GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 ก.พ. 2017 05.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1679 ครั้ง

แซปไฟร์ เป็นอัญมณีซึ่งเป็นที่ปรารถนามานานนับหลายศตวรรษและครองตำแหน่งพิเศษในโลกอัญมณี ตั้งแต่แซปไฟร์สีน้ำเงินคลาสสิก (หรือไพลิน) ซึ่งได้รับการยกย่องจากโทนสีเข้มอันนุ่มนวล และแพดพาแรดชาหายากสี “ดอกบัว” ที่หลายคนชื่นชอบ ไปจนถึงแซปไฟร์แฟนซีหลากสีซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักออกแบบและผู้ผลิตเครื่องประดับ ติดตามเรื่องราวของแซปไฟร์ได้ใน https://goo.gl/Hib6Yr หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


แซปไฟร์ร่ายเวทมนตร์ในแวดวงเครื่องประดับ

แซปไฟร์ เป็นอัญมณีซึ่งเป็นที่ปรารถนามานานนับหลายศตวรรษและครองตำแหน่งพิเศษในโลกอัญมณี ตั้งแต่แซปไฟร์สีน้ำเงินคลาสสิก (หรือไพลิน) ซึ่งได้รับการยกย่องจากโทนสีเข้มอันนุ่มนวล และแพดพาแรดชาหายากสี “ดอกบัว” ที่หลายคนชื่นชอบ ไปจนถึงแซปไฟร์แฟนซีหลากสีซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักออกแบบและผู้ผลิตเครื่องประดับ

จากการให้สัมภาษณ์กับ JNA ในหลายวาระ ผู้ค้าและผู้ผลิตพลอยสีรายใหญ่ได้แสดงทรรศนะและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจการค้าแซปไฟร์ ตลอดจนแนวโน้มความต้องการในปี 2017
 
บริษัท Gembines
 
แซปไฟร์อาจเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการยังคงกระจุกอยู่ที่แซปไฟร์สีน้ำเงินคอร์นฟลาวเวอร์ (Cornflower Blue) และรอยัลบลู (Royal Blue) เป็นหลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านแซปไฟร์ Kamil Ismail จาก Gembines กล่าว
 
ผู้ค้าส่งและผู้ค้าอัญมณีที่ได้รับรางวัล ICA Lifetime Achievement Award รายนี้กล่าวว่าแซปไฟร์ทั้งสองสีดังกล่าวที่มีขนาดตั้งแต่ 2 ถึง 7 กะรัต มีความใสสะอาด ผ่านการเจียระไนมาเป็นอย่างดี และมีประกายงดงามปานกลางนั้น สามารถขายได้ที่ราคาราว 1,000 ถึง 5,000 เหรียญสหรัฐต่อกะรัต เขากล่าวด้วยว่าผู้ซื้อมักชอบแซปไฟร์รูปทรงไข่ (Oval Shapes) รูปหมอนสี่เหลี่ยมจตุรัส (Square Cushion Shapes) และรูปหมอน (Cushion Shapes)
 
Ismail กล่าวว่า ตามธรรมเนียมในแวดวงอัญมณี ผู้ซื้อตัวจริงจะคำนึงถึงแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์เมื่อกำหนดมูลค่าของแซปไฟร์ “ในกรณีของอัญมณีคุณภาพสูงขนาดตั้งแต่ 3 กะรัตขึ้นไป ผู้ซื้อจะเลือกสรรเป็นอย่างดี
 
ผู้ซื้อมักนิยมแซปไฟร์จากซีลอนมากกว่าจากแอฟริกา หรืออาจนิยมแซปไฟร์จากแคชเมียร์มากกว่าจากซีลอน หากอัญมณีคุณภาพสูงมาจากแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ต้องการ มูลค่าก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก แหล่งขุดอัญมณีนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดราคา” เขาอธิบาย
 
ศูนย์กลางพลอยสีในไทยและศรีลังกาเป็นตลาดแซปไฟร์ที่คึกคักที่สุดในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศรีลังกาซึ่งเป็นแหล่งแซปไฟร์สีสันสวยงามแหล่งสำคัญ
 
“แซปไฟร์สีน้ำเงินเป็นที่ต้องการสูงมานานแล้ว และผมเชื่อว่าแนวโน้มความต้องการมีแต่จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ เนื่องจากอัญมณีคุณภาพสูงนั้นมีปริมาณน้อย” Ismail กล่าว พร้อมเสริมว่าการที่แซปไฟร์สีน้ำเงินเป็นที่นิยมในหมู่คนดัง ดาราหนัง และราชวงศ์ก็ยิ่งเสริมเสน่ห์ดึงดูดของอัญมณีชนิดนี้
 
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แซปไฟร์แฟนซีซึ่งส่วนใหญ่มีสีพีชและสีเบบี้พิงค์ เป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดอเมริกา แซปไฟร์สีพีชสามารถใช้แทนแซปไฟร์แพดพาแรดชาได้เป็นอย่างดี ส่วนแซปไฟร์สีเบบี้พิงค์ก็เป็นตัวเลือกที่สวยงามสำหรับแทนเพชรสีชมพู” Ismail กล่าว
 
บริษัท Gembines ของ Ismail ตั้งอยู่ในศรีลังกาและเชี่ยวชาญด้านการสรรหาพลอยอย่างชุดแซปไฟร์สีน้ำเงินซึ่งประกอบด้วยอัญมณีขนาด 6 มม. ถึง 9 มม. และมีเฉดสีไล่ตั้งแต่สีน้ำเงินคอร์นฟลาวเวอร์ไปจนถึงสีรอยัลบลู “สินค้าเหล่านี้ทำผลงานได้ดีในงาน Hong Kong Jewellery & Gem Fair ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2016” เขากล่าว “แซปไฟร์สีน้ำเงินเป็นสินค้าขายดีของเราในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากชุดแซปไฟร์สีน้ำเงิน เรายังนำเสนอแซปไฟร์สีน้ำเงินรูปไข่และรูปหมอนขนาด 2 ถึง 8 กะรัตด้วย”
 
บริษัท Paul Wild OHG
 
บริษัท Paul Wild OHG ในเยอรมนีระบุว่า แพดพาแรดชาคุณภาพดีจนถึงคุณภาพสูงสุดนั้นยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ค้าอัญมณีที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก Paul Wild มีชุดแซปไฟร์แพดพาแรดชาซึ่งประกอบด้วยอัญมณีรูปไข่เจียระไนแล้วซึ่งมีน้ำหนักรวมกว่า 26 กะรัต และแซปไฟร์หลายรูปทรงรวมกันซึ่งมีน้ำหนักรวมกว่า 83 กะรัต อีกชุดหนึ่งที่โดดเด่นก็คือแซปไฟร์สีเหลืองรูปไข่ที่เจียระไนแล้วหนึ่งคู่ ซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 150 กะรัต
 
 
ในเอเชีย จีนยังคงเป็นตลาดแซปไฟร์ที่คึกคักที่สุดของ Paul Wild ในแง่แนวโน้มความต้องการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Markus Paul Wild กล่าวว่า “เราคาดว่าความต้องการในปี 2017 จะใกล้เคียงกับในปี 2016” ปัจจุบันบริษัทพบว่าความต้องการแซปไฟร์จากศรีลังกาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการจากเมียนมาร์ลดลงเล็กน้อย
 
Wild ได้ชี้ให้เห็นพัฒนาการในกลุ่มแซปไฟร์แฟนซีซึ่งเป็นที่ต้องการสูงมากในตลาด “แซปไฟร์แฟนซีและแซปไฟร์หลากสีเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าเหล่านี้นำเสนอตัวเลือกให้แก่ผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่สีสัน รูปทรง และขนาด” ผู้บริหารรายนี้กล่าว
 
บริษัท Ruby N’ Sapphire
 
Rehan Caffoor กรรมการฝ่ายการดำเนินธุรกิจของบริษัท Ruby N’ Sapphire (Pvt) Ltd กล่าวว่า แซปไฟร์สีน้ำเงินยังคงเป็นที่ปรารถนามากที่สุดในบรรดาแซปไฟร์สีต่างๆ “แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย อย่างที่เขาว่ากันว่า ‘ความงามขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง’ แต่ถึงตลาดแต่ละแห่งจะมีรสนิยมแตกต่างกันไป ก็ยังมีสินค้าบางประเภทที่ได้รับความนิยมทั่วโลก” Caffoor กล่าว “หากกล่าวโดยรวม ผมมองว่าแซปไฟร์สีน้ำเงินยังคงเป็นแซปไฟร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด”
 
ทว่าเขากล่าวว่าผู้ซื้อตัวจริงจะเลือกแต่ “สิ่งที่ดีที่สุด” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าแซปไฟร์จะต้องไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน ได้รับการเจียระไนมาอย่างดี และมีสีน้ำเงินรอยัลบลูโรยัลหรือน้ำเงินคอร์นฟลาวเวอร์ซึ่งเป็นสีที่ต้องการ
 
“ในแง่ขนาด ยังคงมีความต้องการสินค้าขนาดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 1 ถึง 5 กะรัตอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าชิ้นเอกที่มีขนาดใหญ่และโดดเด่นเป็นพิเศษนั้นจะดึงดูดผู้ซื้อประเภทนักสะสมและเศรษฐี” Caffoor กล่าว
 
เขากล่าวต่อไปว่าแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดมูลค่าของอัญมณี “ในแวดวงนี้การที่สินค้าบางชนิดเป็นที่ต้องการสูงกว่า ดังนั้นจึงมีราคาสูงกว่านั้นไม่ใช่ความลับอะไร ในบางกรณี คุณภาพ สีสัน และแหล่งที่มาก็มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น ไพลินจากแคชเมียร์ ทับทิมจากเมียนมาร์ และแพดพาแรดชาจากศรีลังกา” Caffoor กล่าว “อาจมีเหตุผลหลายข้อมารวมกัน ในบางกรณีก็อาจเป็นประวัติศาสตร์อันเลิศหรูของแซปไฟร์ ศรีลังกาเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าภาคภูมิใจในแง่การจัดหาแซปไฟร์สู่ตลาดโลก แซปไฟร์ของศรีลังกาถึงขั้นได้รับการเอ่ยถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปเมื่อ 543 ปีก่อนคริสตกาล Marco Polo นักสำรวจผู้มีชื่อเสียง ระบุถึงอัญมณีศรีลังการะหว่างการเดินทางของเขาในปี 1293 และ Ibn Battuta ก็ได้เขียนถึงอัญมณีของศรีลังกาในศตวรรษที่ 14 อัญมณีของศรีลังกายังใช้ในการผลิตเครื่องประดับให้ราชวงศ์ด้วย”
 
การขาดแคลนสินค้าจากเหมืองก็อาจเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่ง “ในบางประเทศแทบไม่มีการทำเหมืองเลย ขณะที่บางประเทศก็ยังคงใช้วิธีการทำเหมืองตามแบบดั้งเดิมซึ่งนำไปสู่ภาวะสินค้าขาดแคลน รวมถึงความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามมา” เขากล่าว
 
จีนและฮ่องกงเป็นตลาดใหญ่ของ Ruby N’ Sapphire ในเอเชีย “ผู้บริโภคปัจจุบันช่างเลือกยิ่งกว่าเดิม” Caffoor กล่าว “ดังนั้นความต้องการสินค้าที่ ‘ถูกต้อง’ ทั้งในแง่คุณภาพ สีสัน และการเจียระไนจึงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2017”
 
Yellow Sapphire from Ruby N’ Sapphire
 
แซปไฟร์แฟนซีก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังเนื่องจากผู้บริโภคต้องการความหลากหลายและสีสันในการเลือกเครื่องประดับ “ผู้บริโภครู้จักอัญมณีสีต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำพลอยสีแฟนซีมาใช้ในชุดเครื่องประดับของผู้ผลิตชั้นนำหลายราย” เขากล่าว
 
บริษัท Sara Gem 
 
Ron Rahmanan จาก Sara Gem Corporation ในสหรัฐกล่าวว่า แซปไฟร์ขนาดรองซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2 ถึง 5 กะรัต นับเป็นขนาดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน เนื่องจากลูกค้าส่วนมากพยายามเลือกสินค้าในราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น “แต่ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็ยังคงสนใจสีสันที่สวยงาม เช่น สีน้ำเงินรอยัลบลูหรือน้ำเงินคอร์นฟลาวเวอร์ เนื่องจากสีเหล่านี้เป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก” Rahmanan กล่าว
 
“แน่นอนว่าลูกค้าของเราส่วนใหญ่เน้นการเจียระไนเป็นรูปทรงแบบพิเศษอันมีเอกลักษณ์ เนื่องจากอัญมณีลักษณะนี้ช่วยให้ลูกค้ามีความได้เปรียบในตลาดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง น่าเสียดายที่แซปไฟร์ขนาด 10 กะรัตขึ้นไปได้รับความนิยมลดต่ำลงมากในปัจจุบันและแทบไม่มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้หรือถ้ามีก็น้อยมาก ดังนั้นกลุ่มสินค้าขนาดดังกล่าวจึงมีราคาค่อยๆ ลดต่ำลง”
 
ความต้องการแซปไฟร์แฟนซีค่อยๆ เขยิบขึ้นหลังจาก “การเติบโตชะลอตัวมานานหลายปี” “แซปไฟร์กลุ่มนี้ค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ” ผู้ค้าอัญมณีรายนี้กล่าว “ปัจจุบันแซปไฟร์หลากสีที่สวยงามเหล่านี้ยังคงมีราคาต่ำอยู่ จึงทำให้อัญมณีเหล่านี้เหมาะมากสำหรับการออกแบบเครื่องประดับที่ประณีตงดงามแต่มีราคาเอื้อมถึงได้” สิ่งนี้เองที่ช่วยให้พลอยสีตระกูลแซปไฟร์เป็นอัญมณีประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
“ในแง่หนึ่ง เราโชคดีที่ได้ทำงานโดยใช้อัญมณีที่มีความหลากหลายอย่างแซปไฟร์ อัญมณีกลุ่มนี้มีสีสันหลากหลายจึงช่วยดึงดูดตลาดในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีขนาดและรูปทรงต่างๆ มากมาย แซปไฟร์เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเครื่องประดับทั้งแบบคลาสสิกและแบบร่วมสมัย แล้วยังมีราคาที่เอื้อมถึงได้เมื่อเทียบกับขนาดและความงดงาม ด้วยราคาระดับนี้ แซปไฟร์จึงสามารถผลิตซ้ำได้ง่ายเมื่อมองในแง่การผลิต คุณสมบัตินี้มีบทบาทสำคัญทำให้แซปไฟร์เป็นอัญมณีมีค่าที่ขายดีทั่วโลก”
 
ทว่าแหล่งที่มาของแซปไฟร์มักส่งผลต่อราคาของอัญมณี “ผู้คนแยกแยะความแตกต่างและกำหนดราคาของแซปไฟร์ตามปัจจัยนี้ แม้ว่าแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ เช่น แคชเมียร์และพม่า จะก่อให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญในแง่ปริมาณที่ออกสู่ตลาดและความหายากของแซปไฟร์ แต่แซปไฟร์จากแหล่งอื่นๆ ก็ไม่น่าที่จะแตกต่างกันมากนัก เพราะตอนที่อัญมณีก่อตัวขึ้นในธรรมชาติ ยังไม่มีการแบ่งเขตแดนกันเลยด้วยซ้ำไป” Rahmanan กล่าว
 
“เราควรตัดสินอัญมณีตามคุณภาพและความงามเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของอัญมณี ผู้บริโภคหลายรายที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับอัญมณีมากนักมักเชื่อตามรายงานอัญมณีแทนที่จะพิจารณาจากตัวอัญมณีนั้นเอง ซึ่งบางครั้งก็อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด”
 
Rahmanan กล่าวว่าปัจจุบันไทยรับบทบาทเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแซปไฟร์ระดับโลก โดยแซปไฟร์จากทั่วโลกเกือบร้อยละ 70 ได้เข้ามาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน การเจียระไน และการจัดจำหน่ายในประเทศไทย
 
 
ศรีลังกาตามมาเป็นอันดับสองด้วยทรัพยากรด้านการทำเหมืองขนาดใหญ่และความโดดเด่นของผู้ค้าอัญมณีในมาดากัสการ์ โดยผู้ค้าเหล่านี้ซื้อสินค้าแซปไฟร์ก้อนซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน “แต่อัญมณีจำนวนมากที่ผ่านมือผู้ค้าและผู้เจียระไนในศรีลังกาก็ต้องถูกส่งมายังประเทศไทยอยู่ดี” เขากล่าวต่อ “แต่ถ้ามองจากจากมุมของผู้บริโภค ฮ่องกงถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าแซปไฟร์ เพราะมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและตลาดใหญ่สำหรับเครื่องประดับสำเร็จรูป”
 
สถานการณ์ที่อึมครึมในเศรษฐกิจมหภาคทำให้เป็นเรื่องยากที่จะประเมินแนวโน้มความต้องการแซปไฟร์และพลอยสีประเภทอื่นๆ “เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์อนาคตแม้กระทั่งในอีกสองสามเดือนข้างหน้า เนื่องจากความต้องการสินค้าหรูหราอย่างอัญมณีนั้นมักขึ้นอยู่กับบรรยากาศในภาคธุรกิจ ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แน่นอนว่ายอดขายพลอยสีก็จะชะลอตัวตามไปด้วย” Rahmanan กล่าว
 
เขากล่าวเสริมว่าการค้นพบแหล่งทำเหมืองแห่งใหม่ๆ อาจส่งผลต่อปริมาณแซปไฟร์ ความต้องการ และระดับราคา “ปัจจุบันความต้องการพลอยสีมีแนวโน้มไม่สดใสนัก เนื่องจากสภาพตลาดในจีน รัสเซีย ยุโรป และสหรัฐยังคงติดขัดอยู่” Rahmanan กล่าว “แต่ Sara Gem ยังคงมองในแง่ดีเพราะเรามีความหวังต่อภาคอุตสาหกรรมนี้”
 
------------------------------------------
ที่มา: “Sapphire weaves its spell in jewellery world.” by Marie Feliciano. JNA. (December 2016: pp. 54, 56-57).

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที