TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 12 ก.พ. 2007 11.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58202 ครั้ง

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องพูดต้องคุย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน


ชะตาฟ้าลิขิต

คุณเคยได้ยินคำว่าเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วยบ้างมั้ยหมายถึง สามารถแล้วต้องดวงดีด้วย ถึงจะไปโลดไง
    
      สำหรับดิฉันเองไม่เข้าข่ายที่ว่านี้หรอกเพราะยังจำได้ว่า สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรม- ศาสตร์ แล้วให้บังเอิญฟลุคสอบได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อปริญญาโทที่โตเกียวนั้น วันที่ไปลาอาจารย์ภาควิชาภาษาญี่ปุ่นท่านหนึ่ง แล้วอาจารย์พูดเตือนเพื่อย้ำในเซลล์กะโหลกของดิฉันว่า คนบางคนไม่เก่งแต่ดวงดีก็เลยมีชัยไปกว่าครึ่ง เหมือนอาจารย์จะเตือนดิฉันว่า ไม่ได้เก่งอะไรนักหนาหรอกนะ แต่บังเอิญเฮงเท่านั้น อย่าทำอวดดีไปหละ เพราะหนทางยังอีกยาวไกล ดิฉันสำนึกในคำเตือนของอาจารย์ท่านนั้นอยู่มิรู้ลืม และเพราะคำเตือนที่จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในปัจจุบันก็ทำให้ดิฉันก้าวไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวัง และไม่เคยถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว (อย่างนี้ต้องขอดัดจริตขอบคุณอาจารย์เป็นภาษาญี่ปุ่นหน่อยละว่า
: yasashii kimochi hontou ni arigatou gozaimasu. หมายถึง ขอบพระคุณอย่างสูงในความกรุณา ใครจะจำเอาไปใช้บ้างก็ได้นะ ไม่ว่ากัน)   
    
    
     เมื่อพูดถึงการเรียนภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยของดิฉัน ( 20กว่าปีที่แล้ว) ทำให้นึกถึงพวกเราเหล่าชาวท่าพระจันทร์ที่อยากจะได้ดีทั้งหลาย ต้องแห่กันไปลงเรียนภาษาต่างประเทศเป็นทิวแถว และวิชาสุดฮิตแบบติดอันดับเป็นเวลานาน ทั้งรุ่นก่อนดิฉันหลายๆช่วงอายุ แบบไม่มีภาษาใดสามารถล้มแชมป์ (ในยุคนั้น) ได้เลย ก็คือภาษาอังกฤษ แล้วเพราะความเป็นแชมป์ยอดนิยมของวิชานี้นี่แหละ ที่ทำให้จำนวนผู้เรียนมีมากกว่าผู้สอน เพราะฉะนั้นก็เลยจำเป็นต้องมีโควต้าสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ ที่เป็นตำนานมหาโหดให้เล่าขานกันรุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า ถ้าใครจะเรียนวิชานี้จะต้องตาลีตาเหลือกมาเข้าคิวรับโควต้า ซึ่งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ภาษาจะแจกให้ตั้งแต่ไก่โห่ แล้วโควต้าที่ว่านี้ก็จะหมดลงอย่างรวดเร็ว ประมาณว่านกกระจอกยังไม่ทันจะกินน้ำเลยแหละ ดิฉันไม่รู้ว่าเด็กธรรมศาสตร์รังสิต จะมีประสบการณ์อย่างพวกดิฉันบ้างหรือเปล่า สำหรับคุณนายตื่นสายอย่างดิฉันก็หมดสิทธิ์เรียน เพราะไก่บ้านดิฉันขันช้ากว่าที่ท่าพระจันทร์ จำได้ว่าวันที่ดิฉันชวดรับโควตานั้นถูกเพื่อนๆร่วมก๊วนรุมประณามว่าไม่รักดี เลยทำให้ฮึดสู้ว่า ให้มันรู้ไป ถ้าไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษแล้วจะทำอะไรไม่ได้
   
   
    
     บ่ายวันนั้นดิฉันก็พบคำตอบแก้โจทย์ (เป็นคำตอบสุดท้ายจริงๆ) ที่ว่าถ้าไม่เรียนภาษาอังกฤษ แล้วจะเรียนภาษาต่างประเทศอะไรดี ระหว่างรอเรียนวิชาโฆษณา ของดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งปีนั้นอาจารย์เพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ทั้งหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว แต่งตัวครีเอทีฟสุดๆ ตามสไตล์หนุ่มนักโฆษณา (สมัยนั้น) หุ่นสมาร์ท ไร้พุงและไขมันโดยสิ้นเชิง นักศึกษาสาวๆ แย่งกันส่งดอกกุหลาบปักแจกันห้องอาจารย์จนหัวกระไดคณะวารสารฯ ไม่แห้งทีเดียว แต่โทษทีเถอะ อกหักกันเป็นแถวๆ เพราะพอโผล่เข้าไปในห้องอาจารย ์มีแต่รูปหนุ่มหล่อเช็ดชนิดพวกสาวๆชิดซ้าย ด้วยไม่มีปัญญาทาบติด แต่หากจะอกหัก ก็ไม่เป็นไรเพราะได้เข้าไปฟังอาจารย์บรรยาย จากประสบการณ์ก็เกินคุ้มแล้ว อาจารย์อะไรไม่รู้ สอนง่าย เข้าใจง่าย แต่ลืมยาก เรียนกับดร.เสร ีแทบว่าจะไม่ต้องท่องตำราเลยนะ ปฎิบัติๆ ๆ อย่างเดียว สนุกมาก
 
    
     ดิฉันคิดว่าการสอนแล้วให้นักศึกษาเข้าใจจากประสบการณ์ ลองผิดลองถูก โดยมีอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะบ้าง อย่างนี้เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะหลายๆ อย่างที่ดิฉันได้ซึบซาบจากอาจารย์ ก็ได้นำมาใช้ในการทำงาน จนถึงปัจจุบัน แล้วก็เพราะการเป็นอาจารย์ที่สอนเก่ง สนุก ได้ความรู้อย่างนี้ ทำให้วิชาของดร.เสรี มีนักศึกษาแย่งกันเรียน (แต่ไม่ยักกะมีโควต้าเหมือนภาษาอังกฤษ) จนทำให้ต้องไปใช้สถานที่เรียนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งมีห้องเรียนที่จุนักศึกษาได้มากกว่าคณะวารสารฯ ที่นี่เองที่ทำให้ดิฉันได้รู้จักสองสาวน้อยชาวอาทิตย์อุทัย ซึ่งบังเอิญเข้ามาถามหาห้องน้ำ ด้วยสำเนียงภาษาไทยแปลกๆ แต่น่าเอ็นดู และที่สำคัญคือสื่อความหมายให้ดิฉันเข้าใจได้ว่า
      

     “ ขอโทษนะคะ ฮ่งน่ำอยู่ที่ไหนนะคะ ” เธอทั้งสองลงเสียง “ นะคะ ” สูงมาก ยังจำได้ว่าเป็นเสียงแหลมๆเล็กๆ แถมหน้าตาจิ้มลิ้ม ขาวจั๊วะ ใส่หมวกเก๋อีกต่างหาก หลังจากทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีแล้ว ดิฉันก็ได้เพื่อนใหม่ (ทันที) เพิ่มอีกสองคน ซึ่งได้ความว่าทั้งคู่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอกที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าไคได

 

ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหนักทางด้านภาษาต่างประเทศ และวิชาเอกภาษาไทยนี้มีมานานแล้วด้วย โอ้โฮ ! อะไรจะจุดประกายดิฉันขนาดนั้น ความหวังที่สลายไปเมื่อเช้า (ชวดโควตาภาษาอังกฤษ) ถูกเรียกกลับมาอย่างรีบด่วนในช่วงบ่ายนี่เอง

    
     ดิฉันตัดสินใจเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นวิชาโททันที โดยมีสองสาวจุงโกะ และเรโกะ ที่ว่านี้เป็น ติวเตอร์ทางอากาศ ด้วยการโต้ตอบจดหมายกันไปมาอย่างสนุกสนาน เพราะทั้งคู่ขยันเขียนจดหมาย เป็นภาษาไทย พร้อมกับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นกำกับมาด้วย ดิฉันก็จะคอยแก้ภาษาไทยของพวกหล่อน ในขณะเดียวกัน ก็เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจากจดหมายของคุณเธอทั้งสอง ซึ่งมักจะมีอะไรขำๆในจดหมายเสมอๆ เช่น ครั้งหนึ่งจุงโกะเขียนมาถามว่าเวลาไปเยี่ยมเยียนผู้อื่น ประมาณว่าเพื่อนๆ คนรู้จักกัน แล้วมีของฝากติดไม้ติดมือไปด้วย ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น จะพูดกับคนๆ นั้นว่าอย่างไรในภาษาไทย เพราะในภาษาญี่ปุ่นจะบอกว่า

ถ้าแปลเป็นไทยแล้วหมายถึง “ของเล็กๆน้อยๆไร้ค่า เชิญรับไปเลยค่ะ” คุณนายจุงโกะเธอบอกว่า ได้ทบทวนความหมายหลายครั้งแล้วรู้สึกว่าภาษาไทยตามคำแปลนี้แปลกๆ เธอจะพูดอย่างนี้ได้หรือไม่ ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกขำ พร้อมกับคิดว่า ถ้าดิฉันเป็นเพื่อนคนที่จุงโกะไปเยี่ยมแล้วได้ยินคำพูดนี้ ก็คงจะตอบกลับไปว่า “เฮ้ย ! รู้ว่าของไร้ค่าเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ แล้วเอามาให้ทำไม เอากลับไปเถอะ เสียมารยาท” ถ้าเป็นคุณๆจะตอบอย่างดิฉันมั้ย !!!

 
    
     แต่ในความเป็นจริงที่ดิฉันตอบจุงโกะไปในจดหมายก็คือต้องพูดว่า “ของฝากเล็กๆน้อยๆค่ะ” แล้วก็ได้มาเข้าใจภายหลัง เมื่อมีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับคนญี่ปุ่น สังคมญี่ปุ่น เป็นเวลากว่า 15 ปี ถึงได้ถึงบางอ้อว่า คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขี้เกรงใจและถ่อมตน ถ้าเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การงาน สิ่งของ ก็จะต้องพูดให้เล็กๆเข้าไว้ ด้วยความรู้สึกที่ต้องการให้เกียรติฝ่ายตรงข้าม จนทำให้รู้สึกว่า คนญี่ปุ่นไม่ใช่คนเปิดเผยเวลาคบไปลึกๆ แล้วจะเหมือนมีกำแพงบางๆ กั้นไว้ แล้วที่สำคัญ คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยยอมเป็นมิตรกับใครง่ายๆ อาจเป็นเพราะ ความเป็นประเทศเกาะโดดเดี่ยวและปิดประเทศมานานก็ได้ จึงทำให้ไม่คุ้นเคยกับคนแปลกหน้า และไม่ไว้ใจ แต่ถ้าหากเมื่อใดก็ตามที่คนญี่ปุ่นยอมรับคุณแล้ว มิตรภาพนั้นจะยืนยาวเป็นมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างจริงจังทีเดียว
 
    
     โดยส่วนตัวของฉันแล้ว การทำความเข้าใจกับชนชาติใดๆ ที่สำคัญคือ ควรวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรากเหง้าของภาษา เพราะเป็นที่มาของวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ หากเรามองลึกลงไป ในเบื้องหลังรากเหง้าวัฒนธรรม ผ่านภาษาของแต่ละชาติก็จะเข้าใจเจ้าของภาษาได้ดียิ่งขึ้น เหมือนอย่างกับการพยายามทำความเข้าใจคนญี่ปุ่น ผ่านภาษาญี่ปุ่นนี่แหละ แล้วคุณอย่านึกนะว่า ชาติอื่นเขาไม่มองประเทศไทย เหมือนอย่างที่เรามองเขา คุณเชื่อมั้ยเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นของดิฉัน เรียกประเทศไทยว่าอะไร เขาเรียกกันว่าประเทศไม่เป็นไร เพราะคนไทยชอบพูดว่า ไม่เป็นไร อยู่เรื่อย แล้วพวกคุณเคยคิดมั้ยว่า ทำไมเราจึงชอบพูดว่า ไม่เป็นไร !!! น่าคิดนะว่า ทำไมๆๆ และทำไม

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที