สิริชัย

ผู้เขียน : สิริชัย

อัพเดท: 29 ส.ค. 2011 14.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 20187 ครั้ง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน บทความนี้เป็นความตั้งใจของผม นายสิริชัย สกุลแพร่พาณิชย์ ที่ต้องการนำเสนอความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และ การตรวจสอบภายใน ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านในรูปบทความที่มีชื่อว่า “CG…See you!”


"องค์ประกอบ" ของการกำกับดูแลกิจการ

                   บทความเมื่อตอนที่แล้ว  ผู้เขียนได้ให้ความหมายของการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance)  รวมถึงเหตุผลของการนำกระบวนการกำกับดูแลกิจการมาใช้ในองค์กร  สำหรับบทความตอนนี้  ผู้เขียนจะขออธิบายถึง “องค์ประกอบ” ของการกำกับดูแลกิจการ  ว่ากระบวนการกำกับดูแลกิจการนั้น มีระบบหรือกระบวนการใดบ้างที่เป็นองค์ประกอบ หรือส่วนประกอบที่สำคัญ

 

                   หากจะเปรียบ “องค์กร” กับ “ร่างกาย” ของคนเรานั้น  “การกำกับดูแลกิจการ”  คงเปรียบได้กับ “หัวใจ” ที่คอยกำกับดูแลและควบคุมส่วนประกอบหรือระบบต่างๆ ในร่างกาย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล สามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างดี   สำหรับ “การควบคุมภายใน” คงเปรียบได้กับ “กระแสเลือด” ที่มีหน้าที่หล่อเลี้ยงกระแสเลือดให้ระบบต่างๆ ทั่วทั้งร่างกาย สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ  สำหรับ     “การบริหารความเสี่ยง” นั้น คงเปรียบได้กับ “สมอง”  ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาและบริหารจัดการ สิ่งที่เป็นโทษหรือเป็นความเสี่ยงของร่างกาย รวมถึงแสวงหาโอกาสในการนำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับร่างกาย  ส่วน “การตรวจสอบภายใน” นั้น คงเปรียบได้กับ “หูและตา” ที่คอยสอดส่องดูแล และรับฟังเพื่อนำมาพิจารณาและเสนอแนะ เพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

 

                   แล้ว “องค์ประกอบต่างๆ” ดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างไรกับ “การกำกับดูแลกิจการ”

 

                  ผู้เขียนจะขออธิบายความสัมพันธ์ของการกำกับดูแลกิจการ กับองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญของ       การกำกับดูแลกิจการ  ซึ่งได้แก่  การควบคุมภายใน  การบริหารความเสี่ยง  และการตรวจสอบภายใน  ดังนี้

 

                   “การควบคุมภายใน”  เป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นเครื่องมือบริหารที่สำคัญของนักบริหาร ที่จะช่วยมองเห็นปัญหาและอุปสรรค สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขได้ทันกาล          ลดความสูญเสียและความเสียหายในอันที่ไม่ควรจะเกิด  ขณะเดียวกันยังสามารถมองเห็นโอกาสที่จะช่วยผู้บริหารตัดสินใจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

 

                   “การบริหารความเสี่ยง”  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการกำกับดูแลกิจการ ดังนั้น การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะไม่สามารถบรรลุได้หากปราศจากระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงช่วยให้ผู้บริหารทำความเข้าใจผลกระทบของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และบริหารเหตุการณ์เหล่านั้น  เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร  ลดความเสียหาย  และลดความไม่แน่นอนของผลการปฏิบัติงานในภาพรวม

 

                  “การตรวจสอบภายใน”  มีบทบาทสำคัญในการสร้างการกำกับดูแลกิจการ  โดยมองว่าการกำกับดูแลกิจการ คือ “ผลผลิต” (Output) ของการจัดการบริหารองค์กร  การตรวจสอบภายในเป็นหนึ่งใน “กระบวนการ” (Process) ที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสม  การตรวจสอบภายในจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไปสนับสนุน ส่งเสริม ในรูปแบบของ “รายงานการตรวจสอบ” ที่บ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  รวมทั้งมีข้อเสนอแนะในการแก้ไข  ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรมีการแก้ไขปรับปรุงให้เกิดการจัดการและบริหารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น  ส่งผลให้มูลค่ากิจการเพิ่มมากขึ้น  ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งจากภายในองค์กร เช่น กรรมการบริหาร ผู้บริหาร และพนักงาน เป็นต้น  และจากภายนอกองค์กร เช่น เจ้าหนี้ เจ้าของ และลูกค้า เป็นต้น

 

                   หากองค์กรใดมีระบบการควบคุมภายในที่ดี  พร้อมทั้งมีระบบการบริหารความเสี่ยงและ    การตรวจสอบภายในที่ดีควบคู่ไปด้วยนั้น  จะนำไปสู่การมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นกับองค์กร  ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายขององค์กร    และนำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด...

 

 

 เอกสารอ้างอิง :

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที