GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 ก.ย. 2017 07.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1651 ครั้ง

ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นิยมสะสมในทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการเกิดเงินเฟ้อที่ปัจจุบันทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.95% โดยประเทศที่ครองแชมป์อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกยังคงเป็นเวเนซุเอลาที่ 741% เมื่อหันมามองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้น เมียนมาเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงที่สุดที่ 9.94% ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การถือครองเงินสดมีโอกาสที่จะ devalue ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/e7KNRG หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


การค้าและการบริโภคทองคำและเครื่องประดับทองใน CLMV

ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นิยมสะสมในทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการเกิดเงินเฟ้อที่ปัจจุบันทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.95% โดยประเทศที่ครองแชมป์อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกยังคงเป็นเวเนซุเอลาที่ 741% เมื่อหันมามองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้น เมียนมาเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงที่สุดที่ 9.94% ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การถือครองเงินสดมีโอกาสที่จะ devalue หรือพูดง่ายๆ ว่าเงิน 100 บาทที่มีอยู่วันนี้ เมื่อเปิดกระเป๋าออกมาอาจเหลือค่าเพียง 95 บาทในวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้ ทำให้การถือครองทองคำ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของทองคำรูปพรรณหรือทองคำแท่ง ต่างก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาระดับความมั่งคั่ง (Wealth) ที่สามารถเข้าถึงในทุกระดับรายได้และมีโอกาสน้อยที่จะสูญค่าในตัวของมันเอง แต่ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถนำเข้า ส่งออก ทองคำได้อย่างเสรี เนื่องจากทองคำสามารถทำให้ค่าเงินของประเทศผันผวนได้ จึงทำให้ในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างเวียดนาม และเมียนมาต้องจำกัดให้การนำเข้าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น
 

กลไกขับเคลื่อนการออมทองคำของชาว CLMV


กลุ่มประเทศ CLMV กำลังมีความเป็นเมืองเพิ่มขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือรวมเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า CLMV ได้เข้าใกล้ความเป็นเมืองสูงขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ลาวเป็นประเทศที่มีอัตราความเป็นเมืองหรือสัดส่วนประชากรที่อยู่ในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด 3.50% รองลงมาคือเวียดนาม 2.10% ขณะที่ 10 ประเทศอาเซียนมีการขยายอัตราความเป็นเมืองเพียง 1.38% เท่านั้น ในด้านการขยายตัวของรายได้เมียนมามีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุด 8.40% ต่อปี อันเป็นผลจากการเปิดประเทศในปี 2553 ทำให้เกิดการยกเครื่องเศรษฐกิจครั้งใหญ่และเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคครั้งสำคัญของชาวเมียนมา เห็นได้จากในปี 2559 นั้นเมียนมานำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยมีมูลค่ารวมกันราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ก่อนเปิดประเทศ (ในปี 2552) มีมูลค่าเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น


 


ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น ในอนาคตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากจากการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงาน หากกล่าวถึงปัจจัยที่กำหนดการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ทุน และแรงงานจัดได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) อย่างประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ขับเคลื่อนให้เกิดชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดย The Boston Consulting Group ได้ประมาณการไว้ว่าภายในปี 2563 เวียดนามจะมีชนชั้นกลางถึง 21 ล้านคน จึงทำให้เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามอง

วัฒนธรรมการเก็บออมทองคำได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของทุกประเทศ จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงิน รูปแบบของความเป็นเมือง และรายได้ที่กำลังทะยานขึ้นแล้ว การเข้าถึงธนาคารในอัตราต่ำของชาวชนบท ก็ส่งผลต่อการสะสมทองคำเช่นกันโดยทองคำทำหน้าที่เป็นทั้งความมั่นคง การลงทุน และของขวัญในทุกๆ โอกาส รูปแบบการบริโภคทองคำของชาว CLMV คือผู้ที่มีรายได้มาก (ซึ่งเป็นส่วนน้อยของประเทศ) จะนิยมสะสมทองคำแท่ง ส่วนคนทั่วไปจะนิยมสะสมเครื่องประดับทอง โดยชาวเวียดนามนิยมเครื่องประดับทองสีเหลือง 24 กะรัตแบบครบชุด ลายดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ โดยมีความเชื่อว่าการเก็บออมด้วยทองคำเป็นการออมที่ดีที่สุด นอกจากนี้ชาวเวียดนามยังนิยมเก็บทองคำไว้ที่บ้านมากกว่าการฝากไว้ที่ธนาคาร ส่วนคนรุ่นใหม่นิยมเครื่องประดับทองแบบชิ้นเดียวเพื่อสวมใส่กับชุดประจำชาติในการออกงานสังคมเช่นเดียวกับชาวลาว ส่วนชาวกัมพูชานิยมเครื่องประดับทอง 24 กะรัตสำหรับการเก็บสะสม หากนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวันจะนิยมเครื่องประดับทอง 18 กะรัต ทั้งนี้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศ CLMV ต่างมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปพร้อมกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้การบริโภคทองคำในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยลาวมีอัตราการนำเข้าทองคำแท่งและเครื่องประดับทองขยายตัวเฉลี่ยสูงที่สุดราว 2.80 เท่าตัว รองลงมาคือกัมพูชามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 2.56 เท่าตัว จากการเพิ่มปริมาณการนำเข้าทองคำแท่งในช่วงปี 2556 ขณะที่ในปี 2559 กัมพูชานำเข้าทองคำสูงที่สุด เป็นมูลค่าถึง 654.98 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเครื่องประดับทอง 9.03 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือเวียดนามนำเข้าทองคำ 97.70 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเครื่องประดับทอง 40.00 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้นำเข้าทองคำจากไทยเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงเวียดนามเท่านั้นที่กว่าครึ่งหนึ่งนำเข้าจากฮ่องกง

นอกจากนี้ตัวเลขการนำเข้าทองคำอย่างไม่เป็นทางการของบรรดาแรงงานข้ามชาติที่นำกลับประเทศก็เป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แม้ว่าจะไม่มีการแสดงตัวเลขดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็สามารถอนุมานได้จากตัวเลขแรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายที่มีสูงถึง 6 ล้านคน (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน: กกร.) ที่แต่ละปีแรงงานกองทัพมดเหล่านี้จะใส่ทั้งสร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ ฯลฯ กลับประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อย แม้ว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะนิยมมาตรฐานทองคำที่แตกต่างกันก็ตาม

กฎระเบียบการค้าทองคำและเครื่องประดับทองใน CLMV
         
การนำเข้าทองคำในบางประเทศยังคงเป็นเรื่องผูกขาดโดยรัฐบาล เนื่องจากทั้งทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณเป็นสินค้าที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนของสกุลเงินของประเทศได้ จึงทำให้บางประเทศมีมาตรการให้การนำเข้าทองคำเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางเท่านั้น อย่างเช่นเวียดนามได้ออกพระราชกฤษฎีกาเลขที่ 24/2010/ND-CP โดยเนื้อหามีใจความว่าให้ธนาคารแห่งชาติเวียดนามเป็นผู้มีสิทธินำเข้า ส่งออก และผลิตทองคำแท่ง หากผู้ประกอบการจะผลิตเครื่องประดับทองจะต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งชาติเสียก่อน และห้ามนำเข้าทองคำเอง เป็นต้น ในด้านเมียนมาก็มีการผูกขาดการนำเข้าทองคำเช่นเดียวกันที่ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ขณะที่กัมพูชาสามารถนำเข้าส่งออกทองคำได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตามในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น การนำเข้าทองคำและเครื่องประดับทองไปยังแต่ละประเทศในกลุ่ม CLMV นั้นยังคงมีการกำหนดภาษีศุลกากรที่เป็น MFN Rate โดยลาวและเมียนมามีภาษีนำเข้าทองคำ (พิกัด 7108) 5% และ 15% ตามลำดับ แต่กัมพูชาและเวียดนามไม่มีภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าว ขณะที่ภาษีนำเข้าเครื่องประดับทองคำ (พิกัด 7113.19.90) ยังคงจัดเก็บในอัตราสูง กล่าวคือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา จัดเก็บในอัตรา 5% 7% 25% และ 30% ตามลำดับ แต่หากเป็นการค้าระหว่างกันภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าอาเซียน (AFTA) ผู้ส่งออกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือเรียกได้ว่าปลอดภาษีระหว่างกันหากปฏิบัติตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

- สินค้าที่กำเนิดหรือผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained)
- มีกระบวนการผลิตที่ผ่านการแปรภาพอย่างเพียงพอภายในประเทศตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด (Change in Tariff Classification) ในระดับ 4 หลัก
- มีการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาครวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่า FOB ที่ส่งออก หรือกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) สำหรับสินค้าบางรายการที่มีรายละเอียดระบุไว้ต่างหาก

ทั้งนี้การจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในอาเซียนจะต้องนำหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าหรือที่เรียกว่าฟอร์มดี/Form D ไปแสดงต่อศุลกากรของประเทศผู้นำเข้า หรือใช้วิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) จึงจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2560


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที