GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 ธ.ค. 2017 08.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1399 ครั้ง

ส่องตลาดอัญมณีและเครื่องประดับญี่ปุ่น ผ่านสายตากูรูด้านการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร. สมชนก ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เรื่องน่ารู้ การจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดญี่ปุ่น

 
โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส*
 
เครื่องประดับมุก Mikimoto
                
ญี่ปุ่นเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยในส่วนของเครื่องประดับแท้แล้ว เครื่องประดับเพชรก็ยังเป็นสินค้าที่ครองใจอันดับหนึ่งของคนญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยจำนวนการแต่งงานในญี่ปุ่นเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ จากสถิติในปี 2558 คือมีการแต่งงานเพียง 639,000 คู่ (จากปี 2543 ที่มีจำนวนการแต่งงาน 798,00 คู่) ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านหาเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรจากภาครัฐที่ไม่พอเพียง และคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการแต่งงานลดลง ทำให้การเติบโตในเครื่องประดับเพชรไม่ได้มาจากตลาดเครื่องประดับที่ใช้ในงานหมั้นหรืองานแต่งงาน แต่เป็นตลาดสำหรับคนวัยกลางคนที่ซื้อเพชรเพื่อการฉลองวันครบรอบแต่งงาน และมาจากผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นในญี่ปุ่น (ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีสูงถึง 35 ล้านคน คิดเป็น 27.7% ของประชากรทั้งหมด) หรือถ้าสรุปง่ายๆ คนแก่จะเพิ่มขึ้น แต่คนหนุ่มสาวจะลดลง ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มคุณค่า (Value) ในสินค้าสำหรับคนกลุ่มหนุ่มสาวเพื่อไม่ให้มูลค่าตลาดโดยรวมลดลง และที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนี้ถึงแม้จะมีขนาดตลาดหดลง แต่คาดว่าจะมีกำลังซื้อมากขึ้น จากแนวโน้มการครองสถานภาพโสดที่สูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นจากการปรับตัวของผู้ค้าเครื่องประดับมุกที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ก็พยายามมาเล่นตลาดนี้มากขึ้น โดยปรับให้สินค้ามีความทันสมัย ไม่ใช่เป็นแค่ลุคคนสูงวัยเท่านั้น เช่น นำมุกที่มีขนาดใหญ่ มีรูปร่างที่ดูทันสมัย มีความหลากหลายในสีสันมาจำหน่ายมากขึ้น เพราะการจะพึ่งตลาดคนสูงอายุอย่างเดียวก็อาจจะไม่ยั่งยืนเท่าไรนัก เพราะคนแก่ญี่ปุ่นต้องดูแลตัวเอง ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวขยายเหมือนเมื่อก่อนหรือเหมือนในประเทศแถบเอเชียอื่นๆ ที่ลูกหลานจะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
                
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการในทุกวงการอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ความโชคดีอยู่อย่างหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือ เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากเดินทางไปเยือน สินค้าที่คาดว่าจะขายได้น้อยลงในตลาดญี่ปุ่นก็จะยังขายนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและเกาหลีใต้ที่มีกำลังซื้อสูง 
 
เครื่องประดับมุก Mikimoto
                
ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายนั้น ถึงแม้ญี่ปุ่นจะดูเป็นประเทศที่ไฮเทคแต่กลับปรากฏว่ามีการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน คนที่มีอายุสูงกว่า 60 ปีในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศใช้สมาร์ทโฟนเพียง 28% ทำให้การใช้ประโยชน์จาก Digital Marketing ในญี่ปุ่นไม่สูงเท่าที่ควร และที่สำคัญ คนญี่ปุ่นเป็นพวกไม่ชอบความเสี่ยง จึงมักหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตในการซื้อสินค้า ยิ่งในปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นกลัวการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นไปอีก และสำหรับการซื้อเครื่องประดับที่มีราคาแพงนั้น คนญี่ปุ่นมีการใช้ช่องทางทางอินเทอร์เน็ตที่ต่ำมากคือ ประมาณ 5.8% เท่านั้น เพราะคนญี่ปุ่น (โดยเฉพาะผู้หญิง) ชอบที่จะออกไปชอปปิงที่ร้านค้าด้วยตนเอง เพราะจะได้เลือกและลองสวมใส่ ได้พูดคุยกับคนขาย และก็ยังชื่นชอบกับการห่อของขวัญสวยๆ จากทางร้านค้าอีกด้วย การเข้าถึงผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นก็ถือว่ายังต้องเข้าด้วยช่องทางดั้งเดิมคือ ต้องมีหน้าร้าน การใช้อินเทอร์เน็ตจะเป็นแค่เพียงการช่วยโฆษณาสินค้าให้คนรู้จักเท่านั้น
                
กระแสโซเชียลมีเดียในญี่ปุ่นก็นับว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะคนญี่ปุ่นนั้นถึงแม้จะมีลักษณะการทำงานเป็นสังคมแบบกลุ่ม แต่ในการใช้ชีวิตแล้วจะจัดว่าเป็นสังคมแบบปัจเจกชน โครงสร้างครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว เพื่อนฝูงก็จะไม่ได้มีมากเท่าไร ที่เราเห็นคนญี่ปุ่นไปทานข้าวกันเป็นกลุ่มๆ ในตอนเย็นนั้น ก็เป็นเพียงเพื่อนที่ทำงาน แต่จะไม่ได้คบหากันลึกซึ้งเท่าไรนัก ผู้ประกอบการจึงน่าจะใช้กระแสโซเชียลมีเดียทำโฆษณาได้ไม่มากเท่าไร จะไม่เหมือนกับคนไทย ที่เราจะมีการส่งไลน์กันเข้าไปในไลน์กลุ่มเป็นทอดๆ แต่ในญี่ปุ่นกลับมีการใช้ช่องทางเหล่านี้อย่างจำกัด ทำให้การประชาสัมพันธ์สินค้าในญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถทิ้งช่องทางแบบเดิมๆ เช่น ทางนิตยสาร ซึ่งผู้หญิงญี่ปุ่นยังนิยมอ่านอยู่มาก
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
------------------------------
*Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลายโครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที