นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174237 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๔ ลักษณะการยุทธ

 

 

“ผู้นำทัพที่ชำนาญในสงคราม ย่อมทำให้ฝ่ายตนตั้งอยู่ในฐานะข้าศึกเอาชนะไม่ได้ เพื่อรอจังหวะ และโอกาสทำสงครามเอาชนะข้าศึก การที่ข้าศึกไม่อาจเอาชนะเราได้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายเรา และการที่ข้าศึกสามารถเอาชนะเราได้ ก็ขึ้นอยู่กับข้าศึกเช่นเดียวกัน”

               

                ฉะนั้น ไม่เสมอไปที่ฝ่ายเราตั้งตนอยู่ในฐานะข้าศึกเอาชนะไม่ได้ จึงขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย อันชัยชนะที่ได้จากสงครามหยั่งรู้กันได้ แต่ไม่อาจสร้างได้เสมอไป

                เมื่อฝ่ายเราไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ให้รับมือป้องกัน แล้วรอจนกว่าฝ่ายเราพร้อม จึงเข้าโจมตี

                พึงตั้งรับป้องกัน เมื่อข้าศึกมีกำลังมาก และโจมตีเมื่อข้าศึกมีกำลังไม่พอ

                ผู้นำทัพที่ชำนาญในด้านป้องกัน ประหนึ่งสามารถอำพรางกองทัพให้เร้นลับได้ไม่มีใครรู้ ส่วนผู้นำทัพที่ชำนาญในการบุกโจมตี จะสามารถทุ่มกำลังดังเหมือนสายฟ้าฟาดใส่ข้าศึก

                ผู้ที่สามารถหยั่งรู้ชัยชนะที่ใครต่อใครก็ทราบ ไม่ใช่ผู้สุดยอดในการทำสงคราม ผู้ที่ชนะสงครามแล้วถูกยกย่องสรรเสริญก็ไม่ใช่ผู้ที่สุดยอดในการทำสงครามเช่นเดียวกัน ดั่งภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ไม่สามารถยกขนสัตว์ได้ ไม่ใช้จอมพลังอย่างแท้จริง ผู้ที่สามารถมองเห็นเดือน เห็นตะวัน ก็มิใช้ผู้ที่มีดวงตาแจ่มกระจ่างเสมอไป ผู้ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็ไม่ใช้ผู้ที่มีประสาทหูดีเสมอไป”   

                ผู้ที่ได้ชื่อว่าสุดยอดแห่งการทำสงครามอย่างแท้จริง มักทำการรบชนะข้าศึกได้ง่าย อย่างธรรมดาที่สุด ไม่มีชื่อเสียงทางด้านสติปัญญา (ไม่สนใจในด้านชื่อเสียงที่ได้รับ) และไม่มีความชอบในทางวีรกรรมที่อาจหาญ (หมายความถึง ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จากลาภ ยศ สรรเสริญ) ฉะนั้นผู้นำเหล่านี้จะชนะการรบแน่นอน และไม่เกิดความผันแปรอย่างเด็ดขาด

                 เพราะฉะนั้น ผู้ที่ชำนาญการใช้กำลังทหาร ต้องมีปรับปรุงกิจการปกครองทหารเสมอ และ ต้องหมั่นศึกษาเงื่อนไขพื้นฐานในการเอาชนะข้าศึก จึงจะเป็นผู้ตัดสินแพ้ชนะได้

 

                เงื่อนไขพื้นฐานมี ๕ ประการ “พื้นที่ ทรัพยากร จำนวนพล กำลังทหาร และชัยชนะ”

๑.       อาณาเขตมากทำให้ได้เปรียบในเรื่องของขนาดพื้นที่

๒.     ขนาดพื้นมากที่ทำให้ได้เปรียบในเรื่องทรัพยากร

๓.     ทรัพยากรมากทำให้ได้เปรียบในเรื่องจำนวนพล

๔.     จำนวนพลมากทำให้ได้เปรียบดุลกำลังทางทหาร

๕.     ดุลกำลังทางทหารมากทำให้ทราบผลในการแพ้ชนะของสงคราม

                ฉะนั้นกองทัพผู้พิชิตจึงเปรียบเสมือนเอาไม้ซุงไปงัดไม้ซีก ส่วนกองทัพที่พ่ายแพ้ก็ไม่ต่างกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

                การทำการสงครามของผู้ชนะ เปรียบได้กับการปล่อยน้ำที่เก็บบนหน้าผาสูง ให้ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ อานุภาพการทำลายมีสูงมาก และนี่คือลักษณะของการยุทธ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที