KC

ผู้เขียน : KC

อัพเดท: 25 ม.ค. 2007 14.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 26053 ครั้ง

น้ำมันแพงคุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ช่วยกันประหยัดพลังงานกันดีกว่าครับ แล้วจะำทำยังไงดีล่ะ จะได้ผลมั้ยเนี่ย ติดตามในบทความนี้มีคำตอบรออยู่


ตัวอย่างมาตรการการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า

เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrically Powered Machine)

คุณรู้มั้ยครับว่ามอเตอร์ 11 kW หนึ่งตัว ทำให้คุณเสียค่าไฟฟ้าถึงปีละ 160, 000 บาท

·       ปิดสวิตซ์อุปกรณ์ทันทีที่ไม่ได้ใช้ พนักงานที่ปล่อยให้เครื่องจักรหมุนหรือเดินเครื่องในภาวะที่ไม่มีโหลดในขณะที่พนักงานพักเที่ยงหรือหมดเวลางาน คุณกำลังโยนเงินทิ้งนะครับ

·       พัดลมที่สกปรกทำให้คุณเสียเงิน คุณสามารถประหยัดเงินของคุณอย่างง่ายๆโดยการทำความสะอาดพัดลมระบายอากาศ (Ventilation fan) และประตูกันลม (shutter) มีสถิติว่าฝุ่นที่เกาะอยู่ที่ใบพัดและประตูกันลมหนา 3 มิลลิเมตร ทำให้ประสิทธิภาพของพัดลมลดลงถึง 30 % เชียวนะครับ

·       มอเตอร์ประสิทธิภาพสูงช่วยคุณประหยัดเงินได้ พิจารณาติดตั้งมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High efficiency motor) เข้ากับเครื่องจักรที่ใช้งานอยู่เป็นประจำจะช่วยคุณประหยัดเงินทุกครั้งที่เดินเครื่อง

·       บำรุงรักษามอเตอร์อย่างเป็นระบบทำให้มั่นใจได้ว่ามอเตอร์มีประสิทธิภาพที่เหมาะสมและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 5 % เมื่อมอเตอร์มีอายุใช้งานมากขึ้น จะเกิดความสูญเสียเนื่องจากแรงเสียดทานภายใน การบำรุงรักษามอเตอร์อย่างเหมาะสมจะช่วยยืดอายุการใช้งานและทำให้มอเตอร์ทำงานที่จุดที่มีประสิทธิภาพที่เหมาะสม การเปลี่ยนลูกปืนและซีลยางอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งใส่จารบีหรือสารหล่อลื่นอย่างถูกต้องช่วยคุณประหยัดเงินได้ถึง 5% ของค่าใช้จ่ายที่มอเตอร์ทำงานตลอดอายุการใช้งานเชียวนะครับ

·       มอเตอร์ทำงานที่โหลดบางส่วน (Partly loaded motor) จะมีพลังงานสูญเปล่า ในกรณีที่มอเตอร์วิ่งตัวเปล่าในภาวะไร้โหลด จะกินไฟถึง 40% ของมอเตอร์ที่ทำงานเต็มพิกัด ดังนั้นปิดสวิตซ์มอเตอร์ขณะที่ไม่มีโหลดนะครับ ในกรณีที่ปล่อยให้มอเตอร์ทำงานในภาวะที่มีโหลดน้อยอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์เหมือนกัน ดังนั้นควรปรับกระบวนการผลิตให้ใช้มอเตอร์ทำงานในภาวะที่มีโหลดมาก จะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้อีกมากครับ

·       การทำงานของมอเตอร์เปลี่ยนแปลงตามโหลดตลอดเวลาหรือไม่ ถ้าใช่ ต้องใช้ Variable speed drives แล้วครับ ใช้ Variable speed drives ในกรณีที่ความเร็วด้านออกของมอเตอร์ (Output speed of motor) ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการของโหลดที่ต่ออยู่ เช่น พัดลม ปั๊ม และ แอร์คอมเพรสเซอร์ โดยทั่วไปมอเตอร์กระแสสลับออกแบบให้ทำงานที่ความเร็วคงที่ เมื่อโหลดที่ต่อกับมอเตอร์มีการเปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ควบคุม เช่น ลิ้นกันลม (damper) หรือวาล์วควบคุม (control valve) จะมีการเปิด-ปิดหรือหรี่อุปกรณ์ดังกล่าว แต่มอเตอร์ยังทำงานที่ความเร็วคงที่อยู่ทำให้เกิดพลังงานสูญเปล่า เกิดเสียงรบกวน และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ Variable speed drives เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ให้สอดคล้องความต้องการของโหลดจะช่วยประหยัดพลังงานอย่างแท้จริง

 

ลมแรงดันสูง (Compressed Air)

ลมแรงดันสูงที่รั่วผ่านรูเล็กๆรูเดียวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตรทำให้เสียถึงเงินปีละ 40,000 บาทเชียวนะครับ

·       อุดรูรั่วเสีย ตรวจสอบหาจุดรั่วซึมของระบบอยู่เสมอ โดยการฟังเสียงลมที่รั่วหรือติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการรั่วซึมที่มีราคาไม่แพง

·       ปิดสวิตซ์แอร์คอมเพรสเซอร์ทุกครั้งที่ไม่ต้องการใช้งาน บริษัทส่วนใหญ่จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ถึง 30% ของค่าใช้จ่ายในการทำงานของแอร์คอมเพรสเซอร์เพียงแค่เปิดแอร์คอมเพรสเซอร์ทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน

·       พิจารณาตำแหน่งที่ตั้งแอร์คอมเพรสเซอร์ที่เหมาะสมจะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ ติดตั้งแอร์คอมเพรสเซอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่ไม่มีการกีดขวางลมเย็นเข้าเครื่อง จะช่วยลดโหลดและลดพลังงานที่ใช้ลงได้ ในปริมาตรและแรงดันเดียวกันเมื่อลดอุณหภูมิด้านลมเข้าลง 5 °C จะลดค่าใช้จ่ายในการทำงานของเครื่องลงได้ถึง 2 %

 
หม้อน้ำและไอน้ำ

คุณรู้มั้ยครับว่าไอน้ำที่รั่วในระบบจะทำให้คุณเสียเงินเปล่าๆปีละหนึ่งล้านสองแสนบาท

·       ตรวจสอบเป็นประจำ หม้อน้ำที่บำรุงรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่มีคุณภาพ ทำให้มีความร้อนสูญเสียถึง 30% มองหาร่องรอยต่อไปนี้ ท่อที่รั่วซึม มีรอยเผาไหม้ที่หม้อน้ำ มีเสียงดังรบกวนที่ปั๊มและชุดเผาไหม้

·       ห่อหุ้มด้วยฉนวนอย่างเหมาะสม ฉนวนที่ไม่ได้คุณภาพทำให้คุณเสียเงินค่าไอน้ำหรือค่าความร้อนถึง 10% อย่าลืมหุ้มฉนวนท่อไอน้ำ วาล์ว และ หน้าแปลน ทั้งหมดด้วย

·       ใช้งานไอน้ำที่อุณหภูมิที่เหมาะสม ตรวจสอบอุณหภูมิใช้งานของไอน้ำ ในแต่ละขบวนการผลิต และใช้ไอน้ำที่อุณหภูมิต่ำสุดตลอดเวลา

·       ตรวจหารอยรั่วอย่างสม่ำเสมอ การรั่วซึมของระบบไอน้ำจะมีค่าใช้จ่ายสูญเปล่าสูงมาก ตรวจหารอยรั่วอย่างสม่ำเสมอและซ่อมแซมทันที

 

ไฟฟ้าแสงสว่าง

คุณสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 15% ของค่าไฟที่เกิดจากไฟแสงสว่างด้วยวิธีง่ายๆครับ

·       อย่าลืมปิดสวิตซ์ไฟนะครับ จงปิดสวิตซ์ไฟแสงสว่างทันทีในพื้นที่ที่ไม่ใช้งาน

·       เปลี่ยนจากหลอดทังสเตน เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ลดการใช้พลังงานได้ถึง 80%  หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์มีอายุการใช้งานยืนยาวกว่าหลอดทังสเตนถึง 8 เท่า ลดค่าแรงในการเปลี่ยนหลอดอีกด้วย

·       กำหนดโปรแกรมการบำรุงรักษาช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 15% อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยให้มีแสงสว่างที่ดีต้องมีการบำรุงรักษาด้วย เช่น ทำความสะอาดหน้าต่าง ทำความสะอาดหลังคาโปร่งแสง (Skylight) ทำความสะอาดดวงโคมไฟฟ้า (โดยเฉพาะดวงโคมชนิดฝาครอบพลาสติก) เปลี่ยนหลอดใหม่แทนหลอดเก่า และตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุมเช่น อุปกรณ์ตั้งเวลา (timer) อุปกรณ์ตรวจจับการการเคลื่อนไหว (motion detector) ว่าทำงานได้ถูกต้องหรือไม่

·       ติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นไปได้ที่จะถอดหลอดไฟหนึ่งหลอดออกจากดวงโคมไฟฟ้าและใส่แผ่นสะท้อนแสงเข้าไปแทน

 

ระบบควบคุมการผลิต (Process control system)

·       ปรับเทียบเครื่องมือวัด และจูนคอนโทรลลูป ถ้าเครื่องมือวัดและระบบควบคุมไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเพียงพอ  อุปกรณ์วัดและระบบควบคุมจะทำงานตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในขบวนการผลิตอย่างไม่ถูกต้อง  ซึ่งทำให้พนักงานควบคุมการผลิตไม่เชื่อถือต่อระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นการควบคุมโดยคน (Manual control) ดังนั้นจงกำหนดวิธีการและตารางเวลาการบำรุงรักษาที่เหมาะสม

·       ตรวจสอบการตั้งค่าของระบบการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ที่ผู้ควบคุมการผลิตจะปรับตั้งค่าทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนการผลิตและลืมที่จะตั้งค่ากลับคืนสู่สถานะเดิมเมื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เสร็จสิ้นลง ดังนั้นเมื่อมีการปรับตั้งค่าของระบบการผลิตจะต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อมีการปรับตั้งค่าที่เป็นค่าเฉพาะของระบบการผลิต อย่าลืมบันทึกรายละเอียดของความต้องการนั้นไว้เพื่อใช้อ้างอิงด้วย นอกจากนี้ต้องมีการปรับเทียบเครื่องมือวัด (Instrument) และอุปกรณ์วัด (Sensor) อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากค่าที่ตั้งไว้อาจเปลี่ยนแปลงเองได้เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เกิดพลังงานสูญเปล่าและเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น   

·       เครื่องมือวัดช่วยประหยัดพลังงานได้ เครื่องมือวัดที่หลากหลายในทุกวันนี้มีให้เลือกใช้ในการวัดค่าต่างๆได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้ได้ค่าต่างๆที่ใช้ในการตัดสินใจ นอกเหนือจากอุปกรณ์วัดทั่วไปเช่นเครื่องมือวัดอุณหภูมิและแรงดัน (Temperature and pressure gauge) แล้วยังมีเครื่องมือวัดที่ทันสมัยในการวัดค่าตัวแปรที่ซับซ้อน เช่น อัตราการไหล (flow rate) ความหนาแน่น (density) ความเข้มข้น (concentration) ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และ สี (colour)

ควรเลือกใช้เครื่องมือวัดชนิดเรียลไทม์ ซึ่งจะให้ข้อมูลตามเวลาจริง (Real – time data) ไม่ใช่ข้อมูลที่หน่วงเวลา (delayed data) เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์เกินไป (conservative) หรือ กระบวนการผลิตที่มากเกินไป (over processing) ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้จะสิ้นเปลืองพลังงานมาก  

 

จากกลยุทธ์การบริหารการใช้พลังงาน และ ตัวอย่างมาตรการการประหยัดพลังงานข้างต้น คงทำให้ท่านผู้อ่านต้องการวางแผนการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าในโรงงานอุตสาหกรรมของท่านบ้างแล้วใช่มั้ยครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที