Meditate

ผู้เขียน : Meditate

อัพเดท: 09 ส.ค. 2010 16.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 539872 ครั้ง

ธรรมทาน เป็นทานอันสูงสุด

ขอทำหน้าที่นี้ อีก คน เพื่อ ปัจจัย แห่งการรู้

การมีสติ ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น ที่สนใจ


ลมหายใจที่ปลายจมูก

ลมหายใจที่ปลายจมูก

หลักสมาธิวิปัสสนา
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

----------------------------------------------


เมื่อมีคนป่วยใกล้ตาย มักมีคำพูดกันเล่นๆ ว่า "ให้หายใจเข้าไว้แล้วจะไม่ตาย"


คำนี้เล่นๆ แต่ว่าเป็นจริงนะ เพราะถ้ายังหายใจอยู่ คนมันก็ไม่ตายอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่หายใจ มันก็ตายเท่านั้นเอง

แสดงให้เห็นว่า คนเราสำคัญที่ลมหายใจ ลมหายใจบางคนเป็นเงินเป็นทอง ลมหายใจบางคนเป็นหนี้เป็นสิน ควรกำหนดทางใจให้ดีๆ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เจ้าสำนักวัดอรัญญวิเวก (บ้านปง) อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านสอนให้ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้ที่ปลายจมูกด้วยการบริกรรมพุทโธ

เมื่อเรานั่งดีแล้ว ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูกกำหนดไว้ในใจ บริกรรมว่า หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ และให้ตั้งสติปัญญาประคับประคองจิตใจของตนเอง ให้มาคิดหรือให้มากำหนดรู้อยู่ที่ลม ที่ถูกต้องสัมผัสที่ปลายจมูกของตนเองอยู่ก็ให้รู้ นี้เรียกว่าการเจริญอานาปานุสติกัมมัฏฐานเป็นข้อบริกรรมภาวนา

เมื่อเรารู้จักว่าจิตของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกพร้อมกับข้อ บริกรรมพุทโธสัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ก็ให้รู้ (แต่ห้ามไม่ให้ส่งจิตของตนเองเดินตามลมลงไปที่หัวใจหรือลมลงไปที่ท้องน้อย เป็นอันขาด) เพราะการทำสมาธิชนิดนี้หรือแบบนี้ เป็นการทำทางลัด เป็นทางที่ทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ง่ายที่สุดจึงให้กำหนดเอาแต่ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก กับพุทธโธอย่างเดียว เท่านั้นเป็นข้อเจริญ

เมื่อจิตใจของเราไม่อยู่กับลมที่ปลายจมูกก็ให้รู้จักว่าไม่อยู่ เราก็พยายามใช้สติปัญญาติดตาม ดึงจิตใจของตนเองที่ฟุ้งซ่านไปติดอยู่กับสิ่งอื่นนั้น ตามสัญญาอารมณ์ภายนอกที่เป็นกิเลสมารนั้น ให้จิตใจของตนเองมาติดอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือ ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกของตนอย่างเดิม เมื่อเรารู้ว่า จิตของเราอยู่กับลมที่ปลายจมูก และข้อธรรมกัมมัฏฐาน สัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว

ต่อไปให้เราหายใจให้สบาย ให้ปลอดโปร่ง แล้วอย่าไปสะกดจิตของตนเองมาก ถ้าบุคคลใดบังคับ และสะกดจิตของตนเองเกิดไปแล้ว เมื่อบุคคลกำลังภาวนาอยู่ จะมีอาการปวดศีรษะบ้าง บางรายจะปวดประสาทมาก บางรายจะมีอาการตัวร้อน เหงื่อแตกอึดอัดแล้ว ก็ออกจากนั่งสมาธิทันทีทนไม่ไหว เป็นอย่างนี้แล บุคคลบางคนนั่งทำสมาธิจึงไม่สงบ อีกอย่างหนึ่งการนั่งทำสมาธินี้ เราอย่าไปอยากเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือบังคับจิตใจของตนเองให้สงบเร็วที่สุดอย่างนี้

บุคคลที่อยากเห็นก็ยิ่งจะไม่เห็นอะไรเลย บุคคลอยากสงบเกินไปก็ยิ่งไม่สงบ นี่เป็นเหตุให้จำเอาไว้ เมื่อเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมที่ปลายจมูกของตนแล้ว ให้เราตั้งสติสังเกตดูลมที่เดินเข้าเดินออกอยู่ที่ปลายจมูกนั้น ว่าลมเข้าแรงหรือออกแรงก็ให้รู้ ลมเข้าสั้นหรือออกสั้นก็ให้รู้ ลมเข้ายาวหรือออกยาวก็ให้รู้จักในกองลม และก็ให้สังเกตดูจิตของตนเองว่า จิตของเรานิ่งอยู่กับลมแน่นอน

เมื่อรู้ว่าจิตของตนอยู่จริงแล้ว ต่อไปเราก็ให้หายใจเบาๆ ลงอีกกว่าเดิม ตอนนี้เราก็ประคองจิตใจของตนเองไว้กับลมหายใจเข้าออก กับข้อบริกรรมพุทโธตามเดิมเหมือนแต่ก่อน แต่ตอนนี้บางบุคคลนั้นนั่งนานแล้ว ก็จะรู้สึกมีเวทนาความเจ็บปวดตามร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง บางบุคคลจะเจ็บแข็งขาหรือเจ็บหลัง หรือเจ็บปวดบั้นเอวเกิดขึ้น


จิตก็จะวิ่งออกไปตามที่เจ็บปวดนั้น จิตก็จะไม่นิ่งอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกอันเราตั้งไว้นั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามใช้สติปัญญาดึงเอาจิต ของตนเองให้วางจากเวทนา ความเจ็บปวดนั้น ไม่ให้จิตของเราไปยึดไปถืออยู่กับเวทนานั้น ก็ให้พยายามปล่อยวางจนได้ แต่วิธีปล่อยวางเวทนาทั้งหลายนั้น คือว่าเราไม่เอาจิตของตนไปคิดอยู่กับความเจ็บปวดนั้นเอง ให้จิตของเราไปคิดอยู่กับข้อธรรมกัมมัฏฐาน คือ ลมหายใจเข้าออกตามเดิม

แต่ถ้ายิ่งพยายามปล่อยวางก็ยิ่งมีความเจ็บปวดมากขึ้นจนทนไม่ไหวอย่างนี้ ให้เราตั้งใจว่าเราจะทำจริง หาความสงบจริง เราไม่ต้องกลัวความตาย ทำให้กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ท้อแท้อ่อนแอกับเวทนาทั้งหลายเหล่านี้ ว่าถ้ามันเจ็บขา หรือบั้นเอวอย่างนี้ ก็ให้ตั้งมั่นคงว่าเอาเถอะ ขามันจะขาดก็ให้มันขาดออก หรือบั้นเอวมันปวดมาก บั้นเอวมันอยากขาดออกไป ก็ให้มันขาดจากกันลองดู

เรากล้าหาญ เอาจริงอย่างนี้ไม่ต้องกลัวตาย แม้ร่างกายจะแตกหักทำลายขาดออกจากกันหมด ก็ให้มันเป็น ลองดูมันจะเป็นไหม ถ้าเรามีความตั้งใจ ทำจริงอย่างนี้ได้ จิตใจของเราจึงจะปล่อยวางเวทนาความเจ็บปวดนั้นได้ เราต้องทำจริงอย่างนี้ เอาจริงอย่างนี้ จิตใจของตนจึงจะสงบเป็นสมาธิได้


เมื่อจิตของตนเองมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกตามเดิมแล้ว ก็ให้เราสังเกตดูลม ว่าลมนี้เบากว่าเดิม ละเอียดกว่าเดิมก็ให้รู้ ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้นและเบาก็ให้รู้ ลมหายใจเข้ายาว ออกยาว และเข้าก็ให้รู้ตลอด ให้เราพยายามประคองเรือคุมจิตของตนอยู่แน่นอน ตอนนี้ให้เราเอาแต่ลมหายใจอย่างเดียวให้วางพุทโธเสีย ก็ให้เราหายใจให้เบาๆ ละเอียดสุขุมลงกว่าเดิมอีก และก็ให้ประคองจิตใจของตนให้อยู่กับลมนั้นตามเดิมอีก

ตอนนี้เมื่อลมเดินละเอียดสุขุมมาก เบามาก เราก็จะปรากฏว่าร่างกายของตนก็เบามาก เราก็จะปรากฏเห็นชัดว่า เวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ก่อนนั้นก็รู้สึกว่าเบาลงไปมาก ไม่เจ็บมากเหมือนแต่ก่อนเลย เพราะเหตุไรเวทนาจึงเบาลงไปมาก ไม่เจ็บมากเหมือนแต่ก่อนเลย เพราะเหตุไรเวทนาจึงเบาลงมากให้เราเห็นชัด ก็เพราะเหตุเราหายใจให้เบาละเอียดสุขุมนั่นเองเป็นเหตุ

แต่ตอนนี้ บางบุคคลนั้น ก็จะมีปีติเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งเล็กน้อย จะเป็นปีติขนลุกขนพองก็ตาม จะเป็นแบบน้ำตาไหลก็ตาม จะเป็นแบบเหมือนมีลมถูกต้องกายเบาๆ ก็ตาม จะเป็นแบบแปลบปลาบในหัวใจก็ตาม จะเป็นแบบตัวเบาเหมือนตัวจะลอยขึ้นไปบนอากาศก็ตาม ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงปิติเท่านั้น เมื่อปีติหายไปแล้ว ก็จะมีความสุขเกิดขึ้นแทนเล็กน้อยต่อไป

นี้แล เราจะเห็นว่าของเหล่านี้ เกิดจากการทำความสงบที่เราไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อน จึงทำให้บุคคลเกิดปีติและความสุขได้แต่เราก็มาพิจารณาดูจิตของตนเองดีกว่า จิตของเราอยู่กับลมเบาละเอียดกับความสุขนั้นไหม ถ้าเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมสัมพันธ์ อยู่กับลมแน่นอนแล้วและอยู่ประมาณ ๑๕ - ๒๕ นาที แล้วก็ถอยออกจากสมาธิ

ถ้าบุคคลใด เจริญภาวนามาถึงที่นี่ ก็เรียกว่าจิตสงบแต่เพียงแค่ขนิกสมาธิเท่านั้น เรียกว่าสมาธิเพียงเฉียดๆ นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

ต่อไป เมื่อบุคคลได้เจริญภาวนามาถึงที่นี้แล้ว ก็อย่าได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ให้พยายามทำความเพียรต่อไปอีก คือเมื่อเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกที่เบาและละเอียดสุขุมแล้ว ลมหายใจสั้นเบาละเอียดสุขุมมากก็ให้รู้ ว่าลมหายใจเข้ายาวออกยาวและละเอียดมากกว่า


เหมือนจะไม่มีลมอยู่ที่ปลายจมูกเลยก็ให้รู้ แต่ลมยังมีอยู่ เพราะลมเดินละเอียดสุขุมมากไปตามร่างกาย เราจะรู้ปรากฏทันทีว่าร่างกายของตนเองก็เบามากขึ้นทุกที เวทนาที่มีความเจ็บปวดในร่างกาย ก็เหมือนจะหายไปหมด จะทำให้เราได้รู้รส สัมผัสของความสงบเกิดขึ้น และตื่นเต้นมีปีติแรงมาก แล้วแต่จะเกิดปีติชนิดใดก็ตาม


เมื่อปีตินั้นหายไป ก็จะมีความสุขเกิดขึ้นทันที แล้วจิตของเราก็จะอยู่กับความสุขนั้น เมื่อเรามาสังเกตดูจิตของตนเองอยู่กับลมละเอียดสุขุมที่ปลายจมูก และทรงความสุขอยู่ตามเดิมแน่นอน

ต่อไป ให้เราหายใจให้สบาย ปลอดโปร่ง หายใจเบาๆ ละเอียดสุขุมที่สุด เบาที่สุดจนเหมือนไม่มีลมปรากฏอยู่ที่ปลายจมูกของเราเลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อเราพิจารณาและสังเกตดูอยู่ว่า แหมกายของตนเบามาก ไม่มีเวทนาและลมก็มองไม่ปรากฏเลย ตอนนี้ให้เราปล่อยวางเสีย เมื่อเราปล่อยวางลมแล้ว ลมก็จะไม่ปรากฏ แม้เรามองไม่เห็นลมปรากฏอยู่ที่ปลายจมูกของเรา

ตอนนี้ ขอเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายให้เข้าใจ เอาไว้ให้จงดี อย่าพากันกลัวตาย ว่าลมหายใจของตนหมดสิ้นแล้ว เราจะตายหรืออย่างไร อย่าไปเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้ ก็ให้เราตั้งใจเอาไว้ว่า เราไม่ต้องกลัวความตาย ถ้าเราไม่กลัวความตายแล้ว จิตของเราก็จะนิ่งอยู่เป็นสมาธินั้นเอง


แต่บางบุคคล เมื่อเจริญภาวนามาถึงที่นี้แล้ว มองหาลมหายใจเข้าออกของตนไม่เห็น ก็เลยมาเกิดสัญญาว่าเราจะตายแล้ว ก็มีความอึดอัดในหัวใจเดือดร้อน หรือเหงื่อแตกออกมาเต็มร่างกายก็มี เพราะกลัวตนเองตายเป็นเหตุ เมื่อได้เป็นเช่นนี้ขึ้นมาแล้ว จิตของบุคคลนั้นก็ถอนออกมาจากสมาธิ วิ่งออกไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอกอีก แล้วก็จะได้เริ่มต้นทำสมาธิใหม่


เมื่อทำสมาธิใหม่ก็เข้าไปได้ถึงที่เดิมก็มาเกิดความกลัวว่าตนเองจะตายอีก อย่างเดิม แล้วจิตของตนก็ถอนออกจากสมาธิอีก ถ้าบุคคลใดทำการเจริญภาวนาอยู่อย่างนี้ บุคคลนั้นจะเจริญภาวนาเนิ่นช้า จิตใจของบุคคลนั้นก็ไม่อาจสามารถจะสงบเป็นสมาธิลึกซึ้ง หนักแน่นลงไปได้เลย แม้บุคคลนั้นจะพยายามเท่าไรก็ไปถึงแต่ที่เดิมเท่านั้นเอง ฉะนั้น จึงขอให้นักปฏิบัติจงพากันเข้าใจเอาไว้

แต่ถ้าบุคคลใด เจริญภาวนามาถึงตอนนี้แล้วเป็นคนกล้าหาญองอาจสามารถไม่กลัวตายแล้ว บุคคลนั้นก็จะเจริญภาวนาต่อไปได้และทำจิตของตนให้สงบ เป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคงได้ ต่อไปจิตของตนก็จะมีความเพ่งอยู่กับความสุข และความเบานั้นสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียว เราก็ให้รู้ว่าจิตของเราอยู่ เมื่อจิตอยู่นิ่งตอนนี้จะเกิดปีติแรงมากขึ้นอีก แม้จะเป็นปิตีแบบไหนก็ตามเมื่อปีติหายไปความสุขก็เกิดขึ้นตามที่หลัง ว่าเป็นสุขมาก สุขุมมาก


จะทำให้บุคคล ผู้เจริญภาวนาได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองว่า การเจริญภาวนาหา ความสงบนี้ ก็เป็นของที่มีความสุขอันยิ่งจริงหนอ ก็หากเป็นของเกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง

เมื่อเราทำจิตใจของตนให้สงบแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาเองเท่านั้นเมื่อจิตของตนนิ่งอยู่กับความสุขและความเบา ก็ขอให้ใช้สติปัญญาประคับประคองจิตใจของตนให้สงบนิ่งอยู่กับอารมณ์นั้น เมื่อรู้ชัดว่า จิตของตนอยู่แน่นอนแล้วไม่ออกไปไหน จิตก็ยิ่งจะสงบเป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคงเข้าทุกที


เมื่อจิตของตนหนักแน่นอยู่อย่างนี้ ตอนนี้ก็จะเกิดนิมิตสีแสงสว่างเกิดขึ้น บางบุคคลก็เห็นแสงสว่างแบบหลอดไฟฟ้านีออน หลอดไฟฟ้านีออนแบบสั้นๆ บางคนบุคคลก็เห็นแสงสว่างเหมือนแสงไฟฉายผ่านหน้าตนเอง ส่วนบางคนนั้นก็จะเห็นแสงสว่างอยู่ตรงหน้าตนเอง ไม่มีดวง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอีกใหม่ ก็เพราะเหตุใดจึงเกิดแล้วก็ดับอย่างนี้ เมื่อเราเห็นใหม่ ก็เพราะว่าจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นนั้นเอง จึงเป็นอย่างนี้

ต่อไป ให้เราจงประคับประคองจิตของตนเองให้ตั้งมั่นอยู่กับความเบาและความสุขที่ ละเอียด จะพิจารณาให้จิตของตนอยู่ตรงหน้าอกของตนก็ได้ ไม่ให้เอาจิตไปเพ่งอยู่ที่อื่น ให้เพ่งอยู่ที่เดียวนั้น

เมื่อจิตของเรานิ่งอยู่นั้นนาน ก็จะยิ่งมีแสงสว่างเกิดมากขึ้น และเป็นแสงสว่างแบบดวงอาทิตย์ หรือแบบดวงจันทร์สว่างจ้า แต่บางบุคคลนั้นก็จะเห็นแสงสว่างสีขาวนวล แต่ก็สว่างไสวไปรอบๆ ตัวกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร


เมื่อเราประคองจิตของตนให้ตั้งอยู่ตรงอยู่ในแสงสว่างนี้ เราก็จะมองเห็นภาพนิมิตต่างๆกัน ไม่เห็นเหมือนกันทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ชื่อว่าเห็นนิมิตแต่ละบุคคลนั้น บางคนจะเห็นนิมิตเป็นภาพ เห็นตนเองตายแล้ว เปื่อยเน่าขาดผุพัง ลงไปเป็นกระดูกก็มี บางคนนั้นจะเห็นตัวเองนั่งอยู่ตรงข้างหน้าของตน


บางคนนั้นจะเห็นภาพพระพุทธรูปสวยงามตั้งอยู่ตรงหน้าของตนเอง บางคนก็จะเห็นครูบาอาจารย์มานั่งอยู่ตรงหน้าเทศนาธรรมสั่งสอนตนเองอยู่ก็มี บางคนนั้นจะเห็นภาพร่างกระดูกเดินมาหาตนเอง บางคนนั้นก็จะเห็นร่างกระดูกลอยอยู่บนอากาศก็มี บางคนนั้นก็จะเห็นเหมือนรถเหมือนเรือมาชนตนเอง บางคนนั้นก็จะเหมือนตนเองอยู่บนอากาศ


บางคนนั้นก็จะเห็นเหมือนตนเองตกลงไปนั่งอยู่ในเหวลึกๆ บางคนนั้นก็จะเห็นคนไปมาหาตนเองผ่านไปผ่านมา เกิดๆ ดับๆ นิมิตนี้เกิดขึ้นดับไป นิมิตใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเหมือนๆ กันกับเราดูภาพยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เรียกว่าการเห็นนิมิตกันทั้งนั้น

ก็ขอเตือนไว้ว่าเราอย่าไปกลัวในนิมิต จะนิมิตแบบไหนก็ตามเกิดขึ้นก็อย่าไปเกรงกลัวมันเลย ให้ทำจิตใจของตนเองให้กล้าหาญ ไม่ต้องเกรงกลัวมันล่ะ ให้ตั้งใจ ให้มั่งคงอย่างนี้ แม้เราจะเห็นนิมิตสิ่งใดแบบไหนก็ตาม เห็นแจ้งเห็นชัด เห็นจริงก็ตาม ตามที่เราได้เห็นนั้น แต่เราอย่าไปถือตามนิมิตนั้นว่าเป็นจริงอย่างนั้น อย่าไปเล่นนิมิต อย่าไปยึดนิมิต อย่าไปเชื่อนิมิต อย่าไปติดนิมิต

นิมิตเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน นักปราชญ์ทั้งหลายท่านไม่ให้เล่นนิมิตเลย ไม่ให้เราติดนิมิต ขอเตือนบุคคลที่ปัญญายังอ่อน ห้ามเล่นนิมิตเลย เอาละเมื่อจิตของเรามายับยั้งตั้งอยู่ในที่นี้แล้ว เราก็ควรพยายามประคองของตนให้สงบอยู่กับความเบา และความสุขที่ละเอียดยิ่งเข้าทุกที


เมื่อจิตของเรายิ่งสงบนานเข้าเท่าไร แสงสว่างก็ยิ่งเกิดขึ้น มองไปได้เห็นไกลมาก เป็นแสงสว่างชนิดที่ไม่ปรากฏเป็นดวงตอนนี้ แต่หากเป็นแสงสว่างสีขาวนวลมองได้รอบตัวและไปไกลมาก ก็ยิ่งเห็นนิมิตแจ้งชัดแน่นอนกว่าเดิม แม้จะเห็นนิมิตแบบไหน ชนิดใดก็ตาม ก็เห็นแจ้ง เห็นชัดมาก ในตอนนี้ แต่ก็จะเกิดปิตีแรงมากขึ้นแต่ตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยรู้เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน จึงทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้พบได้เห็นเอง ได้รับความสุขสุขุมละเอียดยิ่งขึ้น

การที่บุคคลเจริญภาวนามาถึงที่นี้ และเราก็ประคับประคองจิตของตนให้อยู่กับความเบา และความสุขละเอียดสุขุมประณีต พร้อมทั้งมีแสงสว่างก็แจ่มแจ้งชัดเจน แล้วก็เห็นภาพนิมิตต่างๆ ที่เป็นเหตุการณ์ต่างๆ นั้นก็ดี ก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนไม่มีอะไรปิดปังไว้เลย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ของเหล่านี้ก็เป็นของ หากเกิดขึ้นมาเองเพราะเกิดจากการทำความสงบเท่านั้น ถ้าบุคคลไม่ทำความสงบนั้น แม้จะปรารถนาอยากเห็นเพียงใดก็ไม่เห็นอยู่นั่นเอง

ถ้าบุคคลทำจิตใจของตนให้สงบแล้ว ของนั้นหากเกิดขึ้นมาเองเท่านั้น เมื่อเรามาเองเท่านั้น เมื่อเราเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างนี้ ที่จิตของตนมาตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอารมณ์ที่สุขุมประณีตในความเบามาก สุขมาก ให้เราสังเกตดูจิตของตนเองว่า จิตของเราตั้งนานเท่าไรถ้าเราสังเกตดูว่าจิตของตนนี้ตั้งนาน ๔๕ นาที หรือ ๑ ช.ม นั้น ก็ถือว่าจิตของเราสงบถึงอุปจารสมาธิ เพราะจิตของเรามายึดหน่วงอารมณ์เบาๆ เพราะความสุขุมประณีต และเห็นแสงสว่างแจ่มแจ้งไปไกล แล้วก็เห็นภาพนิมิตชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็คือว่าจิตของตนให้เจริญภาวนาสงบมาถึง อุปจารสมาธิเพียงแค่นี้เท่านั้น ต่อไปจะได้ทำความเพียรให้จิตใจของตนให้สงบลึกซึ้งลงไปอีก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเจริญภาวนาได้มาถึงที่นี่แล้ว ถ้าเราเห็นแสงสว่างและเห็นนิมิตแจ้งชัดเจนแล้วเพียงใดก็ตาม หรือจิตของเราได้เสวยอยู่ในอารมณ์เบาและความสุขมากเพียงใดก็ตาม แต่เราก็อย่าไปติดอยู่กับแสงสว่างอันนั้นความเบา ความสุขนั้น ให้เราปล่อยวางสิ่งของเหล่านั้นเสีย วิธีปล่อยนิมิต
นั้น คือว่า เมื่อจิตของตนจ้องมองดูภาพนิมิตอยู่ หรือวิ่งตามนิมิตอยู่ ก็ให้เราไม่ต้องสนใจกับภาพนิมิตทั้งหลายเราเห็นอยู่นั้น ถ้าจิตของตนยังอยากจะดูภาพนิมิตอยู่อีก ยังไม่ปล่อยวาง ก็ให้เราพยายามใช้สติปัญญาของตนประคองจิตของตน หรือดึงรั้งเอาจิตของตนมาคิดอยู่กับอารมณ์ที่เบาๆ และความสุขุมที่มีอยู่เดิมนั้นอีก

แต่ถ้าจิตของตนก็ยังดื้อดึง และยินดีเพ่งมองดูภาพนิมิตนั้นอยู่อีก ไม่ยอมปล่อยวางออกจากนิมิตนั้น ก็ให้เราอุบายใช้สติปัญญายกไตรลักษณ์ขึ้นมาพิจารณาว่า นิมิตนี้ก็เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงที่อยู่อย่างเดิมสมดั่งปราถนา ก็หากเป็นของที่เสื่อมหายไปได้ แม้บุคคลมีความปรารถนาอยากให้นิมิตนั้นตั้งอยู่ก็ตาม

ย่อมไม่ได้ตามใจหวังของตน นิมิตนี้ก็ยังเลอะเลือนหายไปได้ จึงทำให้ทุกข์เมื่อนิมิตได้เป็นเช่นนี้แล้ว นิมิตนี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตนตัวของใคร ของบุคคลใดเลย แต่เราก็ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในนิมิต แต่นิมิตนั้นเมื่อได้หายไปแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามีคนมีตัวอยู่ที่ไหน ก็มองไม่เห็นเลยเช่นนี้ จึงว่าเป็นอนัตตา ก็ทำไมเล่าเราจึงไปยึดถือนิมิตเล่า เมื่อมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ จิตของตนก็จะยอมจำนนต่อสติปัญญา จิตของเราก็จะกลับคืนมาพิจารณาอยู่ที่ความเบาและความสุขสุขุมละเอียดนั้น

ถ้าเราพิจารณาอีกแบบใหม่ คือว่า ยกตัวอย่างเปรียบเทียบการหาอุบายให้เรา ทำจิตของตนไม่สนใจกับนิมิตอะไรเลย ให้ทำจิตของตนให้ตั้งอยู่กับอารมณ์ที่มีความรู้ว่าเบา และความสุข ไม่ให้จิตของตนไปสนใจกับนิมิต เหมือนบุคคลคนหนึ่งไปยืนอยู่ที่ทางสี่แยก ที่มีรถหรือหมู่คนเดินผ่านสัญจรไปมาไม่ขาดสาย แล้วให้เราทำจิตของตนนิ่งอยู่กับอารมณ์เบา และความสุขนั้น ไม่สนใจกับนิมิตเลย


เปรียบเหมือนบุคคลหนึ่งนั้น ที่เขายืนอยู่ทางสี่แยก แต่เขาบุคคลนั้น เขาก็ไม่ได้สนใจอยากจะไต่ถามหมู่ฝูงคนที่เดินผ่านไปมาที่ผ่านสายตาของบุคคล นั้น เขาก็ยืนดูเฉยอยู่ ไม่สนใจเลยว่าใครไปอะไรมาอะไร เขาปล่อยวางเฉย

เมื่อเราปล่อยวางนิมิตได้อย่างนี้แล้ว เราก็พยายามสังเกตดูจิตของตนเองว่าตั้งอยู่กับอะไรให้รู้ เมื่อเรารู้ว่าจิตของตนนั้นตั้งอยู่กับอารมณ์เบา และความสุขละเอียดแล้ว เราก็พยายามประคองจิตของตนให้นิ่งอยู่ เมื่อจิตของตนนิ่งอยู่ก็ให้รู้ แล้วจิตก็จะปล่อยวางทั้งนิมิตและเสียงภายนอก จิตของตนก็จะสงบลึกซึ้งละเอียดลงทุกที อีกพักหนึ่ง ตอนนี้เมื่อจิตหยุดอยู่ในอารมณ์ที่สุขุมละเอียดกว่าเดิม แต่ก็ให้สังเกตดูจิตของตนให้รู้ด้วยว่า


จิตของตนได้เสวยอารมณ์สุขุมละเอียดกว่าแต่ก่อนแน่นอน ตอนนี้จะเกิดปีติแรงมากขึ้น และความสุขก็ยิ่งมากขึ้นตามมา

ต่อไปเมื่อจิตของตนสงบอยู่ ก็รู้สึกว่าเสียงภายนอกเบาลงแล้วจะเกิดได้ยินเสียงอยู่ภายในความสงบ การที่ได้ยินเสียงภายในนั้น คือว่าเสียงที่คนอื่นพูดเรื่องของเราอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาพูดอยู่ไกลๆ ก็ได้ยิน ในเรื่องที่เขาพูดนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราจะได้ยินแน่นอนในตอนนี้


เมื่อจิตของเราสงบอยู่ แต่บางบุคคลนั้น จะได้ยินเป็นเสียงเหมือนครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนธรรม หรือบอกภาษิตธรรมเป็นบาลีหลายอย่าง หลายข้อ แต่เราก็ทำได้แม่นยำไม่หลง บางบุคคลนั้นจะปราฏมีความรู้ความจำในสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เช่นเราดูหนังสือธรรมต่างๆ หรือท่องสวดมนต์บทใดบทหนึ่งได้ไว้แต่ก่อนแล้วนั้น เป็นบาลีธรรมก็จะมีความจำได้ดี และแปลได้ทุกอย่าง

เหมือนเกิดปัญญาแตกฉานในธรรม ว่องไวคล่องแคล่ว เหมือนรู้แจ้งในธรรมแน่นอนแล้ว ก็เกิดทิฏฐิมีความผิดว่า ตนรู้แจ้งในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าไม่มีคนอื่นใดรู้ธรรมเหมือนตนเองเลย เมื่อคนเห็นนี้เกิดขึ้นแล้ว จิตก็ถอนออกจากสมาธิอยู่ปกติตามเดิม บัดนี้เมื่อคนอื่นมาหาก็อยากเทศน์ธรรมให้เขาฟังว่า ตนนี้รู้แล้วก็เทศนาไปไม่หยุดยั้ง จนคนอื่นมาหาก็อยากเทศน์ธรรมให้เขาฟังรำคาญเบื่อหูแล้วก็ลุกหนีจาก


ถ้าบุคคลใดเจริญภาวนามาถึงตอนนี้ไม่หลงแล้ว ต่อไปนั้นก็ให้ประคับประคองจิตของตนเองให้นิ่งอยู่กับอารมณ์เบาๆ และสุขุมละเอียดนั้นแล้ว ให้วางเสียทั้งภายในและภายนอก คือไม่สนใจกับเสียงอะไรทั้งหมด แม้จะเป็นเสียงดีเพราะเสนาะหูก็ดี หรือเสียงไม่ดีก็ตาม ก็ปล่อยวางให้หมดสิ้น เมื่อจิตของเราปล่อยวางเสียทั้งหมดไปแล้ว

ตอนนี้จิตของเราก็สงบลึกลงไป และดับเสียงทั้งภายในและเสียงภายนอกทั้งหมด จิตก็วางเป็นอุเบกขา จิตของเราก็นิ่งอยู่ในอารมณ์ที่ว่างเปล่า และมีความสุขสุขุมละเอียดยิ่งมาก ในตอนนี้ดูเหมือนหนึ่งว่าร่างกายของตนว่างเปล่า เหมือนอากาศ หรือว่าเหมือนไม่มีร่างกาย เวทนา ความเจ็บปวดในร่างกายหายหมดสิ้น


ก็เหลือแต่จิตที่ตั้งอยู่กับความว่างเปล่าและความสุขอันประณีตอยู่เฉพาะ หน้าตนเองเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเทียบอย่างหนึ่งนั้น ก็เหมือนแยกจิตออกจากกายนั้นเอง แต่ก็จริง กายกับจิตนั้น ก็แยกออกจากกันได้ เพราะเป็นคนละอย่าง

เหตุไฉนจึงพูดอย่างนั้น ว่ากายกับจิตแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างว่าตัวเราเองนั่งอยู่ในสถานที่หนึ่ง แล้วเราก็คิดไปอีกสถานที่อื่นแล้วเราก็จะรู้ว่าจิตของตนก็จะไม่อยู่กับตัว เราเลย เรารู้ได้ทันทีหรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อเราตายลงไปแล้วจิตวิญญาณก็จะออกจาก ร่างกาย ไปเกิดภพใหม่อีกได้ที่อย่างหนึ่งนี้แล เราจะเห็นได้ว่ากายกับจิตนี้แยกออกจากกันได้แน่นอน

เมื่อเราเจริญภาวนามาถึงตอนนี้ จิตของตนตั้งอยู่ในความว่างเปล่า และความสุขอันประณีตเยือกเย็นสมทบ จิตสงบได้นานมาก บุคคลนี้จะนั่งเป็นวันเป็นคืนตามความต้องการได้ตามสบาย ไม่รู้ความเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่รู้ร้อน รู้หนาว ไม่อยากกินข้าว กินน้ำ ไม่หิวอะไร ไม่อยากคิดอะไร ไม่อยากได้อะไรเสียเลยทั้งหมด มีแต่ความสุขและอิ่มอยู่ตลอดเวลา


ถ้าออกจากสมาธิแล้วก็ยังมีความสุขอยู่ แล้วก็อยากหลบเข้าไปอยู่ที่เดิม เพราะเห็นเป็นที่ว่างเปล่าและมีความสุขมาก ปราศจากการคลุกคลีและเสียงต่างๆ ว่างจากความเจ็บปวดเวทนาในร่างกาย เป็นสถานที่หลบเวทนาความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีมาก


เมื่อมีความเจ็บปวดในร่างกายเกิดขึ้น ก็หลบหนีเข้าไปอยู่ที่นั้น ก็สบาย ไม่มีความเจ็บปวดร่างกาย ฉะนั้น เมื่อจิตของเรามาตั้งอยู่สงบอยู่ในสถานที่อันว่างเปล่า และมีความสุขสุขุม ประณีตดับจากเสียงทั้งหมดแล้วก็ตั้งอยู่อย่างนี้แล้ว จะสมมุติว่าอะไร ว่าจิตสงบถึงภวังค์จิตหรือว่า ภพจิตอันหนึ่งหรือจะสมมุติว่าอยู่ในองค์ฌาน หรืออัปปนาสมาธิแล้วแต่จะสมมุติเอา แต่จะสมมุติว่าภพจิตอันหนึ่งก็ว่าได้ เพราะมีความเพ่งอยู่ในความสุขยินดีอยู่ในความสุขก็เกิดอยู่ในภพอีกนั่นเอง ถ้าจะสมมุติอยู่ในองค์ฌานนั้นก็เหมือนกันเพราะมีความเพ่งอยู่ในความว่างและ ความสุข แล้วแต่จะสมมุติขึ้น ก็จะเป็นสมมุติอันนั้น

แต่ในสถานที่นี้ เมื่อจิตของเราทรงอยู่นี้ตั้งอยู่นี้ และมาติดอยู่นี้ จิตของเราก็จะไม่เจริญขึ้น เพราะไม่อยากอะไร ไม่ค้นคิดอะไร อยากอยู่เฉยๆ แล้วก็ไม่เกิดปัญญาขึ้น มาติดอยู่ ก็ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นเลย.

-------------------------------------------------

คัดลอกจาก: หลักสมาธิวิปัสสนา
วิธีปฏิบัติธรรม สำหรับชาวพุทธ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที