ดร.นระ คมนามูล
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมทำให้ประเทศชาติต้องการเครื่องมือเครื่องจักรทุกรูปแบบมาช่วยการทำงานและการผลิต เครื่องมือเครื่องจักรทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อน และมีอัตราความเร็วในการทำงานสูง นับวันแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผู้ใช้จะต้องปรับตัวเข้าหาความทันสมัยของเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งมักจะทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงเกิดวิชา Ergonomics ขึ้น วิชานี้ถ้าแปลตรงตัว หมายถึง กฎของการทำงาน แต่ความหมายของคำนี้ ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า วิศวอนามัย
โดยทั่วไป ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในการทำงาน งานคือกิจกรรมที่มีเป้าหมายอย่างเจาะจง โดยอาจจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ก็ได้ ภารกิจนั้นทำได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เช่นการขับรถยนต์ งานอดิเรก การเล่นกีฬา แม้แต่การสู้รบในสมรภูมิก็เป็นภารกิจ เป็นต้น ภารกิจที่ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือเครื่องจักร ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ และการทำงานให้ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น
ที่เห็นได้ชัด คือ การใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลายเกือบทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงานสำนักงานหรืองานการผลิต แต่ที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่มากคือ มักวางเครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานปกติ แทนที่จะเป็นโต๊ะคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ประเด็นที่มองข้ามคือ ระยะห่างของจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมประการหนึ่งและระดับคีย์บอร์ดที่ไม่สัมพันธ์กับระดับเก้าอี้นั่งทำงานอย่างเหมาะสมอีกประการหนึ่ง ความไม่เหมาะสมเหล่านี้ มักทำให้ผู้ทำงานเสียสุขภาพทางสมองและทางสรีระโดยไม่รู้ตัว ผลคือประสิทธิภาพการทำงานลดลงและทำลายสุขภาพของคนทำงานอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ที่ปรากฏบ่อยคืออาการวิงเวียนและคลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องพักเป็นวันกว่าจะฟื้น
เครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ในการทำงานต้องเหมาะสมกับผู้ใช้ เก้าอี้นั่งทำงานต้องมีความสูงที่พอเหมาะกับผู้นั่ง จอคอมพิวเตอร์ก็ต้องอยู่ในระยะสายตาอ่านหนังสือของแต่ละคนแต่ละวัย แผงหน้าปัดแสดงการทำงานของเครื่องจักร รถยนต์ หรือเครื่องบินต้องสามารถอ่านได้ง่ายขณะขับเคลื่อน แม้กระทั่งขนาดของจอบเสียมก็ต้องเหมาะมือคนสวน ถ้าความเหมาะสมดังกล่าวเป็นไปตามที่ว่า จะพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของผู้ใช้เครื่องมือเครื่องจักรจะดีขึ้น และสูงขึ้นกว่ากรณีที่ไม่มีความเหมาะสม
เหตุผลที่ต้องศึกษาวิชาวิศวอนามัย
แต่กาลก่อน เครื่องมือและเครื่องจักรนั้นทำขึ้นหรือออกแบบโดยผู้ใช้โดยเฉพาะ จึงมีความเหมาะสมกับผู้ใช้นั้นๆ แต่ปัจจุบันนี้ตรงกันข้าม เครื่องมือเครื่องจักรผลิตจากโรงงานเป็นปริมาณมากๆ โดยยากที่จะคำนึงถึงผู้ใช้ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างต่างๆกัน ความรู้ความชำนาญต่างๆกัน ปัญหานี้ได้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะในช่วงเวลา 4 ปีระหว่างสงคราม คู่สงครามพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเร็วของการทำงาน แต่ปรากฏว่าผู้ใช้ตามไม่ทัน จึงเกิดผลได้ต่ำกว่าที่ควร
การออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ หรือเครื่องจักรสมัยก่อนนั้น สามารถใช้สามัญสำนึกในส่วนของวิศวกรและผู้ออกแบบก็เพียงพอ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และเครื่องมือต้องการการปรับตัวเพียงเล็กน้อย หรือไม่ต้องปรับตัวเลย เพราะความสลับซับซ้อนมีน้อย และผลเสียก็ไม่มาก แต่เมื่อความสลับซับซ้อนในอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ปัจจุบันมีมากขึ้น ผู้ใช้จึงตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตรายยิ่ง เช่นวิวัฒนาการของเครื่องบินรบ และเครื่องบินโดยสารทุกวันนี้ เป็นต้น ผลที่ตามมาของความผิดพลาดหรือความไม่เหมาะสมของเครื่องจักรอาจนำพาผู้ใช้รวมถึงผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิตได้
การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องจักรทุกวันนี้ มีการแข่งขันกันในท้องตลาดมากขึ้น การผลิตก็เป็นแบบผลิตปริมาณมากๆ ต้องคำนึงถึงการใช้งานได้ วิศวกรรมเป็นเลิศ ราคาแข่งขันได้ และความสวยงามด้วย การออกแบบควรคำนึงถึงการใช้งานได้ วิศวกรรมเป็นเลิศ ราคาแข่งขันได้ และความสวยงามที่ดึงดูด การออกแบบควรคำนึงถึงเรื่องวิศวอนามัยด้วยตั้งแต่เริ่มต้น มิใช่ผลิตไปแก้ไขไปเพื่อความเหมาะสมระหว่างผู้ใช้และของใช้ ประเด็นสำคัญคือ ทุกวันนี้เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องจักร มิได้จำกัดวงอยู่แต่ในกลุ่มช่างอาชีพเท่านั้น หากแต่กระจายออกไปในหมู่คนที่มีวัยต่างกัน พื้นความรู้ต่างกัน ขนาดทางกายภาพต่างกัน และกระทั่งการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ผลที่ตามมาของการไม่ใช้วิชาวิศวอนามัย
กราฟในรูป อาจจะอธิบายได้ดีถึงความสัมพันธ์ของการออกแบบ การปรับตัวของผู้ใช้ และสมรรถนะของงาน
|
ก) สมรรถนะสูงสุดของคนและเครื่องมือเครื่องใช้ อยู่ที่ การออกแบบให้เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด ข) แต่ลักษณะทางกายภาพ และสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้ มี ขอบเขตกว้างขวางมาก การออกแบบอาจจะไม่เหมาะ สมที่สุด การปรับตัวของผู้ใช้จึงต้องเข้ามามีบทบาท การปรับตัวก็อาจจะยอมรับได้ในระดับหนึ่ง สมรรถนะ อาจตกลงไปบ้าง เกิดความเครียดและความไม่สบายตัว กับผู้ปฏิบัติงาน ค) การออกแบบที่ไม่เหมาะสมคือ สมรรถนะของงานอยู่ ในระดับต่ำสุดเกินกว่าจะยอมรับได้ มีผลให้การทำงาน ตกอยู่ในภาวะอันตราย หรือทำงานไม่ได้ผลงานเลย
|
ดังนั้น การละเลย หรือความไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องวิศวอนามัยโดยผู้ออกแบบ นักวางแผน และผู้มีอำนาจตัดสินใจ จึงมีผลต่อความไม่เหมาะสมระหว่างผู้ใช้เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อม เกิดงานผิดพลาดและงานเสียอยู่เสมอ ตลอดจนกระทั่งความรู้สึกไม่สบายตัว หรือความไม่พอใจในการทำงานของผู้ใช้ หรือผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้หรือผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับความทุกข์ร้อนจากความเสียหายทางกายภาพทั้งเป็นการชั่วคราว หรือถาวรเลยก็ได้ ผลเสียระดับชาติคือ สินค้าผลิตภัณฑ์หาตลาดไม่ได้ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายให้สูญเปล่า คนทำงานขาดงาน หรือเปลี่ยนงานบ่อย เพราะผู้ปฏิบัติงานเกิดความไม่พอใจกับสภาพการทำงาน หรือที่ทำงาน
เรื่องที่น่าศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิชาวิศวอนามัย
วิชาวิศวอนามัยเป็นวิชาที่ประยุกต์กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
เรื่องที่น่าศึกษา |
ตัวอย่าง |
ประเด็นทางกายภาพ ระหว่างคน-เครื่องจักร |
รูปร่าง ขนาด สี ลักษณะภายนอก และวิธีการปฏิบัติงานของหน้าปัดเครื่องวัด และการควบคุมของรถยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ฯลฯ |
ประเด็นเรื่องความรู้ความเข้าใจ ระหว่างคน-เครื่องจักร |
ความเข้าใจในคำสั่ง และหนังสือคู่มือต่างๆ รูปแบบของคำสั่งระหว่างคอมพิวเตอร์และผู้ใช้ |
การออกแบบที่ทำงาน และการวางผังโรงงาน |
การวางผังที่ทำงาน โรงงาน ครัวในบ้าน ที่ว่างสาธารณะ ฯลฯ ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ และส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่างๆ |
สภาพแวดล้อมทางกายภาพ |
ผลกระทบของภูมิอากาศ เสียง และการสั่นสะเทือน แสงสว่าง และการติดเชื้อโรคทางเคมี ชีวะต่อการปฏิบัติงาน สุขภาพ และความสะอาด |
สภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา |
โครงสร้างขององค์กรภายในกลุ่มงาน และผลความพอใจกับภาระหน้าที่ ผลผลิต และสมาชิกกลุ่ม |
การออกแบบงาน การคัดเลือก และการฝึกอบรม |
ผลของการทำงานเป็นกะต่อสมรรถนะของงาน การสั่งงาน เครื่องช่วยทำงาน และโปรแกรมฝึกอบรม การคัดเลือกบุคลากร โดยคำนึงถึงทัศนคติและบุคลิกภาพ |
สรุปในขั้นนี้ วิศวอนามัยคือการศึกษาปัญหาสร้างความเหมาะสมของคนกับอุปกรณ์เครื่องใช้ และขั้นตอนการใช้ ที่น่าจะเป็นคือ การทำให้งานเหมาะสมกับผู้ใช้ แทนที่จะทำให้ผู้ใช้เหมาะสมกับงาน ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ทั้งสองอาจจะใช้ได้ งานในที่นี้อาจจะอธิบายได้ในรูปทางกายภาพคือ การควบคุมจอภาพ เนื้อที่ห้องทำงาน และสิ่งแวดล้อม ข้อสมมติพื้นฐานคือ สมรรถนะการทำงานจะดีขึ้นและเป็นที่พอใจขึ้น ถ้าความเหมาะสมที่ว่าดี
เกณฑ์การประเมินปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา
ความคิดในเรื่อง “ความไม่เหมาะสม”ที่กล่าวมาตลอดเวลา จำเป็นต้องมาวิเคราะห์ให้ชัดแจ้งว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จึงจะทราบความเหมาะสมในทางปฏิบัติ
ดัชนีที่ใช้ชี้วัดความไม่เหมาะสม ระหว่างงานและผู้ปฏิบัติงาน อาจจะพิจารณาออกเป็น 2 ระดับที่สำคัญคือ
ระดับแรก คุณภาพ และปริมาณผลงาน หรือผลผลิต
อัตราการทำงาน หรือผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยเวลา
ระดับที่สอง ระยะเวลาการขาดงานเพราะการเจ็บไข้ หรือไม่พอใจงาน
อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ การว่างงาน
อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์วิกฤต
การตรวจสอบทางวิศวอนามัย อาจจะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบประวัติผลผลิต หรือการใช้งาน รายงานความผิดพลาด และจำนวนของเสีย การต่อว่าของลูกค้าหรือลูกจ้างเกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ และการวิเคราะห์อุบัติเหตุ ในสถานการณ์หนึ่งๆ ที่ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่พัฒนาขึ้นแทนที่จะทำจากการศึกษาดัดแปลงจากของที่มีอยู่ ปัจจัยเหล่านี้จะใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินของจำลอง หรือต้นแบบ สำหรับการออกแบบที่เหมาะสม
เมื่อมาถึงขั้นการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดถึงเหตุผลสำหรับระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ของผลผลิต ความผิดพลาด คำต่อว่า และอุบัติเหตุ จำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์ในระดับขั้นต่อไป ซึ่งรายละเอียดมีมากเกินกว่าจะบรรยายในบทความสั้นๆได้
ลักษณะของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวอนามัย
ปัจจัยที่นักวิศวอนามัยใช้ในการพิจารณาความเหมาะสม ระหว่างผู้ใช้และเครื่องจักร กล่าวอย่างกว้างๆได้คือ
ลักษณะทางกายภาพ: ขนาด รูปร่างของมนุษย์
พละกำลังทั้งทางโครงสร้างและการเคลื่อนไหว
ลักษณะทางจิตวิทยา: ระบบประสาทสัมผัส
ระบบการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจ
ระบบทักษะในการทำงาน
ลักษณะทางชีวะวิทยา กล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ฯลฯ
นักวิศวอนามัยควรจะอยู่ที่ไหน
องค์กรที่เห็นความสำคัญของวิชาวิศวอนามัย ในการผลิตสินค้าและการบริการ หรือการทำงานภายในสำนักงาน อาจจะใช้ความชำนาญของตนเอง หรืออาจจะแสวงหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกก็ได้
หน่วยงานที่จำเป็นต้องมีหรือประสานงานกับนักวิศวอนามัยมี
-ฝ่ายวิศวกรรมการผลิตและการออกแบบ
-ฝ่ายงานสถานที่และสิ่งแวดล้อม
-ฝ่ายงานการแพทย์และสุขอนามัย
-ฝ่ายงานบุคลากรและพัฒนาบุคคล
-ฝ่ายการจัดการงานและวางแผนงาน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที