พีรธัช

ผู้เขียน : พีรธัช

อัพเดท: 01 ก.พ. 2011 16.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2708 ครั้ง

นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก


นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงโลก

นวัตกรรมกับการเปลี่ยนแปลงโลก

��������������� “โลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริง ในความเงียบสงบเหมือนกับไม่มีสิ่งใดในโลกไหวติง แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ได้ดำเนินไปตามกลไกของตัวมันเอง เมื่อเวลาเปลี่ยน ยุคเปลี่ยน สมัยเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนแปลงตามท่วงทำนองที่ธรรมชาติบรรเลงขึ้น ท่วงทำนองนี้เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะเพราะพริ้งจับใจในจังหวะที่ช้า ๆ ที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง วิวัฒนาการสรรสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมาย สิ่งหนึ่งที่วิวัฒนาการพัฒนาขึ้นคือ สมองมนุษย์และเมื่อสมองมนุษย์ถูกวิวัฒนาการให้ใหญ่ขึ้น และซับซ้อนขึ้นตามลำดับ มนุษย์จึงใช้สมองนี้สร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อต่อกรกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เครื่องมือชิ้นนั้นมีชื่อเรียกสั้นว่า “นวัตกรรม”

��������������� หากเราจะกล่าวถึงนวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนรังสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาเพื่อต่อกรกับความยากลำบากของชีวิต

��������������� เมื่อ “เอดิสัน” คิดค้นหลอดไฟ ความมืดในยามวิกาลก็ถูกพรากไปกับเรา

��������������� เมื่อ “เจมส์ วัตต์” คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ ความเหนื่อยล้าในการทำงานของมนุษย์ก็น้อยลง

��������������� เมื่อ “แอนโตนิโอ เมอุดชี่” คิดค้น โทรศัพท์ ความเหงาของคนเราก็ถูกพรากไป

��������������� หรือ.... เมื่อ “เซอร์อเล็กซานเดอร์เฟลมมิง” คิดค้นเพนนิซิลินขึ้นมา ความทรมานยามเจ็บป่วยไข้ของคนเราก็ถูกพรากหายไป

��������������� นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์มากขึ้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็ง่ายขึ้น จากนวัตกรรมที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โลกพัฒนาไปรวดเร็วจนปัจจุบันก้าวล้ำนำหน้าไปกว่าคำนิยามของ “วิวัฒนาการ” จนมนุษย์ ณ ปัจจุบันหลงลืมอดีตที่แสนมืดมนไปจนหมดสิ้น นวัตกรรมมีบทบาทในชีวิตมนุษย์เสมือน “ผู้สร้าง” ที่บันดาลทุกสิ่งให้ได้ดั่งใจปรารถนานวัตกรรมเปรียบเสมือน “ผู้รักษาเยียวยา” ยามที่มนุษย์ถูกทำร้ายจากบางสิ่งที่ทำให้ความสุขของมนุษย์ลดน้อยลง มนุษย์รับรู้ และ รัก ในบทบาทเหล่านี้ของนวัตกรรม แต่มนุษย์กลับมองข้ามและละเลยบทบาทหนึ่งของนวัตกรรมไป จะมีใครรู้บ้างหรือไม่ว่าอีกบทบาทหนึ่งของนวัตกรรมนั้นมีชื่อว่า “ผู้ทำลาย”

��������������� หากเรายังจำได้บรรพบุรุษของเราตามการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติ หรือแม้แต่เรานึกย้อนไปสมัยที่เรายังเป็นเด็ก ประมาณเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นวัตกรรมยังไม่มีบทบาทมากนักในชีวิตเรา เมื่อยามนั้นเรามีความสุขไปกับการนั่งล้อมวงเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน หัวเราะต่อกระซิกแบ่งปันความฝันและจินตนาการของกันและกัน แต่เมื่อเราโตขึ้น นวัตกรรมเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น เรารู้จักเพื่อนคนใหม่ที่มีชื่อว่า คอมพิวเตอร์ เราสนุกสนานกับเพื่อนคนนี้ทำให้เราเริ่มเหินห่างจากเพื่อนวัยเดียวกันมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของ ผู้ทำลาย แฝงอยู่ภายใต้หน้ากาก นวัตกรรม

��������������� หากเราลองตรองดูให้ดี นวัตกรรมไม่ได้พรากความทุกข์ยากไปจากเราเพียงอย่างเดียว แต่มันยังพรากความสุขไปจากเราอีกด้วย

��������������� เมื่อเรารู้จักโทรศัพท์ ความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัวที่แนบชิดก็เหินห่างมากขึ้น

��������������� เมื่อเรารู้จักหลอดไฟ ความงดงามของดวงจันทร์ยามค่ำคืนก็ไม่อยู่ในสายตาเรา

��������������� เมื่อเรารู้จักยาเพนนิซิลิน ความเอาใจใส่สุขภาพของตัวเราเองแคนรอบข้างก็ลดน้อยลง

��������������� และเมื่อเรารู้จักนวัตกรรมอื่น ๆ มากขึ้น ความรัก ความใส่ใจ ความดีและการเอาใจใส่ ตลอดจนความเป็นธรรมชาติของเราก็น้อยลง จนสุดท้าย สิ่งที่กำลังจะถูกพรากไปจากเราก็คือ ความเป็นมนุษย์ นั่นเอง

��������������� นวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเปรียบเหมือนดาบสองคม แม้ว่าคุณภาพของชีวิตมนุษย์จะดีขึ้นแต่ในทางกลับกันนวัตกรรม ก็เปรียบเสมือนอาวุธที่มนุษย์ใช้ทำลายผู้บริสุทธิ์ที่เราคาดไม่ถึงอยู่ทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป ผู้บริสุทธิ์ที่มีนามว่าธรรมชาติถูกทำร้ายทำลายจากอาวุธที่มุนษย์คิดค้นขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย และในตอนนี้ความอดทนอันใหญ่หลวงก็สิ้นสุดลง ผู้บริสุทธิ์ที่ดูเหมือนอ่อนแอที่ทั้งชีวิตยอมให้มนุษย์กดขี่ข่มเหงคนนี้กำลังลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องและแสดงให้เราเห็นว่า เขาผู้นี้ก็มีตัวตนและจะไม่ยอมให้ใครใช้อาวุธประเภทใดกดขี่ขมเหงเขาต่อไปอีกแล้ว ธรรมชาติทั้งหลายเริ่มเรียกร้องเอกราชให้ตนเอและเหล่าพวกพ้อง มนุษย์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำเพื่อความสบาย ผลพวงจากเครื่องจักรไอน้ำคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ธรรมชาติเรียกร้องสิทธิที่ถูกมนุษย์กดขี่นี้โดยการแสดงอำนาจที่ซ้อนเร้นเพื่อตักเตือนมนุษย์ ภาวะเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ลานีญา รวมถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสัญญาณที่ส่งถึงมนุษย์เพื่อเรียกร้องให้มนุษย์คำนึงถึงความเสมอภาคกัน และเป็นการบอกกล่าวโดยนัยว่า เราควรอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อน ที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างเป็นธรรม ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตต่อไปโดยเอาใจของธรรมชาติมาใส่ใจมนุษย์บ้าง

��������������� หมดเวลาแล้วที่มนุษย์จะเห็นแก่ตัว มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปโดยใช้นวัตกรรมที่ก้าวไปพร้อมกับธรรมชาติอย่างในอดีต หยุด นิ่ง และหันกลับมาใส่ใจในสิ่งรอบข้างมากขึ้น กลับไปเรียนรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เป็นเสมือนนวัตกรรมที่ก้าวไปพร้อมกับธรรมชาติ ลองคิดดูสิแต่เดิมนั้นนวัตกรรมก็มาจากธรรมชาติมิใช่หรือ

�������������สายฟ้าที่ผ่าลงมายังพื้นโลกก็ได้บรรจุใส่ในหลอดแก้ว

��������������� นกที่บินอยู่บนท้องฟ้าก็ถูกจำลองเพิ่มขนาดจนทำให้มนุษย์เดินทางบนฟากฟ้าได้

�������������� ถึงเวลาแล้วที่เราต้องถามตัวเองว่าเราเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรมมากแค่ไหน........

จงอย่าให้นวัตกรรมเปลี่ยนเรา แต่เราจงเปลี่ยนนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก”


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที