นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 504132 ครั้ง


วิชาฟิสิกส์ เป็นวิชาพื้นฐานของความรู้ในทางวิทยาศาสตร์มากมายหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, แพทย์, ทหาร ฯลฯ
หนังสือเล่มนี้ จะกล่าวถึง 6 ภาคหลัก ๆ ได้แก่
1. กลศาสตร์คลาสสิก
2. ทฤษฏีสัมพันธภาพ
3. อุณหพลศาสตร์
4. แม่เหล็กไฟฟ้า
5. แสง
6. กลศาสตร์ควอนตัม

ส่วนในตอนท้ายจะกล่าวถึง ความรู้ทางปรัชญา ศาสนา นั่นก็คือมิลินทปัญหา (ฉบับธรรมทาน) เพื่อให้นอกจากจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ยังมีความรู้ในทางปรัชญา ศาสนา ใช้เป็นแนวคิดของชีวิตได้ด้วย เพือเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ
วัตถุประสงค์ที่ทำมาให้อ่านก็เพื่อความรู้ และที่สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียม หรือเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้ว


ตอนนี้ยังเขียนไม่เสร็จ มีจำนวนเยอะมาก อีกทั้งยังต้องขัดเกลาให้อ่านได้ง่าย และมีงานที่ต้องรับผิดชอบด้วย จะพยายามเขียนให้อ่านกันเร็ว ๆ นะ แล้วเราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน
www.thummech.com


11 บทที่ 2 การเคลื่อนที่ในหนึ่งมิติ/ ลักษณะของศรัทธาความเชื่อ

บทที่ 2 การเคลื่อนที่ในหนึ่งมิติ

 

ช่วงนี้งานเยอะ ไม่ค่อยได้มีเวลามาอัพเดตข้อมูลเลย แต่จะพยายามครับ

 

      เป็นขั้นแรกในการศึกษากลศาสตร์คลาสสิก เราจะอธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยจะไม่กล่าวถึงแรงที่มากระทำที่อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการเคลื่อนที่นี้ วิชานี้มันเป็นส่วนหนึ่งของกลศาสตร์คลาสสิก ที่เรียกว่า จลศาสตร์ (Kinematics; กล่าวถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุโดยไม่ได้อ้างถึงแรงอันเป็นสาเหตุให้เกิดการเคลื่อนที่) ในบทนี้เราจะทำการพิจารณาการเคลื่อนที่ในหนึ่งมิติ นั่นคือการเคลื่อนที่ของวัตถุตามแนวระนาบ เราสามารถจัดประเภทในการเคลื่อนที่หลัก ๆ ของวัตถุได้ 3 ประเภท ได้แก่

 

Ø  การเคลื่อนที่แนวระนาบ หรือแนวราบ (Translational) เช่น รถวิ่งไปตามถนน

 

รูปการเคลื่อนที่ของรถ

แนะนำเพื่อให้อ่านได้ต่อเนื่องให้ คลิกขวาเลือก Open link in new window

 

Ø  การหมุน (Rotational)  เช่น โลกหมุนรอบแกนของมันเอง, การหมุนของเพลามอเตอร์

 

รูปการเคลื่อนที่หมุนของล้อจักรยาน แบบไจโรสโคป

 

Ø  การแกว่ง หรือการสั่นสะเทือน (Vibrational) เช่น การเคลื่อนที่กลับไปกลับมาของลูกตุ้ม (Pendulum)

 

รูปตัวอย่างการเคลื่อนที่ของลูกตุ้มแบบการสั่นสะเทือน

 

      ในบทนี้ และอีก2-3บทข้างหน้า จะกล่าวถึงการเคลื่อนที่แนวระนาบ และบทต่อไปก็จะกล่าวถึง การเคลื่อนที่แบบหมุน และสั่นสะเทือน

 

      ในการศึกษาการเคลื่อนที่แนวระนาบ เราจะใช้สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า การสมมติให้วัตถุเป็นอนุภาค (Particle model) ใช้ในการอธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เป็นอนุภาคโดยไม่ได้เอาขนาดของมันมาคิด เพื่อให้การอธิบายทางภาพให้ดูง่ายขึ้น

 

      โดยทั่วไปอนุภาคจะเป็นจุด นั่นคือ วัตถุมีมวล แต่ไม่มีขนาด ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะอธิบายการเคลื่อนที่ของโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์

 

รูปเทียบขนาดดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะ

 

เราจะสมมติโลกให้เป็นจุดอนุภาค แล้วป้อนข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมลงไปเกี่ยวกับการโคจรของมัน ซึ่งการประมาณการให้โลกเป็นจุดน่าจะเป็นเหตุเป็นผล เพราะว่าเมื่อเทียบกับรัศมีของวงโคจรที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่อย่างมากเมื่อเทียบกับโลก และดวงอาทิตย์ การอธิบายจึงตัดรูปร่างขนาดออกไปได้

 

รูปก๊าซ ของเหลว และของแข็งสมมติให้เป็นอนุภาค

 

อีกหนึ่งตัวอย่าง ก๊าซที่บรรจุอยู่ในถัง กำหนดให้อนุภาคของก๊าซเป็นจุดอนุภาคเป็นโมเลกุล โดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างภายในของโมเลกุล

 

2.1 ตำแหน่ง, อัตราเร็ว และความเร็ว

 

      ตำแหน่งของอนุภาค (กำหนดให้เป็น x) คือตำแหน่งที่อยู่ของอนุภาคที่ใช้ในการอ้างอิงจากจุดที่ได้เลือกไว้ เพื่อใช้อ้างอิงกับจุดเริ่มต้นซึ่งเรียกกว่า จุดกำเนิด (Origin) ในระบบที่กำหนดเป็นพิกัด การเคลื่อนที่ของอนุภาคจะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ ถ้าตำแหน่งของอนุภาคยังอยู่ในบริเวณพิกัดที่ได้กำหนดไว้

 

                เรามาลองพิจารณารถที่เคลื่อนที่ไปตามแนวระนาบ ตามรูป

 

รูปการเคลื่อนที่ของรถยนต์ และกราฟ

 

ในรูปรถยนต์คันหนึ่งเคลื่อนที่เป็นแนวเส้นตรงไปตามถนน ซึ่งเราจะสนใจแต่การเคลื่อนที่ของรถยนต์เท่านั้น และสมมติให้รถยนต์เป็นอนุภาค จากการทดสอบเคลื่อนที่ ก็มีการเขียนกราฟซึ่งเรียกกราฟนี้ว่า กราฟระยะทาง-เวลา (Position-time graph) แล้วก็มีการบันทึกข้อมูลการเคลื่อนที่ของรถยนต์ จะเริ่มจับเวลา และทุกวินาทีที่ทำการบันทึกตำแหน่งของรถ จะได้ค่าในตารางที่ 2.1

 

ตำแหน่งของรถ

เวลา (t)

(วินาที:s)

ระยะทาง (x)

(เมตร: m)

1

1

10

2

2

20

3

3

30

4

4

40

5

5

50

ตารางที่ 2.1 ตำแหน่งของรถในเวลาที่ต่างกัน

 

      ข้อสังเกต ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลการเคลื่อนที่ของรถยนต์ การใช้ข้อมูลที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขข้อมูลในทางคณิตศาสตร์ ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา

 

 

ปัญหาพระยามิลินท์

 

ปัญหาที่ ๑๐ ลักษณะความเชื่อ (ศรัทธาลักขณปัญหา)

 

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็ศรัทธามีลักษณะอย่างไร”

     

พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มีลักษณะทำจิตให้ผ่องใส และมีลักษณะจูงใจ”

     

: “ศรัทธาทำจิตให้ผ่องใสได้อย่างไร”

     

: “ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมขับไล่นิวรณ์ (สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นข้องหมองใจ ป้องกันไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง คือ ๑. ความกำหนัดรักใคร่ ๒. ปองร้ายผู้อื่น ๓. จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕.ใจลังเล) ไปจากจิต  จิตเมื่อปราศจากนิวรณ์ก็ย่อมผ่องใส”

     

: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”

     

: “เหมือนพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยจตุรงคเสนาเสด็จกรีธาทัพยกข้ามแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งไป ครั้นแล้วทรงกระหายน้ำ จึงสั่งตรัสให้ราชบุรุษไปตักน้ำมาถวาย พระมหากษัตริย์ทรงมีแก้วมณี ที่เป็นของวิเศษ สามารถทำให้น้ำขุ่น ใสขึ้นได้เอง

 

เมื่อราชบุรุษนั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็นำเอาแก้วมณีดวงนั้นไปแช่ในแม่น้ำอันน้อยนั้น พอแช่สาหร่าย จอก แหน ก็หลีกออกไป ตมก็จมลง น้ำก็ใสขึ้น ราชบุรุษจึงตักน้ำนั้นมาถวายพระมหากษัตริย์ตามพระราชประสงค์ 

 

ขอถวายพระพร เปรียบจิตเหมือนน้ำ ผู้ทำศรัทธาให้เกิด ก็เหมือนราชบุรุษ นิวรณ์ก็เหมือนสาหร่ายและตม ศรัทธาก็เหมือนแก้วมณี

 

อันจิตใจของคนเรา ย่อมถูกนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๕ อย่างนั้นกระทำให้เศร้าหมอง พึงเห็นคนที่มีพยาบาทคิดปองร้ายเขา ใจย่อมขุ่นอยู่เสมอ

 

ก็ถ้าในขณะนั้นเขาผ่อนใจให้ความคำนึงถึงเหตุผลจนเห็นโทษแห่งพยาบาทได้ก็ย่อมจะขจัดความพยาบาทเสียได้ทันที

 

เพราะเกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นว่า ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว  ตนก่อความพยาบาท ตนก็ต้องรับผลของพยาบาท ซึ่งเป็นการก่อเวรก่อกรรม ทำลายประโยชน์สุขของตนและผู้อื่น เมื่อนั้นใจก็จะจาง สิ่งที่ขุ่นก็จะมีสภาพผ่องใสขึ้นโดยลำดับ

     

ถวายพระพร จิตปราศจากนิวรณ์แล้วย่อมผ่องใสอย่างนี้”

     

: “ดูก่อนพระนาคเสน ที่ว่าศรัทธามีลักษณะจูงใจนั้นคืออย่างไร”

     

: “ขอถวายพระพร ตัวอย่างเช่นคนที่เห็นคนอื่น เขาพยายามทำความดีจนสามารถนำตนขึ้นสู่ฐานะอันสูง แล้วนำเอาปฏิปทา (Mode of practice: วิถีปฏิบัติ, ทางดำเนิน) ของผู้นั้น นำมาเป็นทางดำเนินของตนบ้าง แม้จะยากลำบากสักเพียงไร ก็สู้พยายาม ด้วยเชื่อว่า คนที่จะตั้งตนไว้ในฐานะอันสูงเช่นนั้นได้ ต้องมีความอดทนตั้งหน้าบากบั่นทำไป

 

ถวายพระพร เช่นนี้แลเป็นลักษณะแห่งศรัทธาที่จูงใจ”

     

: “เธอจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟังอีก”

     

: “เหมือนแม่น้ำที่ถูกกระแสน้ำเซาะฝั่ง ทำให้ฝั่งพังกว้างออกไปโดยลำดับ ผู้ที่จะผ่านไปเมื่อไม่ทราบว่า แม่น้ำนั้นตื้นลึกเพียงไร ก็ไม่กล้าที่จะข้ามไป ต้องยืนอยู่ริมฝั่งนั้น ต่อเมื่อมีผู้หาญข้ามไปก่อน เขาผู้นั้นจึงกล้าข้ามตามไป เพราะเชื่อว่าตนก็คงสามารถข้ามได้เช่นนั้น

 

ตัวอย่างนี้เป็นฉันใด แม้ศรัทธาก็เป็นฉันนั้น ย่อมจูงใจให้หาญกระทำกิจการ ดังพระพุทธบรรหารในสังยุตตนิกาย มีใจความว่า คนข้ามห้วงด้วยศรัทธา ข้ามมหาสมุทรคือวัฏฏสงสารได้ด้วยความไม่ประมาท ข้ามความทุกข์ได้ด้วยความเพียร และบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

     

: “เธอว่านี้น่าฟัง”

 

จบศรัทธาลักขณปัญหา

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที