GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 ก.ค. 2020 11.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1655 ครั้ง

เครื่องประดับเงินของไทย ที่ต่างได้รับคำกล่าวขานว่าเป็น The Best จากชาวต่างชาติ และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนยุคใหม่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เครื่องเงินไทยแตกต่าง และทำไมต้องเป็นเครื่องเงินของไทย สามารถหาคำตอบได้ที่นี่


เครื่องประดับเงินไทย เจิดจรัสในตลาดโลก

            เมื่อกล่าวถึงสินค้าเครื่องประดับเงินในระดับสากล คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงเครื่องประดับเงินไทยเป็นอันดับแรกๆ เพราะเครื่องประดับเงินของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ ดีไซน์ และความประณีตในการผลิต ชาวต่างชาติต่างกล่าวขานกันว่า Thai Silver Jewelry is the Best ซึ่งนั่นทำให้ไทยครองความเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ไทยยังมีทำเลที่ตั้งและเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่สะดวกต่อการติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึง มีหน่วยงานเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรและกำหนดมาตรฐานสินค้ากลุ่มนี้ และงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ซึ่งเป็นเวทีการค้าสำคัญที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

เครื่องประดับเงิน หนึ่งในหัตถศิลป์ไทย

           การผลิตเครื่องประดับเงินในประเทศไทยถือเป็นงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าที่แสดงให้เห็นถึงความประณีตศิลป์ในงานช่างโดยเฉพาะในยุคก่อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่การผลิตเครื่องประดับแต่ละชิ้นผ่านกรรมวิธีที่เป็นงานทำมือแทบทั้งสิ้น โดยช่างฝีมือพื้นบ้านได้สร้างสรรค์ผลงานผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตเฉพาะถิ่นสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นอัตลักษณ์จวบจนปัจจุบัน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ซื้อสำคัญ

           นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ CIBJO, The World Jewellery Confederation กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทย คือ หัตถศิลป์ Craftsmanship) ฝีมือของช่างไทยที่จะต้องส่งเสริมให้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ชั้นสูง เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพดีเยี่ยมและมีราคาสูงขึ้น

           “การสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์เกิดจากช่างฝีมือที่มีความสุข อารมณ์ จิตใจสุนทรี ทำให้ผลิตชิ้นงานที่มีความงดงามประณีตได้ การจะมีความสุขแบบนั้นได้ ช่างฝีมือก็ต้องมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดการทำธุรกิจในปัจจุบัน ที่ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดูแลสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจมาก”

แหล่งผลิตที่สำคัญ

            เครื่องประดับเงินถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยมีโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ทางเทคนิคการผลิต หรือการออกแบบลวดลายที่แตกต่างกันออกไป โดยแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ เช่น 


            เครื่องเงินเมืองน่าน ซึ่งมีทั้งเครื่องเงินโบราณท้องถิ่นน่าน และเครื่องเงินชาวเขา ที่เรียกว่า “ชมพูภูคา” ชิ้นงานส่วนใหญ่ทำขึ้นด้วยมือ ใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงกว่ามาตรฐาน เป็นเม็ดเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์ระหว่าง 96-98% ซึ่งมีความอ่อนตัวสูงกว่าเนื้อเงินทั่วไป ทำให้นำไปตีหรือขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น
 


เครื่องประดับเงินชมพูภูคา


              เครื่องเงินสุโขทัย กำเนิดจากฝีมือช่างสุโขทัยในพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งมีวิชาความรู้เช่นเดียวกับช่างทำเครื่องทอง เอกลักษณ์ของเครื่องเงินสุโขทัยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทองสุโขทัย คือ คงลวดลายทางศิลปะของสุโขทัยเอาไว้ ทั้งลายโบสถ์หรือวิหาร ลายเครื่องสังคโลก ลวดลายธรรมชาติ และลายไทยต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งจากเทคนิคการถักลาย การลงยาสี และการประดับพลอยเหมือนเครื่องทอง


เครื่องประดับเงินสุโขทัย

 

            เครื่องเงินวัวลาย เครื่องเงินของบ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏหลักฐานมาช้านานตั้งแต่สมัยของพญามังรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่และมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรพุกาม ช่างฝีมือรุ่นแรกได้รับการฝึกฝีมือจากช่างพุกาม (พม่า) โดยทักษะและรูปแบบการทำเครื่องเงินได้ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีการก่อตั้งร้านจำหน่ายเครื่องเงินรุ่นแรกๆ ขึ้นบนถนนวัวลาย ต่อมาในปี 2520-2530 จำนวนร้านค้าเครื่องเงินบริเวณริมถนนวัวลายเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านเครื่องเงิน” (Silver Village)
 


เครื่องประดับเงินวัวลาย

 

            ในภาคใต้ ก็มีการผลิตเครื่องเงินนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการนำลวดลายมาจากเครื่องทองมาประยุกต์ เอกลักษณ์เครื่องเงินนครเป็นลักษณะเครื่องเงินถักทั้งแบบสี่เสาและหกเสา หรือแบบสามกษัตริย์ทำด้วยทอง เงิน นาก โดยงานเครื่องถมเมืองนครเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อ รวมทั้งเครื่องประดับเม็ดนโม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเงินนครศรีธรรมราช
 


เครื่องประดับเงินนครศรี
 

 
เหตุใดจึงควรเลือกเครื่องประดับเงินไทย

            เนื่องด้วยจุดเด่นในด้านราคาของวัตถุดิบหลักในการผลิตคือ โลหะเงิน ที่มีราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับโลหะมีค่าสีขาวอื่นๆ อย่างทองขาวและแพลทินัม นอกจากลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นแล้ว ผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินของไทยยังสามารถสร้างสรรค์รูปแบบและดีไซน์สินค้าได้หลากหลายและทันสมัย อีกทั้งยังสามารถผลิตสินค้าในคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำมาผสมผสานกับโลหะมีค่าอื่นๆ อาทิ เครื่องประดับเงินหุ้มทองคำแท้ 18 กะรัต และ 24 กะรัต หรือหุ้มด้วยโรเดียมสีดำ เป็นต้น

            ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยต่างหันมาพัฒนาและมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนกันมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturing : OEM) เป็นหลัก มาสู่การออกแบบด้วยตนเอง (Original Design Manufacturing: ODM) และการมีแบรนด์เป็นของตนเอง (Original Brand Manufacturing : OBM) มากขึ้น ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส

 

 

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จดังกล่าวมาจากการมีทักษะฝีมือในการผลิตของแรงงานและการบริหารจัดการอย่างดีเยี่ยมของผู้ประกอบการไทยจนสามารถพัฒนารูปแบบสินค้าที่หลากหลายและรักษาคุณภาพของสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงราคาที่เหมาะสม คุ้มค่ากับคุณภาพที่ได้รับ นอกจากนี้การเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินในระดับแนวหน้ายังได้ดึงดูดผู้ประกอบการต่างประเทศจำนวนไม่น้อยหันมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยรวมถึงการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย

สถานการณ์การส่งออกเครื่องประดับเงิน
         
            นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินอันดับที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยอินเดีย เยอรมนี อิตาลี และจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 25.95, ร้อยละ 7.65, ร้อยละ 7.14 ร้อยละ 5.34 และร้อยละ 0.56 ตามลำดับ

 



            การส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2563 ไปยังตลาดหลัก ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.39, ร้อยละ 32.00, ร้อยละ 8.61, ร้อยละ 5.26 และร้อยละ 2.47 ตามลำดับ
 

ตลาดส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2563


ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 



            จากความโดดเด่นที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า เครื่องประดับเงินของไทยล้วนเป็นงานศิลป์ที่ผ่านการสร้างสรรค์จากช่างฝีมือที่มีความรู้ ความชำนาญและความประณีตพิเศษ ในด้านรูปทรงและลวดลายที่ประดิษฐ์กระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแสดงถึงวิจิตรกรรมและวัฒนธรรมของชาติไทยอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากลวดลายแบบดั้งเดิมแล้วยังมีงานในรูปแบบที่ทันสมัย ออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้กับเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย ทำให้เป็นที่นิยมทั้งงคนไทยและชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง ทำให้เครื่องประดับเงินไทยครองตำแหน่งผู้นำในตลาดโลกได้อย่างภาคภูมิ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที