จุฑารัตน์

ผู้เขียน : จุฑารัตน์

อัพเดท: 08 ก.ค. 2012 14.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4649 ครั้ง

ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในองค์กร แต่การเปลี่ยนแปลงจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยุ่กับว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด การบริหารคุณภาพโดยรวมก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรมีความเป็นเลิศได้เช่นกัน



TQM กับการยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจ

 

TQM กับการยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจ

                              TMQ คือ ระบบที่มีการจัดโครงสร้างเพื่อสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าหรือให้มากกว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือคาดหวัง โดยอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนของทุกๆฝ่าย ตลอดทั่วทั้งองค์กรและโดยการใช้กระบวนการพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือและกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (“Total Quality Management Master Plan,” Goal/QPC Research Report No.90-12-002, Methuen, MA, 1990)

                    จากนิยามดังกล่าว หลักการและปรัชญาของ TQM จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทุกๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือหรือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ประเด็นที่ถกเถียงกันทุกวันนี้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของการยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจกับ TQM ว่าใครคือเจ้ายุทธจักรตัวจริง และไม่น่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกับการพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ประเด็นสำคัญที่น่าจะพิจารณา คือ ในสถานการณ์เช่นไรที่กิจการควรใช้วิธีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป และในสถานการณ์เช่นไรที่ควรใช้วิธีการพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ การประยุกต์วิธีทั้งสองที่กล่าวมาก็ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์ และสำหรับหลายๆกิจการ ขณะนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องทำการยกเครื่องกระบวนการธุรกิจใหม่หมด

                 การยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจแบบถอนรากถอนโคนและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นสองกิจกรรมที่แม้ว่าจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นกิจกรรมที่จำเป็นและมีส่วนเสริมซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี แม้ว่ากิจกรรมทั้งสองจะอยู่บนฐานของหลักการ TQM เหมือนกัน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการและมองว่า

1.    กระบวนการที่เป็นเลิศเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับความได้เปรียบเชิงการแข่งขันโดยรวม

2.    การวัดผลปฏิบัติงานในกระบวนการอย่างถูกต้องด้วยตัวเลขเป็นสิ่งจำเป็น

3.    การประเมินกระบวนการจะต้องไม่มองจากจุดยืนของกิจการ แต่จะต้องมองจากจุดยืนของลูกค้า

                การยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่กำไรแบบเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในตัวของมันเอง การผสมผสานปรัชญา TQM และวิธีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเข้าไปในกระบวนการใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งนี้เพื่อเสริมส่งกระบวนการต่างๆที่ได้ทำการยกเครื่อง การพัฒนาต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปและการพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือโดยการยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจใหม่หมดจึงตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน และไม่ใช่ทางเลือก (Alternatives) ทั้งสองแนวคิดจึงต้องนำมาใช้ร่วมกันเพื่อให้บรรลุและดำรงไว้ซึ่งความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน

 

อ้างอิง : ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์.  (2537, กันยายน).  TQMกับการยกเครื่องกระบวนการทางธุรกิจ.  จุฬาลงกรณ์ธุรกิจปริทัศน์.16(61)        11-14.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที