ตอนที่ 2 ปัญหาระดับทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้งานวิชาการของบุคลากรทางด้าน QCC ไม่เพียงพอ และแนวทางแก้ไข
-
แค่อบรม ได้เรียนรู้ทางทฤษฎี แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่ม หรือ ที่ปรึกษากลุ่มจะสามารถประยุกต์ใช้วิชาการ ได้อย่างถูกต้อง การจัดให้มีกิจกรรม QCC ถือเป็นโอกาสที่ทางองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงาน ได้แสดงออกเชิงพฤติกรรม การเปิดโอกาสให้กลุ่มกิจกรรมได้เปิดเผยความรู้ความสามารถ ผ่านโครงการ QCC ที่กลุ่มได้นำเสนอ ทำให้ผู้บริหาร คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางด้าน QCC ขององค์กรนั้นๆ จะได้ มองเห็นปัญหาย่อยๆ ของแต่ละกลุ่มผ่านผลงาน อันมีข้อเท็จจริง (Fact & Data) เป็นรากฐาน นำข้อมูลเหล่านี้ไปเป็นองค์ประกอบการวางแผนการยกระดับเชิงระบบ (PDCA)ในระยะต่อไป ไม่ได้หยุดเพียงการได้ผู้ชนะการประกวด
การประเมินผลเชิงวิชาการในภาพรวมหลังการนำเสนอผลงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะประเมินได้ว่ากลุ่มได้เรียนรู้ทฤษฎี หลักวิชาการต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีเพียงไร
-
กลุ่มได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม QCC แต่ระดับความสามารถกลุ่มเท่าเดิม ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อการกระตุ้นและพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความสามารถที่สูงขึ้นคือ เรื่องภาระหน้าที่โดยตรงของที่ปรึกษากลุ่ม (หัวหน้างานโดยตำแหน่ง) แต่กลุ่มกลับมีความสามารถเท่าเดิม ถ้ามองให้ลึกลงไป จะพบว่าสาเหตุเกิดจากส่วนหลัก คือ ระดับทักษะของหัวหน้างานไม่เพียงพอที่จะยกระดับกลุ่ม QCC ที่ตนรับผิดชอบดูแลได้ คงเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก ที่กลุ่มจะมีความรู้ความสามารถมากกว่าที่ปรึกษากลุ่ม ดังนั้นที่ปรึกษากลุ่มเองก็มีเรื่องที่ตนเองต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเช่นกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อย จะพบว่าทีปรึกษากลุ่มเอง จำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นต่อการเป็นที่ปรึกษากลุ่ม QCC ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติในวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ QCC ที่จำเป็นต่อที่ปรึกษา (ต้องมีความรู้ที่เข้มข้น และเจอะลึกมากกว่ากลุ่ม QCC) ภาวะผู้นำที่เหมาะสม บริหารจัดการเวลา การจูงใจกลุ่ม และ อื่นๆ เป็นต้น การพร่องในทักษะที่สำคัญเหล่านี้ของที่ปรึกษากลุ่ม QCC นำไปสู่ปัญหาข้างต้นได้
-
กลุ่ม QCC ที่ชนะที่เป็นกลุ่มเดิมๆ แสดงให้เห็นว่าระดับความรู้ และทักษะความสามารถของพนักงานขององค์กรสูงเพียงบางส่วนเท่านั้น และมีจำนวนไม่มาก พิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่าเป็นปัญหาขององค์กรเพราะองค์กรคงไม่ได้ต้องการพนักงานที่มีความสามารถสูงจำนวนน้อย แต่ต้องการเพิ่มให้มีมากขึ้น ได้หมุนเวียนผู้ชนะ (ชนะจากระดับความสามารถไม่ใช่การเวียนตามวาระ) ซึ่งจะยิ่งทำให้ลบล้างภาพในความคิดของพนักงานอีกจำนวนมากที่หมดหวังกับการชนะการประกวดไปได้พอสมควร การขาดมุมมองเชิงระบบในการยกระดับทักษะที่ปรึกษากลุ่มอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรม QCC ภายในเคยมีการพูดคุยเรื่องระดับทักษะของที่ปรึกษาที่ควรจะเป็นหรือไม่ หากไม่เคยก็คงไม่ใช่แค่ปัญหาของหัวหน้างานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาระบบส่งเสริมกิจกรรม QCC ขององค์กรที่ดูจะเป็นปัญหาที่มีอาการหนักกว่าและต้องพัฒนาเป็นอันดับแรก
-
ทักษะ ความสามารถในการประเมินผลงานของคณะกรรมการ QCC ไม่นำไปสู่การยกระดับผลงาน QCC
การตั้งคณะกรรมการ QCC เข้ามาตัดสินผลงานขององค์กรนั้น หลายๆ องค์กรมอบหมายตามภาระหน้าที่ในตำแหน่ง โดยอาจไม่ได้ทันพิจารณา ความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการกิจกรรม QCC ซึ่งเป็นผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการตัดสินผลงานขึ้น การแกว่งตัวของคะแนนการตัดสินผลงานที่สูง บ่งชี้ได้ว่าคณะกรรมการแต่ละท่านมีมุมมองต่อผลงาน QCC ที่ไม่เหมือนกันซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น สาเหตุของปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากวิชาการ ความรู้ทางธุรกิจที่ไม่มากเพียงพอ แต่ต้องมาตัดสินในสิ่งที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ เกิดการตีค่าผลงานผิดพลาด แถมขั้นตอนนี้เองมีผลอย่างมากต่อระบบส่งเสริมกิจกรรม เพราะหากมองเรื่องการประเมินผลงานคือ ข้อเท็จจริงที่ได้จากระบบส่งเสริมที่ทำงานกันมาอย่างหนักตลอดทั้งปี เพื่อจะได้รับทราบว่าผลงานออกมามีเกรดอะไร ก็ตอบยากเพราะเครื่องมือวัด (คณะกรรมการ) มีความถูกต้อง (Accuracy) ทีไม่ดีพอกับการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง นั่นเอง อันนี้คือปัญหาของระบบส่งเสริมอันดับต้นๆ เลยทีเดียว หันมาพัฒนาคณะกรรมการตัดสินผลงานอย่างจริงจังเพื่อสร้างเครื่องมือวัดค่าผลงาน QCC ที่ถูกต้อง ควรจะเป็นงานแรกๆ ที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรม QCC ควรคำนึงถึง
แนวทางการแก้ไข
ขอรวบยอดแนวทางแก้ไขทั้ง ข้อ 2 และข้อ 3 ด้วยการบ่งชี้ความรู้ ความสามารถที่สำคัญของพนักงานทุกระดับ (หัวหน้ากลุ่ม QCC , ที่ปรึกษากลุ่ม QCC และ คณะกรรมการตัดสินผลงาน QCC ) ว่าจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถในแต่ละเรื่องอย่างไร รวมถึงการกำหนดกระบวนการ ขั้นตอนการวัด เครื่องมือการวัดผลที่น่าเชื่อถือ และทำการวัดอย่างมีมาตรฐาน เพื่อนำผลการวัดดังกล่าวสู่การออกแบบการพัฒนาโครงการพนักงานแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องและตรงจุด ซี่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สู่การพัฒนาระบบส่งเสริมกิจกรรม QCC ให้สามารถเพิ่มทักษะในการทำงานที่สำคัญ เมื่อพนักงานถูกพัฒนาจนมีระดับทักษะที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ ซึ่งกว่าจะได้พนักงานที่มีศักยภาพตามที่องค์กรมุ่งหวังนั้น คงต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจ มีเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ที่ดี องค์กรก็สามารถแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องคน เรื่องงาน สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ได้อย่างแท้จริงสมความตั้งใจ
บทความโดย เรไร เฟื่องอาวรณ์
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
สนใจวัดความสามารถทางด้าน QCC รอบด้าน ครบทุกมิติ ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
http://www.tpif.or.th/consult/
ติดต่อสอบถาม
admin.sc@tpa.or.th
02-717-3000
(ต่อ คุณพณิตา 629, คุณวิชุดา 622)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที