GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 มี.ค. 2017 04.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1654 ครั้ง

ผู้ประกอบการเล็งเห็นแนวโน้มสดใสในช่วงปี 2017 และคาดกันว่าเครื่องประดับเงินจะทำผลงานได้ดีในปีนี้แม้เผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากเครื่องประดับเงินเป็นสินค้าโลหะมีค่าซึ่งมีราคาเอื้อมถึงได้ ตลอดจนรองรับสไตล์ได้ทั้งแบบคลาสสิกและร่วมสมัย จึงทำให้เครื่องประดับกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในคอลเล็กชั่นเครื่องประดับของหลายๆ คน และแนวโน้มดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง ติดตามบทความ "ธุรกิจเครื่องประดับเงินมุ่งหน้าสู่ลู่ทางอันสดใส" ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/dzdzwq หรืออ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


ธุรกิจเครื่องประดับเงินมุ่งหน้าสู่ลู่ทางอันสดใส

ผู้ประกอบการเล็งเห็นแนวโน้มสดใสในช่วงปี 2017 ผู้ประกอบการคาดกันว่าเครื่องประดับเงินจะทำผลงานได้ดีในปีนี้แม้เผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากเครื่องประดับเงินเป็นสินค้าโลหะมีค่าซึ่งมีราคาเอื้อมถึงได้ ตลอดจนรองรับสไตล์ได้ทั้งแบบคลาสสิกและร่วมสมัย จึงทำให้เครื่องประดับกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในคอลเล็กชั่นเครื่องประดับของหลายๆ คน และแนวโน้มดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง

แม้ยังไม่มีคำตัดสินว่าสินค้ากลุ่มนี้ทำผลงานเป็นอย่างไรตลอดปี 2016 แต่รายงานเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณการผลิตลดลง ตามข้อมูลจากรายงาน Silver Market Review โดย GFMS/Silver Institute มีการคาดการณ์ว่าการผลิตเครื่องประดับเงินลดลงร้อยละ 8 เหลือ 208.5 ล้านออนซ์ตลอดปี 2016 ข้อมูลจากรายงานนี้ได้รับการนำเสนอที่งาน Annual Silver Industry Dinner ซึ่งจัดโดย Silver Institute ในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา
 
ตามรายงานดังกล่าว ปริมาณการผลิตเครื่องประดับเงินโดยรวมที่ลดลงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ลดลง การประหยัดมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และราคาเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทีมงาน GFMS ที่ Thomson Reuters คาดว่าราคาเงินเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 17.15 เหรียญสหรัฐในปี 2016 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากปี 2015
 
“การแข่งขันในตลาดเครื่องประดับเงินระดับล่างระหว่างผู้ผลิตรายย่อยกับร้านค้าแบรนด์เนมหนักหน่วงยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ขายเครื่องประดับ คาดกันว่าความต้องการเครื่องประดับเงินโดยรวมในเอเชียน่าจะลดลงร้อยละ 10 ในปี 2016” รายงานระบุ แต่ก็เสริมว่าความต้องการสร้อยข้อมือเงินที่มีความบริสุทธิ์สูงกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีน
 
“อเมริกาเหนือนำเข้าเครื่องประดับเงินเป็นหลัก โดยความต้องการเครื่องประดับเงินในตลาดนี้น่าจะชะลอตัวลงในปี 2016 เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากกระแสความนิยมที่หันเหไปทางเครื่องประดับทองอย่างต่อเนื่อง” รายงานระบุ “ปริมาณการผลิตภายในอเมริกาเหนือน่าจะอยู่ที่ 28.9 ล้านออนซ์ ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน”
 
อุปสงค์ในปี 2016 
 
ปริมาณการผลิตที่ลดลงไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นวิตก เนื่องจากไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกภาพรวมความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ Michael Barlerin ผู้อำนวยการ Silver Promotion Service (SPS) ของ The Silver Institute กล่าวว่า SPS วัดความต้องการเครื่องประดับเงินผ่านยอดค้าปลีกเป็นหลัก เขาระบุว่าผู้ประกอบการในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดสำคัญสำหรับโครงการต่างๆ ของ SPS ชี้ว่าความต้องการเครื่องประดับเงินยังคงเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง 
 
“รายงาน US 2015 Retail Sales Survey ซึ่งดำเนินการสำรวจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 โดย Jewelers of America/ National Jeweler ในนามของ SPS ระบุว่า ยอดขายเครื่องประดับเงินเติบโตสูงหกปีติดต่อกัน จึงมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่ายอดขายจะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2016 และเราก็ยังคงรอคอยผลการสำรวจของปีนี้” Barlerin ให้ความเห็น
 
ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินก็ได้รายงานถึงธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องในปี 2016 Irene Lee ผู้อำนวยการของ Timax Jewelry Ltd ในฮ่องกงระบุว่า บริษัททำผลประกอบการได้ดีเมื่อปีที่แล้วแม้ว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว “เราสามารถขยายสายผลิตภัณฑ์และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประหยัดต้นทุนแรงงาน ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มแบรนด์สินค้าให้มาใช้บริการ OEM (Original Equipment Manufacturing) ของเราด้วย เนื่องจากลูกค้าประทับใจคุณภาพเครื่องประดับของเรา รวมถึงการบริการลูกค้าที่มีมาตรฐานสูง ที่สำคัญเราสามารถคงความเข้มแข็งของธุรกิจเอาไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทาย” เธอกล่าว
 
เช่นเดียวกัน Precious Products Jewelry Co Ltd ก็สามารถรักษาระดับธุรกิจเมื่อปีที่แล้วให้เท่ากับเมื่อปี 2015 โดยบริษัทสร้างยอดขายเพิ่มได้มากพอสมควรแล้ว และยังสามารถเพิ่มมากขึ้นอีกถ้าในตอนนั้นมีกำลังการผลิตเหลือ “มีโอกาสในการขยายธุรกิจซึ่งเราไม่ได้คาดไว้ตั้งแต่แรก เราจึงไม่สามารถตอบสนองได้ดีนักเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน” Michael Lindblad ประธานบริษัทเผย ถึงอย่างนั้น Precious Products Jewelry ก็ได้นำเสนองานออกแบบใหม่ๆ หลายแบบในปี 2016 และเครื่องประดับเงินฝังเพชรที่เรียบง่ายตามแบบสแกนดิเนเวียก็เป็นที่ต้องการมากเป็นพิเศษ Linblad ระบุว่า แบรนด์ Jon Michel ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับเงินแบบสแกนดิเนเวียของทางบริษัท สามารถเจาะตลาดได้มากขึ้น โดยได้รับความสนใจในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน 
 
ก้าวต่อไปในช่วงปี 2017
 
Barlerin จาก SPS มองในแง่ดีว่าเครื่องประดับเงินน่าจะยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในปี 2017 ประการแรก ผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินหน้าใหม่หลายรายได้เข้ามาในตลาดพร้อมด้วยงานออกแบบที่แปลกใหม่ SPS ยังได้วางแผนที่จะดำเนินโครงการทางการตลาดใหม่ๆ หลายโครงการเพื่อช่วยขับเคลื่อนความต้องการเครื่องประดับเงิน “มีโครงการหนึ่งซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มผู้หญิงที่ซื้อเครื่องประดับให้ตัวเอง งานวิจัยระบุว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยสำคัญในตลาดเครื่องประดับเงิน และเราเชื่อมั่นว่าคนกลุ่มนี้อาจส่งผลเชิงกลยุทธ์ต่อความต้องการเครื่องประดับเงินในระยะยาว” Barlerin กล่าว 
 
ปีนี้ SPS วางแผนที่จะขยายโครงการนำร่องหลายโครงการซึ่งเริ่มต้นดำเนินการไปแล้วในปี 2016 ทั้งนี้รวมถึงการใช้บทความโฆษณาซึ่งนำเสนอสินค้าโดยเน้นไปที่กระแสและบทบาทของเครื่องประดับเงินในตลาดเครื่องประดับแต่งงาน และหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตัวหมวดสินค้า “Silver Style Partner” ไปเมื่อปีที่แล้ว SPS ก็กำลังนำเอาหมวด “International Designer of Distinction” กลับมาใหม่โดยกำหนดเกณฑ์ในการเข้าร่วมอย่างชัดเจน ทั้งนี้ SPS ได้เริ่มต้นปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดสำคัญๆ รวมถึงในจีน เพื่อค้นหาผู้มีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกแล้ว
 
Timax มีท่าทีค่อนข้างระมัดระวังต่อสถานการณ์ในปีนี้ แต่ก็ยังคงคาดการณ์ในเชิงบวก Lee เชื่อว่าความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในตลาดหลักน่าจะส่งผลต่อความต้องการเครื่องประดับเงิน แต่เธอยังคงมีความหวัง เนื่องจาก Timax ผลิตสินค้าจากโรงงานในจีน การที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงจึงช่วยให้เครื่องประดับของ Timax แข่งขันในตลาดส่งออกได้ดียิ่งขึ้น “เราวางแผนผลักดันการเติบโตด้วยการเจาะตลาดใหม่ๆ และเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ ตลอดจนคอลเล็กชั่นเครื่องประดับที่น่าสนใจ ลูกค้ามักพึ่งผู้จัดหาในแง่การวิจัยและพัฒนา เราจึงยังคงนำเสนอเครื่องประดับคุณภาพดีมีเอกลักษณ์ในราคาที่แข่งขันได้ รวมถึงการบริการลูกค้าอย่างดีเยี่ยมเพื่อให้ตรงตามความต้องการ” Lee กล่าว
 
Precious Products Jewelry วางแผนพัฒนาเครื่องประดับฝังเพชรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้ไข่มุกน้ำจืดและพลอยสีจากธรรมชาติ Lindblad คาดหวังการเติบโตจากตลาดเอเชียในปีนี้ ทั้งในส่วนสินค้าขายส่งของ Precious Products Jewelry และสินค้าแบรนด์ Jon Michel ตลาดจีนแสดงความสนใจสินค้ากลุ่มหลังเป็นพิเศษ แต่ Lindblad ใช้แนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบในตลาดนี้ด้วยเหตุผลด้านกำลังการผลิตและเพื่อหาหุ้นส่วนที่เหมาะสม เขาเสริมว่าตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ก็ดูมีความหวังมากเช่นกัน
 
สไตล์และกระแสเทรนด์
 
ต่างหูยาวที่เน้นผิวสัมผัสและอาจนำอัญมณีมาผสมผสานด้วยนั้นจัดเป็นเครื่องประดับเงินที่ขายดีที่สุดสไตล์หนึ่งในปี 2016 ตามข้อมูลจาก SPS เครื่องประดับแบบอื่นๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้หญิงเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ สร้อยโชคเกอร์และสร้อยคอแบบพิเศษที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบสร้างสรรค์ชิ้นงานอันละเอียดประณีตซึ่งมีแต่เงินเท่านั้นที่จะทำได้ สร้อยข้อมือแบบซ้อนหลายเส้นที่นำกำไลบางๆ มาผสมผสานกับสายโซ่ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน
 
Barlerin กล่าวว่าต่างหูยังคงมีความสำคัญในปีนี้ โดยต่างหูห่วงลายประดิษฐ์ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากนี้น่าจะมีการย้อนกลับมาหารูปแบบคลาสสิก เช่น สายโซ่แบบคลาสสิก อีกด้วย “เครื่องประดับเงินกับพลอยสีน่าจะเป็นกระแสที่มาแรง เราคาดว่าการใช้เงินผสมกับโลหะอื่นๆ หรือโลหะสีอื่นๆ ก็น่าจะทำผลงานได้ดี อย่างเช่น เครื่องประดับเงินที่เคลือบด้วยทองคำหรือการใช้เงินร่วมกับเงินรมดำ” เขาเผย
 
รูปแบบที่เรียบง่ายน่าจะยังคงได้รับความนิยมในปีนี้ โดยอาจเสริมด้วยลักษณะเฉพาะและรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ Lee จาก Timax คาดว่างานออกแบบที่ทันสมัย ใส่ง่าย และใช้งานได้หลากหลายในทุกโอกาสจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องประดับที่มีสีสันอันเกิดจากการเลือกใช้วัสดุและการชุบโลหะก็น่าจะเป็นที่ต้องการมากเช่นเดียวกัน 
 
Lindblad ยอมรับว่า เครื่องประดับโดยรวมนั้นมีขนาดเล็กลง แต่เชื่อว่ายังมีพื้นที่ให้ขยับขยายได้อีกมาก เมื่อวัตถุดิบมีราคาลดต่ำลง จึงมีโอกาสสูงขึ้นที่จะผลิตงานชิ้นใหญ่น้ำหนักมากในปีนี้ เขาให้ความเห็นว่า “ตลาดถูกยึดครองด้วยบรรดาแบรนด์ใหญ่ๆ ผู้คนจึงเห็นแต่สินค้าแบบเดิมๆ อยู่ทุกหนทุกแห่ง ด้วยตระหนักดีในประเด็นนี้ เราจึงต้องสร้างความแตกต่างและนำเสนอชิ้นงานที่แปลกออกไปจากสินค้าที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็เป็นทิศทางที่เราต้องมุ่งหน้าไป” Lindblad กล่าว
 
------------------------------------------
ที่มา: “Fearless forecasts.” by Olivia Quiniquini. SILVERSTYLES. (February 2017: pp. 28-31).
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที