  2. Empathy การเอาใจใส่ หมายถึง การเอาใจใส่ในความเป็นมนุษย์ของประชาชน แม้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเขาจะด้อยกว่า เพราะขาดโอกาสหรือเสียโอกาส แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเท่าเทียมกันกับผู้อื่น ดังนั้นเขาจะต้องได้รับความรัก ความเมตตา การดูแลเอาใจใส่ และการยกย่องในลักษณะเดียวกัน
  3. Healing การรักษา หมายถึงการที่ผู้นำเรียนรู้ที่จะรักษาบาดแผลความร้าวฉานที่เกิดขึ้นในสังคม และการรักษาบาดแผลในใจของตัวผู้นำเองให้ก้าวข้ามความรู้สึกเคืองแค้นมาเป็นความรู้สึกคืนดี เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้เยียวยาและสมานความร้าวฉานที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะทุกสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง(Transformation)มีโอกาสเกิดความขัดแย้งและความแตกแยก หน้าที่ของผู้นำคือเป็นผู้นำการบูรณาการ(Integration) ในสังคมโดย การสร้างความปรองดองและการคืนดีกัน (Reconciliation) ของกลุ่มคนที่แตกแยกกันทางความคิดความเชื่อ
  4. Awareness ความตระหนัก หมายถึง การสร้างความตระหนักในหน้าที่ของผู้นำ ย้ำอยู่เสมอในใจ ไม่ให้หลุดจากอุดมการณ์ ไม่ให้หลงอำนาจ ยึดมั่นว่าตนมีหน้าที่ทำความดีให้คนอื่น และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนได้รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมือง(Citizen) ซึ่งมีหน้าที่ (Duty) สิทธิ (Right) และ ความรับผิดชอบ (Responsibility) ต่อประเทศเช่นเดียวกับผู้นำ ที่จะต้องทำแต่สิ่งดีเพื่อประเทศเท่านั้น
  5. Persuasion การชักชวน หมายถึง การที่ผู้นำเลือกใช้วิธีการพูดและสร้างความเข้าใจด้วยการอธิบายให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และจูงใจให้ประชาชนเต็มใจให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม มากกว่าการใช้อำนาจในตำแหน่งเพื่อบีบบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีส่วนร่วม (Participation) ในการรับรู้และตัดสินใจ
  6. Conceptualization มโนคติ หมายถึงความสามารถของผู้นำในการคิดอย่างเป็นระบบถึงอนาคตของประเทศบนพื้นฐานความคิดความฝันที่ยิ่งใหญ่ (Dream great dreams) ซึ่งผู้นำต้องมีความสามารถในการมองปัญหาปัจจุบันอย่างเข้าใจและมีจินตภาพในการคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและก้าวข้ามความจริงปัจจุบันไปสู่เรื่องที่สำคัญกว่าในอนาคต (Think beyond day- to- day realities) เพื่อวางแผนกลยุทธ์สำหรับอนาคตของประเทศ
  7. Foresight มองข้างหน้า หมายถึงความสามารถของผู้นำที่จะเรียนรู้จากบทเรียนความผิดพลาดและความสำเร็จในอดีต เข้าใจความจริงรอบด้านในปัจจุบัน และมองไปในอนาคตเพื่อวางลำดับขั้นในการตัดสินใจในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อไม่เปิดโอกาสให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อีก ความสามารถในการมองอนาคตทำให้ผู้นำเกิดวิสัยทัศน์ และสร้างกลยุทธ์ในการนำประเทศให้สามารถแข่งขันได้บนพื้นฐานความแข็งแกร่งทางความรู้และจริยธรรมเพื่อความเติบโตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและความสงบสุขในสังคม
  8. Stewardship การให้บริการ หมายถึงความสามารถในการช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ โดยใช้ความเป็นผู้นำขับดันทำให้กลไกในกระบวนการทำงานรับใช้ประชาชนขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ทำให้ประชาชนได้รับผลการให้บริการอย่างรวดเร็วเต็มที่ขึ้นจึงเกิดความเชื่อถือ วางใจในผู้นำว่า ผู้นำมีความตั้งใจจริง มีจิตใจให้บริการช่วยเหลือเขาอย่างแท้จริง
  9. Commitment to the growth of people พันธะในการสร้างการเติบโตของประชาชน หมายถึง การที่ผู้นำไม่ได้คิดถึงความเติบโตของตนเองหรือกลุ่มตน แต่คิดถึงความเติบโตอย่างเข้มแข็งของประชาชนและ ความเติบโตของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นความเติบโตและความเข้มแข็งของประเทศชาติ
  10. Building Community สร้างชุมชน ผู้นำมีภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างกันทางความเชื่อและวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกชุมชนเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ขยายความแตกต่างที่มีอยู่ให้เป็นความแยกแตกเพื่อประโยชน์ในการปกครองของตนเอง เมื่อชุมชนเข้มแข็งจะมีภูมิคุ้มกันสามารถปกป้องเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่ต้องคอยรอรับการช่วยเหลืออีกต่อไป ชุมชนจะมีศักดิ์ศรีและพร้อมที่จะพัฒนาจากการเรียกร้องความช่วยเหลือ เป็นการเรียกร้องหาโอกาสไปให้การช่วยเหลือชุมชนอื่นที่อ่อนแอกว่า

การเป็นผู้นำผู้รับใช้ เป็นการนำสังคมด้วยการสร้างสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ในระยะยาว ผู้นำต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทุ่มเทเสียสละในการทำงานหนักและอดทนต่อปัญหามากมายที่รุมล้อมในระยะแรก

พระคัมภีร์ของชาวคริสต์ในบทที่สาวกพระคริสต์ชื่อมาระโกเขียนบทที่ 10 ข้อที่ 43 กล่าวว่า “Whoever desires to become great among you shall be your servant and whoever of you desires to be first shall be slave of all” ผู้ใดปรารถนาเป็นใหญ่ในพวกท่านผู้นั้นจะเป็นผู้รับใช้ของพวกท่าน ผู้ใดก็ตามในพวกท่านปรารถนาจะเป็นเอก ผู้นั้นจะเป็นทาสรับใช้คนทั้งปวง ถึงเวลาที่ผู้นำและนักการเมืองไทยต้องเป็นผู้นำผู้รับใช้แล้วครับ


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที