GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 มิ.ย. 2020 14.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1283 ครั้ง

เมื่อคนยุคใหม่ฉีกแนวสร้างสรรค์ และให้นิยามใหม่กับ?เบญจรงค์? จนเกิดมาเป็นเครื่องประดับที่มีความเป็นไทย แต่มีความทันสมัยที่คนรุ่นใหม่ใส่ได้ทุกโอกาส เครื่องประดับฝีมือคนไทยจะสวยและเท่จนต้องอยากจับจองเป็นเจ้าของขนาดไหน มาค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้


เครื่องประดับจากเบญจรงค์ คุณค่าสู่ความร่วมสมัย

            เครื่องเบญจรงค์ เป็นงานหัตถศิลป์ล้ำค่าที่มีความสวยงาม แสดงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม รสนิยม และเอกลักษณ์ของไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อเครื่องเบญจรงค์จำนวนไม่น้อยต้องถูกทิ้งทำลายเพราะมีตำหนิจากความผิดพลาดเล็กน้อยในกระบวนการผลิต จนวันนี้ได้มีกลุ่มคนที่พยายามชุบชีวิตให้แก่เครื่องเบญจรงค์ดังกล่าว จนเกิดเป็นแนวคิดการผลิตเครื่องประดับเบญจรงค์ขึ้น

            เครื่องประดับจากเบญจรงค์ เป็นการนำเครื่องเบญจรงค์ที่เหลือใช้แล้ว หรืออาจมีตำหนิเช่น มีรอยบิ่น มีเขม่าดำ  แต่ภายนอกยังคงความสวยงาม นำมาทุบ ตัด ตกแต่ง จากนั้นใช้เทคนิคการเจียรกระเบื้องเพื่อให้เกิดรูปทรงสวยงามและมีน้ำหนักเบาขึ้น และนำมาทำเครื่องประดับมีทั้งในรูปแบบสร้อยข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู และแหวน เป็นต้น

 

 
ที่มา : Benjaglai


            ปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องเบญจรงค์เริ่มหันมาสนใจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเบญจรงค์ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว โดยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้กลายเป็นเครื่องประดับที่มีดีไซน์ทันสมัย สามารถใส่ได้หลายโอกาส หรือสำหรับเป็นของฝากที่บางชิ้นอาจมีชิ้นเดียวในโลก ตัวอย่างเช่น ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ที่มีการสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อว่า “เบญจกลาย” เป็นเครื่องประดับจากเศษเบญจรงค์ที่เหลือใช้ สร้างไอเดียเก๋ที่ได้รวมความเป็นไทย ความร่วมสมัย และความรักษ์โลกเข้าไว้ในแบรนด์ นอกจากนี้ยังคงการใช้ลวดลายแบบโบราณ แต่มีรูปลักษณ์ใหม่ โดยผสมผสานกับงานหัตถศิลป์อื่นๆ เช่น งานผ้าแพรวา โดยมีคอลเลคชั่นแรกชื่อ “แมนดาลา” หรือที่หลายคนให้คำจำกัดความว่า “ศิลปะภาวนา” ซึ่งมีที่มาจากทิเบต หรือ OWNORY (โอนโนรี่) แบรนด์เครื่องประดับไทยที่โดดเด่นด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการนำเศษเบญจรงค์และลวดลายมาประกอบเป็นเครื่องประดับที่มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้นทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ Ceraphon เครื่องประดับเซรามิกที่มีความโดดเด่นในการประยุกต์ใช้งานเบญจรงค์เข้ากับวัสดุต่างๆ ได้อย่างลงตัวมีเอกลักษณ์ ทั้งด้านเทคนิคเบญจรงค์ การออกแบบสี และการจัด องค์ประกอบเพื่อสื่อเรื่องราว โดยยังคงคุณค่าของเบญจรงค์ให้ผู้ใช้งานได้ภาคภูมิใจ และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
 

    
ที่มา : Benjaglai 

 
    ที่มา : Ownory  


ที่มา : Ceraphon Jewelry
                                                                                         
            เครื่องเบญจรงค์ถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ แม้แต่เศษเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ก็สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าทำเป็นเครื่องประดับ ที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเบญจรงค์ในรูปลักษณ์ใหม่ที่สามารถสวมใส่ได้และยังสามารถผสมผสานวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเข้ากับเครื่องประดับ สร้างเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์และสามารถขยายตลาดไปยังลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น
           


           
 
 
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มิถุนายน 2563

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที