MamKatarin

ผู้เขียน : MamKatarin

อัพเดท: 04 ก.ย. 2018 23.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 29947 ครั้ง

ไขข้อข้องใจ ระหว่าง " พระอวโลกิเตศวร" และ "พระโพธิสัตว์กวนอิม"


ประวัติความเป็นมาพระอวโลกิเตศวรกวนอิม

อักษรคำว่า "พระโพธิสัตว์" ในภาษาจีนเรียกว่า "ผูซ่า"ส่วนในสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า "ผ่อสัก"

ดังนั้น พระนามของพระโพธิสัตว์กวนอิมจึงมีอยู่ด้วยกันหลายชื่อ ส่วนใหญ่แล้วในสำเนียงจีนกลางจะนิยมเรียกว่า "กวนอินผูซ่า"หรือ "กวนซื่ออินผ่อสัก" นอกจากนี้ ยังมีอีกบางชื่อที่มีเรียกกัน ได้แก่ "กวนจื้อไจ้ผูซ่า"และ "กวงซื่ออินผูซ่า"แต่สำหรับชาวไทยแล้วจะเรียก "เจ้าแม่กวนอิม" แต่ที่ให้ถูกคือ" พระโพธิสัตว์กวนอิม" เดิมทีนั้นพระนามเดิมที่เรียกพระโพธิสัตว์กวนอิม จะเรียกว่า "กวนซื่ออิน" หรือ" กวนซีอิม"ในภาษาจีนแต้จิ๋ว  แต่เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ถัง อักษรคำว่า "ซื่อ" ตรงกับชื่อเดิมของถังไท้จงฮ่องเต้ คือ "หลี่ซื่อหมิน"จึงได้เลี่ยงมาเรียกย่อ ๆ ว่า "กวนอิน"หรือ"กวนอิม"

"ผูซ่า" หรือ "ผ่อสัก" คิอ ผู้ซึ่งตั้งจิตแน่วแน่ในการบำเพ็ญเพียร เพื่อที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต จึงมีการสร้างสมบุญบารมีเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์และเรียกกันว่า "พระโพธิสัตว์" คติเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์นี้มาจากลัทธิมหายาน ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย เรียกกันในสันสกฤตว่า พระอวโลกิเตศวร (Avalokitesvara) ซึ่งแปลว่า พระผู้เฝ้ามองดูด้วยความเมตตากรุณา  หรือ พระผู้ทรงสดับฟังเสียงร้องไห้ของสัตว์โลก

พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่มีผู้รู้จักและศรัทธามากที่สุด เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการกราบไหว้บูชาจากชาวจีนทั่วทุกมุมโลก และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุก ๆ ที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ในคตินิยมทางสัญลักษณ์วัฒนธรรมมงคลของจีน องค์กวนอิม คือ พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อสรรพสัตว์ เป็นพระผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญู และเป็นสัญลักษณ์แห่งเมตตามหาการุณย์เพื่อโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ดังคำปณิธานของพระองค์ที่ว่า หากยังมีสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ ดังนั้น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ของอินเดียนั้น ก็คือองค์เดียวกันกับ พระกวนอิมโพธิสัตว์ หรือ เจ้าแม่กวนอิมที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือด้วยความซาบซึ้งในน้ำพระทัยแห่งมหาการุณย์ ที่พระองค์ทรงโปรดสัตว์ทั่วทั้งไตรภูมิ ให้พ้นจากกองทุกข์

ส่วนเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกลักษณะของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม)ที่เดิมเป็น เพศชาย จนแปรเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั้น นักประติมานวิทยา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ 

ประการแรก นั้นคือ พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม

ประการที่สอง นั้นคือ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงามกว่าเพศชาย โดยเฉพาะความรักของผู้เป็นมารดา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาการุณย์ต่อบุตร ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า นี้คือเหตุเปลี่ยนแปลงของภาพแห่งลักษณะพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นเพศหญิงในที่สุด

แต่ในด้านศิลปกรรมจีน ได้สะท้อนสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา เช่น ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมยืนประทับบนหลังมังกรกลางมหาสมุทร , ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน , ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมประทับนั่งกลางป่าไผ่ , ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมปางประธานบุตร และพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ เป็นต้น

สรุปให้เข้าใจง่าย สำหรับแต่ละปางแตกต่างออกไปที่พุทธศาสนิกชนเห็นๆกันนั้น ไม่ว่าจะแสดงภาพแห่งพระโพธิสัตว์กวนอิมในลักษณะใด พระองค์ก็ยังทรงเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ที่ประทับอยู่กลางใจของผู้ศรัทธาจนถึงปัจจุบัน

แต่จากข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ในตำนานพื้นบ้านของจีน สันนิษฐานว่า อาจมีเรื่องเล่าขานกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่นซ่ง) นั้นคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(พระกวนอิมโพธิสัตว์)ในชาติสุดท้ายนั้นมีพระนามเดิมว่า เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ทรงจุติเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเมี่ยวจวง หรือ เมี่ยวจวงหวัง กษัตริย์ผู้โหดร้ายทารุณ ต่อไพรฟ้า ข้าแผ่นดิน พระองค์ทรงมีพระราชธิดาสามพระองค์ได้แก่ เจ้าหญิงเมี่ยวอิน เจ้าหญิงเมี่ยวเอวี๋ยน และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน เมื่อพระราชธิดาทั้ง 3 เจริญพระชันษาพร้อมที่จะออกเรือน องค์หญิงเมี่ยวอินและองค์หญิงเมี่ยวเอวี๋ยนต่างปรารถนาที่จะเข้าสู่พิธีวิวาห์ คงมีแต่องค์หญิงเมี่ยวซ่านที่ไม่พึงปรารถนาในสิ่งใด ๆ นอกเหนือไปจากพระเมตตาที่ทรงการุณย์ช่วยเหลือสรรพสัตว์ ทรงถือศีลกินเจ และเรียนรู้ ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้พระราชบิดากริ้วโกรธที่ขัดพระทัย จึงลงโทษทัณฑ์ทรมานพระธิดาเมี่ยวซ่าน นานัปการ จงถึงขั้นสั่งประหารชีวิต แต่ก็ไม่อาจกระทำสิ่งใดระคายเคืองพระธิดาเมี่ยวซ่านได้เลย ต่อมา เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ได้ถวายตนเป็น "พุทธมามกะ"และทรงหนีออกจากวังเพื่อออกบวช จากนั้นจึงได้มุ่งมั่นประกอบคุณงามความดีและบำเพ็ญศีลภาวนา

ในเวลาต่อมา พระเจ้าเมี่ยวจวง ต้องประสบเคราะห์กรรมที่ได้ทรงกระทำไว้ ทำให้ทรงป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ไม่มีตัวยาใดรักษาได้ นอกจากพระโอสถที่ต้องปรุงจากดวงตาและแขนของผู้ที่เป็นทายาทเท่านั้น ซึ่งพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ไม่มีผู้ใดยินยอมกระทำเช่นนั้น เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ถึงเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน พระองค์จึงหวนกลับเข้าวัง และให้อภัยต่อการกระทำของพระบิดา และทรงกระทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดกล้ากระทำนั้นคือ ทรงยอมสละดวงตาทั้งสอง และ แขนทั้งสองข้าง เพื่อใช้ปรุงเป็นพระโอสถรักษาพระบิดา จนกระทั้งพระเจ้าเมี่ยวจวง ฟื้นคืนเป็นปกติ และเพราะ ความกตัญญูของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน สร้างความตื้นตันให้แก่โลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ เมื่อพระองค์ทรงบรรลุมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม องค์ศากยมุณี(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)จึงประธานคืนดวงตาพันดวง และแขนพันข้างแก่พระองค์ อันเป็นที่มาของ ปางปาฏิหาริย์ที่เรียกว่า เจ้าแม่กวนอิมพันเนตร

ดังนั้นแล้วพระโพธิสัตว์กวนอิม ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย และได้ผสมผสานกับความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีน คือตำนานเรื่อง"พระธิดาเมี่ยวซ่าน"ก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่น ความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งเป็นการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากใน"สัทธรรมปุณฑรีกสูตร"ได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวร นั้นสามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี และเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์มหายานที่เมื่อเข้าไปสู่ดินแดนอื่นทั้งทิเบต จีน หรือญี่ปุ่น ย่อมผสมผสานกลมกลืนได้กับเทพท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างในกรณีพระอวโลกิเตศวรนี้ Sir Charles Eliot ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คงเนื่องมาจากความสับสนทางความคิดของชาวจีนในยุคนั้น ซึ่งบูชาเทพเจ้าต่างๆ ของตนอยู่แล้ว และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ก็เป็นเทพวีรชนดั้งเดิมอยู่ก่อน พออารยธรรมพระโพธิสัตว์จากอินเดียแผ่เข้าไปถึง ได้เกิดการผสานทางวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเสียงคงไว้เพียงแต่คุณลักษณะต่าง ๆ พอให้แยกออกว่า เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์กวนอิม (ประสูติ 19 เดือนยี่จีน)  สามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรม วันที่ 19 เดือน 6 ว่ากันว่า ภายหลัง สำเร็จอรหันต์ ได้ดวงตาและพระกรคืน  องค์หญิงเมี่ยวซ่านนั้น ตอนแรกเป็นชาวพุทธ ตอนหลัง เทพไท่ไป๋ ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ เหตุนี้พระโพธิสัตว์กวนอิมจึงเป็น เทพทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋า ในเวลาเดียวกัน

สำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่สนใจมาบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมกันมากขึ้น ส่วนนึง เกิดจากความศรัทธา แต่คงปฎิเสธไม่ได้ ว่ายังมีบางส่วน ที่ยังคงหลงใหล ในค่านิยม ว่า ท่านจะช่วยในเรื่องที่ตนปราถนาให้สำเร็จได้ ก่อนที่จะศรัทธา จนถึงขั้นอยากบูชา รูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น จึงอยากให้เข้าใจให้ชัดเจน หลังจากที่อ่านเรื่องราวขององค์ท่านมาถึงตรงนี้ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าท่าน มีพระเมตตาเพียงใด ซึ่งจะสวนกระแสตรงที่ บูชาท่านเราจะรวย หรือ ท่านจะช่วยให้ถูกหวย เหล่านั้นคือ กิเลส ทั้งสิ้น บางคนเมื่อบูชาท่าน ศรัทธาในองค์ท่าน ยุติการกินเนื้อวัว ที่เป็นสัตว์ใหญ่ แต่พระโพธิสัตว์กวนอิม ท่านกินเจ คงต้องย้อนถามท่านๆทั้งหลายว่า หยุดบริโภคเนื้อวัว แต่ ยังบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆอยู่ ยังคงมีความเบียดเบียน ในชีวิตสัตว์ อยู่นั่นเอง กับ บุคคลที่ ยุติการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ปาฎิหาร์ยที่เกิดจากความศรัทธา น่าจะเกิดกับใครก่อน  หรือแม้แต่ ความเมตตา  ที่เป็นหัวใจหลักๆในคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น บุคคลที่พึงมีรูปปั้นพระองค์ท่าน ไว้บูชานั่น มีความเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีการแบ่งแยก ระดับชั้นความเมตตา ดีแล้วหรือยัง? 

เมื่อท่านมั่นใจว่า ทำดีแล้ว มั่นใจต่อได้เลยว่า เมื่อถึงขั้นบูชาวัตถุที่เป็นคล้ายองค์แทน พระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น ทุกๆคำที่ท่านภาวนา ถึงองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม สิ่งแรกที่ท่านจะได้รับอย่างชัดเจนคือ  ความปิติ ความสงบกาย สบายใจ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกวัน ท่านจะเป็นอีกหนึ่งคนบนโลก ที่มีชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ สามารถอยู่ท่ามกลางปัญหาด้วยสติปัญญา แล้วเมื่อนั้น สิ่งดีๆ จะค่อยๆทยอยเข้ามาหาท่านแน่นอน

สำหรับสิ่งที่ใช้ในการบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม ก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพราะท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย แต่สิ่งสำคัญและขาดไม่ได้เลยคือ...

1.น้ำชาจีน 1 ถ้วย ทุกเช้า

2.ผลไม้ 2 สิ่ง ถวายวันตัวและวันพระ ดอกบัว 5 ดอก ธูป บูชา 5 ดอก ส่วนผลไม้ห้ามถวาย ละมุด มังคุด พุทรา

การบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น มีพระคาถาให้เลือกใช้ได้หลายบท

เราขอยกตัวอย่าง พระคาถาพระมหากรุณาธารณีสูตรมาให้ได้ภาวนากัน

เวลาท่องพระคาถาพระมหากรุณาธารณีสูตรนั้น คราวละ 3 จบ 9 จบ ตามแต่ผู้บูชา ทางที่ควรคือ ควรบูชา 9 จบ  ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลทั้งหลายเข้าบ้าน ป้องกันไสยศาสตร์ต่าง ๆ อีกทั้งยังให้ทำน้ำทิพย์ด้วยพระคาถานี้ โดยอธิษฐานจิตดื่มเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่ค้าขาย มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า  พระองค์ให้นำน้ำทิพย์พรมของที่ขายแต่เช้าก่อนที่คนมาซื้อ จะขายดี (ให้ใช้กิ่งทับทิมพรม)

พระคาถา มหากรุณาธารณีสูตร ( บาลี )

นะโม รัตนะตรายายะ นะโมอารยะ อวโลกิเตศะวะรายะ

โพธิสัตตะวายะ มหาสัตตะวายะ มหากรุณิกายะ

โอมสะวะละวะติ ศุททะนะ ตัสสะยะ นมัสกฤต วานิมาง อาระยะ

อวโลกิเต ศะวะระลันตะภา นะโม นิลากันถะ

ศรีมหาปะฏะศะมิ สระวาทวะตะศุภัม อสิยูม สะระวะสัตตะวะ

นะโมปะวะสัตตะวะ นะโมภะคะมะภะเตตุ ตัทยะถา

โอมอวโลกา โลกาเต กาละติ อิศีลี มหาโพธิสัตตะวะ

สาโพสาโพ มะรามะรา มะศิมะศิ ฤธะยุ

คุรุคุรุฆามัม ธูรูธูรูภาษียะติ

มหาภาษียะติ ธาระธาระ ถิรินี ศะวะรายะ ชะละชะละ

มามะภา มะละมุธิรี เอหิเอหิ ศินะศินะ

อาละลินภะละศรี ภาษาภาษิน การะศะยะ หูลุหูลุมะระ หุรุหุรุศรี

สะระสะระ สิรีสิรี สุรุสุรุ พุทธายะพุทธายะ โพธายะโพธายะ

ไมตรีเยนิละกันสะตะ ตรีสะระณะ ภะยะมะนะ สวาหา

สีตายะ สวาหา มหาสีตายะ สวาหา

สีตายะเย ศะวะรายะ สวาหา

นีลากันถิ สวาหา มะละนะละ สวาหา

ศรีสิงหะมุขายะ สวาหา สะระวะ มหาอัสตายะ สวาหา

จักระอัสตายะ สวาหา ปัทมะเกสายะ สวาหา

นีละกันเต ปันตะลายะ สวาหา โมโผลิศัง กะรายะ  สวาหา

นะโม รัตนะตรายายะ นะโมอารยะ อวโลกิเต

ศะวะรายะ สวาหา

โอมสิทธะยันตุ มันตรา ปะทายะ สวาหา .

***ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมา อยากจะอธิบายให้ทุกท่านเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนมีเหตุและผลเสมอ เมื่อท่านทำดี ความดีจะให้คุณ เมื่อท่านทำดีบ้างไม่ดีบ้าง คิดไม่ดี พูดไม่ดี หรือทำไม่ดี รักษาศีลขั้นต่ำ5ข้อ ยังรักษาไว้ได้ไม่ครบ ดังนี้แล้ว ต่อให้ท่านมีพระพุทธรูปราคาหลักล้าน ก็คงไม่ค้ำชูท่านได้เลย เมื่อไหร่ ที่ท่านมี ทาน ศีล ภาวนา ครบถ้วน ท่านจะทราบด้วยตนเอง ว่า "ความสุขที่แท้จริงคืออะไร"

#ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ ถ้าเห็นบทความนี้มีประโยชน์ สามารถส่งต่อ ให้คนรอบๆตัวท่าน เป็นการส่งต่อ "ธรรมทาน" เพราะ การให้ธรรมเป็นทาน "ชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง"

#ข้าพเจ้า ขอน้อมส่ง บุญกุศล ในการให้ ธรรมทานในครั้งนี้ แด่ เทวดาประจำกายของข้าพเจ้า และขอส่งบุญในการให้ ธรรมทานนี้ กับ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม ขอให้ท่านจงรับ เพื่อประโยชน์สุขของข้าพเจ้า และครอบครัวต่อไป สาธุ สาธุ สาธุ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที