ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 06 ต.ค. 2011 16.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4095 ครั้ง

บทความต่อจากนี้เจ็ดตอน เป็นการสรุปประเด็นสำคัญ จากหนังสือขายดีภาษาญี่ปุ่นเรื่อง "เจ็ดนิสัย สู่ความสำเร็จแห่งวิถีโตโยตา" ซึ่งผมจะทะยอยนำลง เพื่อให้อ่าน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าประเทศไทย อุตสาหกรรมไทย จะไปสู่ความเป็นเลิศเช่นว่านี้ ได้อย่างๆร และต้องสร้างเสริมนิสัยอะไร อย่างไรบ้าง


เกริ่นนำ

 

หนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง ซึ่งหลายท่านคงเคยอ่านกันมาแล้ว คือ นิสัยเจ็ดประการของผู้มีประสิทธิภาพสูง (The Seven Habits of Highly Effective People) เขียนโดย Stephen Covey หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก ในปี 1989 และยังคงขายดีอย่างต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้  หนังสือมียอดขายกว่า 15 ล้านเล่ม และ มีการจัดพิมพ์กว่า 38 ภาษา หนังสือเล่มดังกล่าว เขียนถึง อุปนิสัยของบุคคล หรือ สิ่งที่ผู้คน ยึดถือปฏิบัติกันต่อเนื่องกระทั่งเป็นนิสัย ผู้เขียนได้ศึกษา กรณีต่างๆ และ สรุปว่า มีอุปนิสัยสำคัญ 7 ประการ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ หรือ กล่าวกลับกันก็คือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จ และ มีประสิทธิภาพในการทำงานดีมากนั้น ล้วนมีอุปนิสัยเจ็ดประการดังกล่าว

ไม่นานมานี้ ผมไปอ่านพบหนังสือภาษาญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง ชื่อ “นิสัยเจ็ดประการสู่ความแข็งแกร่งของโตโยตา 最強トヨタの7つの習慣” เขียนโดย คุณ วากามัตสุ  โยชิฮิโต (Wakamatsu Yoshihito) คุณวากามัตสุผู้นี้ เป็นลูกหม้อของโตโยตา เมื่อปลดเกษียณก็ออกมาตั้งบริษัทที่ปรึกษา พร้อมทั้ง เขียนหนังสือ โดยอาศัยประสบการณ์ด้านการบริหาร รวมทั้ง ประสบการณ์จากโตโยตา เผยแพร่จุดแข็งต่างๆของบริษัทโตโยตา เป็นหนังสือหลายเล่ม

หนังสือเล่มที่ผมกล่าวถึงนี้ มีแนวคิดคล้ายคลึงกับที่ สตีเฟน โควีย์ เขียนเอาไว้ เพียงแต่ กล่าวถึงอุปนิสัย หรือ วัฒนธรรมขององค์กรซึ่งทำให้ หน่วยงาน หรือ องค์กรเหล่านั้น ประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง  คุณวากามัตสุ ได้สรุปรวบรวม นิสัย แนวปฏิบัติ และ วัฒนธรรมการทำงาน “แบบโตโยตา” ที่เขาเห็นว่า เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งทำให้ โตโยตา สามารถพัฒนาจากบริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น กระทั่งมาเป็น บริษัทชั้นนำของโลกในปัจจุบันได้

วัฒนธรรมเจ็ดประการ ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่แนวปฏิบัติ ที่จำกัดและดำเนินการอยู่เฉพาะภายในโตโยตาเท่านั้น หากแต่ แนวคิด “แบบโตโยตา” ดังกล่าว มีบริษัทญี่ปุ่น จำนวนมากมาย ทีได้นำไปประยุกต์ ปฏิบัติ และ ประสบความสำเร็จ ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ จึงไม่เพียงกล่าวถึง ความสำเร็จ ของวัฒนธรรมเจ็ดประการดังกล่าว ที่มีต่อโตโยตาเท่านั้น หากยังมีกรณีตัวอย่าง ความสำเร็จ ในบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆประกอบอีกมากมาย

ผมจะสรุป วัฒนธรรมสำคัญเจ็ดประการ ดังที่มีเขียนในหนังสือดังกล่าว มาเล่าสู่กันฟัง เป็นตอนๆไป สำหรับตอนเริ่มเกริ่นนำนี้ ผมจะรวบรวม ประเด็นสำคัญของวัฒนธรรมเจ็ดประการดังกล่าว มานำเสนอ เป็นการเรียกน้ำย่อยจากผู้อ่านก่อน โดยจะอธิบายย่อแบบสังเขปเพื่อให้พอเข้าใจกันได้ก่อน ในฉบับต่อไป จึงจะนำแต่ละวัฒนธรรม มาขยายความพร้อมกับตัวอย่างจริง ที่มีในหนังสือ เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้ลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น

วัฒนธรรมประการแรกคือการคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายให้สูง ทั้งนี้ โดยมีความเชื่อว่า การตั้งเป้าหมายซึ่งสามารถบรรลุได้โดยง่าย ไม่ได้ช่วยในการพัฒนาบุคลากร การมีเป้าหมายที่สูง ช่วยให้พนักงานร่วมมือกัน ระดมความคิด เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายที่สูงส่ง ยังต้องประกอบรวมด้วย การมีแผนปรับปรุงที่ละขั้นตอนที่ชัดเจน ไปสู่เป้าหมายนั้น

วัฒนธรรมประการที่สองคือ การเริ่มต้นคิดจากแง่มุมของลูกค้า ทั้งนี้ โดยยกตัวอย่างแนวคิดกำหนดราคาขาย “แบบโตโยตา” ซึ่งแตกต่างออกไป กล่าวคือ

ราคาขาย = ต้นทุน+กำไร (แนวคิดทั่วไป)

กำไร = ราคาขาย – ต้นทุน (แนวคิดแบบโตโยตา)

กล่าวคือ พึงเริ่มคิดจากมุมของลูกค้า ว่า ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในราคาเท่าไร ต่อจากนั้น จึงพิจารณาดู ว่าจะสามารถควบคุม รวมไปถึงลดต้นทุนลงไปเพียงใด จึงสามารถมีกำไรขึ้นมาได้

วัฒนธรรมประการที่สาม คือ การค้นหารากเหง้าของปัญหาด้วยการถาม “ทำไม” ห้าครั้ง แนวคิดนี้ เน้นให้พนักงานทุกคน มุ่งหา “ราก” ที่แท้จริงของปัญหา ไม่ใช่เพียงสาเหตุ “ผิวเผิน” ของปัญหา โดยการตั้งคำถาม “ทำไม” ต่อเนื่องกัน ห้าครั้ง เพื่อจะสามารถขุดลึก ลงไปสู่ สาเหตุ ที่ลึกขึ้นไปเรื่อยๆ

วัฒนธรรมประการที่สี่ คือ ไม่ยึดติด และ หลงอยู่กับความสำเร็จเก่าๆ ประเด็นสำคัญของวัฒนธรรมนี้ ก็คือเน้นให้เห็นการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันเป็นรากฐานแนวคิดไคเซ็นนั่นเอง วากามัตสุ กล่าวไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่า “เมื่อเราสามารถบรรลุเป้าหมายหนึ่งได้แล้ว มันก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้น ของเป้าหมายใหม่” วัฒนธรรมนี้ จึงคล้ายกับแนวคิด changes ที่เฟื่องกันในปลายปีทีผ่านมา หรือตรงกับ คำสอบของพระพุทธองค์ เกี่ยวกับ อนิจจัง

วัฒนธรรมประการที่ห้า คือ การมุ่งให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้า มากกว่าแค่ทำให้งานสำเร็จ โดยเน้น หลักคิดของการไคเซ็น ที่ต้องให้พนักงานเกิดจิตสำนึกที่ดี เพื่อร่วมกัน ในการพิจารณาแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ วิธีทางในการแก้ไขมีหลากหลาย แต่ต้องเข้าใจเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน และ ตรงกัน

วัฒนธรรมประการที่หก คืออย่าหลงดีใจกับ “งานการที่มากมายยุ่งเหยิง” แต่ให้มุ่งปรับปรุงแก้ไข โดยให้ยึดหลัก การวางแผนงานล่วงหน้า ต้องเริ่มต้น “เร็ว” แต่ไม่ “เร่งรีบ” ทำ กล่าวคือ มีความตระหนัก เตรียมแก้ปัญหาก่อนจะเกิด และ มีการตระเตรียมแผนงานอย่างรอบคอบ ครบถ้วนแล้วลงมือทำ ไม่ใช่ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ครั้นพบปัญหา ก็เร่งรีบแก้ไข ซึ่งมักจะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมนี้ จึงมุ่ง การทำงานที่สำคัญ โดยไม่ต้องเร่งรัดเกินไป

วัฒนธรรมประการที่เจ็ด คือ เชื่อมั่นกับ “พลังของทุกคน” ทั้งนี้ โดยมีความเชื่อมั่นว่า ปัญญานั้นมีอยู่ในทุกผู้คน หากหัวหน้าทำตนเป็นตัวอย่าง และ มีการสร้างจิตสำนึก ให้เห็นความสำคัญในการปรับปรุงงาน ก็จะเกิดเป็น พลังของทีม ซึ่งร่วมมือกัน ในการช่วยแก้ปัญหาได้

หนังสือดังกล่าวนี้ มีความหนา 259 หน้า ที่เมื่อหยิบอ่านแล้ว จะสนุกแล้วอ่านต่อเนื่องได้จนจบ ทั้งนี้เพราะ หนัวสือ ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะหลักการทฤษฎี แต่มีการยกตัวอย่างจริง ที่เกิดขึ้น ในบริษัท ยิ่งกว่านั้น บริษัทที่ยกมาอ้างถึง ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะ บริษัทโตโยตา แต่ยังมี แคนอนม ซุซุกิ ฮอนดา เป็นต้น อันเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นด้วย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที