พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 154420 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


สำนักงานส่งเสริมTPM ทำไมจึงมีความสำคัญมากนัก

ตอนที่ 7: สำนักงานส่งเสริม TPM ทำไมจึงมีความสำคัญมากนัก?

                               การดำเนินการ TPM จะต้องอาศัยบุคลากรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง บุคลากรที่ใช้จะมีทั้งบุคลากรภายในและบุคลากรภายนอกองค์กร เนื่องจากเราต้องการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทักษะและความสามารถในการทำงานของบุคลากรภายในโดยนำปรัชญาของTPM เข้ามาใช้จึงจำเป็นต้องมีผู้นำเข้ามาจากภายนอกซึ่งเราเรียกกันว่า ที่ปรึกษา (TPM Consultant) จะทำหน้าที่นำปรัชญาของ TPM เข้ามาในองค์กรโดยให้แนวคิดในการทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรมากขึ้นกับบุคลากรภายในตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ หัวหน้างานจนถึงพนักงานผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีในการดำเนินการ TPM ก่อนที่จะลงมือทำ จากนั้นที่ปรึกษาจะให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งให้คำแนะนำในการทำ หรือลงมือนำทำกิจกรรมให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่เนื่องจากที่ปรึกษาจะไม่ได้อยู่ร่วมปฏิบัติงานกับบุคลากรภายในทุกวัน อาจจะมาสัปดาห์ละครั้งหรือ 2สัปดาห์ครั้งแต่ส่วนใหญ่ที่ปรึกษา TPM จะมาร่วมงานให้คำปรึกษาเดือนละครั้ง ในช่วงเวลาระหว่างนี้จะไม่มีผู้สอนหรือให้คำแนะนำปรึกษาได้ถ้ามีปัญหาในการทำกิจกรรมของพนักงาน จะต้องรอไปจนกว่าที่ปรึกษาจะมาร่วมงานอีกครั้งหนึ่งซึ่งก็ใช้เวลาเป็นเดือนทำให้การทำกิจกรรมล่าช้าไม่ทันการเสียเวลามากเกินไป

                ดังนั้นในการดำเนินการTPM จะกำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริม TPM ( TPM Promotion Office) ขึ้นในองค์กร TPM ของโรงงานเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการทำกิจกรรม TPM ของบุคลากรภายใน ทำหน้าที่ประสานงานกับที่ปรึกษาภายนอก(TPM Consultant)และช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อบุคลากรภายในขาดความรู้ความเข้าใจในการทำกิจกรรมเท่าที่จะสามารถทำได้ ทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าในการทำกิจกรรม ส่งเสริมการทำกิจกรรมของพนักงานให้สำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ รวบรวมข้อมูลต่างๆที่ใช้ในการทำกิจกรรมและรวบรวมผลงานการทำกิจกรรมของพนักงานที่สำเร็จแล้วมาจัดทำเป็นรายงานเพื่อขอรับรางวัล TPM (JIPM)  กำหนดมาตรฐานแบบฟอร์มต่างๆที่ใช้ในการทำกิจกรรมให้เป็นระบบมีมาตรฐานเดียวกันทั้งโรงงาน ประสานงานกับฝ่ายต่างๆในการวางแผนงานการดำเนินกิจกรรมให้สำเร็จตามแผนงานหลัก (TPM Master Plan) สำนักงานส่งเสริม TPM จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเวลาในการดำเนินการ TPM ในระดับผู้จัดการซึ่งเราเรียกว่า TPM Manager หรือ Chief of TPM Promotion Office ทำงาน Full Time และมีพนักงานประจำสำนักงานอีก 1 คนเพื่อช่วยในการดำเนินการTPM ให้สำเร็จตามแผนงานหลักขององค์กร ในการดำเนินการปีแรกบางโรงงานอาจใช้ บุคลากร Part Time มาทำหน้าที่นี้แต่ในปีต่อๆไปภารกิจจะมากขึ้นจนไม่มีเวลาให้บริการต่อความต้องการขอรับการส่งเสริมสนับสนุนของบุคลากรภายในที่มีการขยายการทำกิจกรรมกันมากขึ้นทั่วทั้งองค์กรจึงต้องหาบุคลากรมาทำงาน Full-Time

และถ้าไม่ใช่คนเดิมปัญหาก็จะตามมาทันทีเพราะต้องมาเรียนรู้กันใหม่อีกดังนั้นถ้าตัดสินใจแต่งตั้งใครที่จะมาทำหน้าที่นี้ก็น่าจะตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นทำ TPM เลยจะดีที่สุด ส่วนอนุกรรมการ (Sub-committee) ทั้ง 8 Pillar ก็จะอยู่ในส่วนของ TPM Promotion Office ด้วยซึ่งจะเป็นทีมงานที่มาช่วยให้ความรู้และคำแนะนำในการทำกิจกรรมของพนักงานฝ่ายต่างๆตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละ Pillar ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหารระดับสูง

                ดังนั้น TPM Promotion Office จะต้องเตรียมบุคลากรมารองรับการดำเนินการ TPM ของโรงงานก่อนล่วงหน้าจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อคัดเลือกบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ในสำนักงานส่งเสริม TPM แล้วก็จะส่งบุคลากรดังกล่าวไปอบรมในหลักสูตร ผู้ประสานงาน TPM ใช้เวลาประมาณ 5 วัน หรือจะหาหนังสือที่เกี่ยวกับการดำเนินการTPM (ควรเป็น TPM-JIPM เพราะถ้าเป็นแนวทางอื่นอาจไม่สามารถนำทางไปสู่การสมัครขอรับรางวัล TPM Award จากประเทศญี่ปุ่นได้จะเสียเวลาเปล่าและแก้ไขยาก) และอีกทางหนึ่งถ้าสามารถหาหยิบยืมคู่มือ สำหรับสำนักงานส่งเสริม TPM( TPM Promotion Office Manual)  จากองค์กรที่ดำเนินการ TPM สำเร็จจนได้รับรางวัล TPM แล้วและเขาได้มีการจัดทำไว้ หรือทางที่ปรึกษาของเขาจัดทำไว้ให้ตอนที่มาเป็นที่ปรึกษาโรงงานนั้นผู้ประสานงานจะได้ทราบแผนงาน ขั้นตอน เอกสาร ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ก่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการให้พร้อมในวันประชุม TPM ของโรงงานทุกครั้ง โดยจะใช้คู่กันกับคู่มือของที่ปรึกษาเอง(TPM Consultant Manual)แต่อาจจะหายากสักหน่อยในเมืองไทย ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นคงหาได้ไม่ยาก

ถ้ามีการเตรียมบุคลากรไว้ดีแล้วการดำเนินการก็จะมีอุปสรรคน้อยแต่ถ้าเตรียมการไม่ดีจะมีปัญหาในการประสานงานระหว่างบุคลากรภายในอย่างแน่นอนเพราะงานของผู้ประสานงาน TPM ต้องเข้าถึงปรัชญาของTPM ให้ได้จะทำอย่างไรจึงจะถ่ายทอดจากที่ปรึกษามาสู่ผู้ประสานงานและHead Pillar แล้วผู้ประสานงานหรือวิทยากรภายในถ่ายทอดลงไปยังพนักงานอย่างทั่วถึงทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างเต็มใจและภาคภูมิใจในผลงานที่ทำออกมา

               ในการดำเนินการ TPM ที่ปรึกษาจะมีแนวทางในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กรให้ได้จากการให้คำปรึกษาแนะนำ (Transition Process of Consultation) ซึ่งที่ปรึกษาแต่ละคนก็อาจจะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไป สำหรับแนวทางของผมจะแบ่งออกเป็น 5 Stage ด้วยกันประกอบด้วย

Stage1. Preparation:  การเตรียมการ หลังจากได้ข้อมูลโรงงานจากการ Fact Finding มาแล้วที่ปรึกษาจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในการออกแบบโครงการให้คำปรึกษาของโรงงานนั้นล่วงหน้าประกอบด้วย

                             1)  กำหนดแผนงานการให้คำปรึกษา

                                2) ออกแบบสื่อการศึกษาสำหรับการให้คำปรึกษา TPM

                                3) เขียนโครงสร้างหลักสูตร

                                4) กำหนดหัวข้อการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของโรงงาน

                                5) จัดทำเอกสารการเรียน

                                6) จัดสร้างสื่อการสอน

                                7) จัดทำแบบทดสอบก่อน-หลัง การเรียนการสอน

                                8) กำหนดแผนการสอน

Stage2. Implementation: การดำเนินการ เมื่อเตรียมการ Stage 1 พร้อมแล้วที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กรผ่านทางบุคลากรภายในตามโครงสร้างองค์กรTPM (TPM Promotion Organization) และโครงสร้างองค์กรปกติ (Overlapping Organization) ประกอบด้วย

                                1) กำหนดวาระการประชุม

                                2) การให้ความรู้ในการทำกิจกรรม TPM

                                3) การให้คำแนะนำปรึกษา

                                4) การวัดผลการเรียนและการทำกิจกรรม

Stage3. Progression: การติดตามความก้าวหน้า เมื่อลงมือทำกิจกรรมแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายหรือไม่ก็จะต้องมีการนำเสนอความก้าวหน้าในการทำกิจกรรมของโรงงาน ฝ่ายและแผนกต่างๆโดยที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆจากการนำเสนอแต่ละครั้งทีมงานที่นำเสนอจะประกอบด้วย

                                1) Project team

                                2) Section team

                                3) Small Group

                Stage4. Activity Report: การรายงานสรุปผลการทำกิจกรรมที่สำเร็จแล้วของ โรงงาน ฝ่ายและแผนกต่างๆโดยเขียนออกมาเป็นบท (Chapter) รวมทั้งหมด 12 บท ตามรูปแบบของ JIPM ประกอบด้วย

                                Chapter 1: Outline of your Company and Plant

Chapter 2: TPM policies and objectives

Chapter 3: TPM Organization and Activities

Chapter 4: Individual improvement (Kobetsu Kaizen) activities

Chapter 5: Autonomous maintenance (Jishu Hozen) activities

Chapter 6: Planned maintenance activities

Chapter 7: Quality Maintenance activities

Chapter 8: Development management activities

Chapter 9: Training and Education activities

Chapter 10: Administrative and other indirect department activities

Chapter 11: Safety,sanitation and environment control activities

Chapter 12: TPM effect and evaluation

 

Stage5. Assessment Award: การประเมินผลงานการทำกิจกรรมเพื่อสมัครขอรับรางวัล TPM จาก JIPM เป็นการประเมินผลการทำกิจกรรมที่ผ่านมา 3-5 ปี เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานการประเมินของJIPM โดยให้ที่ปรึกษาประเมินให้ก่อน (ส่วนใหญ่จะเป็นที่ปรึกษาญี่ปุ่น) หรือจะให้ Assistant Assessor TPM Award ที่ได้รับการฝึกอบรมจาก JIPM ประเมินให้ก่อนสมัครขอรับรางวัลก็ได้จะทำให้เกิดการมองต่างมุมจะได้ช่วยกันขจัดจุดอ่อนและแก้ไขปรับปรุงได้ทันก่อนการตรวจประเมิน

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการTPM 3-5 ปีก่อนสมัครขอรับรางวัล ทางJIPM เขาจะแบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา (Phase) ด้วยกันซึ่งแต่ละช่วงเวลาอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพร้อมของแต่ละโรงงาน เวลาไม่ใช่ตัวกำหนดการสมัครขอรับรางวัล บางโรงงานอาจใช้เวลามากกว่า 5 ปีก็มี แต่ให้ดูการเปลี่ยนแปลงการทำงานจนเกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดโดยเปรียบเทียบผลประกอบการก่อนทำ TPM (BM) กับเป้าหมาย (TPM Target) เป็นเรื่องสำคัญกว่า ซึ่งจะประกอบด้วย

Phase1. Introduction  

เป็นระยะเริ่มต้นในการแนะนำ TPM เข้ามาให้บุคลากรภายในรู้จักและศึกษาเรียนรู้จนมีความรู้ความเข้าใจเข้าถึงปรัชญาของ TPM ช่วงเวลานี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานจะต้องทำให้พนักงานทุกระดับชั้นทุกคนในองค์กรเข้าถึงปรัชญาของ TPM ให้ได้  การให้ความรู้เรื่องแนวคิดพื้นฐานTPM กับพนักงานทุกคนจึงเป็นเรื่องจำเป็น และก่อนลงมือทำกิจกรรมทุกเรื่องจะต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้ก่อนเสมอ อย่าให้พนักงานทำกิจกรรมโดยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการหรือทฤษฎีก่อน ความรู้ในการทำกิจกรรม TPM ทั้ง 8 Pillar และเทคนิคการแก้ปัญหาต่างๆมีอยู่หลายหลักสูตรที่ปรึกษาจะเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้และทำการฝึกอบรมให้ตามความเหมาะสมของระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้ผู้ประสานงานต้องประสานงานกับที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดโดยยึดแผนงานของที่ปรึกษาเป็นหลัก ส่วนในทางปฏิบัติช่วงนี้จะเน้นไปที่การทำกิจกรรมนำร่อง(Pilot Model) เช่น กิจกรรมการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง(Kobetsu-Kaizen)และกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง( Jishu Hozen) จะทำกันที่เครื่องจักรต้นแบบ(Model Machine/Line)โดยใช้ทีมงานระดับจัดการเข้าร่วมทำกิจกรรมเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อนซึ่งเราเรียกกันว่า Manager Model ทั้ง2 กิจกรรมนี้จะต้องทำเป็นตัวอย่างให้สำเร็จผู้ประสานงานจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันการดำเนินการอย่างเต็มที่ ผู้ประสานงานที่มีความรู้และประสบการณ์ก็จะมีอุปสรรคน้อยแต่ถ้าไม่มีหรือมีน้อยอุปสรรคก็จะมากนั่นเอง ถ้าทำกิจกรรมตัวอย่างสำเร็จผ่านการ Audit จากที่ปรึกษาตามระบบการตรวจประเมินมาตรฐานของ JIPM จึงจะถือว่าผู้บริหารเข้าถึงปรัชญาของ TPM เพราะลงมือทำด้วยตนเองเข้าหลักการเรียนรู้ที่ว่า “ เห็น-จำ-คิด-ทำ-รู้ ” ถ้าทำกิจกรรมนำร่อง(Pilot Model)ได้ไม่ดี ก็ควรจะเลิกดำเนินการTPM เสียจะดีกว่า ทำงานแบบเดิมไปไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร จะได้ไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

                ถ้าดูจากโปรแกรมการพัฒนาTPM 12 Step จะเห็นว่า Step ที่ 1-6 ซึ่งจะดำเนินการในปีแรก ส่วนใหญ่จะเป็นงานของสำนักงานส่งเสริมTPM ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมTPM ของบริษัท หรือ โรงงาน(Plant TPM Promotion Committee) ผู้ประสานงานจะต้องทำความเข้าใจแต่ละขั้นตอนให้ดี ถ้ามีอะไรสงสัยหรือไม่เข้าใจก็ให้ขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทันที โดยเฉพาะการเตรียมงานTPM Kick Off  เป็นภารกิจที่สำคัญมาก  เพราะนั่นคือการมองเห็นอนาคตของการดำเนินการ TPM ว่าจะเป็นอย่างไร

                สำหรับกิจกรรมTPM ที่จะทำในPhase 1 นี้ส่วนใหญ่จะดำเนินการที่ Step 7 ก่อนประกอบด้วย

7. 1 การทำกิจกรรม Kobetsu Kaizen (KK)

7.2 การทำกิจกรรม Jishu Hozen (JH)

7.3 การทำกิจกรรม Planned Maintenance (PM)

7.4 การทำกิจกรรม Education and Training (ET)

ผู้ประสานงานต้องเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอน เอกสาร แบบฟอร์ม ข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการให้ความรู้และการทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นให้ได้ โดยขอรับสื่อการศึกษาได้จากที่ปรึกษานำมาจัดเก็บและแจกจ่ายให้เป็นระบบซึ่งสามารถดูได้จากคู่มือ สำนักงานส่งเสริม TPM เมื่อพนักงานมีปัญหาอะไร ในการทำกิจกรรม สำนักงานส่งเสริมTPMจะต้องสามารถให้ความช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว

สรุปแล้วใน Phase 1 นี้ Master Plan จะอยู่ในช่วง Introduction Plan และTransition Process of Consultation จะอยู่ในStage 1-3 เพราะต้องมีการเรียนการสอนการทำกิจกรรม (Pillar) และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (TPM tools, methods and techniques) การดำเนินการก็จะอยู่ที่ 4 Pillar แรก ส่วนการนำเสนอความก้าวหน้าและติดตามผลจากทีมงานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ Pilot Model ของ KK, JH และPM นอกจากนั้นET จะนำเสนอระบบฝึกอบรมเพื่อรองรับการดำเนินการ TPM และรายงานผู้เรียนที่ผ่านหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนไปแล้วและหลักสูตรที่วางแผนจะอบรมสนับสนุนการทำกิจกรรมTPMในเดือนต่อๆไป

Phase2. Expansion

                หลังจากทำกิจกรรมนำร่อง(Pilot Model) สำเร็จแล้วจะมีตัวอย่างการทำกิจกรรมที่ดี ผู้บริหารจะมีความรู้ความเข้าใจในการทำกิจกรรมTPM มากขึ้นจะเริ่มเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้ในบางส่วนเนื่องจากลงมือทำด้วยตนเองทำให้กระบวนการเรียนรู้สมบูรณ์(เห็น-จำ-คิด-ทำ-รู้)จะมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ในการทำกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่ได้รับจากการปฏิบัติจริงในเครื่องจักรต้นแบบ(Model Machine/Line) สู่พนักงานปฏิบัติการได้ตามระบบการฝึกอบรมแบบ Cascade Training (ซึ่งจะเห็นว่าถ้าผู้บริหารและผู้ประสานงานไม่จริงจัง(ทำ)กับ Pilot Model กระบวนการเรียนรู้(เห็น-จำ-คิด-ทำ-รู้)ก็อาจจะไม่สมบูรณ์ การถ่ายทอดความรู้ก็อาจมีอุปสรรค ขาดความมั่นใจแล้วระบบฝึกอบรมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร)

ดังนั้นในPhase 2 นี้จะเป็นเรื่องของนโยบายการขยายกิจกรรมผ่านลงไปยังแผนกต่างๆตามโครงสร้างองค์กรปกติ (Overlapping Small groups) สำนักงานส่งเสริมTPM  Head Pillar และคณะกรรมการส่งเสริม TPM ระดับต่างๆจะต้องร่วมกันวางแผนดำเนินการ TPM (TPM Master Plan Year 2) ให้กับ Small group ต่างๆตามกิจกรรมและระยะเวลาที่กำหนดให้โดยใช้เครื่องจักรต้นแบบเป็นตัวอย่างในการทำกิจกรรม การให้การศึกษาและฝึกอบรมกับ Small group ก่อนลงมือทำกิจกรรมจะต้องเกิดขึ้น สำหรับกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการเพิ่มขึ้นใน Phase 2 นี้อีก 4 Step ประกอบด้วย

Step 8.การทำกิจกรรม Initial Control (IC)

Step9.การทำกิจกรรม Quality Maintenance (QM)

Step10.การทำกิจกรรม Office Improvement (OI)

Step11.การทำกิจกรรม Safety, Health and Environment (SHE)

ดังนั้นจะต้องมีการให้ความรู้ในการทำกิจกรรมกับ Head Pillar และสมาชิกของPillar ทุกคนก่อนเพื่อนำความรู้ไปทำกิจกรรมที่ปรึกษาและผู้ประสานงานจะต้องจัดเตรียมเอกสาร แบบฟอร์มและตัวอย่างการทำกิจกรรมของ Pillar ที่ 5-8 โดยสามารถขอได้จากที่ปรึกษาตามความจำเป็นและเหมาะสม จะเห็นว่าใน Phase ที่2 นี้การทำกิจกรรมของเราก็จะครบทั้ง 8 Pillar โดยทั้ง 8 Pillar จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ 3 Zero นั่นเองการทำกิจกรรมของทั้ง 8 Pillar จะไม่ซ้ำซ้อนกันแต่จะมีลักษณะแบ่งงานกันทำแล้วนำมารวมกันที่เป้าหมายสุดท้ายนั่นเอง

                ใน Phase 2 นี้จะมีการสร้างวิทยากรภายในขึ้นเพื่อให้ความรู้การทำกิจกรรม (Pillar) และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (TPM tools, methods and techniques) กับพนักงานในระดับต่างๆโดยใช้ระบบ Cascade Training และวิทยากรภายในที่จะให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางเทคนิค ในการแก้ไขปัญหา การปรับปรุงและการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเองให้กับพนักงานปฏิบัติการ ผู้ประสานงานจะต้องจัดเตรียมห้องฝึกอบรมและสื่อการศึกษาไว้ให้พร้อมสำหรับการฝึกอบรมถ้าดำเนินการช้ากว่าแผนจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปเพราะ Small group JH Pillar ไม่สามารถทำกิจกรรม JH Step 4 ได้

                สรุปแล้วในPhase2 นี้ Master Plan จะอยู่ในช่วง Expansion Plan และTransition Process of Consultation ก็จะยังอยู่ในStage 1-3 เพราะยังมีการเรียนการสอนการทำกิจกรรม (Pillar) และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (TPM tools, methods and techniques) โดยที่ปรึกษาและET Pillar มีการสร้างวิทยากรภายในขึ้นมาใน Phase นี้ด้วย สำหรับการดำเนินการจะทำกิจกรรมกันครบทั้ง 8 Pillar  ในส่วนการนำเสนอความก้าวหน้าและติดตามผลจากHead Pillar นำเสนอความก้าวหน้าของการทำกิจกรรม (KAI) และฝ่ายและแผนกต่างๆก็จะนำเสนอผลงานที่ทำได้ (KPI) ทีมงานที่นำเสนอผลงานในPhase นี้จะมีทีมงานใหม่ๆที่ขยายการทำกิจกรรมลงไปตาม Overlapping small groups นั่นเอง

Phase3. Establishment

                เมื่อผู้บริหารและพนักงานทุกฝ่ายทุกแผนกมีความรู้ความสามารถในการทำกิจกรรมTPM ในขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว ใน Phase นี้จะดำเนินการขยายการทำกิจกรรมอย่างทั่วถึงและเต็มรูปแบบ(Total) สำหรับการให้ความรู้การทำกิจกรรม (Pillar) และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (TPM tools, methods and techniques)โดยที่ปรึกษาจะหมดไปแต่จะเป็นการให้ความรู้โดยวิทยากรภายในจากทีมงานของ Pillar Education and Training เองซึ่งผู้ประสานงานก็จะอยู่ในทีมงานนี้ด้วย วิทยากรภายในชุดแรกส่วนใหญ่จะมาจากผู้บริหารที่ร่วมกันทำ Pilot Model โดยจะให้ความรู้เรื่องการทำกิจกรรม (Pillar) และเทคนิคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (TPM tools, methods and techniques) ส่วนวิทยากรชุดที่ 2 จะมาจากทีมงานซ่อมบำรุงจะเป็นผู้ให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางเทคนิค ในการแก้ไขปัญหา การปรับปรุงและการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเองให้กับพนักงานปฏิบัติการ

                ใน Phase3 นี้จะมีการนำเสนอผลงานจาก Small group ของฝ่ายและแผนกต่างๆเป็นจำนวนมาก เพื่อขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทั้งในห้องประชุม TPM และพื้นที่ปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายหรือแผนกของตัวเองตาม Overlapping Organization สำนักงานส่งเสริมฯจะต้องเป็นผู้กำหนด Agenda โดยจัดการนำเสนอเป็นPillarๆไปและกำหนดเวลาให้เหมาะสมกับเนื้อหาการนำเสนอทั้งภายในห้องประชุมและบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานของแต่ละ Small group

                การติดตามความก้าวหน้าผู้ประสานงานจะต้องรายงานความก้าวหน้าในการทำกิจกรรมให้ที่ปรึกษารับทราบก่อนเมื่อเริ่มมีการประชุม TPM นั่นคือ กำหนดไว้ในวาระที่ 2 ของการประชุมต่อจากวาระที่ 1 เรื่องแจ้งเพื่อทราบจากประธานคณะกรรมการส่งเสริมTPM หรือจากที่ปรึกษา ทางที่ปรึกษาจะได้ติดตามความก้าว หน้าในการทำกิจกรรม Pillar ต่างๆได้โดยดูจาก KAI และติดตามผลงานจากการทำกิจกรรมของฝ่ายและแผนกต่างๆโดยดูได้จาก KPI เปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

                สำหรับการจัดทำรายงาน(Activity Report) สำนักงานส่งเสริมร่วมกับผู้บริหารและHead Pillar ทำหน้าที่รวบรวมผลงานจากการทำกิจกรรมสำเร็จแล้วและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาจัดทำรายงานโดย จัดทำเป็นบท (Chapter) 12 บท โดยบทที่ 1-3 ผู้บริหารและสำนักงานส่งเสริมฯร่วมกันจัดทำส่วนบทที่ 4-11 Head Pillar ทั้ง 8 Pillar เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และบทสุดท้ายคือบทที่ 12 ทีมผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้ร่วมกันจัดทำรายงาน

                สรุปแล้วในPhase3 นี้ Master Plan จะมาอยู่ในช่วง Establishment และTransition Process of Consultation ก็จะขยับมาอยู่ในStage 3-5 การดำเนินการจะมีการทำกิจกรรมกันครบทั้ง 8 Pillar ทำกันทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายและแผนกต่างๆทีมีการปรับปรุง(Kaizen)กระบวนการทำงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพเมื่อทำการปรับปรุงได้เหมาะสมดีที่สุดแล้ว มีการรักษามาตรฐานให้คงไว้ในหน่วยงานของตนเองขึ้นโดยจัดทำเป็นคู่มือการทำงาน ในส่วนการนำเสนอความก้าวหน้าและติดตามผลจากทีมงานของฝ่ายและแผนกต่างๆก็จะเป็นทีมงานตาม Overlapping small groups นั่นเองแต่จะเน้นไปที่พื้นทีปฏิบัติงานโดยดูที่บอร์ดกิจกรรมและผลงานการปรับปรุง(Kaizen)ที่เครื่องจักร อุปกรณ์ และกระบวนการ

                ซึ่งจะเห็นว่าสำนักงานส่งเสริมTPM มีภารกิจมากมายที่จะต้องประสานงานกับบุคลากรภายในและภายนอก จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมาสนับสนุนการทำกิจกรรมรวมทั้งจัดหา จัดเก็บและแจกจ่าย ข้อมูลทางวิชาการ ให้กับพนักงานที่ทำกิจกรรมทุกคน ดังนั้นการนำ TPM เข้ามาใช้ในองค์กร สำนักงานส่งเสริมTPM ต้องเข้มแข็ง อดทน เรียนรู้ ฝึกฝน มีจิตใจบริการและมั่นใจว่าผู้บริหารระดับสูงไว้วางใจคอยให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานที่มอบหมายให้ตลอดเวลา การดำเนินการTPMจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

                ผมต้องขออภัยด้วยที่บทความตอนที่6กับตอนที่7ห่างกันนานหลายเดือนเพราะขณะนี้ผมเข้าสู่วัยสุดท้ายแล้วจาก 4 วัยคือ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และสุดท้าย วัยผู้เฒ่า (เกษียณ)วัยนี้จะมาพร้อมกับการเจ็บป่วย ถ้าดูแลสุขภาพไม่เป็น ผมเองก็หนีไม่พ้นจึงเกิดโรคแห่งความเสื่อมต้องผ่าตัด บำบัด รักษา เยียวยาเกิดขึ้นกับผมจนได้ แต่การ เกิด-แก่ –เจ็บ- ตาย เป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ทุกคนครับ แต่ในวัยนี้ก็จะเป็นวัยที่มีเวลาให้กับการทำบุญ สร้างประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลังเพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ที่ได้ศึกษาค้นคว้า หรือได้กระทำมาด้วยตนเอง อาจจะทำผิดมาบ้างถูกมาบ้าง เพื่อนำไปเป็นบทเรียนให้สำหรับคนวัยที่ 1-3 จะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกให้เสียเวลา เพราะเวลาชีวิตมีจำกัด เมื่อหมดลมหายใจแล้วก็ต้องทิ้งความรู้ไปจนหมดสิ้น เวลาจึงเป็นสิ่งมีค่าเราจึงต้องเลือกเรียนรู้แต่สิ่งจำเป็นเท่านั้น คนวัยนี้ยินดีอุทิศรอยเท้าที่ต้องถากถางทางเดินบุกเบิกลำบากยากเข็นจนเป็นถนนให้คนรุ่นหลังเดินตามมาโดยไม่คิดค่าผ่านทาง  หากใครที่มีทางเดินใหม่ที่สะดวกและสั้นกว่าที่ผมเขียนลงในบทความนี้ก็ขอให้มาช่วยกันแก้ไข หรือแนะนำปรับปรุงกันมา อุตสาหกรรมบ้านเราจะได้พึ่งพาตนเองได้ เพราะตอนนี้เราต้องพึ่งพาชาวต่างชาติอยู่เกือบทุกเรื่องแม้แต่การทำ TPM บริษัทใหญ่ๆในเมืองไทยก็ยังต้องใช้ชาวต่างชาติเป็นที่ปรึกษา ผมจึงหวังว่าถ้าพวกเราช่วยกันศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา การดำเนินการ TPM ในอนาคตพวกเราจะพึ่งพาตนเองได้และมีโอกาสเป็นผู้นำTPMใน AEC ก็ได้ พบกันใหม่ตอนต่อไปครับ  

 

                                                                                                                                                         พยัพ มาลัยศรี

                                                                                                                           ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ส.ส.ท.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที