Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 28 มิ.ย. 2022 17.14 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58905 ครั้ง

บทความที่รวมความรู้เรื่องเส้นผม แนะนำการรักษาผมร่วง และอาหารบำรุงเส้นผมสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง


วิธีดูแลรากผมให้แข็งแรง เพื่อสุขภาพเส้นผมที่ยั่งยืน

รากผม

การมีสุขภาพผิวพรรณที่ดีนั้นยังไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี แต่ต้องประกอบด้วยเส้นผมสวยสุขภาพดีด้วย ที่ไม่ใช่จะได้มาด้วยการบำรุงปลายผมเท่านั้น แต่ต้องดูแลลึกถึงรากผมก่อนเติบโต เช่นกัน

 

รากผม คืออะไร

รากผม (Hair root) เป็นส่วนที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของหนังศีรษะ มีลักษณะคล้ายหลอด เรียกว่าต่อมรากผม  (Hair Follicle) ส่วนล่างสุดของรากผม มีลักษณะโป่งพองออกมา เป็นกระเปาะเปิดมีลักษณะเว้าเข้าด้านในรูปร่างคล้ายคีม เรียกว่า Hair Bulb

รากผมตั้งอยู่บนฐานที่เป็นเนื้อยึดต่อมีลักษณะคล้ายนิ้วมือยื่นเข้าไปในโพรงของ Hair Bulb เรียกว่า ปุ่มปลายแหลม (Papilla) ดังนั้นต่อมรากผมแต่ละต่อมจะมีปุ่มปลายแหลม 1 อันเสมอ ปุ่มนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เนื่องจากเป็นส่วนที่มีเลือด และมีเส้นประสาทหล่อเลี้ยง ทำให้เซลล์รากผมมีการเจริญเติบโต เกิดเซลล์ใหม่ของผมขึ้นเรื่อยๆ สำหรับใน 1 รากผมจะมีต่อมรากผมประมาณ 5 ล้านต่อม 

ส่วนประกอบของเส้นผม

เส้นผมแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ HAIR SHAFT (เส้นผมซึ่งเป็นส่วนที่งอกเหนือศีรษะ เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว)  และ HAIR ROOT (รากผมที่ฝังใต้ศีรษะ)

 

ความสำคัญของรากผม

การบำรุงเฉพาะบริเวณเส้นผมหรือปลายผมที่เรามักทำกันบ่อย ๆ โดยการใช้แชมพูสระผมและเซรั่มนั้นเป็นแค่การแก้ปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น เราควรที่จะฟื้นฟูลึกถึงต่อมรากผม ที่จะช่วยบำรุงเส้นผมเกิดใหม่ให้มีสุขภาพดีตั้งแต่ในระยะเติบโต (ระยะแรก) ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงหนุ่มสาวหรือสูงวัยก็ตาม การเติมสารอาหารสำคัญให้กับรากผมอย่างเพียงพอ จะช่วยให้เส้นผมของเราเติบโตได้อย่างแข็งแรง

 

วงจรชีวิตเส้นผม

การที่จะให้ความสำคัญกับเส้นผมนั้น ควรที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นผมให้ละเอียด ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการ

เรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตเส้นผม เช่นกัน  วงจรชีวิตเส้นผมนั้นมีอยู่ 3 ระยะ คือ

1. Phase 1 ระยะเจริญเติบโต (Anagen) : เป็นระยะการเติบโตของเส้นผมใหม่ยาวนานประมาณ 2-6 ปี ยิ่งต่อมรากผมอยู่ในระยะเจริญเติบโตนานเท่าไร เส้นผมจะยิ่งงอกได้ยาวมากเท่านั้น

2. Phase 2 ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen) : เป็นระยะที่เส้นผมหยุดการเจริญเติบโต แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยในระยะนี้ต่อมรากผมจะหดตัวส่งผลให้เส้นผมถูกดันแยกตัวออกจากต่อมขึ้นมาด้านบน ค่อย ๆ ขาดสารอาหารและเตรียมที่จะหลุดร่วง

3. Phase 3 ระยะหลุดร่วง (Telogen) : เป็นระยะที่ต่อมรากผมดันตัวเองขึ้นมาด้านบน และเส้นผมที่งอกใหม่ (จากต่อมรากผม) ก็จะค่อย ๆ ดันเส้นผมเก่าให้หลุดร่วงไป ซึ่งระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

 

ปัญหาผมร่วงที่เกี่ยวข้องกับรากผม

 

หากไม่รักษาความสะอาดศีรษะ รับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์กับเส้นผม ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาผมร่วงได้  และปัญหาผมร่วงที่เกี่ยวข้องกับรากผม พอจะจำแนกได้ดังนี้

 

โรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์

เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะผมบาง  ส่วนใหญ่พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเห็นเด่นชัด ควรรักษาแต่เนิ่น ๆ และต้องรักษาในระยะยาว

โรคผมร่วงเป็นหย่อม

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำไปทำลายเส้นผมตัวเอง อาจเกิดผมร่วมหย่อมเดียวหรือหลาย ๆ หย่อมรวมกัน หรือผมร่วงทั้งศีรษะ  ถ้าร่วมเป็นหย่อมประมาณ 1-3 หย่อมสามารถใช้ยาทา หรือฉีดยาเฉพาะที่ โดยมากหากร่วงเพียงไม่กี่หย่อม สามารถหายได้เองภายใน 1 ปี แต่หากเป็นมากควรพบแพทย์

โรคผมร่วงแบบฉับพลัน

เป็นโรคที่มักจะเกิดตามหลังภาวการณ์เจ็บป่วย ไม่สบาย หลังมีไข้สูง เช่น ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น  โดยปกติแล้วหากหายจากโรคแล้วผมจะขึ้นใหม่ได้เอง

โรคปุ่มรากผมอักเสบ (Scalp Folliculitis)

ปุ่มรากผมอักเสบ คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับรูขุมขน ที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือระคายเคืองบริเวณรูขุมขนจากการบาดเจ็บหรือเกิดการอุดตันของรูขุมขน หากว่าอักเสบมาก ๆ ก็จะกระตุ้นการหลุดร่วงของเส้นผมบนหนังศีรษะได้

โรคดีแลอี (Discoid Lupus Erythematosus)

เป็นโรคที่ภูมิต้านทานตนเองผิดปกติชนิดเรื้อรัง ผมร่วงจะเกิดจากกระบวนการอักเสบบริเวณรูขุมขนทำให้เม็ดเลือดขาวไปทำลายบริเวณรากผมและต่อมไขมัน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สามารถรักษาโดยการใช้ยา และหลีกเลี่ยงแสงแดด

 

วิธีดูแลรากผมให้แข็งแรง ป้องกันผมร่วง

วิธีแก้ผมร่วงที่ดี คือ การกระตุ้นความแข็งแรงให้เซลล์รากผมจากภายใน ทำให้รากผมมีวัตถุดิบที่เพียงพอในการสร้างผม และยังเข้าไปช่วยให้กระบวนการสร้างผมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  เราสามารถป้องกันผมร่วงได้โดยวิธีที่กล่าวต่อไปนี้

1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การกระตุ้นความแข็งแรงให้รากผมมีสุขภาพแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอกนั้น ให้เริ่มต้นจากการกินอาหารบำรุงผม และเมื่อร่างกายเราได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามิน อี บี ซี ธาตุเหล็ก และโอเมก้า 3 และพวกโปรตีนต่าง ๆ 
 
อาหารที่ควรรับประทาน คือ พวกถั่วและธัญพืช นมสด ชีส โยเกิร์ต ปลาแซลมอน ผักใบเขียว ดอกกะหล่ำ ไข่ หอยนางรม หอยแมลงภู่ กล้วยหอม มะละกอ แครอท เป็นต้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ผงชูรส ผงปรุงรส ซึ่งเป็นแหล่งรวมของโซเดียม วิธีนี้ช่วยได้สำหรับกรณีคนที่ผมร่วงไม่มาก
 

2. ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma)

เป็นหนึ่งในวิธีบำรุงผมด้วยทรีทเมนต์โดยการใช้สเต็มเซลล์สกัดจากเกล็ดเลือดเข้มข้นหรือ PRP ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะให้แข็งแรงขึ้น เส้นผมจะดูเส้นใหญ่ หนาขึ้น หนังศีรษะเกิดความสมดุลจึงช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้
 

3. ฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenara Activa)

อีกวิธีบำรุงผมด้วยทรีทเมนต์การใช้สเต็มเซลล์สกัดจากรากผม (การใช้เซลล์รากผมที่แข็งแรงที่สุดตรงบริเวณท้ายทอยหรือหลังใบหูประมาณ 5-10 รากเท่านั้นแล้วนำไปสกัดสเต็มเซลล์) ฉีดบริเวณที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง

 

4. ทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม

เป็นหนึ่งในวิธีแก้ผมร่วงโดยไม่ต้องผ่าตัดโดยเป็นการเข้าไปรักษาที่รากผมโดยตรง เหมาะสำหรับคนที่ร่วงเยอะ

- Fotona Laser เป็นการใช้เลเซอร์ 2 ชนิดร่วมกัน ยิงด้วยพลังงานต่ำ เข้าไปบริเวณที่เกิดอาการผมร่วง ผมบาง  เลเซอร์ตัวนี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของผม เสริมสร้างรากผม กระตุ้นการสร้างเส้นเลือด ให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและหนังศีรษะ ทำให้รากผมแข็งแรงขึ้น

- LLLT คือการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม ลดอัตราการขาดหลุดร่วง สามารถใช้ร่วมกับการปลูกผม เพื่อช่วยให้แผลจากการปลูกผมหายเร็วขึ้น รวมทั้งเร่งการงอกของเส้นผมได้อีกด้วย

 

5. ใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูลดผมร่วง

อีกวิธีที่เป็นที่นิยมโดยการใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูที่มีสรรพคุณช่วยลดผมร่วง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารช่วยยับยั้งฮอร์โมน DHT โดยเราขอแนะนำให้ใช้แชมพูทำความสะอาดเส้นผมที่จะช่วยยับยั้งฮอร์โมน DHT (ตัวที่ก่อให้เกิดผมร่วง ถ้ามีมากเกินไป)  และจะได้ผลยิ่งขึ้นหากใช้ร่วมกับ SERUM บำรุงผมไปด้วย

 

สรุป

เราสามารถบอกลาปัญหาผมร่วงได้ด้วยการบำรุงรากผมให้แข็งแรงขึ้น เพียงแค่การบำรุงรักษาให้ถูกจุด จากทั้งภายในอย่างการรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงไปยังเซลล์รากผม และจากภายนอกโดยมาจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและช่วยบำรุงเส้นผม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ หากพบว่ามีปัญหาผมร่วงจนผิดสังเกตก็อย่ารอช้าให้พบเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป เพื่อให้เส้นผมของเราอยู่กับเรานานที่สุด บอกลาปัญหาหัวล้านไปได้เลย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที