นระ

ผู้เขียน : นระ

อัพเดท: 06 ส.ค. 2007 15.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 534637 ครั้ง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของ โลจิสติกส์ ก็เปลี่ยนไปตามวิธีการดำเนินธุรกิจของโลก ในยุคศตวรรษที่ 20 ในทางการทหาร หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนกองทัพ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปโภคต่าง ๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ หมายถึง การวางแผนและควบคุมการเคลื่อนไหลของวัตถุดิบและผลผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้บริโภค โดยมีการจัดองค์กรหรือกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมคุ้มค่า

โดย
ดร.นระ คมนามูล Ph.D.(London)
วุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธา


ตอนที่ 8/1 เส้นทางตลาดสำหรับ TELEMATICS

เส้นทางตลาดสำหรับ TELEMATICS

                                                                               ดร.นระ คมนามูล

 

เทเลแมติกส์ คืออะไร

                ในระบบการจราจรอัจฉริยะมีการกล่าวถึงคำว่า “เทเลแมติกส์”  อยู่เสมอ  และใช้คำนี้กันอย่างแพร่หลายในความหมายที่หลากหลาย รวมถึงทุกอย่างนับตั้งแต่ระบบนำทางถึงเครื่องบันเทิงในรถยนต์ที่ติดตั้งไว้หลังพนักพิง

                อย่างไรก็ตาม ความหมายที่แท้จริงของเทเลแมติกส์ คือ การสื่อสารสองทางระหว่างรถยนต์และศูนย์บริการสารสนเทศจราจรที่ให้ความปลอดภัยและความมั่นคงแก่ผู้ขับขี่ยวดยาน

                เทเลแมติกส์มีไว้เพื่อแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ให้ประโยชน์ได้แม้กระทั่งในกรณีที่คนขับขี่เกิดหมดสติ นี่รวมถึงการบริการติดตามรถ   การบอกเส้นทาง   การออกนอกเส้นทาง   การล็อคและคายล็อคประตูรถโดยรีโมต   การบริการวินิจฉัยและดูแลตรวจสภาพรถโดยรีโมต และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

                เทเลแมติกส์กำลังมาแรงในยุโรปและประเทศญี่ปุ่น และแพร่ขยายเข้าสู่ประเทศอื่น ๆ อย่างช้า ๆ ไปทั่วโลก  อย่างไรก็ตามการสร้างความนิยมในเทเลแมติกส์เข้าไปในแต่ละประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีราคาแพงมาก นี่รวมถึงการจัดทำแผนที่ดิจิตอลของแต่ละท้องที่ พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่ครอบคลุม   การจ้างบุคลากรประจำศูนย์บริการเทเลแมติกส์ และที่สำคัญตลาดในประเทศต้องมีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สามารถหาได้ง่ายและมีราคาพอยอมรับได้สำหรับติดตั้งในรถยนต์แต่ละคัน

 

ในยุโรปและญี่ปุ่น

                ทำไมตลาดเทเลแมติกส์จึงเข้มแข็งในยุโรปและญี่ปุ่น คำตอบคือในยุโรปผู้คนคำนึงมากในเรื่องความปลอดภัย และเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับการบริการเทเลแมติกส์ที่จะให้ความสะดวกปลอดภัยแก่พวกเขา     อีกประการหนึ่งเป็นเพราะว่าประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าประเทศในอเมริกาเหนือ คนยุโรปเดินทางระหว่างประเทศบ่อยมากขึ้น ดังนั้นผู้ขับขี่รถยนต์จึงต้องการเทเลแมติกส์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือในยามต้องการความช่วยเหลือในการหาเส้นทางในท้องที่ที่ไม่คุ้นเคย    

                มีผู้ประเมินว่าตลาดทั้งหมดของฮาร์ดแวร์เทเลแมติกส์   และการให้บริการในยุโรปในปี ค.ศ. 2001 มีมูลค่า 1.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ   และคาดคะเนว่ารายได้ในปีค.ศ. 2007  จะเพิ่มขึ้นถึง 8.05 พัน ล้านเหรียญสหรัฐ

                ส่วนในประเทศญี่ปุ่น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็คล้ายคลึงกัน จากรายงานของกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกของญี่ปุ่น ระบบขนส่งอัจฉริยะ(ITS) และการใช้ระบบสื่อสารและสารสนเทศสำหรับรถยนต์(VICS) เป็นที่นิยมกันอย่างพุ่งพรวด นับตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1996 จำนวนอุปกรณ์ที่ขายได้ในปี ค.ศ. 1997 คือ128,000 เครื่อง  จากนั้นจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2002 ขายอุปกรณ์ติดตั้งในรถยนต์ได้ถึง 4.5 ล้านเครื่อง

 

ในอเมริกาเหนือ

                มีการประเมินว่าในทวีปอเมริกาเหนือรายได้ของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และการบริการของตลาดเทเลแมติกส์มีมูลค่าเพียง 900 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001     และคาดคะเนว่าจะเติบโตขึ้นถึง 6.99 พัน ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2007

                ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทเลแมติกส์ในอเมริกาเหนือ ได้ใช้เวลาพัฒนานานกว่าที่คาดคะเนไว้ตั้งแต่แรกเริ่มโดยผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรม  ทุกวันนี้ตลาดเทเลแมติกส์ในอเมริกาเหนือยังคงอยู่ในขั้นการพัฒนาระยะต้น   และผู้บริโภคโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือทุกวันนี้   ยังไม่รู้สึกถึงความต้องการสำหรับระบบเทเลแมติกส์          ทั้งนี้ เพราะว่ามีทางเลือกอื่นอยู่มาก   นับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือปกติและโทรศัพท์มือถืออินเตอร์เน็ต จนถึงแผนที่ต่าง ๆ และกระทั่งสถานีวิทยุกระจายเสียงสำหรับให้ข่าวสาร สนเทศจราจร

                เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเทเลแมติกส์มีราคาแพงมาก    บริษัทผลิตรถยนต์ในสหรัฐ ฯ จึงไม่สนใจลงทุนทั้งหมดโดยตรง หากแต่หันมาลงทุนเฉพาะด้านอุปกรณ์ที่สามารถคืนทุนได้รวดเร็วกว่า เช่นกรณีบริษัทฟอร์ดได้แสดงความมั่นใจในเทเลแมติกส์โดยการร่วมมือกับบริษัทThales Navigation ของยุโรปให้บริการเทเลแมติกส์สำหรับยวดยานต่าง ๆ  นอกจากนี้ฟอร์ดได้สร้างการร่วมทุนกับผู้ผลิตรถเปอโยต์-ซีตรองและผู้ผลิตรถเรโนลต์-นิสสันเพื่อจัดหาเทเลแมติกส์ให้ตลาดยุโรป

 

พัฒนาร่วมกัน

                ในการพัฒนาตลาดเทเลแมติกส์ ผู้เกี่ยวข้องต้องโฆษณาคุณค่าของเทเลแมติกส์ให้แก่ผู้ใช้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าในภายหน้าและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ซื้อรถยนต์รายใหม่    พูดอีกนัยหนึ่งคือ ต้องให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้คุณค่าของเทเลแมติกส์เพื่อสร้างกลยุทธ์แบบดึงผู้ขับขี่รถยนต์เข้าสู่ตลาดของสินค้า

                สำหรับความสำเร็จของการตลาดนั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เทเลแมติกส์และผู้ให้บริการสารสนเทศจราจร จนถึงผู้จัดหาฐานข้อมูลแผนที่และซอฟ์ตแวร์ รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนามาตรฐานให้เหมือนกันสำหรับอุตสาหกรรมด้านนี้ นอกจากนี้ ระบบเทเลแมติกส์ต้องสามารถอัพเกรดได้เช่นเดียวกับการใช้ได้กับผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้บริโภค

                ต้องคำนึงด้วยว่า ผู้บริโภคไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตกรุ่นภายในไม่กี่เดือน   อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้บริโภครู้ว่าระบบของพวกเขาสามารถอัพเกรดได้หรือคอมแพติเบิลกับอุปกรณ์อื่น ความต้องการเทเลแมติกส์จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและตลาดก็จะเติบโตขึ้น

                ทุกวันนี้ประเทศผู้นำทางด้านนี้ก็มีประเทศญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปโดยมีประเทศในอเมริกาเหนือตามมาติด ๆ

ตอนหน้ามากล่าวถึง ตลาดในอินเดีย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที