GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 29 ส.ค. 2016 07.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1395 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "เทรนด์ดีไซน์เครื่องประดับเงิน" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


ตามติด...เทรนด์ดีไซน์เครื่องประดับเงิน

ตามติดกระแสการออกแบบเครื่องประดับเงินรวมถึงแนวโน้มสถานการณ์ในตลาดโลหะเงินปีนี้

สร้อยแนบลำคอ

Gloria Maccaroni จาก Silver Promotion Service ในนิวยอร์กซิตี้กล่าวว่า สร้อยโชคเกอร์ (สร้อยคอแบบแนบติดกับลำคอ) กำลังมาแรง “สร้อยโชคเกอร์มีความสำคัญในฤดูใบไม้ผลินี้ และฉันคิดว่าจะยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง” เธอกล่าว “คนทุกวัยใส่สร้อยคอแบบนี้ ซึ่งมีลักษณะพื้นผิวหลายรูปแบบตั้งแต่แบบผิวมันวาวไปจนถึงผิวลายตอกและพื้นผิวแบบอื่นๆ อีกมากมาย เราพบเห็นสร้อยโชคเกอร์ที่ห้อยจี้สั้นๆ ไปจนถึงโชคเกอร์ผิวมันวาวแบบเรียบง่าย แล้วก็ไม่ได้มีแค่สร้อยโชคเกอร์แบบธรรมดาทั่วไป เราเห็นสร้อยคอสั้นแนบลำคอ (ความยาวประมาณ 16 นิ้ว) ในรูปแบบชิ้นงานขนาดใหญ่ที่เน้นความโดดเด่น สร้อยแบบนี้มีข้อดีตรงที่ว่าใส่กับคอเสื้อยืดได้ ผู้ใส่ไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อคอตัด โชคเกอร์กลายเป็นสไตล์ที่ผู้คนสนใจกันในตอนนี้”

ใส่แหวนแบบมิกซ์แอนด์แมตช์

“เราเห็นหลายคนหันมาใส่แหวนบนนิ้วหลายนิ้วหรือใส่แหวนหลายวงบนนิ้วนิ้วเดียว” Maccaroni กล่าว “ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แหวนสำหรับใส่ซ้อนกันทั่วๆ ไป ผู้หญิงพยายามผสมผสานงานออกแบบและรูปลักษณ์ที่แตกต่างเข้าด้วยกัน”
และสไตล์เหล่านี้ก็ไปไกลเกินกว่าแหวนธรรมดาๆ “กระแสมาแรงอย่างหนึ่งที่เราสังเกตเห็นก็คือแหวนที่มีสีสัน ไม่ใช่แค่แหวนเงินเรียบๆ” Maccaroni กล่าว “เราเริ่มเห็นกระแสการใช้พลอยเนื้ออ่อนน้ำหนักเบามากยิ่งขึ้น”

ต่างหูห้อยระย้า

แม้ว่าต่างหูแบบเลื้อยไปตามใบหู (Ear Climber) มาแรงแซงทางโค้งบนพรมแดง แต่ Maccaroni พบว่าอีกกระแสหนึ่งกำลังครองย่านการค้า “ต่างหูเลื้อยยังคงเป็นสินค้าฮิตในแวดวงแฟชั่นและเหล่าคนดัง แต่เราก็เห็นต่างหูห้อยระย้าเริ่มเข้ามามีบทบาท แบรนด์ของเราเล็งเห็นความต้องการต่างหูที่มีความยาวมากขึ้น” เธอรายงานว่าเห็นผู้หญิงทั่วไปใส่ต่างหูห้อยมากขึ้น “ต่างหูห้อยระย้าดูเหมือนจะสร้างกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ และฉันคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงและ
ฤดูหนาว” เธอกล่าว “โดยเฉพาะต่างหูห้อยระย้าขนาดใหญ่นั้นสามารถนำมาใส่ในระหว่างวัน ไม่จำเป็นต้องใส่เฉพาะตอนกลางคืนอีกต่อไป ต่างหูมีแนวโน้มที่จะมีความยาวมากขึ้น มีชิ้นส่วนห้อยระย้าหลายชิ้นโดยผสมผสานอัญมณีกับโลหะเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมักจะมีรายละเอียดและมีรูปทรงที่ยาวขึ้นและบางลง”
 
ประมาณการตลาดโลหะเงินปี 2016 

ราคาโลหะเงินล้มลุกคลุกคลานในปี 2015 โดยมีราคาลดลงร้อยละ 17.9 ไปอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 15.68 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และไปอยู่ที่จุดต่ำสุดที่ 13.82 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในรายงาน CPM Silver Yearbook 2016 นั้น CPM Group* ระบุว่าปี 2016 จะเป็นปีสำคัญสำหรับตลาดโลหะเงิน โดยเชื่อว่าอุปทานที่ชะลอตัวลง ความต้องการจากภาคการผลิตเครื่องประดับเงินที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการด้านการลงทุนที่สูงมาก่อนหน้านี้แล้ว จะช่วยให้ราคาโลหะเงินเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ (ช่วงเดือนกรกฎาคม 2016 ราคาพุ่งแตะระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์)

ขณะที่อุปทานจากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อปีที่แล้ว CPM Group คาดว่าอุปทานจะลดลงราวร้อยละ 2.4 ไปอยู่ที่ 784.4 ล้านออนซ์ในปี 2016 เนื่องจากเหมืองต่างๆ ได้หยุดการผลิตตามกำหนดการหรือปรับลดการผลิตลงเนื่องจากโลหะเงินมีราคาต่ำลง ส่วนอุปทานในแหล่งผลิตรอง (หรือโลหะเงินจากเศษโลหะ) ก็คาดกันว่าจะลดลงราวร้อยละ 1 เนื่องจากเงินในรูปเศษโลหะยังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้

การที่โลหะเงินมีราคาต่ำส่งผลดีต่อความต้องการโลหะเงินในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและเครื่องเงิน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2015 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 297.4 ล้านออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาโลหะเงินที่คาดกันว่าจะสูงขึ้นในปีนี้น่าจะส่งผลลบต่อความต้องการเครื่องประดับเงิน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมนี้อ่อนไหวต่อราคาโลหะเงิน CPM Group คาดว่าความต้องการโลหะเงินเพื่อใช้ผลิตเครื่องประดับจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2016
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2559

------------------------------------------
ที่มา: “Silver trends.” by Shawna Kulpa. MJSA JOURNAL. (July 2016: pp. 30-31).
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
 


*The CPM Group เป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ การให้คำแนะนำ การเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน การจัดการสินทรัพย์ และการจัดการโภคภัณฑ์ในนิวยอร์กซิตี้
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที