GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 มิ.ย. 2017 03.12 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1361 ครั้ง

ในโลกออนไลน์ช่วงไม่กี่ปีมานี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนผู้ซื้อสินค้าทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คลิกเลย!! https://goo.gl/sftdVZ หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ธุรกิจค้าปลีกจีนเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 
รายงานในภาคอุตสาหกรรมระบุว่าโอกาสจากการค้าออนไลน์และรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคกำลังพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกในจีนแผ่นดินใหญ่
Lao Feng Xiang
 
งานวิจัยทางการตลาดชิ้นหนึ่งระบุว่าในแต่ละวันมีผู้บริโภคจีนเกือบหนึ่งในห้าซื้อสินค้าทางออนไลน์ ความสำเร็จท่วมท้นของเทศกาลวันคนโสด (Singles Day Festival) ในโลกออนไลน์ช่วงไม่กี่ปีมานี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนผู้ซื้อสินค้าทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ แม้ผู้รับการสำรวจกว่าครึ่งมองว่าระดับราคาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ แต่ผู้บริโภคก็หันมาพิจารณาความเป็นของจริง (Authenticity) ของแบรนด์และประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมากยิ่งขึ้น
 
เมื่อปีที่แล้ว PcW ได้ออกผลการวิจัยสองเรื่อง คือ “โฉมหน้าการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกและสินค้าเพื่อผู้บริโภคในจีนและฮ่องกง” (The disruptive face of the retail and consumer products sector in China and Hong Kong) และ “การสำรวจภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก ประจำปี 2016” (Global Total Retail Survey 2016) รายงานดังกล่าวชี้ว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง จำนวนผู้ซื้อรุ่นมิลเลนเนียลที่เพิ่มขึ้น และระบบนิเวศทางออนไลน์ที่กำลังเติบโต เป็นปัจจัยสำคัญสามประการที่กำหนดทิศทางของธุรกิจค้าปลีกและสินค้าเพื่อผู้บริโภคในจีน
 
Michael Cheng หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกและผู้บริโภคประจำเอเชียแปซิฟิกและฮ่องกง/จีนของ PwC กล่าวว่า “การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงจร ผนวกกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาประเมินพฤติกรรมการซื้อของตนเองใหม่ คนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 30 ของประชากรจีนกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ และคนกลุ่มนี้ได้หันเหความต้องการไปสู่สินค้าใหม่ๆ ที่เน้นการมอบประสบการณ์และวิถีชีวิตที่เสริมสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ ยอดขายทางออนไลน์กำลังเติบโต และการปรากฏตัวทางออนไลน์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ค้นหาข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับทางแบรนด์”
 
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิด “ความร่วมมือในการแข่งขัน” (Coopetition) มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทหลายแห่งต่างพยายามเปลี่ยนปัจจัยที่เข้ามารบกวนให้กลายเป็นโอกาส การร่วมมือกันระหว่างคู่แข่งทางธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งทางออกที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจะเป็นแนวโน้มสำคัญในภูมิภาคนี้เพื่อผลักดันการประสานกำลังกันและเอาชนะธุรกิจอื่นๆ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในตลาดกำลังท้าทายธุรกิจรูปแบบเดิมๆ และความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ก็ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค
Lao Feng Xiang
 
เทคโนโลยีดิจิตัล
 
ตามรายงานเมื่อไม่นานมานี้โดยบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Deloitte & Touche เทคโนโลยีกำลังส่งผลต่อโฉมหน้าของธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก เทคโนโลยีดิจิตัลทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงซึ่งส่งผลและเปลี่ยนแปลงวิธีการขายสินค้าแก่ผู้บริโภค
 
ผู้ขายสร้างและใช้ระบบออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคซึ่งหาข้อมูลสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ ลูกค้าพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ และช่องทางเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ร้านค้าไม่ได้อยู่บนโลกออนไลน์เพียงเพื่อจุดประสงค์ด้านการขายหรือการตลาดอีกต่อไป แต่รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคสินค้าหรูหรา
 
ในธุรกิจค้าปลีกนั้นพนักงานขายถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินที่สับเปลี่ยนทดแทนกันได้มานานแล้ว แต่ปัจจุบันพนักงานเหล่านี้ได้รับการให้คุณค่ามากขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในร้านค้า ผู้บริโภคที่ได้รับการสำรวจระบุว่า เหตุผลสามในห้าข้อที่ตนเองใช้เลือกผู้ขายนั้นเกี่ยวข้องกับพนักงานในร้าน กล่าวคือ บริการหลังการขายที่ดี (ร้อยละ 31) พนักงานในร้านที่ให้ความช่วยเหลือได้ (ร้อยละ 29) และบริการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (ร้อยละ 28) ดังนั้นผู้ขายควรเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้เพื่อให้อบรมพนักงานขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
แนวโน้มในธุรกิจค้าปลีก
 
PwC คาดการณ์ว่าธุรกิจค้าปลีกและสินค้าเพื่อผู้บริโภคของจีนจะมีอัตราการเติบโตสะสมที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และของฮ่องกงที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี เมื่อคิดตามมูลค่าตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2020
 
คาดกันว่าธุรกิจค้าปลีกจีนจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2017 ที่อัตราราวร้อยละ 9 จากนั้นจะค่อยๆ ชะลอการเติบโตลงไปอยู่ที่ราวร้อยละ 7 ในช่วงที่เหลือของประมาณการ ขณะที่ยอดขายปลีกรวมของฮ่องกงซึ่งแผ่วลงในปี 2015 และ 2016 นั้นน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าเดิมที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2017 ตามมาด้วยการเติบโตในแดนบวกที่ร้อยละ 2 ในปี 2018 และร้อยละ 4.6 ในปี 2019 ก่อนที่จะค่อยๆ กลับมาสู่ระดับสูงสุดเท่าปี 2013 ในปี 2020
 
“สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลังจากธุรกิจค้าปลีกและสินค้าเพื่อผู้บริโภคของจีนผ่านพายุลูกใหญ่ติดต่อกันในปี 2015 การฟื้นตัวจะเกิดจากปัจจัยหลักเชิงโครงสร้างและปัจจัยหลักที่หมุนเวียนเป็นวงจร เช่น เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการให้ความสำคัญต่อการบริโภคส่วนบุคคล ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดนี้เติบโต อย่างไรก็ดี คาดกันว่าการเติบโตจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจภายในประเทศและธุรกิจค้าปลีกที่ค่อยๆ พัฒนาไปตามกาลเวลา” Cheng กล่าว
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
------------------------------------------
ที่มา: “China’s retail landscape undergoes fundamental change.” JNA. (May 2017: p. 20-21).
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที