GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 เม.ย. 2017 03.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1575 ครั้ง

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับ เพื่อตรวจสอบประเทศที่ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าจำนวน 16 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้ https://goo.gl/JXg7SO หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ https://infocenter.git.or.th


ผลกระทบอัญมณีและเครื่องประดับไทยหลังถูกสหรัฐฯ ตรวจสอบ ฐานทำให้ขาดดุลการค้า

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับ เพื่อตรวจสอบประเทศที่ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าจำนวน 16 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยคำสั่งในฉบับแรกกำหนดให้กระทรวพาณิชย์และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ตรวจสอบประเทศที่สหรัฐอเมริกากำลังขาดดุลการค้า 16 ประเทศเป็นรายประเทศ ซึ่งประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก ไอร์แลนด์ เวียดนาม อิตาลี เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย ไทย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และแคนาดา ตามลำดับ เพื่อจำแนกสาเหตุการขาดดุลการค้าว่าปกติหรือละเมิดกฏเกณฑ์ทางการค้าหรือไม่ และจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 90 วัน ส่วนคำสั่งในฉบับที่ 2 เป็นการให้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากรของสหรัฐอเมริกาในการประเมิน ดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้าสหรัฐฯ ด้วยพฤติกรรมการค้าผิดปกติและไม่เป็นธรรม หรือการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาด
 
นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการค้นหาปัจจัยและการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าได้กล่าวถึงพฤติกรรมการค้าที่เข้าข่ายไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม อาทิ การไม่ทำการค้าตามความตกลงทางการค้าระหว่างกันการไม่บังคับใช้ให้เป็นไปตามความตกลงทางการค้า การบิดเบือนค่าเงินให้อ่อนค่าผิดปกติเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า การเสียเปรียบทางการค้าที่เกิดจากข้อจำกัดตามกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความตกลงการค้าต่างๆ
 
สหรัฐอเมริกานับเป็นคู่ค้าหลักของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยมาโดยตลอด จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2559 ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ 12,437.10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ 24,494.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 12,057.80 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4,893.30 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผลิตภัณฑ์ยาง (1,968.50 ล้านเหรียญสหรัฐ) อัญมณีและเครื่องประดับ (1,259.30 ล้านเหรียญสหรัฐ) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (1,049.60 ล้านเหรียญสหรัฐ) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (887.50 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ
 
ในส่วนเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยนั้น ในปี 2559 ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ 916.46 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 1,259.30 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 342.84 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกอันดับแรกคือเครื่องประดับเงิน (ร้อยละ 40.90) รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง (ร้อยละ 32.70) พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ร้อยละ 8.50) เพชรเจียระไน (ร้อยละ 7.00) และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน (ร้อยละ 4.00) ตามลำดับ
 
หากพิจารณาจากคำกล่าวของนายวิลเบอร์ที่ว่าคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐนั้นไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องใช้มาตรการตอบโต้อย่างหนึ่งอย่างใดกับประเทศที่ถูกตรวจสอบ หากพบว่าเป็นการนำเข้าที่แท้จริง เนื่องด้วยตลาดสหรัฐฯ ยังต้องนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งถือเป็นสินค้าเชิงหัตถศิลป์ในปริมาณมากและหลากหลายระดับคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีในราคาสมเหตุสมผล จึงไม่น่ามีผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ พิจารณานำประเด็นปัญหาการใช้แรงงานผิดกฏหมาย ซึ่งไทยยังอยู่ในบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) และมาตรฐานสินค้ามาประกอบด้วย สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบเพราะเป็นสินค้าที่ใช้ทักษะแรงงานมีฝีมือซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย อีกทั้งการผลิตก็เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในตลาดสหรัฐฯ จนทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยครองส่วนแบ่งอันดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐฯมาเป็นเวลานาน
 
จากการสัมภาษณ์คุณบุญกิต จิตรงามปลั่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่ไปยังสหรัฐอเมริกา และประธานกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อประเด็นไทยถูกสหรัฐฯ ตรวจสอบว่า “หากสหรัฐฯ พิจารณาภาพใหญ่และนำประเด็นจุดอ่อนของไทยอย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นข้ออ้างที่ไทยทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า และดำเนินมาตรการใดมาตรการหนึ่งต่อไทยก็จะทำให้สินค้าทุกประเภทที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับไทยด้วย ซึ่งก็น่าจะทำให้ยอดการส่งออกลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง แต่หากสหรัฐฯ พิจารณาเป็นรายสินค้า ในส่วนตัวคิดว่าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะแม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะมีส่วนแบ่งเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้มีมูลค่าการส่งออกมากอย่างมีนัยสำคัญเหมือนอย่างคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง อีกทั้งสหรัฐฯ เองก็ผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศน้อยมาก จึงยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทยซึ่งผลิตสินค้าได้คุณภาพดี มีมาตรฐานและราคาเหมาะสม นอกจากสหรัฐฯ จะนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศส่วนหนึ่งแล้ว ยังนำสินค้าไทยไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม โดยสหรัฐฯ เป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่นำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ ฉะนั้น หากสหรัฐฯ มีมาตรการกีดกันสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯ เอง ก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน”
 
อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ ยืนยันที่ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับไทย ก็อาจจะมีความพยายามในการหาข้ออ้างที่ทำให้ไทยเข้าข่ายมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้ โดยสหรัฐฯ อาจจะใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับไทย อาทิ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ระหว่าง 0 – 5.5% การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มขึ้น หรือร้ายแรงสุดคือการคว่ำบาตรสินค้าไทย เป็นต้น ซึ่งก็อาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปได้ลดลง ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตามผลการตรวจสอบสาเหตุการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่จะรายงานผลในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับผลที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม และอาจใช้ช่วงระยะเวลานี้พิจารณาหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ เพื่อรักษายอดการส่งออกไทยต่อไป
 
 
--------------------------------------------------------- 
ข้อมูลอ้างอิงจาก: ทรัมป์ สั่งตรวจสอบ “ไทย” และอีก 15 ประเทศ ข้อหามีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ, มติชนออนไลน์
(2 เมษายน 2560)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที