GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 เม.ย. 2017 06.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1648 ครั้ง

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 258.8 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ประกอบกับอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และนับเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กว่า 9.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาขยายตัวได้ดีในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี ปัจจัยเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนให้ความต้องการบริโภคเครื่องประดับของอินโดนีเซียในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีอัตราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/nG6nnx หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ทศวรรษที่แข็งแกร่งของตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึง 258.8 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ประกอบกับอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน และนับเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กว่า 9.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาขยายตัวได้ดีในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี ปัจจัยเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนให้ความต้องการบริโภคเครื่องประดับของอินโดนีเซียในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีอัตราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีการคาดการณ์แนวโน้มตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียจะเติบโตได้เร็วที่สุดในโลกในระยะ 5 ปีข้างหน้า จึงนับได้ว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่ควรมองข้ามในช่วงเวลานี้

ตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียเติบโตต่อเนื่องอย่างน่าสนใจ

อินโดนีเซียเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ด้วยวัฒนธรรมและค่านิยมในการสวมใส่เครื่องประดับโดยเฉพาะเครื่องประดับทองที่มีความผูกพันมาอย่างยาวนานกับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ประกอบกับโครงสร้างประชากรของอินโดนีเซียที่ราวร้อยละ 60 เป็นประชากรอายุต่ำกว่า 39 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ขณะที่สังคมเมืองและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นควบคู่ไปกับรายได้ที่สูงขึ้น

Lotus Gold Jewelry Manufacturer

จากข้อมูลของ Euromonitor International ระบุว่ามูลค่าการค้าเครื่องประดับภายในประเทศของอินโดนีเซียในช่วงปี 2551-2559 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17.6 ต่อปี และล่าสุดในปี 2559 ประมาณการว่าจะมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 20.7 ล้านล้านรูเปีย (ราว 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 หรือเพิ่มขึ้นถึง 3.6 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2551 แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินรูเปียที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าปรับสูงขึ้น แต่หากพิจารณาในแง่ของปริมาณพบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันโดยปริมาณการค้าเครื่องประดับภายในประเทศอินโดนีเซียมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปี และล่าสุดในปี 2559 ประมาณการว่าจะมีปริมาณการค้าอยู่ที่ 4.5 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2551 ทำให้เห็นได้ว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดเครื่องประดับภายในประเทศอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาโดยตลอด แม้จะเผชิญสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกที่ผันผวนในระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2553 อีกทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลงจากปัญหาขาดดุลเดินสะพัดเรื้อรังภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ในระยะ 5 ปีข้างหน้าว่าอินโดนีเซียจะเป็นตลาดเครื่องประดับที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดย Euromonitor International คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องประดับภายในประเทศอินโดนีเซียในช่วงปี 2560-2564 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.8 ต่อปี และมีมูลค่าการค้า 30.1 ล้านล้านรูเปีย (ราว 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2564 ขณะที่ปริมาณการค้าเครื่องประดับภายในประเทศของอินโดนีเซียคาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี และมีปริมาณการค้า 5.8 ล้านชิ้นในปี 2564 มุมมองที่มีต่อตลาดในเชิงบวกเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำความแข็งแกร่งของตลาดเครื่องประดับภายในประเทศอินโดนีเซียว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง
           
ด้านรสนิยมของชาวอินโดนีเซียนั้นยังคงให้ความสำคัญกับเครื่องประดับแท้มากกว่าเครื่องประดับเทียม โดยเครื่องประดับทองเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดอินโดนีเซียได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของเครื่องประดับแท้ทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องประดับทองล้วนไม่ตกแต่งอัญมณี เนื่องจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมองว่าสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย ทำให้เครื่องประดับทองเป็นทั้งเครื่องประดับและสินทรัพย์ในรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าส่วนแบ่งตลาดของเครื่องประดับทองกลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียหันมานิยมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าประเภทอื่นๆ มากขึ้น อาทิ แพลทินัม เงิน รวมทั้งเครื่องประดับโลหะผสมที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีดีไซน์ที่สวยงามไม่ซ้ำใครและมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากในตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ แหวน ต่างหู สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ตามลำดับ

การแข่งขันทวีความรุนแรงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

ในภาวะที่ตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียเติบโตได้เป็นอย่างดีจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่มีจำนวนมากและกลุ่มชนชั้นกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจเครื่องประดับเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดก็ทวีความรุนแรงขึ้นตาม โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครัวเรือนรายย่อยที่วางจำหน่ายเครื่องประดับไร้แบรนด์ อีกจำนวนหนึ่งเป็นกิจการผลิตเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยจากต่างประเทศ จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วอินโดนีเซีย บางรายมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาร้านค้าปลีกให้เข้าถึงและครอบคลุมเมืองต่างๆ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ในตัวสินค้า เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างความแตกต่างของสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น ตลอดจนการมีโปรโมชั่นราคาเชิงรุก เช่น ส่วนลดพิเศษ หรือผ่อนชำระค่าสินค้าเพื่อกระตุ้นการบริโภค

ปัจจุบันบริษัทที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียได้มากที่สุด คือ บริษัท Sumber Kreasi Cipta Logam จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ Julia Jewelry โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.6 รองลงมา คือ บริษัท Frank & Co มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2 และ บริษัท Gold Martindo มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1 เป็นที่สังเกตว่าตลาดเครื่องประดับของอินโดนีเซียมีลักษณะการกระจายตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการมีสัดส่วนในการครองตลาดไม่ต่างกันมากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มยอดขายและรักษาพื้นที่ทางการตลาดของตน
           
ด้านเครื่องประดับนำเข้าจากบริษัทต่างชาติที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียมีทั้งเครื่องประดับแบรนด์เนมคุณภาพสูง อาทิ Prima Gold จากไทย Thomas Sabo ของเยอรมนี Mondial Jeweler จากสิงคโปร์ Pandora จากเดนมาร์ก ตลอดจนแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Cartier, Bulgari, Tiffany & Co., De Beers และ Swarovski เป็นต้น ซึ่งเข้ามาเจาะตลาดผู้บริโภครายได้สูงที่คาดว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 13 ของประชากรอินโดนีเซียทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 32 ล้านคน ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมใช้สินค้านำเข้าคุณภาพดีจากต่างประเทศและแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเพชรที่ชื่นชอบมากที่สุด รวมถึงเครื่องประดับพลอยสี โดยเฉพาะทับทิมและแซปไฟร์ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับเทียมนำเข้าที่ราคาไม่สูงนักวางจำหน่ายในตลาดค้าปลีกท้องถิ่น ซึ่งตอบสนองกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นผู้มีกำลังซื้อต่ำ ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในช่วงปี 2551-2559 อินโดนีเซียมีการนำเข้าเครื่องประดับจากต่างประเทศเป็นมูลค่าราว 20-30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 อินโดนีเซียมีการนำเข้าเครื่องประดับคิดเป็นมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 31.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

สำหรับสินค้าเครื่องประดับที่อินโดนีเซียนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเทียม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับทั้งหมด มีแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1 คือ จีน ซึ่งครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 60 รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประดับแท้ที่มีการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงิน ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 40 รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ เยอรมนี และอิตาลี ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประดับทองมีผู้ครองตลาดสินค้านำเข้า คือ อิตาลี ด้วยสัดส่วนร้อยละ 50 รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ

โอกาสเจาะตลาดอินโดนีเซียท้าทายผู้ประกอบการไทย

ความน่าสนใจของตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียที่โดดเด่นจากการเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสังคมเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าตลาดเครื่องประดับอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มดีต่อไปในระยะข้างหน้า อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่ดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามารุกตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบส่งสินค้าเข้ามาตีตลาด หรือการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตอย่าง John Hardy กิจการเครื่องประดับสัญชาติอเมริกา ที่ตั้งฐานการผลิตอยู่บนเกาะบาหลี รวมถึงกิจการของไทยอย่าง Pranda Group ที่เข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา แต่ด้วยโครงสร้างตลาดเครื่องประดับภายในประเทศของอินโดนีเซียที่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ผู้ผลิตเครื่องประดับท้องถิ่นเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผลิตสินค้าราคาไม่สูงนักเพื่อตอบสนองผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งยังเป็นผู้มีกำลังซื้อต่ำที่ให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก อีกทั้งมีการวางจำหน่ายกระจายไปตามชุมชนและตลาดค้าปลีกท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงได้ง่ายและได้รับความนิยม ประกอบกับกิจการท้องถิ่นเหล่านี้มีข้อได้เปรียบจากการมีวัตถุดิบทองคำและโลหะเงินภายในประเทศ ทำให้เครื่องประดับท้องถิ่นมีราคาโดยเปรียบเทียบที่ถูกกว่า ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามารุกตลาดอินโดนีเซียแข่งขันด้านราคาค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเข้าไปแสวงหาช่องทางการค้าในอินโดนีเซียยังคงมีอยู่สำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากชาวอินโดนีเซียมองว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพและมีฝีมือประณีต ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคระดับบนที่มีรายได้สูงถึงสูงมาก ซึ่งมีความนิยมซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและมักจะเดินทางไปซื้อสินค้าในต่างประเทศ โดยอาจนำเสนอเครื่องประดับทอง/แพลทินัมตกแต่งด้วยเพชรและพลอยสี ด้วยดีไซน์หรูหรามีเอกลักษณ์ แต่ก็ไม่ควรละเลยกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบนซึ่งมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเสนอเครื่องประดับทองหรือเครื่องประดับเงินชุบหรือเคลือบด้วยทองคำในระดับความหนามากเป็นพิเศษ อาจตกแต่งด้วยพลอยสีในสไตล์ร่วมสมัย ด้วยสนนราคาที่ซื้อหาได้เหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ในระยะแรกเริ่มเข้าไปรุกตลาด ผู้ประกอบการไทยอาจใช้วิธีการแสวงหาคู่ค้าร่วมธุรกิจชาวอินโดนีเซียที่น่าเชื่อถือและรู้จักช่องทางการตลาดเป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์ในการจัดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบการค้าการลงทุนให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะยังมีอุปสรรคหลายข้อที่อาจท้าทายผู้ประกอบการไทย อาทิ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะ การกระจายสินค้าไปให้ทั่วถึงในอินโดนีเซียยังมีข้อจำกัดด้านการขนส่ง กฎหมายและกฎระเบียบบางอย่างไม่มีความชัดเจนและเปลี่ยนแปลงบ่อย ระบบราชการค่อนข้างซับซ้อนและมีกระบวนการมาก เป็นต้น


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที