นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174238 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๓ กลยุทธเชิงรุก

 

“หลักในการทำสงคราม

- การสยบประเทศของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายประเทศของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง (เมื่อไม่มีทางเลือก)

-  การสยบกองทัพของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองทัพของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

-  การสยบกองพันของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองพันของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบกองร้อยของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองร้อยของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบหมู่ของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายหมู่ของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง”

               

                ดังนั้น กองทัพที่รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ก็ยังไม่สุดยอดเท่า กองทัพที่สามารถเอาชนะข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบเลย

                ยุทโธบายชั้นยอดก็คือ

                อันดับแรก     เอาชนะข้าศึกในทางยุทธศาสตร์

                อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกทางการทูต

                อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกด้วยยุทธวิธีทางทหาร

                และอันดับสุดท้ายเมื่อ วิธีที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ผล คือ การเข้าโจมตีเมืองของข้าศึก (การใช้กำลัง)

                การใช้กำลังเข้าโจมตีข้าศึก ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเข้าโจมตีต้องรีบเผด็จศึกโดยเร็วดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ายังตีไม่ได้ นานวันเข้าอันตรายก็จะเข้ามาเยือน

                แม่ทัพผู้มีสติปัญญาในการใช้กำลังทหาร สามารถสยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบ ยึดเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าโจมตี และทำลายข้าศึกได้โดยใช้เวลาไม่นาน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพึงเอาชนะศัตรูด้วยการชนะทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งกองทัพก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำ และอ่อนล้า ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือกลยุทธเชิงรุก

                เมื่อต้องใช้กำลังทหารก็ให้ควรยึดหลัก

-          ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกสิบเท่า ให้พึงล้อมเอา

-          ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกห้าเท่า  ให้พึงบุกตีเอา

-          ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกหนึ่งเท่า  ให้กระหนาบเอา

-          ถ้ามีกำลังเท่ากับข้าศึก ให้ทำการแบ่งแยกกำลังของข้าศึก

-          ถ้ามีกำลังน้อยกว่าข้าศึก ให้ทำการสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่ง

-          และถ้ามีกำลังอ่อนแอกว่าข้าศึก จงหลีกเลี่ยงการรบขั้นแตกหัก พร้อมกับหนทางถอยทัพ เตรียมเข้าตีเมื่อมีกำลังเหนือกว่า เพราะถ้ากองทัพที่อ่อนแอเข้าสู่รบ ก็มีแต่ที่จะตกเป็นเชลยศึก

                ผู้นำทัพจึงเปรียบได้กับหลักชัยของประเทศชาติ ถ้าผู้นำทำหน้าที่อย่างครบถ้วน และทำงานอย่างสุดความสามารถ ประเทศชาติย่อมเข้มแข็ง หากผู้นำทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และทำงานไม่เต็มความสามารถ เมื่อนั้นประเทศชาติย่อมอ่อนแอ

 

                ผู้มีอำนาจปกครองประเทศสามารถนำความเสียหายมาสู่กองทัพได้ ๓ ประการคือ

                ๑. เมื่อไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจคืบหน้าได้ แต่กลับมีคำสั่งให้กองทัพคืบหน้า และไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจถอยทัพได้ แต่กลับมีคำสั่งให้ถอยทัพ นี้คือการมัดกองทัพ

                ๒. เมื่อไม่เข้าใจกิจการทางทหาร แต่กลับแทรกแซงการบริหาร ทำให้แม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง

                ๓. เมื่อไม่เข้าใจหลักยุทธวิธีทางทหาร แต่กลับเข้าแทรกแซงการบังคับบัญชา ทำให้แม่ทัพนายกองรู้สึกวิตกกังวล

                เมื่อแม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง และวิตกกังงล ข้าศึกที่ก็อาจคุกคามประเทศ นี่คือการสร้างให้กองทัพระส่ำระสาย เป็นช่องทางให้ศัตรูบุกเข้ามา

 

วิธีดูว่าฝ่ายไหนจะชนะข้าศึกมีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

๑.       ฝ่ายไหนรู้ว่าควรรบหรือไม่ควรรบ ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

๒.     ฝ่ายไหนรู้ว่าต้องใช้กำลังทหารมากน้อยเพียงใด ฝ่ายนั้นชนะ

๓.     ฝ่ายไหนผู้มีอำนาจปกครอง แม่ทัพนายกองกับ ประชาชนมีเจตนาตรงกัน ฝ่ายนั้นชนะ

๔.     ฝ่ายไหนเตรียมพร้อมรับมือกับข้าศึกอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายนั้นชนะ

๕.     ฝ่ายไหนมีแม่ทัพที่มีสติปัญญาความสามารถ และผู้ปกครองไม่แทรกแซงกิจการกองทัพ ฝ่ายนั้นชนะ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที