GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 มิ.ย. 2016 06.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2148 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 13 ของจีนกับนัยยะต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 13 ของจีนกับนัยยะต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ในช่วง 5-6 ปีมานี้ จีนต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ที่เศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 6.9 จนกระทั่งภาครัฐต้องปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการอนุมัติใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และด้วยสถานภาพการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา การขยับหรือปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของพญามังกรอย่างจีนย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจหลายๆ อย่างมีการพึ่งพาจีน อีกทั้งจีนและไทยยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในรูปของ FTA ไทย-จีน รวมถึงอาเซียน-จีน ตามลำดับ ก็ไม่ควรพลาดที่จะติดตามทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ของจีนอย่างใกล้ชิด

           

ภาพรวมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563)

           

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (แผนพัฒน์ฯ 13) ถือเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแผนดังกล่าวจะเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางให้จีนไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ให้ได้ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ หลักการสำคัญของแผนนี้ได้มุ่งเน้นการปฏิรูปในด้านต่างๆ ต่อเนื่องจากแผนพัฒน์ฯ 12 โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนในอนาคต หรือ ท่ามกลางภาวะ New Normal ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในแผนนี้ยังได้มุ่งเน้นในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประชากรในเมืองและชนบท รวมถึงเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนพัฒน์ฯ 131 ของจีนที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั้งทางตรงและทางอ้อมประกอบไปด้วย

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค

กำหนดเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 6.5-7.0

ปรับโฉมเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมของจีนที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก มาเป็นเน้นการบริโภคภายในประเทศ (Consumer-driven Economy) จึงต้องทำให้การบริโภคกลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษกิจแทน

ด้านการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ

เดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ต่อเนื่องจากแผนพัฒน์ฯ 12 มุ่งเน้นที่การปฏิรูปภาคการเงินและรัฐวิสาหกิจ โดยเร่งการปฏิรูปภาคการเงินมากขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจ

ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการภาครัฐ

ด้านผลิตและอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ

ยกระดับนวัตกรรมการผลิต รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผน “Made in China” ที่รัฐบาลของจีนประกาศเมื่อปี 2558 เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาจีนจาก “ประเทศผลิตยักษ์ใหญ่” เป็น “ประเทศการผลิตที่แข็งแกร่ง” ภายใน 10 ปี และจะเปลี่ยนโฉมจีนจากยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตไปสู่มหาอำนาจในการผลิตระดับโลก

ส่งเสริมอุตสาหกรรม/ธุรกิจบริการ ลดบทบาทของอุตสาหกรรมหนักที่ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการลงทุนภายในประเทศ

ดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูงจากต่างประเทศ

ด้านบทบาทระหว่างประเทศ

ยกระดับเงินหยวนเป็นสกุลหลัก โดยคาดว่าจะสามารถลดการแทรกแซงค่าเงิน และให้หยวนสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีตามกลไกตลาดภายในปี 2563

เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยนับเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ผ่านการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย  (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต

ด้านประชากร

ส่งเสริมการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในเมือง

ขยายความครอบคลุมของสวัสดิการสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ

เพิ่มจำนวนประชากร และยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาแนวโน้มประชากรวัยแรงงานที่ลดลง รวมถึงแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

นัยยะของแผนพัฒน์ฯ 13 ต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

แม้ปัจจุบันตลาดหลักของอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดจีนมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า ปี 2553 จีนเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ในอันดับที่ 24 ของไทย หรือมีสัดส่วนร้อยละ 0.20 แต่ในปี 2558 จีนได้ขยับมาเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 15 และมีสัดส่วนร้อยละ 1.36 คิดเป็นการเติบโตกว่า 6 เท่า ในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางทั้ง
พลอยเนื้อแข็ง พลอยเนื้ออ่อน รวมถึงเพชรเจียระไน เป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ส่วนสินค้าสำเร็จรูปอย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินที่สำคัญที่สุดของจีน ในขณะที่เครื่องประดับทองและเครื่องประดับแพลทินัมมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น

 

ดังนั้น เพื่อให้การวางแผนกลยุทธ์ในการขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในจีนเป็นไปได้อย่างราบรื่น และการค้าสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับจึงได้สรุปนโยบายตามแผนพัฒน์ฯ 13 และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมฯ ของไทย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรทราบและพิจารณาประกอบไปด้วย

 

ระยะสั้น

ระยะยาว

(+) นโยบายการยกระดับเงินหยวนเป็นสกุลหลัก ซึ่งปัจจุบันเงินหยวนของจีนได้เข้าบรรจุไปเป็นเงินอีกสกุลหนึ่งที่อยู่ใน Special Drawing Right (SDR) ของ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว และจะมีผลอย่างเป็นทางการในปลายปี 2559 นี้ ดังนั้น การที่หยวนเข้าไปเป็นเงินสกุลหลักของ SDR รวมถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นเงินสกุลหลักหนึ่งของโลกแล้ว จะทำให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยและจีนมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่นิยมใช้เงินเหรียญสหรัฐเป็นสื่อกลางในการซื้อขายระหว่างกัน

(+) นโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนชาวจีนมีความอยู่ดีกินดีและมีกำลังซื้อมากขึ้น จากการกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.5-7.0 อีกทั้งยังได้ส่งเสริมการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง
ในเมือง ซึ่งหากดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ผลตามเป้าหมาย น่าจะทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย

 

 

(-) นโยบายลดการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นในจีน จะส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับลดลง โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นของกำนัล รวมถึงเครื่องประดับที่มีความหรูหรา เป็นชิ้นงานหรือเซตขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการตกแต่งร่างกายยามออกงานสำหรับกลุ่มชนชั้นสูงของจีน และอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทย อาทิ อัญมณีเจียระไนขนาดใหญ่คุณภาพสูงเพื่อนำไปตกแต่งบน
ตัวเรือนเครื่องประดับราคาแพงลดลงไปด้วย

(+/-) แนวโน้มของประชากรวัยแรงงานที่ลดลง ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะศึกษาถึงรสนิยมความชอบของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ทางการค้า อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถปรับรูปแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลลบต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้

 

(+) นโยบายการเพิ่มจำนวนประชากร และยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว น่าจะช่วยให้ครอบครัวชาวจีนที่มีความพร้อมจำนวนไม่น้อยตัดสินใจที่จะมีทายาทเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ชาวจีนมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ การให้ของขวัญเป็นสิ่งของมีค่าแก่เด็กแรกเกิดและครอบครัว เช่น  เครื่องประดับทอง ประเภทสร้อยคอ กำไล ฯลฯ ดังนั้น ความต้องการเครื่องประดับประเภทดังกล่าวมีโอกาสจะเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายนี้จะยังช่วยให้เครื่องประดับสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยต่างๆ เป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(+/-) นโยบายดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูงจากต่างประเทศ นโยบายลดการสร้างมลภาวะและมลพิษ อีกทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้ประกอบการจากต่างชาติมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการจากไทย ซึ่งหากมีความพร้อมก็ควรติดตามข่าวสารและนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคว้าโอกาสได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าจีนเองก็ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน แม้อัญมณีและเครื่องประดับจะไม่ใช่ 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมหลัก2 ที่จีนมุ่งให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศจีนน่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งจะ
ทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และอาจจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของผู้ประกอบการไทยก็เป็นได้

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าแผนพัฒน์ฯ 13 มีนัยยะที่เป็นทั้งบวกและลบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถช่วงชิงโอกาส พร้อมตั้งรับและปรับตัวจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพลวัตและการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวของจีน

 

 


1สรุปและเรียบเรียงจากสาระสำคัญของการสัมมนา “อนาคต 5 ปี เศรษฐกิจจีนภายใต้แผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559
ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน
แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

210 อุตสาหกรรมหลักที่จีนเน้นส่งเสริมและให้ความสำคัญตามแผน “Made in China” และ แผนพัฒน์ฯ 13 ประกอบไปด้วย 1) อุตสาหกรรม-สารสนเทศ 2) หุ่นยนต์ควบคุมด้วยตัวเลข (Numerical Control Robot) 3) การผลิตอุปกรณ์อากาศยาน 4) การต่อเรือไฮเทค 5) การผลิตรถไฟ
6) รถยนต์พลังงานใหม่ 7) การผลิตอุปกรณ์พลังงาน 8) การผลิตวัตถุดิบใหม่ 9) ยาและอุปกรณ์การผลิตยา และ 10) เครื่องมือทางการเกษตร

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที