GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 พ.ย. 2019 23.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3380 ครั้ง

ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานเพียงใด ชื่อเสียงของทับทิมสยาม ก็ยังเป็นที่รู้จักและกล่าวขาน เนื่องด้วยทักษะการเผาพลอย และเจียระไนพลอย ของชาวเมืองจันท์ ซึ่งมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยพลอยก้อนในตลาดโลกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพราวร้อยละ 90 ล้วนมาจากจังหวัดจันทบุรีนี่เอง


จันทบุรีศูนย์กลางการค้าและผลิตพลอยสีของไทย

           เมื่อกล่าวถึงไทยในแวดวงของอัญมณี ทุกคนก็คงจะนึกถึง “ทับทิมสยาม” พลอยสีที่เป็นที่กล่าวขานถึงความสวยงามไร้ที่ติในอดีต ซึ่งเป็นอัญมณีที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกในฐานะเป็นแหล่งผลิตอัญมณีที่สวยงาม ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อหาในไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตและค้าอัญมณี แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะต้องนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีจากต่างประเทศ แต่ด้วยชื่อเสียงที่มีมาตั้งแต่อดีตจึงยังทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและผลิตอัญมณีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

ตำนานต้นกำเนิดพลอยจันท์ 
      

            มีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการค้นพบพลอยสีในจังหวัดจันทบุรีว่า ในสมัยก่อนกลุ่มไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ซึ่งมักเป็นคนที่เคร่งครัดในศีลธรรมได้นิมิตเห็นแสงกลุ่มใหญ่ลอยลงมาตกที่เขาพลอยแหวน
บ่อเวฬุ คลองพลูยาง คลองเก็ง คลองบางกะจะ และเขาวัว ในจังหวัดจันทบุรี และบ่อไร่ จังหวัดตราด จากนั้นจึงได้เดินตามไปยังจุดที่แสงนั้นตกจนได้พบพลอยสีหลากหลายชนิดทั้งไพลิน ทับทิม มรกต และบุษราคัม ซึ่งมีสีสันสวยสดงดงามมาก ชาวจันท์เชื่อว่าพลอยสีเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ผู้จะขุดพบพลอยสีได้จะต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมและจะพบพลอยสีคุณภาพดีได้ก็จะต้องฝันดีก่อน และเชื่อว่าพลอยสีจะช่วยเสริมชีวิตของผู้ครอบครองให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แหล่งพลอยสีในจันทบุรี

           หากพิจารณาตามโครงสร้างทางธรณีวิทยาแล้วพบว่า พื้นที่ต่างๆ ที่พบพลอยสีในจังหวัดจันทบุรีนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับหินบะซอลต์ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ โดยแหล่งพลอยสีฝั่งตะวันตกครอบคลุมบริเวณเขาวัว เขาพลอย-แหวน คลองวัดสระแก้ว ในเขตอำเภอท่าใหม่ บ้านบางกะจะ และคลองพานสลุต ในอำเภอเมือง เกิดจากการสะสมตัวใน 2 ลักษณะคือ 1) สะสมตัวอยู่กับที่ในดินและเศษหินบะซอลต์ เกิดจากใต้พื้นโลกที่ผุพังกลายเป็นดินจึงเหลือพลอยสีที่มีความคงทนต่อการผุพังสะสมตัวอยู่ในหินบะซอลต์ และ 2) สะสมตัวโดยอิทธิพลของทางน้ำ เป็นการสะสมตัวของพลอยสีบริเวณที่ราบตะกอนน้ำพาและป่าชายเลน ซึ่งจะพบพลอยคอรัมดัมอย่างแซปไฟร์สีน้ำเงินอมเขียว สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง ไม่พบทัมทิม ส่วนพลอยเนื้ออ่อนที่พบในบริเวณนี้ ได้แก่ นิล เพทาย และโกเมน

          ส่วนแหล่งพลอยสีบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดจันทบุรีและตราด อาทิ บ้านบ่อเวฬุ บ้านตกชี บ้านสีเสียด บ้านตกพรม และคลองเวฬุ ในเขตอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี บ้านบ่ออีแรม บ้านนาตามี คลองสะตอ เขาสมิง ในอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เกิดจากสะสมตัวในลักษณะคือ 1) สะสมตัวอยู่กับที่ในดินและเศษหินบะซอลต์ โดยพบพลอยสีตั้งแต่ผิวดินลงไปจนถึง 4 เมตรจากผิวดิน ความหนาของชั้นพลอยราว 1-4 เมตร  2) สะสมตัวร่วมกับตะกอนทางน้ำ โดยพลอยและเพื่อนแร่สะสมตัวทางน้ำที่ไหลผ่านหินบะซอลต์และที่ราบลุ่มบริเวณขอบของเนินบะซอลต์ โดยแหล่งนี้จะพบทับทิมสีแดงชมพู ชมพู และสีชมพูปนม่วง ส่วนแซปไฟร์ส่วนใหญ่ที่พบก็จะมีสีน้ำเงิน น้ำเงินปนเขียว และสีเหลืองเป็นส่วนน้อย

            ในอดีตจันทบุรีผลิตพลอยเนื้อแข็งได้ราวร้อยละ 95 ของพลอยสีที่ผลิตได้ทั้งหมด ได้แก่ ทับทิม ไพลิน และบุษราคัม โดยเฉพาะทับทิมที่เรียกว่า “ทับทิมสยาม” และบุษราคัม เป็นที่เลื่องลือในความสวยงามไร้ที่ติและเป็นที่ต้องการครอบครองของผู้ชื่นชอบพลอยสีเป็นอย่างมาก ส่วนที่เหลือเป็นพลอยเนื้ออ่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณของพลอยสีที่ผลิตได้ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยและไม่เพียงพอต่อการค้าในเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการจึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบพลอยสีจากต่างประเทศ หรือบางรายก็ไปร่วมลงทุนทำเหมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกาซึ่งยังมีพลอยสีสวยงามอยู่อีกจำนวนมาก
 
ภูมิปัญญาการเผาพลอย

          ในปี 2551 ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในตลาดจันทบุรี ซึ่งย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าและเจียระไนพลอย เมื่อเพลิงสงบลงแล้ว เจ้าของบ้านได้เข้าไปสำรวจทรัพย์สินภายในบ้านก็พบว่าพลอยเนื้อแข็งมิได้ถูกไฟเผา แต่กลับมีสีสันสวยงามกว่าเดิมมาก ซึ่งถือเป็นการจุดประกายให้แต่ละคนคิดค้นวิธีการเผาพลอยขึ้นมา และพัฒนาจนสำเร็จ ส่งผลให้จันทบุรีกลายเป็นผู้นำการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีด้วยความร้อนของโลกในปัจจุบัน จนยากที่จะหาประเทศใดทำได้ทัดเทียม คาดว่าพลอยก้อนในตลาดโลกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพราวร้อยละ 90 ล้วนมาจากจังหวัดจันทบุรีทั้งสิ้น

           แรกเริ่มเดิมทีการเผาพลอยสีน้ำเงินหรือไพลิน ถูกคิดค้นโดยนายสามเมือง แก้วแหวน โดยใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร บุชั้นในด้วยอิฐทนไฟ เจาะรูด้านล่างเพื่อเป่าลมด้วยพัดลมอัดอากาศเข้าเตา และใช้เบ้าที่หล่อทองเหลืองเป็นที่บรรจุพลอย เผาบนเตาถ่านหิน ต่อมาได้พัฒนาเป็นใช้เตาน้ำมันโซล่าก่อด้วยอิฐทนไฟอะลูมินา

           ส่วนการเผาพลอยแดงหรือทับทิม เริ่มจากการเผาในเตาอั้งโล่ด้วยถ่านไม้โกงกาง จากนั้นได้มีการพัฒนานำพลอยมาห่อด้วยดินเหนียว แล้วนำไปตากแดดจนแห้งแล้วจึงนำไปเผา ต่อมาพัฒนาเป็นการใช้เตาไฟฟ้า 1,450 องศาเซลเซียส ซึ่งนำเข้าจากประเทศสวีเดน ซึ่งใช้กันในระยะเวลาไม่นาน จากนั้นจึงได้มีการนำเข้าเตาไฟฟ้า 1,600 องศาเซลเซียส จากเยอรมนีเข้ามาใช้เผาพลอยแดงแทน

           การเผาพลอยจะได้สีสวยหรือไม่นั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับเทคนิคการเผาแล้ว การใช้เตาที่ดีและเหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กัน โดยเตาเผาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน อาทิ เตาไฟฟ้า เตาน้ำมัน เตาแก๊ส และเตาถ่านไม้ เป็นต้น ส่วนอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาพลอยนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด สีที่ต้องการและแหล่งที่มาของพลอยนั้น โดยปกติจะนำพลอยไปเผาที่อุณหภูมิ 1,600-1,900 องศาเซลเซียส ปัจจุบันการเผาพลอยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกเพราะเป็นการให้ความร้อนเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในเนื้อพลอย โดยไม่มีการใส่สารแปลกปลอมเข้าไปช่วยแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าเป็นการทำเทียม และสีที่ได้รับหลังการเผาจะไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ การเผาพลอยเป็นความลับเฉพาะตัว เพราะเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่เผาแล้วเสียหรือไม่ได้สีสวยเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ราคาขายตกลงไปมากหรืออาจจะขายไม่ได้เลย ฉะนั้น ผู้ที่จะทำการเผาพลอยได้ก็จะต้องเป็นคนกล้าได้กล้าเสียมากพอสมควรเลยทีเดียว  

การเจียระไนพลอยสี

          เล่าต่อๆ กันมาว่าการเจียระไนพลอยในจันทบุรีเริ่มจากชาวไทยใหญ่หรือเรียกกันว่า กลุ่มกุหล่า อพยพจากเมียนมามาตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำจันทบุรีและแถบถนนศรีจันท์ พร้อมกับนำทักษะการเจียระไนที่มีติดตัวมาด้วย ซึ่งต่อมาอาชีพนี้ก็ได้เผยแพร่ไปทั่วจังหวัดจนกระทั่งสร้างช่างเจียระไนฝีมือดีจำนวนมาก

          การเจียระไนพลอยสีในสมัยก่อนนั้น เพียงแค่นำพลอยที่ได้มาขัดเกลาเล็กน้อยเป็นทรงหลังเบี้ยหรือทรงหลังเต่า ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ต่อมาก็เริ่มใช้เครื่องจักรแบบง่ายๆ โดยใช้เท้าถีบจักรให้เดิน และเน้นเจียระไนแบบหลังเบี้ย โดยพลอยสีแต่ละเม็ดใช้เวลาถึง 1 วัน ปัจจุบันได้มีการพัฒนามาใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น และเจียระไนได้หลากหลายรูปทรง แต่ก็ยังคงใช้แรงงานฝีมือส่วนใหญ่เป็นหลัก และเป็นลักษณะอุตสาหกรรมครอบครัว ไม่ได้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีช่างเจียระไนกระจายอยู่ในหลายหมู่บ้านหลากหลายอำเภอในจังหวัด ซึ่งช่างฝีมือเจียระไนจันทบุรีได้รับการยอมรับจากนานาชาติเพราะใช้มือจัดเหลี่ยมพลอยได้เท่ากัน สวยงาม และได้น้ำหนักตามต้องการ จึงทำให้จันทบุรีเป็นจุดหมายปลายทางของพลอยก้อนจากทั่วโลกที่จะส่งเข้ามาเจียระไนในจันทุบรีก่อนส่งกลับไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ต่อไป
 
ตลาดค้าพลอยเมืองจันท์

          การค้าพลอยสีในตลาดจันท์เริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และตลาดเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี พ.ศ. 2523 เริ่มมีพ่อค้าจากต่างประเทศเข้ามาซื้อพลอยสีจากพ่อค้าจันท์ โดยมีพ่อค้าจากกรุงเทพฯ เป็นผู้นำพาไปที่ตลาดพลอยจันท์ ต่อมาเริ่มมีพ่อค้าชาวยุโรป จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ทยอยเดินทางเข้าไปซื้อพลอยสีที่จันท์มากขึ้น ทำให้ตลาดจันท์มีความคึกคักมากขึ้น นอกจากการค้าพลอยจากแหล่งผลิตในจันทบุรีแล้ว พ่อค้าพลอยจากส่วนต่างๆ ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นแม่สอด จังหวัดตาก และกาญจนบุรี ต่างก็นำพลอยสีมาจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ด้วย

          ตลาดพลอยจันท์ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีจันท์และตรอกกระจ่าง ปัจจุบันเปิดให้มีการซื้อขายกันในช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์เวลา 8.00 – 15.00 น. ในแต่ละวันจะมีพ่อค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาทำการซื้อขายพลอยสีกันอย่างคึกคัก โดยการซื้อขายจะเป็นไปในลักษณะพ่อค้าพลอยตั้งโต๊ะรับซื้อพลอย ส่วนคนขายจะเป็นคนเดินพลอยนำพลอยมาขายให้กับพ่อค้า พลอยสีส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าจากประเทศแถบแอฟริกา ศรีลังกา เมียนมา นอกจากตลาดพลอยจันท์แล้ว ยังมีร้านค้าพลอยสีและเครื่องประดับพลอยสีตั้งกระจายอยู่ตามถนนต่างๆ ย่านโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ ถนนมหาราช จึงนับได้ว่าจันทบุรีเป็นแหล่งค้าพลอยสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าพลอยสีอันดับต้นๆ ของโลกอีกทางหนึ่งด้วย
 
 
 



ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2562
 
 

ข้อมูลอ้างอิง:  1. พัศพงศ์ ชินอุดมพงศ์. (2550) ตามรอยพลอยจันท์, บริษัท พรีเชียส บิสสิเนส จำกัด
                   2. กองเศรษฐธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี. (2543). แหล่งพลอยทับทิมและแซปไฟร์ของไทย
                   3. สำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี. (2550). ธรณีวิทยาแหล่งพลอยทับทิมและแซปไฟร์กับการสำรวจ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที