KC

ผู้เขียน : KC

อัพเดท: 01 มิ.ย. 2007 13.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 86884 ครั้ง

ในสภาวะที่ค่าวัสดุอุปกรณ์และแรงงานในการก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง (Cost control) จึงมีความสำคัญอย่างมาก การลดต้นทุนการก่อสร้างโดยวิธีการปรับลดปริมาณวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ การปรับลดข้อกำหนดของวัสดุอุปกรณ์ การลดขนาดอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง การยกเลิกระบบเครื่องกลไฟฟ้าบางระบบ การปรับลดขนาดพิกัดของอุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องกล เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปนั้นเป็นการปรับลดคุณภาพของโครงการลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้า (client satisfactory) ในที่สุด

Value Management การบริหารคุณค่า / Value Engineering วิศวกรรมคุณค่า (VM / VE) แตกต่างจากการลดต้นทุนก่อสร้างแบบเดิมๆ เพราะเป็นกระบวนการลดต้นทุนที่คำนึงถึงคุณค่า (Value) ของโครงการด้วยวิธีการออกแบบและการก่อสร้างที่ใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด VM / VE ทำให้เกิดสินทรัพย์ที่มีคุณค่า (valuable asset) ด้วยต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิผล

ในบทความฉบับนี้ต้องการนำเสนอความเป็นมา นิยาม และองค์ประกอบของ VM / VE รวมทั้งเทคนิคและวิธีการต่างๆของ VM / VE ที่สามารถนำมาใช้ในการออกแบบและก่อสร้างโครงการต่างๆได้ พร้อมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เชิญติดตามรายละเอียดในบทความฉบับนี้ได้เลยครับ


ความเป็นมา (History) และคำนิยาม (Terminology)

VM / VE เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในสมัยนั้น สหรัฐอเมริกาต้องเร่งผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆเพื่อใช้ในสงครามเป็นจำนวนมาก การขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับใช้ในการผลิตเป็นตัวผลักดันทำให้ผลิตชิ้นส่วนทดแทนขึ้นโดยมีต้นทุนที่ถูกลง   การที่มีทางเลือกใหม่ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าหมายถึงว่าทางเลือกนั้นมีคุณค่า (value) นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมาทำให้มีการใช้ VM / VE ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆอย่างแพร่หลาย

 

นาย Larry Miles วิศวกรผู้ออกแบบในบริษัท General Electric หรือ GE บริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ผู้มีชื่อเสียงในฐานะที่นำวิธีของ VM / VE มาใช้อย่างจริงจังได้ให้คำนิยามของ VM / VE ไว้ว่า “เป็นกระบวนที่มีการจัดการอย่างสร้างสรรค์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็น (unnecessary cost) ซึ่งเป็นต้นทุนที่เสียไปแล้วแต่ไม่ได้มีสิ่งที่มีคุณค่าเกิดขึ้นเลย”

 

Value คุณค่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ (function) ความจำเป็น (need) และต้นทุน (cost) คุณค่าที่ดีเกิดขึ้นเมื่อหน้าที่นั้นๆได้ตอบสนองความจำเป็นด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

Value Engineering วิศวกรรมคุณค่า หมายถึงกระบวนการที่เป็นระบบ (systematic approach) ที่ทำให้หน้าที่ของโครงการ (project function) บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดโดยไม่ทำให้คุณภาพ (quality) สมรรถนะ (performance) และความเชื่อถือได้ (reliability) ของโครงการด้อยลง

Value Management การบริหารคุณค่า หมายถึง กระบวนการที่มีโครงสร้าง (structured approach) ที่กำหนดว่าอะไรคือคุณค่า (value) ที่ได้รับการยอมรับที่ตอบสนองต่อความจำเป็น (need) โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ (project objective) และวิธีการที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์นั้นๆอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ

Unnecessary cost ต้นทุนที่ไม่จำเป็น หมายถึง ถ้าเปรียบเทียบทางเลือกสองทางแล้วพบว่า ทางเลือกหนึ่งที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอีกทางเลือกหนึ่ง แต่สามารถตอบสนองต่อหน้าที่ ได้ทั้งหมด ดังนั้นส่วนต่างของต้นทุนระหว่างทางเลือกทั้งสองนั้น คือต้นทุนที่ไม่จำเป็น

Life Cycle Cost ต้นทุนตลอดอายุ เป็นการคำนวณต้นทุนทั้งหมดตลอดอายุใช้งานเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Net Present Value: NPV) โดยใช้ตัวคูณลด (discount factor) ต้นทุนตลอดอายุประกอบด้วย เงินลงทุน (captital cost) ค่าใช้จ่ายทางการเงิน (financial cost) ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ (operational cost) ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา (maintenance cost) รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกำจัดเมื่อหมดอายุ (disposal cost)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที