GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 ม.ค. 2017 05.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2076 ครั้ง

ซินเจียง (Xinjiang) เป็นเขตปกครองตนเอง (Autonomous Region) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และทางตอนเหนือติดกับทาจิคสถาน เคอจิคสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย และมองโกเลีย ติดตามเรื่องราว "ย่ำเส้นทางสายไหม ทำความเข้าใจตลาดอัญมณีและเครื่องประดับซินเจียง" ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/SQYvm4 หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ย่ำเส้นทางสายไหม ทำความเข้าใจตลาดอัญมณีและเครื่องประดับซินเจียง

โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส*
 
ซินเจียง (Xinjiang) เป็นเขตปกครองตนเอง (Autonomous Region) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และทางตอนเหนือติดกับทาจิคสถาน เคอจิคสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย และมองโกเลีย  ซินเจียงนับเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการขุดค้นพบว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่สามล้านปีที่แล้ว ซินเจียงในอดีตจะรู้จักกันในชื่อ Western Regions ซินเจียงมีเมืองที่รุ่งเรืองในอดีตตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาลจำนวนมาก ที่มีชื่อเสียงก็เช่น Jiaohe (เจียวเหอ) Gaochang (เกาช่าง) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีซากเมืองเก่าให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมอีกด้วย ที่น่าสนใจก็คือว่าพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในดินแดนนี้ นับเป็นจุดแรกในเมืองจีนที่พุทธศาสนามาถึง เพราะเป็นดินแดนที่อยู่ทางตะวันตกสุดของจีน จึงใกล้กับอินเดียมากที่สุด แต่เมื่อมาในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14 ศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายเข้ามา ทำให้ซินเจียงในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในประเทศจีน นอกจากนี้ ซินเจียงยังเป็นจุดพักสำคัญของเส้นทางการค้าขายในอดีตที่เรียกกันว่า “เส้นทางสายไหม” (The Silk Road) ที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่าโครงการ “One Belt One Road” ที่ต้องการเชื่อมถนนไปถึงยังยุโรป และเส้นทางน้ำ (Maritime Road) เชื่อมมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
           
ซินเจียงนับเป็นแหล่งรวมอารยธรรมที่สำคัญทั้งสี่ของโลกคือ จีน อินเดีย กรีก และอาหรับ ตั้งแต่ในอดีตมาแล้ว  ซินเจียงเป็นเขตปกครองตนเองที่มีชนกลุ่มน้อย (Ethnic Minorities) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดของซินเจียงก็คืออุยกูร์ (Uygur) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 22 ล้านคนในซินเจียง นอกจากพวกอุยกูร์แล้ว ก็มีชาวคาซัค ฮุย (ผสมระหว่างอุยกูร์กับฮั่น หรือคนจีนทั่วไป) เคอร์กิซ มองโกเลียน แมนจู ทาจิค อุซเบค รัสเซียน และในทุกเมืองของซินเจียงก็มีคนฮั่น ซึ่งหมายถึงคนจีนทั่วไปอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป เมืองอูรูมู่ฉี (Urumqi) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในซินเจียง จัดว่ามีคนฮั่นอาศัยอยู่มากที่สุด
 
มาดูในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติบ้าง ซินเจียงถือเป็นแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของจีน และมีแร่ธาตุอีกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนยึดซินเจียงไว้แน่น รัฐบาลยุคสีจิ้นผิงพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนซินเจียง และเปิดกว้างให้แก่ชาวอุยกูร์มากขึ้น ในด้านอัญมณีนั้น หยกขาว (White Jade) ถือเป็นอัญมณีที่มีค่าในซินเจียง ตามประวัติศาสตร์ได้มีการนำหยกขาวไปแกะสลักเป็น ข้าวของเครื่องใช้ในวังเป็นจำนวนมาก
           
เนื่องจากตลาดซินเจียงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก การเจาะตลาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะผู้คนมีความชอบที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ร้านค้าที่ขายหยกขาวในซินเจียงส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวจีน (คนฮั่น) โดยมักทำเป็นสร้อยหรือกำไลข้อมือ หรือเป็นหินที่เพียงนำไปเจาะรูก็นำมาห้อยคอ หรือไม่ก็นำไปแกะเป็นพระพุทธรูป ทำเป็นสร้อยคอ หรือแกะเป็นรูปต่างๆ ทำเป็นของตั้งโชว์ ซึ่งสนนราคาก็นับว่าสูงอยู่
 
หยกขาวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “Mutton Fat Jade” หรือหยกไขมันแพะ อาจเป็นเพราะว่าคนซินเจียงนิยมบริโภคแพะ เชื่อกันว่าหยกขาวเป็นหินที่นำมาซึ่งความสงบ ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีและพลังลบออกจากผู้สวมใส่ และนำมาซึ่งความสงบสุขและโชคดี
           
ในขณะที่คนฮั่นชอบหยก คนพื้นเมืองอุยกูร์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของซินเจียงกลับไม่ได้ชื่นชอบหยกเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นหยกสีอะไรก็ตาม ถึงแม้คนอุยกูร์จะถือว่าเป็นประชาชนจีน แต่วัฒนธรรมกลับไปเหมือนทางตุรกีหรือตะวันออกกลางเสียมากกว่า ทั้งในเรื่องของการนับถือศาสนาอิสลาม รสนิยม ความเป็นอยู่ ถึงแม้ปัจจุบันเด็กอุยกูร์จะถูกบังคับให้ต้องเรียนภาษาจีนตั้งแต่ประถมศึกษา แต่วัฒนธรรมชาวอุยกูร์ก็ยังมีความแตกต่างจากคนฮั่นเป็นอย่างมาก ในด้านเครื่องประดับนั้น คนอุยกูร์จะชื่นชอบเครื่องประดับทองมากกว่า และในด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้น คนอุยกูร์จะชอบสีแดง สีเขียว เป็นหลัก และชอบอะไรที่วาวๆ ซึ่งต่างจากพวกตะวันออกกลางที่เคร่งขรึม ที่ผู้หญิงต้องใส่แต่ชุดดำยาวคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ผู้หญิงอุยกูร์ชอบใส่เสื้อผ้าสีๆ และไม่จำเป็นต้องปกปิดแขน ขา หรือโพกผม และนิยมใส่รองเท้าส้นสูงอีกด้วย 
           
ร้านขายเครื่องประดับในซินเจียง ที่เมือง Kashgar (อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซินเจียง เป็นเมืองที่มาร์โคโปโลเรียกว่า ไข่มุกแห่งเส้นทางสายไหม มีส่วนที่เป็นเมืองเก่า ซึ่งคนที่อาศัยเกือบทั้งหมดเป็นชาวอุยกูร์ และเมืองใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น) ที่ผู้เขียนไปสำรวจมานั้น จึงแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ร้านที่เจาะกลุ่ม คนฮั่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว มีหยกขาวเป็นสินค้าชูโรง เพราะถือเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีค่าของซินเจียง และร้านที่เจาะกลุ่มคนท้องถิ่นชาวอุยกูร์ ซึ่งเน้นเครื่องประดับทอง 99.99% เป็นหลัก
           
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้าเข้าไปในซินเจียงนั้น ผู้เขียนอยากให้ข้อคิดว่าซินเจียงไม่ใช่ดินแดนที่น่ากลัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ชาวอุยกูร์จริงๆ แล้วมีความเคร่งครัดในศาสนามาก มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่สร้างปัญหา และในปัจจุบันรัฐบาลจีนก็ได้เปิดกว้างให้กับชาวอุยกูร์มากขึ้น เช่น การทำพาสปอร์ตได้อย่างเสรีมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่คนอุยกูร์จะถูกกดโดยรัฐบาลกลาง คนอุยกูร์ในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนที่พัฒนาครอบคลุมอย่างกว้างขวาง พวกเขาจึงมีมุมมองที่ดีกับรัฐบาล และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้ากับ “Chinese Dream” ของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในซินเจียงนั้น อุปสรรคที่สำคัญก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และแต่ละเมืองก็ห่างกันมาก ผู้ประกอบการไทยอาจลองชิมลางโดยส่งไปเมืองหลวงของซินเจียง คือ Urumqi (อยู่ทางตอนกลาง ค่อนไปทางตะวันออกของซินเจียง) ก่อนก็ได้ เมืองนี้ถึงแม้จะมีคนฮั่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนอุยกูร์ไม่น้อยอยู่เช่นกัน เมือง Urumqi นี้ถือว่ามีความทันสมัย มีสนามบินนานาชาติ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากที่สุดในซินเจียง
 
-----------------------------------------------------------
*Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลายโครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที