GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 พ.ค. 2016 03.15 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1616 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "E-Commerce อัญมณีและเครื่องประดับโตหรือไม่ในตลาดจีน" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


E-Commerce อัญมณีและเครื่องประดับโตหรือไม่ในตลาดจีน

โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส1

แนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนจีนนับว่าเป็นกระแสที่มาแรงมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน และความนิยมในการใช้เครื่องมือสื่อสารแบบสมาร์ทโฟน มีตัวเลขที่น่าตกใจว่า 86% ของคนจีนมีสมาร์ทโฟนใช้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก และด้วยจำนวนประชากรที่สูงที่สุดในโลก ก็ถือว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลกนั่นเอง และก็ยังมีคนจีนประมาณ 30% ที่มีสมาร์ทโฟนสองเครื่องขึ้นไป ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของจำนวนสมาร์ทโฟนของคนจีนอยู่ที่ 1.63 เครื่องต่อคน

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากการที่ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าเช่าก็แพงขึ้นตามลำดับ (ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ค่าเช่าในมหานครเซี่ยงไฮ้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 20-80% เลยทีเดียว) ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหันมาเปิดขายสินค้าออนไลน์แทนเพื่อลดภาระค่าเช่าลง และก็มีหลายรายที่ปรับตัวไม่ทัน สู้ค่าเช่าไม่ไหว ก็ต้องปิดร้านไปเป็นจำนวนมาก

สาเหตุอีกประการก็น่าจะมาจากการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งถึงแม้รัฐบาลจีนจะพยายามจำกัดจำนวนรถยนต์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ค่าป้ายทะเบียนที่มีราคาแพง หรือในเซี่ยงไฮ้ก็มีการจำกัดไม่ให้รถยนต์จากจังหวัดอื่นเข้ามาใช้ถนนยกระดับในเมือง หากแต่ปัญหารถติดก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจีนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นแทนที่จะออกไปเดินตามห้างร้านเหมือนแต่ก่อน

รัฐบาลจีนเองก็สนับสนุนเรื่องของ E-Commerce เป็นอย่างมาก และก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ E-Commerce ที่ซื้อขายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการสร้าง Platform เพื่อความสะดวกสำหรับ Cross-Border E-Commerce ใน Shanghai Free Trade Zone อีกด้วย นั่นคือทำให้ระบบการซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศเป็นไปได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยยังไม่ต้องเสียภาษีเมื่อนำเข้า แต่จะมีการคิดภาษีจากลูกค้าเมื่อสินค้าไปถึงมือแล้ว

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การซื้อขายออนไลน์ในประเทศจีนสะดวกแพร่หลายก็คือระบบโลจิสติกส์ที่นับว่าเป็นจุดแข็งของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถไฟ ถนน เครื่องบิน ถึงแม้ว่าการคมนาคมในตัวเมืองจะมีปัญหารถติดอยู่มาก แต่ก็สามารถเลี่ยงไปใช้จักรยาน จักรยานยนต์ ในการส่งสินค้าที่ซื้อขายออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วทันใจ สั่งสินค้าเช้าได้รับสินค้าตอนบ่าย จึงถือเป็นเรื่องปกติในเมืองจีน 

นอกจากนี้ คนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของประเทศก็มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน คือชอบความสะดวกสบาย ซื้อสินค้าออนไลน์จากที่บ้าน ซึ่งสินค้าที่พวกเขาซื้อนั้นก็มีตั้งแต่ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารแห้ง สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สินค้าแฟชั่น บริการ และอื่นๆ อีกมาก

สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ของแท้) นั้น ยังไม่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์มากนัก ใน tmall.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ B2C ยอดนิยมในเครือของ Alibaba สินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่าไม่สูงนัก มีระดับราคาตั้งแต่ไม่ถึงสิบหยวนไปจนถึงสูงที่สุดประมาณ 5,000 หยวน เนื่องจากลูกค้ายังขาดความไว้วางใจ 100% เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และต้องมีการลองสวมใส่ จับต้อง ก่อนตัดสินใจซื้ออยู่มาก (ในขณะที่สินค้าพวกแบรนด์เนมทั้งหลายที่ถือเป็นคู่แข่ง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นสินค้าทดแทนของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ต่างก็มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง จึงถือว่าไม่ได้เข้ามาแข่งขันกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบน Platform เดียวกัน) รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าเครื่องประดับแท้นั้น ก็จะเป็นพวกวัยกลางคน หรืออายุประมาณ 35 ถึง 40 ปีขึ้นไป และคนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ซื้อผ่านออนไลน์ไม่มากเท่าไร แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าเมื่อกลุ่มคนหนุ่มสาวมีอายุมากขึ้น พวกเขาก็ยังจะติดนิสัยการซื้อสินค้าออนไลน์ และแน่นอนว่าผู้ประกอบการที่มีช่องทางออนไลน์รองรับก็ย่อมจะได้เปรียบผู้ประกอบการที่ยึดแต่รูปแบบการค้าขายแบบดั้งเดิม (Brick and Mortar)  

 


 


Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลายโครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที