รัฐศาสตร์

ผู้เขียน : รัฐศาสตร์

อัพเดท: 18 ม.ค. 2011 04.53 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6703 ครั้ง

"นวัตกรรม"ที่มีค่า คือนวัตกรรมที่ยั่งยืน


นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

          “นวัตกรรม” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ ดังนั้น คำว่า “นวัตกรรม” จึง หมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนั้น อาจเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ตั้งใจหรือ ไม่ตั้งใจก็ได้ ซึ่งหากพิจารณาโดยลึกซึ้ง จะพบว่ากระบวนการสร้างสรรค์ของโลกล้วนทำให้เกิด “นวัตกรรม” แทบทั้งสิ้น ย้อนไปตั้งแต่ยุคก่อกำเนิดของโลก และสิ่งมีชีวิต จนถึงยุคหินเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น “นวัตกรรม” เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง หรือ “นวัตกรรม” ของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ อาวุธ ของบรรพบุรุษของมนุษย์ ในยุคนั้น หรือกล่าวอีกนัยก็คือ “นวัตกรรม” ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่อยู่นั่นเอง

          ปัจจุบัน มนุษย์ ถือได้ว่าเป็นสัตว์ ที่ทรงภูมิปัญญามากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า ผลที่ตามมาก็คือ การใช้ภูมิปัญญา สร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ(Industrial Revolution) ในคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 ทำให้สังคมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจาก สังคมการผลิตเพื่อยังชีพ เป็นสังคมการผลิตที่หวังผลกำไรสูงสุด ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในโรงงานที่มีประสิทธิภาพอย่างมหาศาล ทำให้เกิดการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว และผลที่ตามมาคือ การแสวงหาทรัพยากรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ปัญหารูโหว่ของชั้นโอโซน (Ozone Hole)  ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Nina) ที่รุนแรงกว่าปกติ ปัญหาภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้

          จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่า “นวัตกรรม” คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อม หรือการสร้างสิ่งใหม่หรือเปลี่ยนแปลง ของสิ่งไม่มีชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างเสถียร ปัจจุบัน “นวัตกรรม” ทำให้มนุษย์ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และมีความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่มีข้อจำกัดหรือเกินขีดจำกัด ได้มากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันติดปากว่า เทคโนโลยีนั่นเอง แต่ สิ่งที่สวนทางกับเทคโนโลยีอย่างสิ้นเชิงก็คือ ผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากสังคมในปัจจุบัน เป็นสังคมบริโภคนิยม ที่มีแต่การเพิ่มขึ้นของอัตราการบริโภค และการบริโภคที่ขาดจิตสำนึก ทำให้เกิดผลกระทบกับสภาพแวดล้อม เร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เพราะ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แต่สิ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ก็คือ การบริโภคที่ขาดประสิทธิภาพของมนุษย์

         ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันใน ระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงมนุษย์นั้น เพิ่มมากขึ้นถึงจุดที่เป็นอันตรายมากแล้ว เช่นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ ของโลกล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มมีมาตรการในการลดผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งในระดับนานาชาติได้มีการจัดทำ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งว่าด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ของโลก หรือในระดับประเทศจะพบว่า หลายประเทศมีการดำเนินการเกี่ยวกับการลดผลกระทบที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อม เช่นในประเทศไทย มีการจัดทำฉลากเพื่อบ่งบอกถึงระดับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ฉลากเบอร์ 5  ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดไฟมากกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าธรรมดา ฉลากเขียว(Green Label) ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ฉลากคาร์บอน(Carbon Label) ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยลง คาร์บอนฟุตพรินต์(Carbon Footprint) ที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าตลอดกระบวนการผลิตสินค้าชนิดนั้นก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าไหร่ เป็นต้น 

          ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปัจจุบันมีการพัฒนารถยนต์ประหยัดพลังงาน และรถยนต์พลังงานทางเลือก ซึ่งจะเห็นว่า เป็นการพัฒนา “นวัตกรรม” ที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เช่นรถยนต์ไฮบริด(Hybrid Car) รถยนต์อีโค (ECO CAR) รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงการพัฒนาเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ปัจจุบัน เช่น ไบโอดีเซล (Biodiesel) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (Gasohol)ของอุตสาหกรรมน้ำมัน เป็นต้น

          ในอนาคตเทคโนโลยีจะสร้างสรรค์ให้เกิด “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก ซึ่งนวัตกรรมเหล่านั้น ถูกสร้างมาก็เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัดของมนุษย์ นั่นเอง ในอดีตโลกเดินทางเคียงข้างมากับเทคโนโลยีที่พัฒนาทางเดียว โดยไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งก่อเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัด และรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งหากเรายังสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” จากเทคโนโลยีที่พัฒนาทางเดียวอย่างนี้อีกต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีอาจไร้คุณค่า ในการช่วยพยุงโลกที่สวยงามใบนี้ก็เป็นได้ 

          ดังนั้นแล้วหากวันนี้คุณเป็น คนหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมเล็ก ๆ หรือนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ จะดีกว่าหรือไม่หากคุณจะย้อนกลับมาคิดซักนิดว่า การพัฒนา และสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ที่จะเดินเคียงข้างธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าหรือไม่ และยังเป็นการรักษาโลกใบนี้ให้มนุษยชาติในอนาคตได้ชื่นชม และได้สร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ต่อไป

 

ระดับอุดมศึกษา นายรัฐศาสตร์  แซ่หลอ  นิสิตปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  พิษณุโลก

 

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที