GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 พ.ค. 2021 14.06 น. บทความนี้มีผู้ชม: 908 ครั้ง

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในสามอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศอินเดียอย่างมหาศาล ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ในอับดับที่ 6 ของโลก เป็นผู้ส่งออกเพชรและเครื่องประดับเงินเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 5 ของโลก แต่กว่าอินเดียจะประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้ อินเดียได้ทำอย่างไรบ้าง และอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน ติดตามรายละเอียดได้ในบทความนี้


ถอดบทเรียนความสำเร็จของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย

            อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสามอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศอินเดียอย่างมหาศาล โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 (รองจากแร่เชื้อเพลิงและสารสกัดจากปิโตรเลียม) หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศโดยรวม และคิดเป็นร้อยละ 6-7 ของ GDP มีผู้ประกอบการกว่า 500,000 ราย และมีการจ้างงานทั่วประเทศราว 5 ล้านคน ซึ่งนอกจากอินเดียจะเป็นศูนย์กลางการเจียระไนเพชรขนาดเล็กที่สำคัญที่สุดในโลกแล้ว อินเดียยังได้พัฒนาการผลิตจนก้าวเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง รวมถึงอัญมณีสังเคราะห์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย แต่กว่าอินเดียจะประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้ อินเดียได้ทำอย่างไรบ้าง และอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน ติดตามได้ในบทความนี้

https://www.business-standard.com

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย 

            อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจากสถิติการส่งออก โดยมูลค่าส่งออกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 2551 ด้วยมูลค่าส่งออก 28,092 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่า 19,186 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 หรือมีอัตราการเติบโตราวร้อยละ 46 และมูลค่าส่งออกได้เพิ่มมาเป็นกว่า 34,000 ล้านเหรียญ-สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินดียทำสถิติสูงสุดในปี 2554 ด้วยมูลค่าส่งออก 50,194.90 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับที่ 6 ของโลก

            ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ก็มาจากหลากปัจจัย อาทิ อินเดียมีทรัพยากรธรรมชาติเอื้อต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยอินเดียมีเหมืองแร่ทองคำ เพชร และอัญมณีหลากหลายชนิด กระจายอยู่ในหลายรัฐของประเทศ และทักษะฝีมือแรงงานของอินเดียที่มีความชำนาญสูงในการเจียระไนเพชร พลอยสี และการผลิตเครื่องประดับ รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียแบ่งได้ดังนี้

            อินเดียมีความชำนาญสูงในการเจียระไนเพชรขนาดเล็ก และพลอยสีระดับราคาปานกลางลงมาจนถึงต่ำ ทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการเจียระไนและการค้าเพชรขนาดเล็กและพลอยสีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยศูนย์กลางการเจียระไนเพชรอยู่ที่เมืองสุรัต (Surat) ซึ่งเป็นแหล่งเจียระไนเพชรราวร้อยละ 80 ของเพชรที่เจียระไนทั้งหมดในประเทศ ส่วนเมืองอื่นๆ ที่มีการเจียระไนเพชร ได้แก่ เมืองบาฟนาการ์ (Bhavnagar) และเมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) ในรัฐคุชราต (Gujarat) สำหรับการเจียระไนพลอยสีส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองจัยปูร์ (Jaipur) รัฐราชสถาน (Rajasthan) ถือเป็นศูนย์กลางการเจียระไนพลอยสีของประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2563 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกเพชรสำคัญในอันดับที่ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 5 ของโลก พร้อมตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้เจียระไนเพชรขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย

https://timesofindia.indiatimes.com

            อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกด้วยประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยการผลิตเครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเพชร) เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งอาศัยการผลิตแบบดั้งเดิมและแรงงานฝีมือเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบศิลปะอินเดีย ซึ่งจะเป็นเครื่องประดับชิ้นใหญ่ น้ำหนักมาก เน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต่อมาอินเดียได้พัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ได้เครื่องประดับที่มีรูปแบบทันสมัย น้ำหนักเบา และสามารถผลิตได้ปริมาณมากขึ้น อินเดียจึงสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

            สำหรับแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินสำคัญจะอยู่ในกรุงนิวเดลี (New Delhi) เมืองสุรัต (Surat) โกลกาตา (Kolkata) มุมไบ (Mumbai) และจัยปูร์ (Jaipur) ส่วนแหล่งผลิตเครื่องประดับทองสำคัญจะอยู่ในเมืองโกลกาตา ตฤศศูร (Thrissur) และมุมไบ

การพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองของอินเดีย

            ในปี 2555 อินเดียส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 15.26 ในขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 23.94 และสัดส่วนการส่งออกของจีนยิ่งทิ้งห่างอินเดียมากขึ้นในปี 2556 เนื่องจากรัฐบาลอินเดียจำกัดการนำเข้าทองคำเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการเพิ่มภาษีนำเข้าทองคำจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 8 และในปี 2557 ก็ได้ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอินเดียลดลงเพราะต้นทุนเครื่องประดับทองที่เพิ่มสูงจากการจำกัดการนำเข้าทองคำ ในขณะที่จีนมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ และฝีมือการผลิตเครื่องประดับทองที่ตอบสนองต่อตลาดระดับล่างจนถึงบน จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก

กราฟแสดงสัดส่วนการส่งออกเครื่องประดับทอง 5 อันดับแรกของโลก ระหว่างปี 2555 – 2563 

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            หมายเหตุ: ยอดส่งออกเครื่องประดับทองของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติมากในระหว่างปี 2556-2557 มาจากการออกใบแจ้งหนี้ส่งออกเกินราคาจริง ซึ่งเป็นเทคนิคที่บริษัทต่างๆ ใช้เพื่อประโยชน์ในการหลบเลี่ยงการควบคุมเงินทุนจากภาครัฐและนำเงินเข้าประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐของจีนได้ออกมาตรการปราบปราม จึงทำให้ยอดส่งออกปรับลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ

            อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียได้บังคับให้การนำเข้าทองคำทุกครั้งจะต้องนำทองคำร้อยละ 20 ของการนำเข้าทั้งหมดไปผลิตเป็นเครื่องประดับเพื่อส่งออก และผู้ผลิตชาวอินเดียเองก็ได้เพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนต่อหน่วย การอบรมเพิ่มทักษะการออกแบบสินค้าให้กับช่างฝีมือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าต่างชาติ และนำเทคโนโลยีทันสมัย อาทิ CAD และ CAM มาช่วยในการออกแบบเพื่อเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบเครื่องประดับทองให้มากขึ้น รวมถึงการเน้นสร้างแบรนด์ส่งออก และการประทับตรา Hallmark บนเครื่องประดับทองเพื่อรับรองค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ นอกจากนี้ การมีทักษะฝีมือการผลิตที่สะสมมาอย่างยาวนาน ตลอดจนมีค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับไม่สูง ทำให้ราคาต่อหน่วยของเครื่องประดับทองยังสามารถแข่งขันได้ดี จึงทำให้อินเดียเริ่มกลับมาส่งออกเครื่องประดับทองได้เพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็นต้นมา

            ทั้งนี้ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่หากพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดหลักของโลกพบว่า อินเดียเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 4 ในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย

การพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินของอินเดีย

            อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินของอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งการบริโภคมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมซื้อเครื่องประดับเงินเพื่อสวมใส่มากขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสแฟชั่นของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากอินเดียสามารถผลิตเครื่องประดับเงินได้หลากหลายรูปแบบ ราคาเหมาะสม และตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดโลกได้ จึงทำให้อินเดียเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย

            หากย้อนกลับไปปี 2555 พบว่า อินเดียเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินในอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยสัดส่วนส่งออกเพียงร้อยละ 13.21 ในขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 21.40 จากนั้นอินเดียก้าวแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในปี 2557 และในปีล่าสุด 2563 อินเดียมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องประดับเงินอยู่ที่ร้อยละ 27.93 ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินในอันดับ 2 มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 19.69

https://www.kushals.com

            การส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากโรงงานเครื่องประดับเงินในเมืองมุมไบ โกลกาตา นิวเดลี และสุรัต นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต ประกอบกับการพัฒนาการออกแบบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศ และค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องประดับเงินของอินเดียต่ำกว่าคู่แข่งถึงร้อยละ 40 ส่งผลให้เครื่องประดับเงินอินเดียแข่งขันได้สูงในตลาดโลก

            ส่วนการส่งออกเครื่องประดับเงินของอินเดียในปี 2561 ที่ลดลงมาก เป็นผลมาจากการปิดโรงงานผลิตเครื่องประดับเงินเพื่อการส่งออกหลายแห่งในเมืองอาห์เมดาบัด และสุรัต เนื่องจากภาวะสินเชื่อตึงตัวและปัญหาในภาคธนาคารเงา (Shadow Banking) ส่งผลให้ธุรกิจไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาสินค้าของไทย จีน และอินโดนีเซีย ทำให้สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับเงินในตลาดโลกจากอินเดียไปได้ 

            อย่างไรก็ดี หลังจากธนาคารกลางอินเดียได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น และอินเดียก็กลับมาเป็นผู้นำส่งออกเครื่องประดับเงินในปี 2563 เพราะสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงินทำมือซึ่งอินเดียมีช่างฝีมือที่มีทักษะอยู่จำนวนมาก ทำให้สามารถผลิตสินค้าด้วยมือที่มีรูปแบบเอกลักษณ์ได้คราวละจำนวนมาก หรือรูปแบบสมัยใหม่ ซึ่งอินเดียนำเครื่องจักรสมัยใหม่และเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ 3D Printing ที่ช่วยทำให้เครื่องประดับมีดีไซน์หลากหลายเป็นเอกลักษณ์ ประหยัดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย รวมถึงการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจแบบครอบครัวเป็นแบบมืออาชีพมากขึ้น

            นอกจากผู้ประกอบการอินเดียจะพัฒนาตนเองแล้ว ภาครัฐนับเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อทำหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC)  ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม Gem & Jewellery Skill Council of India (GJSCI) ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะแรงงานทั่วประเทศ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาทักษะและผู้ประกอบการ เป็นต้น รวมถึงยังได้ให้การสนับสนุนในหลายด้านแก่อุตสาหกรรมฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

               1) ลดภาษีนำเข้าโลหะทองคำและเงินจากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 7.5 ส่วนแพลทินัม และพาลาเดียม ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 12.5 เหลือร้อยละ 10 เพิ่มภาษีนำเข้าเพชร Cubic Zirconia และอัญมณีสังเคราะห์จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 (เพื่อป้องกันการเข้าไปแข่งขันของสินค้าจากจีน) ส่วนภาษีนำเข้าเพชรแท้และเพชรเทียม (Lab-Grown Diamonds) ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 7.5

               2) ลดภาษีสินค้าและบริการ (GST) สำหรับเพชรก้อนและเพชรเจียระไนและงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพชรเจียระไนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1.5 พลอยสีที่ผ่านการตัดหรือเจียระไน ลดลงจากร้อยละ 3 เหลือเพียงร้อยละ 0.25

                3) ลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 22 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าและผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

                4) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืนภาษีสินค้าและบริการจากการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียได้ ซึ่งมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.25 – 3 

                1) ผ่อนปรนกฎระเบียบ โดยอนุญาตให้นักธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำสินค้าติดตัวออกไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติหรือเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมอนุญาตให้ไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

                2) ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งสำหรับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะกระจายอยู่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ เมืองมุมไบ ไฮเดอราบัด (Hyderabad) และ จัยปูร์ เป็นต้น เพื่อจูงใจบริษัทของทั้งชาวอินเดียและต่างชาติให้เข้าไปประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับในเขตพิเศษ โดยมอบสิทธิพิเศษทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี

                3) ให้สิทธิชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการอัญมณีและเครื่องประดับได้ร้อยละ 100 โดยดำเนินการผ่านช่องทางอัตโนมัติ ซึ่งทำให้การขออนุญาตทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

                4) กำหนดนโยบาย E-Commerce ที่สนับสนุนการค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ GJEPC ร่วมร่างนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐ

อันได้แก่ Department for Promotion of Industry and Internal Trade (DPIIT) Ministry of Commerce & Industry (MoC&I) เป็นต้น

                5) ธนาคารพาณิชย์อินเดียให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่องปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียน ลดการขาดสภาพคล่อง

                1) GJEPC ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อขยายการค้าและการลงทุนอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน อาทิ รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

                2) GJEPC ได้ลงนาม MOU กับ eBay เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการอินเดียสามารถวางขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านแพลตฟอร์มของ eBay ได้อย่างสะดวก เพื่อเพิ่มยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของอินเดีย

            นอกจากนี้ นโยบาย Make In India  ที่รัฐบาลประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะช่วยยกระดับคลัสเตอร์เครื่องประดับอินเดียสู่มาตรฐานการส่งออกระดับสากล ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้มากขึ้น โดยอินเดียตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเป็น 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีก 2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2565 

            ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย อันเนื่องมาจากปัจจัยที่หลากหลายจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองของผู้ประกอบการอินเดีย ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ การทำความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และการออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนกระทั่งปัจจุบัน 

 

ข้อมูลอ้างอิง


            1. บริษัทการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank Finance Companies : NBFCs) หรือธนาคารเงา เริ่มมีบทบาทในอินเดียตั้งแต่ช่วงหลังปี 2543 และทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงและมีความต้องการสินเชื่อจากธุรกิจขนาดเล็กและลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารเงาดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎระเบียบและกติกาเดียวกัน ทำให้ธนาคารเงาขยายบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นฟองสบู่ในภาคการเงิน และนำไปสู่วิกฤตปี 2561 อินเดียมีธนาคารเงามากกว่า 11,000 แห่ง และส่วนใหญ่ระดมทุนด้วยการกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ธนาคารเอกชน บริษัทประกัน และกองทุนรวม ในสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของเงินทุนทั้งหมด นับเป็นผู้กู้รายใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อธนาคารเงามีการผิดนัดชำระหนี้ จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธนาคารของอินเดีย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดีย การเกิดภาวะ Credit Crunch ทำให้หลายภาคธุรกิจในอินเดียได้รับผลกระทบ (รวมถึงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ) เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงินได้ โดยเฉพาะจากบรรดาธนาคารเงาที่เผชิญภาวะขาดสภาพคล่อง
            2. GJEPC ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2509 ทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านการตลาดและการค้ากับต่างประเทศทั้งในแง่กฎระเบียบ ภาษี ขั้นตอนและนโยบายการนำเข้า-ส่งออก แนะนำงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วโลก จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศ และนำพาผู้ประกอบการอย่างน้อย 50 รายไปออกบูธแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญต่างๆ ของโลก รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางต่างๆ ทำความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายการค้าและการลงทุนด้านอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศในการจัดสัมมนาหรือเวทีให้พบกับผู้ประกอบการศักยภาพของอินเดีย เป็นตัวแทนออกใบอนุญาตตามกระบวนการ Kimberley Process และเสนอแนวทางการลดอุปสรรคการค้าและการส่งออกต่อรัฐมนตรี ทำความร่วมมือกับผู้ผลิตหรือผู้ค้าวัตถุดิบอัญมณีเพื่อป้อนให้กับผู้ประกอบการเครื่องประดับในประเทศ ตลอดจนฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้นักออกแบบและช่างฝีมือ โดยจัดตั้งสถาบันอบรม ได้แก่ Indian Institute of Gems & Jewellery (IIGJ) และเพิ่มทักษะให้กับนักอัญมณีศาสตร์ โดยจัดตั้งสถาบัน Gemmological Institute of India (GII) อีกทั้งยังจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Gem Testing Laboratory ที่เมืองจัยปูร์ Indian Gemological Institute ที่กรุงนิวเดลี และ Indian Diamond Institute ที่เมืองสุรัต
            3. อินเดีย ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2557 และประกาศใช้นโยบาย Make in India เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและยกระดับภาคการผลิต สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในการยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที