KC

ผู้เขียน : KC

อัพเดท: 02 มี.ค. 2007 19.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 44194 ครั้ง

ในเมืองใหญ่ปัญหาจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่ต้องมีการแก้ไข วิธีการหนึ่งก็คือการทำให้การจราจรไหลอย่างต่อเนื่องและคล่องตัว ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือ การก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกต่างๆ ติดตามในรายละเอียดว่าการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างในอุโมงค์ทำได้อย่างไร


ความต้องการทั่วไปของไฟแสงสว่างอุโมงค์รถยนต์และทางลอด

 

1.       เป้าหมายของไฟแสงสว่างอุโมงค์รถยนต์และทางลอด

·       เป้าหมายแรก คือทำให้การจราจรตั้งแต่เริ่มวิ่งเข้า อยู่ภายใน และออกจากอุโมงค์รถยนต์ได้อย่างปลอดภัย

·       เป้าหมายที่สอง คือทำให้การขับรถยนต์ตรงเข้าไปในอุโมงค์ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องลดความเร็วของรถยนต์ลง

การที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งสองประการนี้ได้ ภายในอุโมงค์ต้องมีความส่องสว่างอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้ขับรถยนต์ปรับสายตาของตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถมองเห็นรถยนต์ที่อยู่ข้างหน้าหรือวัตถุอื่นๆภายในอุโมงค์จนผู้ขับรถยนต์มีความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยที่จะขับรถยนต์ตรงเข้าสู่อุโมงค์โดยไม่ต้องลดความเร็ว

2.       สภาวะของอุโมงค์รถยนต์และทางลอดในเวลากลางวัน (Daytime condition)

ความแตกต่างของไฟแสงสว่างอุโมงค์รถยนต์กับไฟถนนทั่วไปคือความต้องการการส่องสว่างในเวลากลางวันที่แตกต่างกัน ผู้ขับรถยนต์ต้องการการมองเห็นในระยะข้างหน้า ถ้าปรากฏว่ามีอันตรายที่คาดไม่ถึงปรากฏขึ้น ผู้ขับรถยนต์ต้องสามารถตอบสนองต่ออันตรายที่เกิดขึ้นและหยุดรถได้ภายในระยะที่ปลอดภัย เมื่อระยะที่ผู้ขับรถยนต์มองเห็นและหยุดรถได้อย่างปลอดภัยขยายเข้าไปในอุโมงค์ ดังนั้นภายในอุโมงค์ต้องมีความส่องสว่างที่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการมองเห็น ถ้าภายในอุโมงค์สว่างไม่เพียงพอ ผู้ขับรถยนต์จะไม่สามารถมองเห็นเข้าไปในอุโมงค์ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Black hole effect

 

รูปที่ 2: แสดง Black hole effect

 

ในระหว่างที่วิ่งเข้าไปในอุโมงค์ ผู้ขับรถยนต์ต้องปรับสายตาเข้ากับความมืด การปรับสายตานี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องถ้าหากมีระยะทางที่เพียงพอ ระดับความส่องสว่างจะลดลงอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งมีค่าความส่องสว่างคงที่ภายในอุโมงค์ เมื่อผู้ขับรถยนต์ออกจากอุโมงค์สู่ภายนอกจะปรับสายตาเข้ากับความส่องสว่างที่สูงได้อย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้นไฟแสงสว่างของอุโมงค์รถยนต์และทางลอดต้องเพียงพอที่จะ

·       ไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Black hole effect

·       ลดความน่าจะเป็นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน

·       ทำให้ผู้ขับรถยนต์สามารถตอบสนองและหยุดรถภายในระยะ Stopping distance (SD) ถ้าเกิดอันตรายที่ไม่คาดฝัน

 

3.       สภาวะของอุโมงค์รถยนต์และทางลอดในเวลากลางคืน (Night – time condition)

ในเวลากลางคืน ปรากฏการณ์ Black hole effect ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากความส่องสว่างภายนอกน้อยมาก ดังนั้นความต้องการระดับความส่องสว่างภายในอุโมงค์น้อยกว่าในเวลากลางวัน

 

4.      ไฟแสงสว่างสำหรับอุโมงค์รถยนต์และทางลอดที่ความยาวต่างๆ

การออกแบบไฟแสงสว่างสำหรับอุโมงค์รถยนต์ที่มีระยะทางสั้นและยาวมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสามารถที่ผู้ขับรถยนต์สามารถมองเห็นได้ตลอดความยาวของอุโมงค์จนถึงทางออกอีกด้านหนึ่งจากจุดที่อยู่ห่างจากจากปากอุโมงค์เท่ากับระยะ Stopping distance

ความสามารถของผู้ขับรถยนต์ในการมองเห็นตลอดความยาวของอุโมงค์ขึ้นอยู่กับความยาวของอุโมงค์เป็นหลักถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยด้านลักษณะทางกายภาพของอุโมงค์ เช่น ความกว้าง ความสูง ความโค้งของอุโมงค์ เป็นต้น มาตรฐาน CIE ได้ให้ข้อแนะนำตามที่สรุปในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ความต้องการไฟแสงสว่างเวลากลางวันสำหรับอุโมงค์รถยนต์ที่ความยาวต่างๆ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที