วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 20 ก.ค. 2007 22.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6171 ครั้ง

เป็นหัวหน้าก็ประหนึ่งเป็นครูอาจารย์ของลูกน้อง นอกจากต้องทำหน้าที่หัวหน้าตามนโยบายขององค์การแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้อบรมสั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย จะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบหน้าถ้วนในหน้าที่ครูอาจารย์ที่อยู่ในนามหัวหน้าด้วยเช่นกัน


หัวหน้าก็เป็นเช่นครูอาจารย์

หัวหน้าก็เป็นเช่นครูอาจารย์

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

๑๖   กรกฎาคม   ๒๕๕๐

 

            “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” เป็นสำนวนไทยที่ตำหนิและบอกลักษณะของผู้ที่ไม่สนใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ครั้นเมื่อมีผู้มาทำเขาก็เข้าไปขัดขวางถ่วงความเจริญ ทำให้ความก้าวหน้าของงานไปได้อย่างล่าช้าเหนื่อยผู้ที่ทำทั้งวี่ทั้งวัน 

                เช่นเดียวกับการพายเรือคนที่พายก็พายไปคนที่นั่งมาด้วยพายมีแต่ไม่ช่วยพายกลับนำเท้าลงไปราน้ำ  ทำให้เรือช้าลง  เหตุการณ์แบบนี้มีทางเลือกหลายวิธี  ไม่พายก็นั่งเฉยๆ  ลงเรือไปซะไร้ประโยชน์  ถ้าจะให้ดีก็ช่วยกันพายอุปกรณ์พายไม่มีก็ใช้มือหรือเท้าก็ได้แต่ให้ออกมาในลักษณะพาย 

                เมื่อมีความพยายามอย่างนั้นแล้วจะทำให้คนพายมีกำลังใจมากขึ้น  การทำงานก็เช่นเดียวกันหากทำไม่ได้ไม่อยากทำก็ควรให้กำลังใจส่งเสริมมิใช่จะมาดึงรั้งให้เสียการเสียงาน

                ยกสำนวนไทยขึ้นมาเป็นบทนำและสาธยายเปรียบเทียบให้ทราบในวรรคแรกๆนั้นก็เพื่อโยงให้เห็นถึงการเอาเท้าราน้ำของผู้เป็นหัวหน้าที่คอยขัดขวางความเจริญขององค์กร  โดยเฉพาะพนักงานที่มีความมุ่งมั่นไฝ่รู้เรียนเสริมด้วยตนเองเพราะผู้บังคับบัญชาไม่ส่งเสริม 

                เมื่อไม่ส่งเสริมก็ขัดขวางซะด้วยคงจะคิดว่าเขาให้มาทำงานไม่ได้ให้มาเรียนลักษณะแบบนี้มีอยู่มากในองค์กรที่ไม่มีการพัฒนาหรือแม้แต่ที่กำลังพัฒนาบางคราวก็หลงมาในองค์กรที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วก็ยังมี หากคิดดังที่กล่าวมาก็เท่ากับว่าหัวหน้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์เหมือนม้าลำปาง วิสัยทัศน์แคบมากๆ

                ถูกต้องที่เกือบทุกแห่งทุกองค์กรรับพนักงานเจ้าหน้าทีเข้ามาเพื่อทำงานไม่ว่าตำแหน่งไหนก็ทำงาน  จะไม่ดีกว่าหรือถ้าเขาเหล่านั้นไฝ่รู้ก็ควรส่งเสริม  ส่งเสริมเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ได้มาซึ่ง  PQCDSMEE ที่สมบูรณ์นั่นเองเมื่อได้มาผลสรุปก็คือประสิทธิภาพประสิทธิผล

                การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับองค์กรนั้นสามารถทำได้ใหญ่ ๒ ประการคือ การเพิ่มที่ทุน และการเพิ่มที่คน 

                การเพิ่มที่ทุนคือการลงทุนให้น้อยผลตอบแทนให้มากๆ ไม่ว่าจะนำกิจกรรมใดๆมาก็ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในต้นทุนได้ไม่ว่าจะเป็น ๕ส. Safety Kaizen Qcc TQC TQM TPM เป็นอาทิ

            แต่หัวหน้า  ผู้บริหารทุกระดับต้องไม่ลืมว่าการเพิ่มผลผลิตขององค์กรต้องบริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม  ( คน เครื่อง วัตถุดิบ วิธีการ )  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 4 M’s การบริหารจัดการก็ต้องอาศัยปัจจัยอีก ๔ ประการ  ( คน วัตถุดิบ เงิน การบริหาร ) นี่ก็เรียกว่า 4 M’s  จะเห็นได้ว่าปัจจัยทั้งการผลิตและบริหารขาดไม่ได้คือ “คน”

                ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มที่คนนั่นแหละดีที่สุด โดยจะต้องทำให้คนได้พัฒนาการพัฒนาคนดีที่สุดคืออารอบรมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ยิ่งพนักงานสนใจเรียนรู้เองยิ่งต้องส่งเสริมเพราะเป็นจะทำให้การเรียนรู้นั้นประสบผลได้มากเพราะประกอบไปด้วยฉันทะของเขาเอง เมื่อคนพัฒนาคนั่นแหละจะมาพัฒนาองค์กรเอง หัวหน้าก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วยซ้ำไป  จึงเท่ากับว่าผู้ใดขัดขวางการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กรก็เท่ากับขัดขางการเจริญเติบโตขององค์กรเช่นกัน

                รู้ไว้เถิดว่าการที่ได้มาเป็นหัวหน้านับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ใช้อำนาจสร้างความดีเป็นหัวหน้าก็เป็นเช่นครูอาจารย์ของลูกน้องการให้การศึกษากับลูกน้องก็เท่ากับว่าได้ทำหน้าที่ครูอาจารย์ตามที่พุทธศาสนาได้สอนเอาไว้เกี่ยวกับหน้าที่ครูอาจารย์ดังนี้

                แนะนำดี - แนะ... (บอกให้รู้)   นำ...(ทำให้ดู)

                ให้เล่าเรียนดี -  พร่ำสอนเพื่อผลศิษย์ตนได้ดี

                บอกศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง - ไม่หวงหรือปิดบังอำพรางวิชา

 

            ยกย่องให้ปรากฎในชมชน -  ยกย่องเชิดชูเกียร์ติคุณศิษย์ให้ประจักษ์แก่สังคม

                ป้องกันภัยในทิศทั้งหลาย -   ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยแก่ศิษย์

                ลองตรองดูว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์มากน้อยเพียงใดหากปฏิบัติอยู่แล้วก็ขออนุโมทนาสาธุว่าท่านคือผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อองค์กรมิได้เป็นผู้ประเภท “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” หากยังขึงขังยืนยันเป็นมั่นเหมาะเอาให้หนักหน่อยก็เข้าทำนองกระต่ายขาเดียวว่าไม่ได้ “มาทำงานก็ทำงานไม่ได้มาเรียน ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน” ความคิดแบบนี้มีด้วยหรือ (ไม่แน่) ถ้าอย่างนั้นก็มามองทางด้านข้อกฎหมายกรมแรงงานเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างพนักงานดูบ้างเกี่ยวกับฝึกอบรมในส่วนของการลาดังนี้       

                “การลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้
                พนักงานมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้ความสามารถได้ตามหลัก
เกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
             การลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ ให้พนักงานแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วันก่อนวันลา โดยระบุถึงสาเหตุการลาโดยชัดแจ้ง
             
การสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้นแต่ไม่รวมถึงการลาไปศึกษาต่อ
 
แจ้งให้บริษัทฯทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนวันลา โดยระบุถึงสาเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง

            ในกรณีพนักงานลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ บริษัทฯจะไม่อนุญาตให้ลาได้ในกรณีได้รับอนุญาตให้ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถมาแล้ว ในปีนั้นสามสิบวันหรือสามครั้ง หรือการลานั้นต้องไม่เกิดความเสียหายแก่การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ”

                เมื่อได้ทราบแล้วทั้งส่วนที่เป็นหน้าที่และสิทธิอันพึงปฏิบัติของหัวหน้าในฐานะเป็นครูอาจารย์ของผู้ใต้บังคับบัญชาคงไม่มีอาจารย์ท่านใดไม่อยากเห็นความก้าวหน้าของศิษย์  ผลพลอยได้ที่จะกลับมาก็คือการประกาศเกียรติคุณอาจารย์ด้วยเช่นกันที่สร้างคนเพื่อให้คนสร้างองค์กร.

 

 

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<O>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที