GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 มี.ค. 2018 04.07 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7088 ครั้ง

ด่านเกวียน เป็นชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ทางการเกษตร ของตกแต่งบ้านและสวน รวมทั้งเครื่องประดับจากดินเผาที่มีรูปแบบและสีสันอันหลากหลาย ซึ่งกว่าจะได้ชิ้นงานแต่ละชิ้นออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว เพราะทุกขั้นตอนล้วนต้องอาศัยเทคนิคและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวด่านเกวียนต้องสั่งสมมานานจากรุ่นสู่รุ่น ตามไปชมเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้จากบทความ ด่านเกวียน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องชื่อ


ด่านเกวียน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องชื่อ

 

หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนในอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่าร้อยปี ปัจจุบันนอกจากเป็นทั้งแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคอีสาน

ที่มาของการทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

แต่เดิมพื้นที่บริเวณด่านเกวียนนั้นเป็นเมืองหน้าด่านที่เรียกว่า “ด่านกระโทก” ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางบกระหว่างนครราชสีมากับชายแดนกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมาก คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และค้าขายพืชผลทางการเกษตร และด้วยความที่ในสมัยก่อนมีพ่อค้าเกวียนจำนวนมาก มาหยุดพักกองคาราวานในบริเวณนี้ ชุมชนดังกล่าวจึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ด่านเกวียน”

แต่ก่อนที่จะมีคนไทยอพยพเข้าไปตั้งรกรากบริเวณชุมชนด่านเกวียน พื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยของชาวข่า ซึ่งเป็นคนเชื้อสายมอญ ดังนั้น เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนด่านเกวียนมักจะใช้เวลาในช่วงที่ว่างจากการทำเกษตรกรรมมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตได้ขนขึ้นเกวียนไปค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชาด้วย ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2485 ผลจากนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างรายได้จากสินค้าท้องถิ่น อันมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แพร่เข้ามาในชุมชนด่านเกวียน จึงทำให้การผลิตมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายมากยิ่งขึ้น จนชุมชนด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งค้าเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง

ปัจจุบันชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ทางการเกษตร ของตกแต่งบ้านและสวน รวมทั้งเครื่องประดับ โดยรูปแบบการผลิตยังคงเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของด่านเกวียนเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต การปั้น การตกแต่งลวดลาย และการเผาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี แต่ถึงกระนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ วัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาหาได้ยากและมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาด้านจำนวนช่างที่ลดน้อยลง และขาดการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีลวดลายที่แปลกใหม่ไปจากของเดิม ก็ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนไม่ถูกพัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา 

คุณสมบัติพิเศษของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

การทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนต้องอาศัยความพิถีพิถันมาตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้ดินในพื้นที่เท่านั้น เพราะเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดคุณภาพดี มีสีแดงและสีน้ำตาลดำ โดยมักขุดขึ้นมาจากบริเวณที่เรียกว่า “กุด” ซึ่งเป็นบริเวณแนวกัดเซาะของริมฝั่งแม่น้ำ มีแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะแร่เหล็กสะสมอยู่ในเนื้อดินค่อนข้างมาก และด้วยความละเอียดของเนื้อดินจึงทำให้ง่ายต่อการปั้นขึ้นรูป ไม่บิดเบี้ยวและทนทานต่อการเผาในอุณหภูมิสูง

เมื่อนำดินด่านเกวียนมาเผาในอุณหภูมิสูง พบว่าแร่เหล็กที่สะสมอยู่ในเนื้อดินจะเกิดการหลอมละลายแล้วมาเคลือบชั้นผิว จนทำให้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีเอกลักษณ์พิเศษเป็นสีต่างๆ ทั้งสีดำ สีน้ำตาลแดง หรือสีสัมฤทธิ์ ที่มีความมันวาว และคงทนต่อการนำมาใช้งาน เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน ทั้งนี้ การที่จะเผาผลิตภัณฑ์ให้ได้เป็นสีต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้ในการเผา โดยหากเผาที่อุณหภูมิ 900-1,100 องศาเซลเซียส เนื้อดินจะให้สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม และถ้าใช้อุณหภูมิมากกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ก็จะให้สีน้ำตาลแดงเข้มคล้ายกับเลือดปลาไหล ซึ่งการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีเข้ม มีความมันวาว และเนื้อผิวราบเรียบมากกว่าการเผาด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 

เครื่องประดับดินเผาด่านเกวียน

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนในปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็นงานปั้นเครื่องใช้ หรือของตกแต่งต่างๆ มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่ผลิตเครื่องประดับจากดินเผา ประเภทสร้อยคอ ต่างหู เข็มกลัด และกำไลข้อมือในลักษณะของการร้อยลูกปัดแบบต่างๆ อาทิ สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ทรงกลม ทรงกระบอก ครึ่งวงกลม ธรรมจักร และสี่เหลี่ยมคางหมู เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้ดีไซน์ผสมผสานตามจินตนาการของช่าง สนนราคาของเครื่องประดับจะอยู่ที่ 20-400 บาท ซึ่งถือว่าราคาขายนี้ค่อนข้างถูก แต่การจำหน่ายออกกลับไม่ค่อยดีเท่าที่ควร สินค้านี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมผลิตในบรรดาผู้ประกอบการเท่าใดนัก

 

 

ย่านการค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

ปัจจุบันการค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนกว่าร้อยละ 90 เป็นการขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลางไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพ่อค้าคนกลางจะเดินทางมารับซื้อสินค้าถึงหน้าโรงผลิต ซึ่งผู้ประกอบการส่วนมากเป็นชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ และใช้ครัวเรือนของตนเองเป็นแหล่งผลิตสินค้า ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการบางรายที่เปิดเป็นหน้าร้านจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยย่านการค้านั้นกระจุกตัวอยู่บริเวณลานด่านเกวียน ด่านเกวียนพลาซ่าและตั้งเรียงกันริมฝั่งถนนสายนครราชสีมา-โชคชัย

นอกเหนือจากการเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ด่านเกวียนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสานที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้สัมผัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพทางการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ให้มีโอกาสสร้างมูลค่าทางการค้าได้มากยิ่งขึ้น

 

 

----------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีนาคม 2561


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที