กึ่งสำเร็จรูป

ผู้เขียน : กึ่งสำเร็จรูป

อัพเดท: 01 เม.ย. 2008 15.36 น. บทความนี้มีผู้ชม: 34371 ครั้ง

ประวัติ/รายละเอียดของวันสำคัญต่างๆ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


วันมหาสงกรานต์

ประกาศสงกรานต์ปีพ.ศ. ๒๕๕๐

วันที่ ๑๔ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๓๖ นาที ๓๗ วินาที

“ มโหธรเทวี ” นางสงกรานต์ปีกุน ขี่นกยูง มีตรีศูรย์-จักรเป็นอาวุธ โบราณว่าโจรผู้ร้ายจะชุกชุม เกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง

“ ปีกุน มนุษย์ผู้หญิง ธาตุน้ำ นพศก จุลศักราช ๑๓๖๙ ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ปกติวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูรย์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังนกยูง เป็นพาหนะ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๔๐ นาที ๔๘ วินาที เปลี่ยนจุลศักราช เป็น ๑๓๖๙ ปีนี้ วันอาทิตย์เป็นธงชัย วันจันทร์เป็นอธิบดี วันเสาร์เป็นอุบาทว์ วันพุธเป็นโลกาวินาศ

ปีนี้ วันเสาร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๔๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๔๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๘๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๒๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๑๖๐ ห่า นาคให้น้ำ ๖ ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๗ ชื่อปาปะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล ๑ ส่วน เสีย ๙ ส่วน

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี

จากประกาศสงกรานต์ข้างต้น หากเราเทียบกับคำพยากรณ์ของโบราณ จะเห็นว่าวันมหาสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ เขาบอกว่าจะเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการเจ็บไข้ร้ายแรง ส่วนวันเนาตรงกับวันอาทิตย์ ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ส่วนตำราล้านนาก็ว่า วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์ ปีนี้ฝนจะแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพง ดูแล้วจะเป็นเรื่องร้ายๆ พอๆกับคำทำนายในปัจจุบันทั้งสิ้น ครั้นมาดูนางสงกรานต์ ที่มีนามว่า นาง มโหธรเทวี ดูท่าแล้ว ก็ดุไม่เบา เนื่องจากพระนางนอกจากจะพกจักรและตรีศูรย์เป็นอาวุธแล้ว ยังกินเนื้อทรายเป็นอาหาร แถมทัดดอกสามหาวและใส่นิล(พลอยสีดำ) เป็นเครื่องประดับอีกด้วย อ่านแล้ว หลายคนอาจรู้สึกหดหู่ ไม่สบายใจ แต่ถ้าจะมองให้ลึกลงไปว่า วันมหาสงกรานต์ที่ตรงกับวันเสาร์ แม้จะเป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ที่ทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นวันเจ้าทุกข์ แต่ก็เป็นวันแข็ง และมีพระนาคปรกเป็นพระประจำวันนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนเรามีพญานาคราชได้แผ่พังพานปกป้องคุ้มครองให้พ้นทุกข์และ ภัยพิบัติต่างๆ และยังมีความเชื่อว่าพระปางนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะตามตำนานแม้แต่พญานาคยังขึ้นจากน้ำมาถวายอารักขาพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็ด้วยพลานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ ดังนั้น จึงเป็นการบอกทางอ้อมให้เราใช้รู้จักใช้หลักเมตตาธรรมในการดำเนินชีวิตทุก ระดับไม่ว่าจะกับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ส่วนอาวุธของนางสงกรานต์ที่เป็นจักรนั้น ก็คืออาวุธของพระนารายณ์ที่ทรงใช้ในการปราบทุกข์เข็ญให้แก่โลก และตรีศูรย์ก็คือ อาวุธของพระศิวะมหาเทพที่ทรงโปรดให้พรวิเศษแก่ผู้กระทำคุณความดีต่างๆ และนิลนั้นก็เป็นอัญมณีที่ทำให้ผู้สวมใส่ เกิดความใจเย็น สามารถป้องกันอันตรายจากภูตผีวิญญาณ นำมาซึ่งความเข้มแข็ง โชคลาภ หรือความมั่งมีต่าง ๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้วันเวลาที่นางสงกรานต์เสด็จมาไม่ดีนัก แต่อาวุธและเครื่องประดับก็มีนัยที่ดี เพราะใช้ปราบอริราชศัตรูและเป็นมงคล

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำพยากรณ์ในอดีตหรือคำทำนายในปัจจุบันจะเป็นเช่นไร เราก็มิควรจะท้อแท้หรือหมดกำลังใจ แต่ควรใช้คำทายทักล่วงหน้าเหล่านี้เตือน “ สติ ” ตัวเราเองให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท เพียงแค่นี้ เราก็จะรับ “ สงกรานต์ปีใหม่ ” ได้อย่างมีความสุข และเชื่อมั่นในอนาคตข้างหน้าได้

คนสมัยก่อนไม่มีปฏิทินเช่นสมัยนี้ การจะรู้ว่าวันสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่หรือวันเปลี่ยนปี นักษัตรใหม่ตรงกับวันใดจะต้องรอให้โหรคำนวณเสียก่อน เนื่องจากวันมหาสงกรานต์แต่ละปีจะไม่ตรงกัน จากนั้นทางราชการก็จะออกประกาศที่เรียกว่า “ ประกาศสงกรานต์ ” ของปีนั้นๆ ไปป่าวประกาศแจ้งให้ราษฎรได้ทราบถึงวัน เวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธี ศาสนพิธี วันมงคล วันอวมงคลที่ควรไม่ควรประกอบกิจการ และเกณฑ์น้ำฝนของแต่ละปี เป็นต้น ซึ่งประกาศสงกรานต์นี้มีสาระที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เพราะสมัยก่อนยังไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยาหรือสื่ออื่นใดที่ จะบอกถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก หรือแจ้งวันสำคัญต่างๆให้ทราบล่วงหน้า

นอกเหนือจากสาระดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นที่สนใจของราษฎรอย่างมากคือ รูปนางสงกรานต์ เพราะรูปนางสงกรานต์จะเป็นเครื่องบอกเหตุการณ์อันเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง ของคนสมัยนั้น เช่นเดียวกับการทำนายทายทักเหตุการณ์บ้านเมืองของหมอดูในปัจจุบัน และอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า สมัยโน้นไม่มีสื่อวิทยุ โทรทัศน์ นสพ. อินเตอร์เนทฯลฯ อีกทั้งคนที่อ่านออก เขียนได้มีน้อย ดังนั้น รูปนางสงกรานต์จึงเป็นสื่อที่คนไม่รู้หนังสือเห็นแล้วก็รู้ได้ว่ามีความ หมายว่าอย่างไร เช่น เห็นรูป นางสงกรานต์นั่งนกยูง มา ก็ทราบได้ทันทีว่า วัน มหาสงกรานต์ปีนั้นๆ ตรงกับวันเสาร์ และเวลา เปลี่ยนศักราชใหม่จะอยู่ในช่วงเที่ยงถึงค่ำ เนื่องจากต่างก็รู้ว่านางสงกรานต์ที่ขี่นกยูง คือ นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์มีนามว่า นางมโหธรเทวี ส่วน ท่านั่ง ก็จะเป็นการบอกช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ เพราะนางสงกรานต์แต่ละปีจะมาในท่าที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีอยู่เพียง ๔ ท่าเท่านั้น คือ ยืน นั่ง นอนลืมตา และนอนหลับตามาบนพาหนะของตน ซึ่ง แต่ละท่าก็จะเป็นการบอกให้ทราบว่าช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ เป็นช่วงใดในปีนั้นๆ เช่นบางปีอาจจะเป็นช่วงเช้า บางปีเป็นช่วงเที่ยง บางปีเป็นช่วงค่ำหรือหลังเที่ยงคืน ซึ่งท่าขี่พาหนะของนางสงกรานต์ก็เป็นโบราณอุบายหนึ่งที่จะทำให้คนอ่าน หนังสือไม่ออก ดูรูปแล้ว ก็สามารถรู้วันเวลาได้ทันที อีกทั้งยังมีคำทำนายเกี่ยวเนื่องกับนางสงกรานต์แต่ละนาง รวมถึงท่าที่ขี่พาหนะมาด้วย

นางสงกรานต์คือใคร

นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ นางสงกรานต์ทั้งเจ็ดนาง เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม และเป็นบาทบริจาริกา(สนม)ของพระอินทร์ ตามตำนานเล่าว่า

ท้าวกบิลพรหมแพ้พนันตอบปริศนาแก่ธรรมบาล กุมาร จึงต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของ พระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้นธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “ นางสงกรานต์ ” ส่วนท้าว กบิลพรหม นั้นโดยนัยก็คือ พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง

นางสงกรานต์แต่ละวันมีนามใด และทรงอาวุธอะไรบ้าง

นางสงกรานต์แต่ละนาง จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ตามวันต่างๆกันดังนี้

วันอาทิตย์ นาม ทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช(พลอยสีแดง)ภักษาหาร มะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

วันจันทร์ นาม นางโคราค ะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ

วันอังคาร นาม นางรากษส (ราก-สด)ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู) เป็นพาหนะ

วันพุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ(ลา)เป็นพาหนะ

วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ

วันศุกร์ นาม นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีมหิงสา (ควาย)เป็นพาหนะ

วันเสาร์ นาม นางมโหทร ทัดดอกสามหาว(ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูรย์ มีนกยูงเป็นพาหนะ

ส่วน อิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา อันเป็นการบอกช่วง เวลา ว่าพระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษเวลาใดของวันมหาสงกรานต์ จะมีด้วยกัน ๔ ท่าโดยมีความหมาย ดังนี้

๑. ถ้า ยืน มาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษในระหว่างเวลา รุ่งเช้าจนถึงเที่ยง
๒.ถ้า นั่งมา บนพาหนะ หมายถึงช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ
๓.ถ้า นอนลืมตา มาบนพาหนะ หมายถึงช่วง ค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน
๔.ถ้า นอนหลับตา มาบนพาหนะ หมายถึง เที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า

ความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์และวันสงกรานต์

จากหนังสือตรุษสงกรานต์ ของ อ.สมบัติ พลายน้อย ได้มีการกล่าวถึงความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องนางสงกรานต์ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกนั้นไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ได้แก่

ความเชื่อเกี่ยวกับ อิริยาบถของนางสงกรานต์ เชื่อว่า
๑.ถ้านางสงกรานต์ ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
๒.ถ้านางสงกรานต์ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ
๓.ถ้านางสงกรานต์ นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
๔.ถ้านางสงกรานต์ นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

คำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ว่า
๑. ถ้าวันอาทิตย์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็น วันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ
๒. ถ้าวันจันทร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็น วันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
๓. ถ้าวันอังคาร เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็น วันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็น วันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล
๔. ถ้าวันพุธ เป็นวัน มหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็น วันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็น วันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ
๕. ถ้าวันพฤหัสบดี เป็น วันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็น วันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม
๖. ถ้าวันศุกร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็น วันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็น วันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
๗. ถ้าวันเสาร์ เป็น วันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็น วันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็น วันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์อันเป็น ความเชื่อทางล้านนา อีกตำราว่า ถ้า วันมหาสงกรานต์ตรงกับ

วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ นางแพงศรี ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ(เป็นโรค) ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง หนอนแมลงจักลงกินพืชไร่ข้าวนา ฝนตกบ่ทั่วเมือง คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย ไม้ยางเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่
วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโนรา ปีนั้นงูจักเกิดมีมาก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดี หางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง
วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษสเทวี ปีนั้นฝนหัวปีดี กลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย(ได้ผลน้อย) บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อยช้าง
วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มันทะ ปีนั้นฝนตกบ่ทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อย ข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ ไม้สะเดา เป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้คราม
วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ นางกัญญาเทพ ปีนั้นฝนตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ ไม้สักเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว
วัน ศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ ริญโท ปีนั้น ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ไม้สะเดาเป็นพญาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทธา
วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ สามาเทวี ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆจักทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจักไหม้บ้านไหม้เมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ข้าวยากหมากแพง

รู้จักวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก

คำว่า “ สงกรานต์ ” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ ก้าวขึ้นหรือเคลื่อนย้าย ” อันหมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อใดก็ตามที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ โบราณถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญ เรียกว่า “ มหาสงกรานต์ ” เพราะถือว่าเป็นการเคลื่อนเข้าสู่วันปีใหม่อันเป็นการนับตามคติเดิม ซึ่งมักจะตกอยู่ในราว ๑๓ ๑๔ ๑๕ เมษายน ซึ่งแต่ละวันก็จะมีชื่อเรียกต่างกันคือ วันที่ ๑๓ เมษายน จะเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษอย่างที่กล่าวข้างต้น และวันนี้เป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ด้วย ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา แปลว่า วันอยู่ คือ วันที่พระอาทิตย์เริ่มอยู่เข้าที่เข้าทางในราศีเมษแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้วันนี้ เป็น วันครอบครัว ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายนเรียกว่า วันเถลิงศก คือวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ทั้งสามวันนี้ กำหนดเรียกแบบตายตัวไว้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แต่หากดูตามประกาศสงกรานต์อันเป็นการคำนวณทางโหราศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าวันดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้างในบางปี เช่น ในปี ๒๕๕๐ นี้วันมหาสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายนแทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ส่วนวันเนาและวันเถลิงศกก็จะเป็นวันที่ ๑๕ และ ๑๖ เมษายนถัดไป เป็นต้น ในกรณีบางแห่ง เช่น ทางล้านนาที่จะมีการจุดพลุจุดประทัด ไล่เสนียดจัญไร และใช้น้ำส้มป่อยดำหัวเพื่อเป็นสิริมงคลในวันมหาสงกรานต์ที่เรียกกันว่า วันสังกรานต์ล่อง (อ่านว่าสังขานล่อง) นั้น หากจะต้องทำพิธีให้ตรงวัน ก็จะต้องดูตามประกาศสงกรานต์ของแต่ละปีไป

ข้อมูลอ้างอิง...
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
http://www.oursiam.net/webboard/display.php?&id=208

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที