GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 30 ส.ค. 2017 08.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1898 ครั้ง

หากมองถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อทั่วโลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยอิทธิพลจากสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การดำรงชีวิตของผู้คน และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปแบบไปอีกในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญขนานใหญ่ของโลกหรือที่เรียกว่า “เมกะเทรนด์” นั้น ได้กลายเป็นประเด็นท้าทายและโอกาสใหม่ทางธุรกิจในอนาคต เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็คงหนีไม่พ้นผลจากกระแสเมกะเทรนด์ของโลกแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงควรให้ความสำคัญและศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้ตอบรับกับผู้บริโภคในอนาคตได้อย่างทันท่วงที ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/Eo86E8 หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ http://infocenter.git.or.th


เจาะโอกาสธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจากเมกะเทรนด์โลก

การปรับตัวของธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้เมกะเทรนด์ (Megatrends) กำลังอยู่ในกระแสและเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจในยุคสมัยนี้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายมิติ และได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการค่อนข้างมาก อีกทั้งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้อีกต่อไป เพราะหากไม่ตั้งรับปรับตัวก็อาจสูญเสียพื้นที่ทางธุรกิจให้คู่แข่งได้ในไม่ช้า หากผู้ประกอบการสามารถรู้ทิศทางอนาคตในระยะข้างหน้าว่าจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายต่อการทำธุรกิจของตนอย่างไรบ้าง ก็จะมีส่วนช่วยให้สามารถประเมินผลกระทบที่จะมีผลต่อธุรกิจ ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนปรับปรุงพัฒนาธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทันท่วงที
 
หากมองถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อทั่วโลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยอิทธิพลจากสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การดำรงชีวิตของผู้คน และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปแบบไปอีกในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญขนานใหญ่ของโลกหรือที่เรียกว่า “เมกะเทรนด์” นั้น ได้กลายเป็นประเด็นท้าทายและโอกาสใหม่ทางธุรกิจในอนาคต เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็คงหนีไม่พ้นผลจากกระแสเมกะเทรนด์ของโลกแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงควรให้ความสำคัญและศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้ตอบรับกับผู้บริโภคในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
 
ประชากรก้าวสู่สังคมเมือง...ตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่กว้างขึ้น
 
กระแสการเติบโตของเขตเมือง (Urbanization) เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองขยายตัว การเติบโตของสังคมเมืองอาจเป็นในรูปแบบของประชากรที่เคยอาศัยอยู่ในชนบทแล้วย้ายเข้ามาทำงานและพักอาศัยในเขตเมืองเพื่อแสวงหาค่าตอบแทนและสิ่งอำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันนโยบายภาครัฐหลายประเทศมุ่งการกระจายรายได้และพัฒนาชนบทจนยกระดับสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางใหม่ ทั้งนี้ จากรายงานเรื่อง World Urbanization Prospects The 2014 Revision ของ United Nations คาดการณ์ว่าในอีก 33 ปีข้างหน้าหรือปี 2050 จำนวนประชากรคนเมืองทั่วโลกจะอยู่ที่ 6.3 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ถึง 2.5 พันล้านคน และหากคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับประชากรทั้งโลกจะพบว่าในปี 2050 ประชากรเมืองจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 จากร้อยละ 54 ในปี 2014
 
หากแยกเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราขยายตัวของประชากรเมืองสูงสุด ซึ่งทำให้จำนวนประชากรเมืองเพิ่มขึ้นจาก 2.1 พันล้านคนในปี 2014 เป็น 3.3 พันล้านคนในปี 2050 และหากเทียบสัดส่วนประชากรเมืองต่อประชากรทั้งหมดของเอเชียจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 ในปี 2014 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2050 โดยเฉพาะจีนที่คาดว่าจะมีจำนวนประชากรเมืองเพิ่มขึ้นจาก 758 ล้านคนในปี 2014 เป็น 1 พันล้านคนในปี 2050 ขณะที่อินเดียจะมีจำนวนประชากรเมืองเพิ่มขึ้นจาก 410 ล้านคนในปี 2014 เป็น 814 ล้านคนในปี 2050
 
จากโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่กำลังก้าวสู่สังคมเมืองมากขึ้น นำไปสู่อำนาจซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ที่สูงขึ้น ผู้คนต่างเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ไปสู่วิถีชีวิตแบบคนเมือง ยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย ตลอดจนต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ตัวอย่างมีเห็นได้ชัดจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ผลจากนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศของภาครัฐ โดย World Bank รายงานว่าการก้าวสู่สังคมเมืองของจีนทำให้รายได้ต่อหัวของชาวจีนปรับสูงขึ้นกว่า 20 เท่าในช่วงปี 1978-2016 นอกจากนี้ World Gold Council (WGC) ยังระบุว่าผลจากการเติบโตของเขตเมืองในประเทศจีนทำให้กลุ่มชนชั้นกลางชาวจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านคนในปี 2014 เป็น 500 ล้านคนในปี 2020 กอรปกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมออมเงินและสินทรัพย์ในสัดส่วนสูง รวมถึงทองคำซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน ส่งผลให้อุปสงค์ต่อเครื่องประดับทองในตลาดจีนขยายตัวเรื่อยมาและกลายเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่สุดของโลกแซงหน้าอินเดียมาตั้งแต่ปี 2012 ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคทองคำและเครื่องประดับทองอันดับ 2 ของโลก International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์ว่ารายได้ต่อหัวของชาวอินเดียจะปรับสูงขึ้นร้อยละ 35 ในช่วงปี 2015-2020 ทำให้ชนชั้นกลางชาวอินเดียจะมีจำนวนสูงถึง 500 ล้านคนภายในปี 2025 ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่จะมีตลาดผู้บริโภคใหม่กว้างขึ้น ซึ่งตลาดจีนและอินเดียยังเป็นตลาดศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสจะเข้าไปเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางได้อีกมาก
 
New Generation...ขยายโอกาสจากคนรุ่น Gen Y
         
กลุ่มคนรุ่น Gen Y หรือ Millennials คือกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 1981-2000 ซึ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงานและเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ กลุ่ม Gen Y ยังมีแนวโน้มเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในอนาคต ไม่ว่าจะเทียบกับกลุ่มคนรุ่นก่อนหน้า หรือกลุ่มคนรุ่นหลังซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเกิดจะชะลอตัวลงทั่วโลก จากข้อมูลประชากรโลกของ United Nations แสดงให้เห็นว่าในปี 2015 ประชากรกลุ่ม Gen Y (ซึ่งหมายถึงกลุ่มประชากรอายุ 15-34 ปี ในปี 2015) จะมีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ 2.4 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของประชากรโลกทั้งหมด ทั้งนี้ คนรุ่น Gen Y ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่อินเดียและจีน ซึ่งหากรวมกันแล้วจะคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของคนกลุ่ม Gen Y ทั้งหมดของโลก
             
กลุ่มคนรุ่น Gen Y ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยแรงงาน อีกทั้งยังมีรายได้สูงกว่าและมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายใช้สอยสูงกว่าคนรุ่นก่อน กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพสูงของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือทศวรรษหน้า แต่ในขณะเดียวกันคนรุ่น Gen Y ก็จะสร้างความท้าทายต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไม่น้อย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับค่อนข้างแตกต่างกับคนรุ่นก่อนซึ่งเคยเป็นฐานลูกค้าเดิม ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิมได้อีกต่อไป โดยพื้นฐานแล้วกลุ่มคน Gen Y จะนิยมประสบการณ์มากกว่าวัตถุสิ่งของและให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกทั้งคน Gen Y เติบโตมาในช่วงเข้าสู่ยุคสารสนเทศ จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมาก และสื่อออนไลน์มักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังให้ความใส่ใจกับบริษัทที่แสดงออกถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณธรรมความโปร่งใส ความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
 
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น จากการศึกษาของบริษัทวิจัยตลาดพบว่า คนกลุ่ม Gen Y จะไม่ค่อยสนใจสินค้าแบรนด์เนมที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเคยทำตลาดได้ดีอย่างเมื่อก่อน แต่เครื่องประดับหรูหราสมัยใหม่ในราคาที่จับต้องได้กลับตอบโจทย์ได้ตรงใจคนกลุ่มนี้มากกว่า อีกทั้งความนิยมประสบการณ์ใหม่ของคนกลุ่ม Gen Y ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องเสริมนวัตกรรมในการผลิตตัวสินค้าเครื่องประดับให้มีรูปแบบที่แปลกใหม่ ดีไซน์สวยงามไม่ซ้ำใคร และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขณะที่ตลาดจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่สุดของโลก จากอดีตที่คนรุ่นก่อนนิยมเครื่องประดับทองล้วนที่มีความบริสุทธิ์ของเนื้อทองสูงถึง 24 กะรัต แต่ปัจจุบันเครื่องประดับที่ทำด้วยทองกะรัตต่ำลงอย่าง 18 กะรัต กลับมียอดขายสูงกว่า ซึ่งเป็นไปตามความนิยมของคนกลุ่ม Gen Y ชาวจีน รวมถึงเครื่องประดับเพชรที่เป็นที่ชื่นชอบมากขึ้นตามการเปิดรับไลฟ์สไตล์จากชาติตะวันตก นอกจากนี้ การเข้าถึงลูกค้ากลุ่ม Gen Y ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาด ติดต่อซื้อขาย หรือชำระเงิน ก็มีประสิทธิภาพสูงสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้
 
ที่มา : Cartier
 
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับบางส่วนได้เริ่มปรับกลยุทธ์ทำตลาดให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคของกลุ่ม Gen Y อาทิ Hearts of Fire ผู้ประกอบการเครื่องประดับในสหรัฐฯ ที่เติมเต็มช่องว่างของธุรกิจจากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่น Gen Y ในตลาดสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการครอบครองสินค้าเทคโนโลยีมากกว่าเครื่องประดับ ด้วยการใช้กลยุทธ์นำเสนอสินค้าเครื่องประดับในร้านที่ออกแบบด้วยบรรยากาศไฮเทคเช่นเดียวกับร้านขายสินค้าเทคโนโลยี พร้อมระบบการเปิดตู้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และมีจอแสดงภาพดิจิทัลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ รวมถึง Blue Nile สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อเครื่องประดับ โดยผู้ซื้อจะสามารถเลือกชมและลองสินค้ากว่า 360 แบบผ่านทางเว็บไซต์ โดยจะมีพนักงานขายพร้อมตอบทุกคำถามและพร้อมส่งสินค้าถึงบ้าน ขณะที่แบรนด์ดังอย่าง Cartier นำเสนอเรื่องราวผ่านกำไลข้อมือซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีชื่อเสียงรุ่นใหม่ อาทิ Justin Bieber และ Pippa Middleton โดยออกแบบให้กำไลข้อมือสามารถยึดและคลายได้ด้วยไขควงชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคงทนและความหลงใหลในความรัก     
 
สังคมผู้สูงอายุ...ตลาดกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจซื้อสูง
            
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันเป็นผลจากประชากรกลุ่ม Baby Boomer หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 1946-1965 ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเกิดสูง กำลังก้าวเข้าวัยชรา ทำให้ผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ United Nations คาดการณ์ว่า ปี 2050 จำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนกว่า 2 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านคนในปี 2100 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรโลก ซึ่งแต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ และโภชนาการอาหาร โดยในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดในประเทศจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนแตกต่างกันไป อาทิ เยอรมนีร้อยละ 36 ฝรั่งเศสร้อยละ 30 จีนร้อยละ 30 และสหรัฐฯ ร้อยละ 22

สำหรับศักยภาพของตลาดกลุ่มผู้สูงอายุนั้นถือว่าน่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นผู้บริโภคขนาดใหญ่แล้ว ผู้สูงอายุยังมีอำนาจการซื้อค่อนข้างสูง จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา AT Kearney ระบุว่าในปี 2010 ผู้บริโภคอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการจับจ่ายซื้อสินค้าทั่วโลกกว่า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะสูงถึง 15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด โดยประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปเป็นผู้ถือครองสินทรัพย์ทางการเงินถึงกว่าร้อยละ 80 และเป็นกลุ่มผู้ใช้จ่ายหลักกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ขณะที่ในสหราชอาณาจักร มีรายงานระบุว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปี ถือครองความมั่งคั่งถึงเกือบร้อยละ 75 ของประเทศ ดังนั้น โอกาสการเข้ามาทำตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุของภาคธุรกิจจึงมีอยู่มาก
           
สำหรับความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับของกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้น นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการเก็บออมเป็นสินทรัพย์ และความต้องการใช้ตกแต่งประดับกาย เพราะยังเกาะกระแสแฟชั่นและไม่ยอมถูกมองว่าเป็นคนแก่แล้ว การใช้อัญมณีและเครื่องประดับที่มีความหมายเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนบางสิ่ง ให้ความสงบทางจิตใจหรือเป็นสิ่งเติมเต็มทางจิตวิญญาณ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคกลุ่มนี้เช่นกัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอาจมีวิธีนำเสนอสินค้าโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น อาทิ การมีแถบป้ายติดสินค้าที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ การเพิ่มระดับความสว่างของแสงไฟในร้านค้าเพื่อจะทำให้มองเห็นสินค้าได้ชัดเจนขึ้น  การมีทางเดินกว้างเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดิน และสินค้าควรวางบนชั้นที่ระดับความสูงพอเหมาะต่อการเอื้อมหยิบ นอกจากนี้ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ยังส่งสารไปถึงผู้สูงอายุได้ไม่เพียงแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะผู้สูงอายุยุคนี้มีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น รวมไปถึงการซื้อขายผ่าน E-commerce ยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเดินทางออกจากบ้าน เมื่อพร้อมด้วยบริการจัดส่งจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
           
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและนำเสนอเครื่องประดับที่เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ อาทิ Kernel of Life ที่พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีรูปลักษณ์สวยงามเหมือนเครื่องประดับที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถตรวจเลือด น้ำลาย ลมหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยผลการตรวจจะส่งไปวิเคราะห์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านทางสัญญาณบลูทูธ รวมถึงบริษัทจิวเวลรี่ไฮเทคอย่าง Cuff ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเหล่าผู้สูงอายุ โดยการนำชิปขนาดเล็กฝังเข้าไปในเครื่องประดับเช่น กำไล สร้อยคอ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังคนในครอบครัวทันทีที่ผู้สวมใส่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมทั้งระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่ด้วย
 
วิถีชีวิตยุคดิจิทัล...เร่งใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ 
        
ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่ากลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มีประสิทธิภาพสูงต่อการเจาะตลาดผู้บริโภคยุคปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากคนรุ่นใหม่ยึดวิถีชีวิตยุคดิจิทัล ใช้ชีวิตติดอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลา การทำธุรกรรมทางการเงินและการสื่อสารเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายไร้สายมากขึ้น หลายธุรกิจจึงอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในการติดต่อซื้อขายกับลูกค้า อันจะช่วยลดข้อจำกัดของระยะทางและทำให้สามารถทำตลาดได้อย่างไร้ขอบเขต ซึ่งหนึ่งในประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุดก็คือ สินค้าแฟชั่น ดังนั้น เทรนด์การใช้ชีวิตติดเทคโนโลยีเช่นนี้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเครื่องประดับต่างหันมาพัฒนากลยุทธ์การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งการสื่อสารการตลาด และเป็นช่องทางการขาย ควบคู่กับการเชื่อมโยงช่องทางหน้าร้าน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ทำให้เข้าถึงตลาดได้กว้างและง่ายขึ้น
           
นอกจากการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ หรือการสมัครสมาชิกเพื่อฝากขายผ่านเว็บไซต์ตัวกลางซื้อขายสินค้าแล้ว การเข้าถึงลูกค้าได้ในระดับรายบุคคลผ่านระบบดิจิทัลยังเป็นช่องทางการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น Cartier ใช้ช่องทาง WeChat บุกตลาดจีนเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างทั่วถึง WeChat เป็นเครื่องมือการสานสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงในตลาดจีนขณะนี้ เนื่องจากเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการติดต่อสื่อสารออนไลน์บนสมาร์ทโฟนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์เชื่อมต่อบน WeChat ทำให้สามารถแสดงภาพ เสียง แผนที่ และลิงก์ไปเพื่อทำการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของตนเอง อีกทั้งยังสามารถสื่อสารแบบสองทางกับลูกค้าได้ผ่านหน้าต่างแชตอัตโนมัติ ทั้งยังมีระบบชำระเงินออนไลน์ซึ่งเรียกว่า WeChat Pay ช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้ซื้อและผู้ขายด้วย ปัจจุบัน WeChat มียอดผู้ใช้งานในจีน 570 ล้านคนต่อวัน ยอดเฉลี่ยเข้าผ่านมือถือกว่า 30 ครั้งต่อวันต่อคน และยอดสั่งซื้อของในจีนบน WeChat มีถึงกว่าร้อยละ 31 ของยอดขายออนไลน์ในจีน
 
Sharing Economy...ตอบโจทย์ชีวิตคนสมัยใหม่
           
เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งหมายถึงการทำให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของอีกต่อไป เป็นเทรนด์การบริโภคของคนยุคใหม่ซึ่งแสวงหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินทรัพย์หรือสินค้า เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและทำให้การจัดสรรทรัพยากรดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่สามารถแบ่งปันกันได้ นอกจากเป็นการช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถนำรายได้คงเหลือมาลงทุนเพื่อต่อยอดได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปบริโภคสินค้าประเภทอื่นๆ ได้อีก คุณภาพชีวิตกลับดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น และสามารถบริหารการใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้แนวคิด Sharing Economy อาทิ บริการเช่าเฟอร์นิเจอร์แทนที่จะซื้อ ให้เช่าเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำและทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึง Uber และ Airbnb เป็นต้น
         
ทั้งนี้ อ้างอิงจากบทความเรื่อง “มุมมอง Sharing Economy กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ” โดย รศ.ดร.สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส ระบุว่าในกรณีของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ถึงแม้จะยังไม่มีธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy มากนัก (น่าจะเนื่องมาจากเป็นสินค้าราคาแพงและผู้ขายอาจเกรงกลัวในเรื่องการสูญหายหรือสินค้าถูกเปลี่ยนเมื่อนำมาคืน) แต่ในสหรัฐฯ ก็เริ่มมีธุรกิจประเภทนี้ให้เห็นบ้างแล้ว เช่น Rocksbox ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องประดับที่มีราคาแพง Renttherunway และ Vinted ที่เป็นธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับแฟชั่น ที่มีราคาไม่สูงนัก สำหรับผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยอาจลงมาเล่นในธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ได้ โดยอาจมีการขยายเป็นเครือข่ายที่รวมผู้ประกอบการหลายรายเข้าด้วยกัน หรืออาจเป็นการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่ครอบครองเครื่องประดับอยู่แล้ว แต่ต้องการที่จะนำเครื่องประดับของตนออกมาหารายได้ในช่วงที่ไม่ได้ใช้ก็สามารถทำได้เช่นกัน
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที