TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 24 พ.ย. 2006 09.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8731 ครั้ง

ได้มีโอกาสเข้าแสดงความยินดีล่วงหน้ากับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน (National Accreditation Council : NAC) ซึ่งจะครบรอบ 10 ปี ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้


ทำ “ระบบ” ให้เป็น “ระบบ”

ได้มีโอกาสเข้าแสดงความยินดีล่วงหน้ากับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน (National Accreditation Council : NAC) ซึ่งจะครบรอบ 10 ปี ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโลกบนพรมแดนที่ไร้ขีดจำกัดนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนอยากจะทราบว่าในฐานะหน่วยงานของภาครัฐที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการรับรองระบบงานของประเทศไทย และการก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 นี้ ได้วางแผนการดำเนินงานในอนาคตต่อไปอย่างไร ซึ่งผู้เขียนได้รับเกียรติจากนายชัยยง กฤตผลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มาเปิดเผยให้กับสมาชิกทุกท่านได้ทราบ

“ทุกวันนี้การค้าไม่ได้ทำเพื่อขายในประเทศอย่างเดียว ในขณะเดียวกันต่างประเทศกำลังส่งสินค้าเข้ามาขายในบ้านเรามากขึ้นด้วย แต่การที่จะมีความสามารถในการแข่งขันได้ เราต้องสร้างในด้านความเชื่อมั่นเสียก่อน เพราะฉะนั้น ผลการตรวจสอบและรับรองระบบถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะอำนวยประโยชน์ทางการค้า ซึ่งถ้าระบบการตรวจสอบระบบของเราเชื่อถือไม่ได้เราก็ไปแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้

ปัจจุบันขอบข่ายการดำเนินงานในการรับรองระบบงานของ NAC ได้แก่ การบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) การจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในอุตสาหกรรมอาหาร (มอก. 7000 และ มอก. 34) การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มอก. 18001) และ การรับรองระบบงานหน่วยตรวจ (ISO/IEC 17020)

ซึ่งสิ่งที่ NAC จะกระทำต่อไปคือ การขยายขอบข่ายในด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Product Certification) เพราะขณะนี้องค์การสากลเริ่มมีการลงนาม MRA (Multilateral Recognition Arrangement) ในด้านนี้แล้ว”

ในประเทศไทยมีหลายบริษัทที่รับดำเนินการรับรองระบบงาน ผู้ใช้บริการต้องรู้จักพิจารณาเลือกใช้บริการด้วย โดยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการฯ ได้แนะว่า

“สมาชิก ส.ส.ท. ถ้าต้องการตราสัญลักษณ์ของ NAC ไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ควรเลือกหน่วยงานที่ NAC ให้การรับรอง และการรับรองของ NAC ได้มีการระบุขอบข่ายด้วย เพราะว่าหน่วยรับรองหน่วยหนึ่งไม่ใช่ว่าจะทำได้ทั้งหมดทุกอย่าง ซึ่งหน่วยรับรองนั้น ๆ จะมี Specialist สาขาใดสาขาหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาดูให้ถี่ถ้วน นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาอีกว่าที่ได้รับการรับรองนั้นตรงกับธุรกิจของสถานประกอบการหรือไม่ โดยจะใช้ตัวไอซิกโค้ด (ISIC : International Standard Industrial Classification Code) ในการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมธุรกิจ ซึ่งจะเป็นตัวเลข 2 รหัส เช่น ธุรกิจประเภทอาหารไอซิกเบอร์ 15 ซึ่งสถานประกอบการสามารถไปขอการรับรองจากหน่วยงานนั้น ๆ ที่มีได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านการตรวจสอบ สามารถขอการรับรองจาก NAC ได้โดยตรง เป็นต้น”

อ่านกันแล้วอาจจะคิดว่าผู้เขียนตั้งใจจะโฆษณาให้กับ NAC หรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่สิ่งหนึ่งอยากจะให้สมาชิกได้ทราบกันว่าตัวหน่วยรับรองในปัจจุบันอย่างในประเทศไทยเรา ก็จะมีตราสัญลักษณ์หน่วยรับรองของบริษัทนั้นรับรอง ซึ่งการรับรองโดยบริษัทคนไทย คนไทยเองก็จะไม่ค่อยให้ความเชื่อถือนัก ส่วนใหญ่จะเชื่อถือในบริษัทข้ามชาติเสียส่วนใหญ่ ถ้าบริษัทที่เปิดขึ้นมาถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล มันก็ควรจะมีหน่วยงานที่ผ่านการตรวจประเมินระบบการทำงานมาให้การตรวจรับรองด้วย ซึ่งอย่างน้อย NAC เองก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่คอยรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

ซึ่งตัวแทนจากรัฐท่านนี้ได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า “ผู้ประกอบการบ้านเรามักอยากจะได้เพียง Certification เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องมองว่า จริง ๆ แล้วตัว Certification ที่ได้รับไป มันเป็นเพียงแค่ใบเบิกทางเบื้องต้นเท่านั้นเอง แต่อยากให้คิดถึงระบบ คิดถึงประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า ถ้าเรามีระบบการทำงานที่ดี และทำให้เกิดประสิทธิภาพจริง ๆ มันจะได้ประโยชน์กับตัวผู้ประกอบการเอง ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ให้การรับรองก็ตาม ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังว่าการรับรองจะเป็นการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ เพราะฉะนั้น การจัดนำเอาระบบมาตรฐานต่าง ๆ มาใช้นั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้องใช้ด้วยความเข้าใจ แต่สุดท้ายแล้วบริษัทจะอยู่รอดได้มันก็ขึ้นอยู่กับปรัชญาในการดำเนินงาน เราทำเพื่ออะไร เราต้องคิดอยู่เสมอว่า โลกต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา การที่เรามีระบบมันเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ไม่ใช่ว่าได้ใบ Certification แล้วก็จบกัน แต่เราควรต้องคิดต่อเนื่องไปข้างหน้า และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตลอดเวลาด้วย ถึงแม้ว่าการรับรอง ISO สาขาต่าง ๆ จะเป็นเรื่องที่สำคัญก็จริง แต่สุดท้ายแล้วมันจะจบลงที่ตัวคุณภาพสินค้า”

และระบบจะเป็นระบบต่อไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายปรัชญาการทำงานของผู้บริหารระดับสูง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่จะพยายามทำระบบให้เป็นไปตามระบบมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นวิถีหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย...สวัสดีค่ะ


Interview : อารีย์ ยิ่งวิริยะวัฒน์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที