วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 31 ก.ค. 2007 21.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4741 ครั้ง

เพื่อชาติไทยได้อยู่ยั้งยืนยง ประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้เลือกปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรเป็นอย่างดี


เหตุสิ้นชาติ

เหตุสิ้นชาติ

 

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

 

 

                วามเห็นที่แตกต่าง ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้ง  และหากความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อหาข้อยุติต่อปัญหาที่ดีที่สุด นำเหตุผล ผลได้เสีย มาชั่งน้ำหนัก  โดยยึดกติกาของบ้านเมือง มีรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง  ความขัดแย้งที่ว่ามานั้นเรียกความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  เป็นลักษณะของอารยะชนหรือผู้เจริญแล้วปฏิบัติ  ทั้งเป็นที่ยอมรับในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประเทศไทยยึดเป็นหลักการปกครอง

                ตรงกันข้ามหากความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้น และหวังเอาแต่ชัยชนะแห่งตนเป็นที่ตั้งไม่มีธงแห่งจุดจบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ  เพียงอ้างเหตุขึ้นมาตามกระแสหวังให้สาธารณะชนคล้อยตาม  ไม่สามารถหาเหตุปัจจัยหลักฐานมาประกอบได้  มุ่งหวังแต่ความสาแก่ใจในปัจจุบัน  เหล่านี้จัดได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีกติกา  ไม่สร้างสรรค์  เป็นวัตรปฏิบัติของทุรชนหรือคนที่ไร้แล้วซึ่งคุณค่า หรือนัยหนึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า “โมฆะบุรุษ” บุคคลผู้หาแก่นสารอะไรไม่ได้ บุคคลประเภทนี้เป็นได้ก็แค่คน โดยไม่มีสิทธิ์ที่จะน้อมนำคำว่ามนุษย์มาเป็นนามแทนตนได้เลยแม้แต่น้อย

                เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้กล่าวขานถึงในทางสรรเสริญเจริญพรแล้ว  จึงควรที่จะมีอนุสติระลึกสักนิดเถิดว่าอายุเรานั้นสั้นนัก เกินร้อยปีนะมีน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ใยจะประมาท  นับเป็นโอกาสดีแล้วที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยมีโอกาสได้สร้างความดีนานาประการ  อายุไขเหลือน้อยแล้วจะได้ทำความดีเพื่อชาติบ้านเมืองบ้างก็คงน้อยแต่ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

                หากวันนี้ไม่มีสติ  ทำอะไรไม่ระลึกให้รอบคอบผลการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนสังคมและประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว  ประวัติศาสตร์ท่านก็คือทรยศต่อมานุภูมิ  แต่ถ้าว่ากลับใจมาสร้างประโยชน์ร่วมมือกันเอาชาติบ้านเมืองเป็นจุดหมายหลัก  ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน  การแก้ไขก็เป็นไปได้โดยง่าย วันนั้นประวัติศาสตร์คงไม่ลืมที่จะบันทึกไว้ซึ่งกรรมกิริยาของท่านในทางที่ควรแก่การศึกษาเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานอ่านและเผยแพร่  

                แม้นที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้นไม่สามารถให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่อยู่ในวัฏจักรวังวนแห่งความขัดแย้งประเภทที่ไม่สร้างสรรค์สำนึกได้  ก็ขอให้มาทบทวนประวัติศาสตร์ไทย ที่ทำไมถึงได้รอดจากการเป็นอาณานิคมและเราๆท่านได้เชิดหน้าชูตาภูมิใจว่าไม่เคยเป็นทาสใคร ทั้งๆที่ในยุคนั้นมีภัยรอบด้าน  ความขัดแย้งก็รุนแรงมีหลายกลุ่มอำนาจ ดังข้อความบางส่วนที่ค้นพบ

                “...[1]จะเห็นได้ว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้นต่างก็ตระหนักถึงภัยจากตะวันตก และเมื่อจะมีการตัดสินใจในทางการเมืองประการใดก็มักจะคำนึงถึงปัจจัยภายนอกประเทศด้วยแม้จะมีความแตกแยกในทางด้านการเมืองในประเทศอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างวังหน้าและวังหลัง เป็นต้น แต่ก็เป็นที่เชื่อกันว่า มูลเหตุซึ่งดึงรั้งให้ชีวิตการเมืองในสมัยนี้มีลักษณะออมชอมและค่อยเป็นค่อยไป ปราศจากการรุนแรงและหักโหมก็คือ ความตระหนักในภัยที่คุมคามจากภายนอก...”

                เราทะเลาะกันก็ให้เป็นถือคนบ้านเดียวกันต้องยุติโดยไว  ผู้ใหญ่ต้องเอ็นดูอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน ผู้น้อยก็ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง อย่าลืมเอกลักษณ์มารยาทไทย  อย่าให้เรื่องในบ้านออกไปนอกบ้านมิฉะนั้นจะเป็น “ไฟในนำออก ไฟนอกนำเข้า” ผู้อยู่ในบ้านนั่นแหละจะถูกไฟเผาไหม้ คนนอกบ้านจะสมน้ำหน้าคอยจังหวะคว้าประโยชน์

                หากไม่มีสติ  ไม่ยึดบรรพชนเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาคงไม่ต้องรอให้น้ำแข็งละลายน้ำท่วมโลก เราๆท่านๆจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ลูกหลานจะหมดสิทธิ์ได้พูดว่า “เราไม่เคยเป็นทาสใคร”



[1] ความบางตอน เอกสารการสอนชุดวิชา  ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย (๘๐๑๐๑) สาขาวิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  พิมพ์ครั้งที่   ๒๔  หน้า ๔๑๕


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที