ศุภกร

ผู้เขียน : ศุภกร

อัพเดท: 22 ม.ค. 2008 11.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 185461 ครั้ง

การแก้ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่แค่คิดจะทำ แต่ต้องลงมือทำจริง
ปัจจุบันคนไทยที่ตื่นตัวเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อย ร่วมกันเผยแพร่ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนให้แก่คนที่ท่านรู้จักให้มากเท่ามากที่สุด


ภาวะโลกร้อน : ภาวะโลกร้อน-ระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

ภาวะโลกร้อน-ระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ
20 ธันวาคม 2549

19050_global_warming.jpg

ตัดต่อและเรียบเรียงจาก “CARBON CREDIT โลกสีดำจาก พิธีสารเกียวโต” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 043 ประจำวันที่ เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เรียบเรียงโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

ความย่อ : พิธีสารเกียวโต อนุสัญญาที่โลกและนักสิ่งแวดล้อมร่วมกันเฉลิมฉลองในฐานะการร่วมมือสู่โลกใบสะอาดและปลอดภัยไปเมื่อปี 47 ที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพียงมายาภาพในโลกทุนนิยม เมื่อกลไกและกระบวนการเพื่อลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก กลับกลายเป็นสินค้าเพื่อการซื้อขาย ในชื่อเรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ แต่หากโลกใบนี้พูดได้ อาจตอบได้คำเดียวสั้น ๆ ว่า สิ้นหวัง

อาจจะยาวสักหน่อยแต่พยายามอ่านกันหน่อยเถอะครับเป็นความรู้ที่ต้องถ่ายทอดต่อเพื่อโลกของเราจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

-------------------------------------------------------------

19050_cp_c2_20122006_01.jpg

“ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย มหาสมุทรร้อนขึ้นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลบางลง ชั้นดินเย็นแข็งคงตัวละลาย เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ทะเลสาบเล็กลง หิ้งน้ำแข็งพังทลาย ทะเลสาบจับตัวเป็นน้ำแข็งช้าลง แห้งแล้งยาวนาน ธารน้ำในเขตภูเขาเหือดแห้ง ปริมาณหยาดน้ำฟ้าเพิ่มขึ้น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วขึ้น ฤดูใบไม้ร่วงมาถึงช้าลง ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น ช่วงเวลาอพยพเปลี่ยนแปลง ถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป นกทำรังเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลุกลาม ปะการังฟอกขาว การทับถมของหิมะลดลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหายไป พืชและสัตว์ต่างถิ่นรุกราน แนวชายฝั่งสึกกร่อน ป่าในเขตภูเขาสูงแห้งแล้ง อุณหภูมิในเขตละติจูดสูงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว…เกิดอะไรขึ้นกับโลกกันแน่”

นี่เพียงแค่บทเกริ่นนำของบทความไตรภาค “มหันตภัยแห่งอนาคต: สัญญาณเตือนภัยจากปรากฏการณ์โลกร้อน” ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ชี้ให้เห็นภาวะโลกร้อนที่มีมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญ

และในขณะนี้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาล กลับใช้เวลาเพียงชั่วอายุคนเท่านั้นเอง

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก พยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักในปัญหาที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อ โดยเฉพาะการบริโภคแบบ ‘สุด สุด’ ที่ทำให้ต้องขุดพลังงานฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาใช้ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจก และเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้

19050_Global_Warming2.jpg

ด้าน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือสูงมาก และหากไม่ถึงขั้นวิกฤต คงไม่ออกมาเตือนว่า สภาพอากาศของ พ.ศ. 2546 ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียมีความเลวร้ายอย่างน่าตระหนก สภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีทั้งที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุด ปริมาณฝนมากที่สุด และเกิดพายุมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ส่วนของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน

เช่นเดียวกับรายงานลับที่เพนตากอนส่งถึงประธานาธิบดีบุช เมื่อต้นปี 2547 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกในอีก 20 ปีนับจากนี้จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกยิ่งกว่าภัยจากการก่อการร้าย จะคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านทั้งจากภัยธรรมชาติและสงครามเพื่อความอยู่รอด เมืองใหญ่ในยุโรปจะตกอยู่ในสภาวะอากาศแบบไซบีเรีย หลายเมืองสำคัญที่อยู่ริมฝั่งน้ำจะจมน้ำ เกิดความแห้งแล้งและอดอยาก จนนำไปสู่การจลาจลและสงครามในที่สุด

กระนั้น คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้ง 2 ชิ้น ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก คือรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลกเปลี่ยนท่าที

 

พิธีสารเกียวโต: ความหวังครั้งใหม่?

ภายหลังการลงนามในอนุสัญญา ให้มีผลบังคับใช้ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) หลังจากที่เจรจายาวนานกว่าค่อนทศวรรษ

ศรีสุวรรณ ควรขจร เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์การเจรจานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ระบุว่า “ชาวโลกยังคาดหวังมันเกินฐานะที่เป็นจริง”

จากความมุ่งหวังอย่างยิ่งยวดที่จะให้ทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ แต่เป้าหมายกลับต่ำเตี้ยเพียงว่า ในช่วงที่หนึ่ง (ภายในปี 2555) กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนมากปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแต่ครั้งปฏิวัติอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันนานนับศตวรรษ จะต้องเป็นผู้นำการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเพียง 5.2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ตนปล่อยในปี 2533 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเริ่มปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่กี่ทศวรรษมานี้ ค่อยไปร่วมรับผิดชอบลดการปล่อยในช่วงที่สอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร

ทั้งที่ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีข้อสรุปกันมาหลายปีก่อนการประชุมสุดยอดทางสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่า หากมนุษยชาติจะหลีกเลี่ยงหายนะภัยทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกให้ได้นั้น ปริมาณการปล่อยต้องลดลงถึง 70-80% ไม่ใช่เพียงแค่ 5-6 % และต้องดำเนินการโดยเร็ว คือภายใน 1 - 2 ปีนี้ ไม่ใช่ค่อย ๆ ลดในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

แต่หลายปีที่ผ่านมา “ในการเจรจาต่อรองที่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน โดยประเทศอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยความเหนือกว่า (ประเทศกำลังพัฒนา) ในกระบวนการเจรจาต่อรอง บวกกับอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่เริ่มเข้ามาครอบงำกระบวนการของการประชุม”

ผลที่ได้คือ เนื้อหาในพิธีสารที่อ่อนปวกเปียก และมองประเด็นการสร้างภาระต่อบรรยากาศที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ว่าเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะเขา ‘รวย’ เขาจึงมี ‘สิทธิ’ ทำได้ นั่นคือ อนุญาตให้ใครจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่เขาสามารถไปซื้อ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่เกิดจากการดูดกลับคาร์บอนด้วยวิธีการบางอย่าง หรือที่ในพิธีสารเรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เช่น การปลูกต้นไม้ซึ่งอ้างว่าจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นเนื้อไม้หรือใบไม้ ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินอยากจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต่อปีก็ปล่อยไป ตราบเท่าที่โรงไฟฟ้านั้นปลูกต้นไม้หลายพันต้น

วิธีการที่ว่านี้ไม่เพียง ‘ไม่แก้ปัญหา’ แต่ยังเพิ่ม ‘ความอยุติธรรม’ ด้วยการปล่อยให้ประเทศและคนที่ใช้พลังงานอย่างบ้าคลั่งลอยนวล โดยไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคว่า เขาต้องลดการใช้พลังงาน หากต้องการเห็นโลกดีขึ้น เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า แต่การปลูกต้นไม้นี้กลับนำไปสู่ปัญหาเรื่องการยื้อแย่งที่ดินและน้ำ โดยเฉพาะในประเทศซีกโลกใต้

ในเมื่อประเทศรวยอยาก ‘ผลาญ’ ต่อ ประเทศยากจนก็อยากได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต สิ่งที่เราจะเห็นในไม่ช้าก็คือ รัฐบาลประเทศที่จ้องจะขายคาร์บอนเครดิตจะไล่คนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นออกจากแผ่นดินของตัวเอง ตัดป่าธรรมชาติเพื่อสร้างสวนป่าด้วยไม้ตัดต่อพันธุกรรม ระบบนิเวศถูกตัดตอนลดความซับซ้อน ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย ฯลฯ

 

Carbon Trade Fair

“คาร์บอนกำลังจะเป็นสินค้าสุดฮอตในตลาดโลก และจะเป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่ที่สุดด้วย” นี่จึงไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เกินเลยจากความเป็นจริง ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมเกี่ยวเนื่องกับสาระของพิธีสารเกียวโตหลายครั้ง ต่างบรรยายความรู้สึกตรงกันว่า ไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นมหกรรมแสดงสินค้าที่เรียกว่า ‘คาร์บอน’ หรือ Carbon Trade Fair มากกว่า

กลุ่มเครือข่ายผู้สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ต่างคุยว่า ด้วยโครงการปลูกป่าเพื่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จะเป็นการเพิ่มการลงทุนในชนบท ซึ่งสามารถช่วยลดความยากจนได้ ผู้อ่านลองไปดูกันเลยดีกว่าว่า ‘การหากินกับอากาศ’ ครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์กันบ้าง

บรรษัทอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนมีพฤติกรรมและการลงทุนผูกติดอยู่กับการทำเหมืองและการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล พยายามขวางไม่ให้ตัวแทนสหรัฐผูกมัดตัวเองเข้ากับการลดการปล่อยแม้เพียงปริมาณน้อยนิด โดยในการเจรจาพิธีสารเกียวโต บรรดาบรรษัทเหล่านี้สั่งให้ตัวแทนสหรัฐและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ยืนยันที่จะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือการยอมให้มีการแลกเปลี่ยนค้าขายสิทธิหรือเครดิตในการปล่อยได้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดให้ได้ตามเป้าหมาย พวกเขาให้เหตุผลว่า อย่างน้อยนี่จะเป็นการถ่วงเวลาหรือหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจ

บริษัทผลิตไฟฟ้า มองการปลูกป่าว่า เป็นวิธีการราคาถูก และง่ายที่จะโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้บริโภคเห็นว่า พวกเขากำลังลดอยู่ คณะกรรมการผลิตไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในการดำเนินโครงการปลูกป่าไม้ซุงในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และการปลูกป่าสนและยูคาลิปตัสในเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์ โตเกียวอีเล็คตริคพาวเวอร์กำลังปลูกต้นไม้ในนิวเซาธ์เวลส์ ดีทรอยท์เอดิสันกำลังทำในอเมริกากลาง และซาสก์พาวเวอร์ของแคนาดากับแปซิฟิกพาวเวอร์ของออสเตรเลียก็กำลังทำอยู่ในประเทศของตัวเอง (อย่าไปถามว่าพวกนี้ได้ที่ดินในการปลูกป่ามาอย่างไร พวกเขาทำลายป่าธรรมชาติก่อนสร้างสวนป่าหรือไม่ และมีผลกระทบอะไรบ้าง)

บริษัทพลังงาน ขาใหญ่อีกราย พวกเขายืนยันที่จะผลาญพลังงานต่อไป โดยหวังไถ่บาปด้วยการปลูกป่าแทน บริษัทอเมริกันที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เซ็นสัญญามูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐกับคอสตาริกา ที่จะจ้างชาวนาให้ปลูกต้นไม้และดูแลเป็นเวลา 15-20 ปี อเมราดาแก๊สกำลังจะได้รับยี่ห้อ ‘Climate Care’ จากการปลูกป่าที่อูกันดา, ซันคอร์อีเนอร์จี (บริษัทขุดเจาะ กลั่นและขายน้ำมันของแคนาดา) วางแผนที่จะร่วมกับเซาเธิร์นแปซิฟิกปิโตรเลียมและเซ็นทรัลแปซิฟิกมิเนอรัลส์ในโครงการปลูกต้นไม้พื้นเมืองมากกว่า 180,000 ต้นในรัฐควีนส์แลนด์เพื่อ ’ชดเชย’ กับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะปล่อยออกมาในอนาคต

บริษัทรถยนต์ หวังได้ภาพลักษณ์สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ ในอังกฤษ ลูกค้าที่ซื้อรถมาสดารุ่นเดมิโอจะได้โบนัสพิเศษ คือบริษัทจะปลูกต้นไม้ 5 ต้นเพื่อ ‘ชดเชย’ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะรถปล่อยออกมาในปีแรก ดังนั้นลูกค้ามีสตางค์ก็ไม่เพียงแต่มีส่วนในการขุดเจาะ กลั่นน้ำมัน ทำเหมืองโลหะกับช่วยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการไล่รื้อที่ดินเพื่อใช้ในการปลูกป่าที่พวกเขาอาจไม่เคยได้เห็นอีกด้วย

บริษัทนายหน้าและธนาคาร คาดหวังที่จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากการเป็นนายหน้าตามตลาดคาร์บอนที่จะเปิดในชิคาโก ลอนดอนกับซิดนีย์ องค์กรอย่างสหพันธ์กักเก็บคาร์บอนนานาชาติและอเมริกันฟอร์เรสท์ก็กำลังวางแผนการตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ธนาคารอย่างยูเนียนแบงก์ของสวิตเซอร์แลนด์ก็กำลังรอปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการปลูกป่า

บรรดานักวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม แนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้มีการตั้งสถาบัน สร้างงานและเกียรติยศให้กับมืออาชีพจำนวนมากมายที่อยากทำวิจัย รับรอง และบริหารโครงการปลูกป่า บริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ สามารถกอบโกยผลประโยชน์ในการตรวจสอบและรับรองโครงการเหล่านั้น

องค์กรโลกบาล วางแผนที่จะกอบโกยจากการค้าคาร์บอน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองที่มีอยู่ในมือ ยกตัวอย่าง ธนาคารโลกหวังประโยชน์ 2 ทางจากการสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศกำลังพัฒนา แล้วก็คอย ‘เก็บกวาด’ ทีหลังจากโครงการปลูกป่า แล้วก็ยังใช้เงินทุนสนับสนุนจากบริษัทไฟฟ้ากับรัฐบาลยุโรปเหนือเพื่อพัฒนา ‘กองทุนคาร์บอนต้นแบบ’ (Clean Development Fund-CDF) ที่มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ‘ตลาดก๊าซเรือนกระจกของโลก’ และมีโครงการต่าง ๆ สำหรับประเทศทางใต้อยู่เต็มมือ โดยวางแผนจะผลักดันให้มีธนาคารคาร์บอนหรือตลาดแลกเปลี่ยนคาร์บอนขึ้นมา อีกทั้งในเอกสารลับยังระบุว่า จะกินหัวคิว 5 เปอร์เซ็นต์ จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

นักทำไม้อาชีพ เล็งผลเลิศจากการกลับมาบูมของการปลูกป่าคราวนี้ว่า เป็นหนทางที่จะยกระดับอาชีพที่อยู่ชายขอบและต่ำต้อยทางการเมืองของตนให้มีความสำคัญและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ เช่น สมาคมป่าไม้อเมริกันก็เสนอทันทีว่า จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นเพื่อบรรเทาปัญหา ที่นอร์เวย์ บริษัทป่าไม้ทรีฟาร์มส์ได้ประกาศโครงการปลูกสนโตเร็วและยูคาลิปตัสบนเนื้อที่ 150 ตารางกิโลเมตรของทุ่งหญ้าในแทนซาเนีย บริษัทอ้างว่าภายในปี 2553 โครงการนี้จะเก็บคาร์บอนได้มากกว่าหนึ่งล้านตัน

นักวิจัยวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ก็ยังคาดหวังที่จะมีลู่ทางการงานในตลาดปลูกป่าด้วย เพราะอุตสาหกรรมคาร์บอนที่กำลังโตอยากได้ต้นไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินสูงเพื่อต้นไม้จะได้อยู่นานขึ้น (แต่อาจต้องตบตีกับอุตสาหกรรมกระดาษที่อยากได้ไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินต่ำ)

นักวิชาการ จากสถาบันอย่างมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กกับมหาวิทยาลัยฟลอริดาก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการหาวิธีรับรองและตรวจสอบการดูดซับคาร์บอน หรือแม้แต่นักวิชาการไทยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากประเทศไทยรับโครงการ CDM แต่ละหน่วยงานจะต้องไปหาซื้อเซฟใหญ่มาเก็บเงินที่จะไหลมาเทมา”

เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศซีกโลกเหนือ (อุตสาหกรรม) หลายประเทศก็พากันตามกระแสอย่างขมีขมัน อย่างรัฐบาลออสเตรเลียหวังว่าการตั้งตลาดต่อรองเรื่องใบอนุญาตการปล่อยกับคาร์บอนเครดิตจะกระตุ้นเศรษฐกิจ, รัฐมนตรีเกษตรของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ก็ตื่นเต้นกับ ‘อุตสาหกรรมพลวัตใหม่’ ซึ่งจะสร้างงานในพื้นที่ปลูกป่าใหม่ ๆ นับล้านเฮกตาร์ เงินบางส่วนจะมาจากบริษัทผลิตไฟฟ้าญี่ปุ่น

รัฐบาลประเทศทางใต้ หลายประเทศก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะแข็งขืนกระแสการปลูกป่าได้ อาร์เจนตินาก็คิดว่าจะได้เงินปีละ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการ ‘ดูแลรักษาป่าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์’ ซึ่งปลูกด้วยเงินลงทุนต่างชาติ 4 พันล้านเหรียญบนพื้นที่ 10 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้า รัฐมนตรีประเทศแอฟริกันราว 26 คนได้เรียกร้องให้มีกองทุนพิเศษเพื่อเตรียมการงานบริหารจัดการ

เอ็นจีโอบางกลุ่ม ซึ่งตั้งตัวเองเป็นนายหน้าคาร์บอนและผู้เชี่ยวชาญการดูดซับคาร์บอน ก็หวังว่าจะได้การยอมรับจากผู้สนับสนุนหรือเพื่อนพ้องในรัฐบาลและธุรกิจว่าเป็น ผู้สนับสนุนแนวทาง ‘ตลาดเสรี’ ที่กำลังเป็นกระแสหลักในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนกองทุนปกป้องสภาพแวดล้อมกับพันธมิตรป่าฝนได้ร่วมกับ Forestry Research Institute ในการช่วยตรวจสอบบัญชีโครงการป่าคาร์บอนของซัน คอร์ปอเรชั่นในอเมริกากลางและที่อื่น ๆ

เอ้า...เอากันซะให้พอ

 

ภาวะโลกร้อน ภาวะสิ้นหวัง

ขณะที่คนบางกลุ่มกำลังหากินกับภาวะโลกร้อนอย่างขมีขมัน โลกไม่ได้อยู่เฉยให้พวกเขากอบโกย เพราะ “ระเบิดเวลาทางนิเวศกำลังเดินต่อไป” จากหนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ รายงานว่า ได้ถึงภาวะนับถอยหลังเข้าสู่หายนะอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยโลกอาจเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถกลับตัวได้ ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี นี่ไม่ใช่คำทำนายของนอสตาดามุส แต่เป็นรายงาน ‘การเผชิญความท้าทายของสภาพอากาศ’ ผลงานร่วมของ 3 สถาบันคือ สถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะของอังกฤษ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา และสถาบันออสเตรเลีย รายงานระบุว่า จุดอันตรายจะส่งสัญญาณเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 1750 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ขณะที่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงขึ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว 0.8 องศา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลที่จะเกิดตามมาจากการเพิ่มขึ้นต่าง ๆ เหล่านี้อาจรวมถึงความล้มเหลวทางการเกษตร ความแห้งแล้งครั้งใหญ่ ตลอดจนโรคระบาดชุกชุม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และป่าไม้แห้งตาย ผนวกกับข่าวร้าย พืดน้ำแข็ง (ice sheet) ขนาดมหึมาในด้านตะวันตกของแอนตาร์กติก มีมวลน้ำแข็งถึง 3.2 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ที่กำลังสูญเสียเสถียรภาพ ซึ่งหากละลายทั้งหมด จะยกระดับน้ำทะเลทั่วโลกให้สูงขึ้นอีก 16 ฟุต หรือ 4.8 เมตร และหากรวมกับน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และขั้วโลกเหนือที่กำลังหลอมละลายอย่างรวดเร็ว จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นอีก 20 ฟุต หรือ 5-6 เมตร รวมเหนือใต้แล้วอาจทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 12 เมตร

ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนรวมทั้งนักรณรงค์ปัญหาภูมิอากาศ...สิ้นหวัง ซึ่ง ผศ.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ถอนหายใจเมื่อได้ยินคำถามว่า จากภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ เราจะทำอย่างไรกันดี

“หากคุณมาถามคำถามนี้กับผมเมื่อ 10 ปีก่อน ผมอาจจะยังมีคำตอบให้ แต่ขณะนี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เราหลีกเลี่ยงหายนะเหล่านี้ไม่ได้ มันเกิดจากการใช้ชีวิตของเรานี่เอง.”


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที