เกรียงไกร

ผู้เขียน : เกรียงไกร

อัพเดท: 17 ธ.ค. 2010 14.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5537 ครั้ง

นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกเปลี่ยนแปลงเรา ช่วยกล่อมเกลาองค์ความรู้สู่คุณค่า มวลมนุษย์ดำรงสุขทุกเวลา ภูมิปัญญาพัฒนาชีพพัฒนาชน


นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

                                       ประกวดบทความหัวข้อ “นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

                             “นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกเปลี่ยนแปลงเรา    ช่วยกล่อมเกลาองค์ความรู้สู่คุณค่า 
                               มวลมนุษย์ดำรงสุขทุกเวลา                         ภูมิปัญญาพัฒนาชีพพัฒนาชน”


            จากคำประพันธ์ในข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “นวัตกรรม”ในฐานะสื่อกลางที่ช่วยสรรค์สร้างความสะดวกสบายและความสุขสงบในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกองคาพยพ เพราะก่อคุณูปการในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การคมนาคม การศึกษา ฯลฯ ที่ช่วยทำให้ความยากลำบากในอดีตกลับกลายมาเป็นความสะดวกรวดเร็วที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกเราได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ สอดรับกับถ้อยมธุพจน์ที่ว่า “นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงโลก”
             สำหรับความหมายของคำว่า “นวัตกรรม”ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ระบุว่า “สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิม อาจจะเป็นความคิด วิธีการหรืออุปกรณ์ เป็นต้น” ซึ่งนวัตกรรมนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้ในหลากหลายมิติ ทั้งในส่วนของ “เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม”ดังสามารถแยกพิจารณาได้ตามลำดับต่อไปนี้

               “นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก” เศรษฐกิจของสังคมโลกในอดีตนั้นเป็นไปแบบพึ่งพาด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน โดยสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีคุณค่าในอดีตมักเป็นหอยเบี้ยหรือเมล็ดพืช จนกระทั่งมนุษย์คิดค้นนวัตกรรมในการผลิตโลหะก็นำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการหลอมโลหะเป็นเงินตราและธนบัตรที่เกิดจากนวัตกรรมด้านการผลิตกระดาษ จะเห็นได้ว่าระบบทุนนิยมในปัจจุบันได้ทำให้เกิดการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีปริมาณเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดผลกำไรสูงสุด โดยจุดเปลี่ยนของการผลิตสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วก็คือการผลิตเครื่องจักรไอน้ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตก็มักเป็นเครื่องจักรกลที่มีขนาดใหญ่โดยถูกควบคุมกลไกการผลิตผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความรวดเร็ว ประกอบกับการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในการเพิ่มผลิต อาทิ นวัตกรรมการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ นวัตกรรมของเลเซอร์ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของพืชและสัตว์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งการใช้สารเคมีเพื่อช่วยยืดอายุการเน่าเสียของสินค้าและถนอมอาหารให้สามารถอยู่ได้ในระยะเวลายาวนานขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้บรรดานักธุรกิจและนักลงทุนได้พากันผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการในด้านความสะดวกสบายของประชาชนมากยิ่งขึ้น อาทิ เครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน ตู้เย็น ไมโครเวฟ ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดผลกำไรทางเศรษฐกิจ จนเกิดการหมุนเวียนของระบบเงินตราไปทั่วทุกมุมโลก

                “นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมของโลก”โลกของเราถือเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคปรัชญาและศาสนาครอบงำความคิด สู่ยุคสมัยของการปฏิวัติเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม จนกระทั่งโลกในปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความทันสมัยก้าวหน้าได้ด้วยนวัตกรรมหลากหลายอย่างที่ช่วยปฏิรูปสังคมโลกของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ เริ่มตั้งแต่นวัตกรรมของกาลเวลา นั่นคือ “นาฬิกา”ที่ผลิตคิดค้นขึ้นมาเป็นเวลากว่าหลายพันปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เวลาอันโรจน์รุ่งของมนุษยชาตินั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จนเกิดการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเพื่อช่วยให้การประกอบกิจการใดก็ตามมีความเที่ยงตรงทั่วถึงกัน อนึ่ง “ไฟฟ้า”ก็ถือเป็นวัตกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงโลกที่เคยมืดมิดมาเป็นโลกที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง ทำให้ชีวิตของผู้คนดูมีชีวิตชีวาและแจ่มกระจ่างมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อยอดไปสู่การผลิต “โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และดาวเทียม”ที่ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทั้งภาพและเสียงที่ทำให้ผู้คนต่างรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกและช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการบริโภคสาระบันเทิงผ่านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ส่วนระบบการศึกษาก็มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยนวัตกรรมของสื่อสิ่งพิมพ์ ที่การคิดค้นแท่นพิมพ์ได้ช่วยทำให้การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่นวัตกรรมในการคมนาคม อาทิ การผลิตยวดยานพาหนะชนิดต่างๆและการก่อสร้างถนนกับสะพานที่ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ “โทรศัพท์”ก็ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะที่อีกหนึ่งนวัตกรรมซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ “คอมพิวเตอร์”อันเป็นนวัตกรรมที่ช่วยย่อโลกของเราให้แคบลงได้อย่างถนัดตา เพราะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศให้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ทั่วทุกมุมโลกด้วยระยะเวลาอันสั้น

                 “นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของโลก” วัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพชนมนุษย์คือรูปแบบการดำรงชีวิตที่ยังไม่มีความเป็นอารยะ เพราะขาดแคลนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสรรค์สร้างความสะดวกสบายเพื่อแสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญาซึ่งวัฒนธรรมที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ก็คือวัฒนธรรมแห่งปัจจัยสี่ อันประกอบด้วย เสื้อผ้าเครื่องกาย ที่อยู่อาศัย อาหารและยารักษาโรค โดยเริ่มตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องกายที่มนุษย์ในอดีตมีวัฒนธรรมในการเปลือยร่างกายเพราะขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิต จึงนำส่วนประกอบต่างๆของพืชและสัตว์มาปรุยุกต์ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าเครื่องกาย เป็นต้นว่า เรียนรู้การนำไหมที่ได้จากตัวหม่อนมาถักทอเป็นเสื้อผ้า เรียนรู้ที่จะเส้นใยของพืชจำพวกฝ้ายหรือปอมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ โดยนวัตกรรมที่ช่วยให้อัตราการผลิตเครื่องแต่งกายรวดเร็วและได้จำนวนที่มากขึ้นก็คือ เข็มและด้าย จักรเย็บผ้า เครื่องปั่นฝ้าย เป็นต้น ส่งผลให้ฝนปัจจุบันวัฒนธรรมการแต่งกายของมนุษย์มีความสวยงามด้วยรูปแบบ สีสันและประเภทที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วยคูณุปการของนวัตกรรมด้านการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง ต่อมาคือ “ที่อยู่อาศัย” ซึ่งในยุคบรรพกาลมนุษย์ได้หลบอาศัยอยู่ตามใต้ต้นไม้ บริเวณชะง่อนหินหรือภายในถ้ำ จนกระทั่งมนุษย์ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยในการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยในการตัดไม้จำพวกมีด สว่านและขวาน เรียนรู้การนำโลหะจำพวกเหล็ก การผลิตซีเมนต์ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้มีความแข็งแรงทนทาน ส่งผลให้วัฒนธรรมอยู่อาศัยของมนุษย์มีสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขณะที่ “อาหาร” มนุษย์ในอดีตกาลยังดำรงชีวิตอยู่อย่างเร่ร่อน โดยแสวงหาอาหารจากทั้งพืชและสัตว์ที่หาได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกินของมนุษยชาติเป็นอย่างมากคือการค้นพบไฟ เพื่อนำมาใช้ในการปรุงอาหารให้สุกหลังจากที่มนุษย์บริโภคอาหารอย่างดิบมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงยุคสมัยที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและเรียนรู้วิถีทางการเกษตร ที่ประดิษฐ์นวัตกรรมจำพวก เครื่องหยอดเมล็ด คันไถ จอบเสียมเพื่อใช้ในการพรวนดิน เป็นต้น จนวิวัฒนาการทางนวัตกรรมได้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มนุษย์สามารถมีอาหารที่พอเพียงต่อการบริโภคได้อย่างอุดมสมบูรณ์ และสุดท้ายคือ “ยารักษาโรค”ที่มนุษย์ในทุกยุคสมัยย่อมหลีกเลี่ยงความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่พ้น ซึ่งในอดีตอัตราการตายของประชากรโลกค่อนข้างสูงเพราะขาดความรู้ในเรื่องยาและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค ทว่า ในปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์ได้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จากความรู้ในเรื่องสมุนไพรในอดีตก็วิวัฒนาการมาเป็นตัวยาของแพทย์แผนปัจจุบัน มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยในการผ่าตัด การทำคลอด เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ ส่งผลให้อัตราการเกิดของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นและอัตราการตายก็ลดลงเป็นเงาตามตัว

              ครั้นมองย้อมกลับมาพิจารณาภูมิปัญญาในการผลิตนวัตกรรมของคนไทยนั้นก็นับได้ว่ามีความยอดยิ่งไม่แพ้กับนวัตกรรมของชนชาติอื่นๆในสังคมโลก โดยตัวอย่างของอริยบุคคลผู้ทรงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนชาวไทยก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงได้รับพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อปีพุทธศักราช2549 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ60ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงกอปรคุณูปการด้านการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชนและพัฒนาชาติให้เจริญวัฒนามาโดยตลอด เป็นต้นว่า “โครงการฝนหลวง”ที่พระองค์ทรงประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตฝนเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งของทรัพยากรน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพกสิกรรม รวมทั้งนวัตกรรมในการผลิต “พลังงานทดแทน”ที่พระองค์ทรงนำผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือใช้ จำพวกชานอ้อย แกลบและเปลือกข้าว มาผลิตเป็นพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการแขนงต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานในปัจจุบัน อีกทั้ง “กังหันน้ำชัยพัฒนา”อันเป็นนวัตกรรมที่พระองค์ทรงประดิษฐ์คิดค้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เพื่อบำบัดแหล่งน้ำเสียในสังคมให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งนวัตกรรมดังยกตัวอย่างในข้างต้นล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของในหลากหลายนวัตกรรมที่พระองค์ทรงใช้พระอัจฉริยภาพเพื่อช่วยพัฒนา “แผ่นดินไทย”ให้กลายเป็น “แผ่นดินทอง”และ “แผ่นดินธรรม”มาจนถึงปัจจุบัน

              นวัตกรรมจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน หากทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิททยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยคิดค้นนวัตกรรมที่แปลกใหม่มาเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางสรรพปัญหาที่เข้ามารุมเร้าให้มนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้ ตั้งรับและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ก้าวทันกับยุคโลกาภิวัตน์ที่เป็นดาบสองคม กล่าวคือมีทั้งคุณและโทษ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะเลือกใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าอย่างสูงสุด

ระดับอุดมศึกษา นายเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที