AllYouShouldKnow

ผู้เขียน : AllYouShouldKnow

อัพเดท: 01 มี.ค. 2022 23.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1842 ครั้ง

กายภาพบำบัด สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้หลายอย่าง การที่รู้วิธีกายภาพเบื้องต้นจะสามารถทำให้ทุกคนเจ็บป่วยน้อยลงได้ และใช้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกวิธีมากขึ้น


กายภาพบำบัดคืออะไร จำเป็นต้องทำไหม เมื่อทำแล้วต้องทําตลอดชีวิตรึเปล่า?

กายภาพบำบัดคืออะไร จำเป็นต้องทำไหม เมื่อทำแล้วต้องทําตลอดชีวิตรึเปล่า?

ในยุคนี้ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกต่างก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือรูปแบบการทำงานของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ จากที่เคยต้องเดินทางฝ่ารถติดหรือยืนเบียดเสียดคนบนรถไฟฟ้าออกไปทำงาน ก็เปลี่ยนมานั่งทำงานอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น เริ่มแรกการทำงานที่บ้านแบบนี้อาจดูสะดวกสบายกว่าการต้องออกไปทำงานที่ออฟฟิศ คุณสามารถตื่นสายได้มากขึ้น มีเวลานั่งจิบกาแฟยามเช้ามากขึ้น หรือแม้แต่ใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น ทว่า หากคุณไม่ระวังตัวมากพอล่ะก็ สิ่งที่ตามมาจากการนั่งทำงานที่บ้านนาน ๆ อาจไม่ใช่แค่เวลาว่างที่มากขึ้น แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่ตามมาเป็นขบวนด้วยเช่นกัน ทั้งอาการปวดคอ ปวดบ่าและไหล่ หรืออาจปวดไปทั้งตัว ที่เรียกรวม ๆ กันว่าออฟฟิศซินโดรม หลายคนคงเคยได้ยินชื่อโรคนี้มาบ้าง โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ร่างกายท่าเดิมเป็นเวลาติดต่อกันนาน แม้ว่าโรคนี้จะไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาก็สามารถหายได้ แต่การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ร่างกายหายเป็นปกติได้ไวขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคซ้ำอีกด้วย

กายภาพบำบัดคืออะไร

แล้วการทำกายภาพบำบัดนี่คืออะไรล่ะ กายภาพบำบัด หรือ Physical therapy เป็นการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การรักษาจะเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สรีระร่างกายของผู้ที่จะทำกายภาพบำบัด จากนั้นจึงวิเคราะห์จุดที่จะรักษาเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ทำกายภาพบำบัดที่สุด โดยการทำกายภาพบำบัดในบางส่วนของร่างกายอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์กายภาพมาช่วยรักษาด้วย ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยในการทำกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เครื่องดึงหลังและคอ เป็นต้น

ใครบ้างที่ควรกายภาพบำบัด

หลายคนอาจตั้งคำถามอยู่ในใจว่าใครบ้างที่ต้องทำกายภาพบำบัด ไม่ใช่คนป่วยหรือคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมาหรอกเหรอ คำตอบก็คือ เราทุกคนสามาถทำกายภาพบำบัดได้ แม้ว่าจะไม่ได้เจ็บป่วยก็ตาม เพราะการทำกายภาพบำบัดถือเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง เป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อ และเส้นเอ็นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

กายภาพบำบัดทำตำแหน่งไหนได้บ้าง

การทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้หลายส่วนบนร่างกายตามบริเวณที่เกิดอาการปวดหรือบริเวณที่ต้องการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น หากมีอาการปวดคอ บ่า และไหล่ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ควรเลือกการทำกายภาพบำบัดที่เน้นบริเวณคอ บ่า และไหล่ หรือในบางกรณีคนที่มีอาการปวดสามบริเวณนี้อาจมีอาการปวดลามไปถึงหลังด้วย กรณีนี้ควรเลือกวิธีกายภาพบำบัดที่รักษาครอบคลุมบริเวณตัวช่วงบนทั้งหมด หากเป็นคนที่มีอาการปวดแขนก็ควรเลือกวิธีกายภาพบำบัดที่เน้นบริเวณช่วงแขน หรือหากเป็นคนที่มีอาการเจ็บป่วยหรือปวดบริเวณร่างกายส่วนล่างอย่างขาหรือเข่าก็ควรเลือกวิธีการกายภาพบำบัดที่เน้นรักษาและเสริมความแข็งแรงให้ช่วงขาและข้อเข่า

กายภาพบำบัด มีกี่ประเภท

จากที่กล่าวมาข้างต้นฟังดูเหมือนการทำกายภาพบำบัดนั้นเน้นการรักษาหลักไปที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นเพียงเท่านั้น แต่นั่นเป็นเพียงแขนงหนึ่งของศาสตร์กายภาพบำบัดเท่านั้น หากเจาะลึกเข้าไปจะสามารถแบ่งประเภทการทำกายภาพบำบัดได้ถึง 4 ประเภท และการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดแต่ละประเภทนั้นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือที่เรียกกันว่า “นักกายภาพบำบัด” ในแขนงนั้น ๆ เป็นคนดำเนินการรักษา โดยนักกายบำบัด 4 ประเภทนั้นได้แก่ นักกายภาพบำบัดด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ นักกายภาพบำบัดด้านระบบทางเดินหายใจ นักกายภาพบำบัดด้านพัฒนาการในเด็ก และนักกายภาพบำบัดด้านระบบประสาท

อุปกรณ์ช่วยในการกายภาพบำบัด

ในการทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพบำบัดนั้นมีอุปกรณ์สำหรับช่วยทำกายภาพบำบัดหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานต่างกันไป บทความนี้จะขอพูดถึงหนึ่งในอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดอย่างเครื่องอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเครื่องอัลตร้าซาวด์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกมา ในการทำกายภาพบำบัดคลื่นเสียงความถี่สูงจากเครื่องอัลตร้าซาวด์จะถูกส่งลงไปยังชั้นเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของโมเลกุลภายในเนื้อเยื่อ และเกิดเป็นพลังงานความร้อนในชั้นเนื้อเยื่อเหล่านั้น โดยคลื่นอัลตร้าซาวด์จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ เร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต จึงมีผลในการลดปวดและลดการอักเสบที่สะสมอยู่ภายในกล้ามเนื้อได้ทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง

ประโยชน์ของการกายภาพบำบัด

ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านการเคลื่อนไหวจากการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติมากที่สุด ในส่วนของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการนั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน การนั่งไขว่ห้าง การนั่งหลังค่อม การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและไขข้อต่าง ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมเหล่านั้น รวมถึงเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไขข้อ และเส้นเอ็นขึ้นอีกด้วย

ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัด

ในกรณีที่ต้องการรักษาอาการบาดเจ็บด้วยการทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกายภาพบำบัด จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและเห็นผลมากที่สุด รวมไปถึงป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำกายภาพบำบัดผิดวิธี ขั้นตอนต่าง ๆ มีดังนี้

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ที่ต้องการรักษา เพื่อศึกษาสรีระและสภาพร่างกายโดยรวม

  2. นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมที่สุด

  3. เข้าสู่กระบวนการรักษา

  4. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการรักษา

การกายภาพบำบัดที่บ้าน

แต่หากคุณไม่ได้เป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านการเคลื่อนไหวจากการผ่าตัด เป็นเพียงคนที่ต้องการทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย หรือทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น การทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองที่บ้านก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี ส่วนใหญ่การทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านมักเป็นท่าที่เน้นการยืดเส้นเพื่อคลายความตึงของเส้นเอ็นรวมถึงคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ

ข้อควรระวังในการการกายภาพบำบัด

แม้ว่าการทำกายภาพบำบัดนั้นจะมีข้อดีหลายประการ แต่การทำกายภาพบำบัดโดยไม่ศึกษาอย่างละเอียดนั้นก็สามารถทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้เช่นกัน ข้อควรระวังเบื้องต้นในการทำกายภาพบำบัดคือไม่ควรทำกายภาพบำบัดขณะมีไข้สูง หรือขณะที่ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บและยังไม่หายดี และห้ามทำกายภาพบำบัดในจุดที่กระดูกแตก หัก ร้าว ยังไม่สมานดี รวมไปถึงขณะกำลังเป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง เช่น อีสุกอีใส งูสวัด และบริเวณที่มีแผลเปิด และข้อควรระวังข้อสำคัญที่สุดคือไม่ควรใช้อุปกรณ์ช่วยกายภาพบำบัดโดยไม่ศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดหรือปราศจากการดูแลและคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด

การกายภาพบำบัด ราคาเท่าไหร่

อัตราค่าบริการในการทำกายภาพบำบัดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการทำ ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ ระยะเวลาที่ต้องการทำ และความต่อเนื่องในการทำ บทความนี้ได้นำตารางค่าบริการการทำกายภาพบำบัดแบบคร่าว ๆ มาให้ดูเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

(ขอบคุณข้อมูลจาก HEALTH Designs)

การกายภาพบำบัด ที่ไหนดี

คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ใครหลาย ๆ คนสงสัยอยู่ในใจ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือผู้ที่ต้องการทำกายภาพบำบัดต้องการรักษาอะไร เพราะคลินิกกายภาพบำบัดหรือแม้แต่โรงพยาบาลเองก็มีสาขาการกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญแตกต่างกัน เมื่อพบจุดที่ต้องการรักษาแล้วจึงค่อยเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ตัวอย่างคลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะด้าน เช่น คลินิกเชี่ยวชาญการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม คลินิกเชี่ยวชาญด้านการจัดกระดูก เป็นต้น

ขอบเขตและหน้าที่ของนักกายภาพบำบัด

ในการทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพบำบัดนั้นนักกายภาพบำบัดจะมีหน้าที่ตั้งแต่เริ่มตรวจสอบสภาพร่างกายผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุอาการบาดเจ็บ รวมไปถึงวิธีกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับอาการบาดเจ็บนั้น ๆ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรักษา และเมื่อทำการรักษาเสร็จ ไม่ว่าจะต่อครั้งหรือจนจบโปรแกรมการรักษา นักกายภาพบำบัดจะให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยในเรื่องอาการบาดเจ็บหรือโรคของผู้ป่วย เช่น แนะนำวิธีการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้าน หรือแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงหรือกลับมาเป็นซ้ำในกรณีที่รักษาจนหายขาด

เมื่อทำกายภาพบำบัดต้องทำตลอดชีวิตไหม

คำถามนี้เป็นอีกหนึ่งคำถามที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดต้องตอบอยู่บ่อย ๆ เพราะหลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วยบางประเภทเช่นออฟฟิศซินโดรมหรือผลกระทบจากการผ่าตัดแล้วจะต้องเป็นไปตลอดชีวิต และนั่นหมายถึงการที่ต้องทำกายภาพบำบัดไปตลอดชีวิตเช่นกัน แต่ความจริงแล้วการทำกายภาพบำบัดไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำไปตลอดชีวิต เพราะการทำกายภาพบำบัดเป็นเพียงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายให้กลับมาสมบูรณ์หรือเป็นปกติที่สุดเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ จึงไม่ควรละเลยในจุดนี้เช่นกัน

กายภาพบำบัด มีความสำคัญไหม ไม่ทำได้รึเปล่า

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจคิดว่าการทำกายภาพบำบัดฟังดูน่ากลัวจัง ไม่ทำได้หรือเปล่า หรืออาจเห็นว่าการทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่เสียเวลาชีวิต ฉันแข็งแรงดีจะตาย ไม่จำเป็นต้องทำเสียหน่อย ความคิดเหล่านี้ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะการทำกายภาพบำบัดนอกจากเพื่อการรักษาโรคแล้ว ยังถือเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง เป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเราเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บได้โดยง่าย ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดจึงถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันกับการออกกำลังกายประเภทอื่น และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ฉะนั้น อย่าลืมสละเวลาในแต่ละวันเพียง 15-30 นาทีมาออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายกันเถอะ

 

 


 




 

 


 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที