นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174239 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๖ รู้ตื้นลึกหนาบาง

 

“ทัพฝ่ายไหนเดินทัพมาถึงสมรภูมิก่อนได้เปรียบ ฝ่ายนั้นไม่อิดโรย ทัพฝ่ายไหนถึงทีหลัง ต้องเตรียมการรบอย่างฉุกละหุก ฝ่ายนั้นอิดล้า กองทัพที่ชำนาญการศึก ย่อมเป็นฝ่ายบงการศึก ไม่ยอมให้ข้าศึกมาบงการตน”

                จะหลอกล่อข้าศึกให้เข้าในพื้นที่ที่เรากำหนด ก็ให้หลอกล่อให้ข้าศึกเกิดความโลภ จะสกัดกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เข้า ก็ทำลายสิ่งที่ทำให้โลภนั้นเสีย

                ถึงแม้ว่าข้าศึกจะมีความกระฉับกระเฉง ก็สามารถทำให้ข้าศึกมีความอิดโรยได้ แม้นข้าศึกอิ่ม ก็ทำให้ข้าศึกนั้นหิวได้ แม้นข้าศึกตั้งมั่นในฐานที่มั่น ก็ทำให้ข้าศึกสามารถย้ายกองทัพได้ เป็นเพราะว่าเราโจมตีในส่วนที่มีความสำคัญของข้าศึก จงทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนอลหม่าน และเข้าตีในส่วนที่ข้าศึกนึกไม่ถึง

                กองทัพเดินทางไกล โดยไม่อ่อนล้า ก็เพราะเดินทัพในเส้นทางที่ปลอดศัตรู เวลาเข้าโจมตีต้องโจมตีในส่วนที่ข้าศึกไม่สามารถป้องกันได้ ถึงคราวตั้งรับก็ตั้งรับอย่างมั่นคง เพราะต้องตั้งรับในส่วนที่รู้ว่าข้าศึกต้องโจมตีเราแน่ ๆ

                ทหารที่สันทัดในการบุกโจมตี ให้เข้าโจมตีในส่วนที่ข้าศึกขาดการป้องกัน

                ทหารที่สันทัดในการตั้งรับ ก็จงป้องกันพื้นที่ที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี

                ดังนั้น ผู้ที่ชำนาญการโจมตี ข้าศึกจะไม่รู้ว่าควรป้องกันที่ใด

                ส่วนผู้ที่ชำนาญในการตั้งรับ ข้าศึกก็จะไม่รู้ว่าจะเข้าตีที่ใด

                ทหารที่บุกโจมตีข้าศึกโดยข้าศึกไม่อาจตั้งรับได้ ก็เพราะเข้าโจมตีจุดอ่อนของข้าศึก ส่วนทหารที่จำเป็นต้องถอยทัพโดยศัตรูตามไม่ได้ จะกระทำอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครไล่ตามทัน เปรียบเหมือนไป-มาดังลมพัด ดังนั้นถ้าเราต้องการรบ ก็รบ ถึงแม้ว่าข้าศึกจะสร้างป้อมปราการไว้สูง และแข็งแรงเท่าใด ก็ยังต้องจำเป็นที่จะต้องทิ้งค่ายออกมารบอยู่ดี เพราะเราจะโจมตีในส่วนที่ข้าศึกจำเป็นต้องกอบกู้ หากฝ่ายเราไม่ต้องการรบ ข้าศึกก็จะไม่มารบด้วย ก็เพราะว่าเราจะเปลี่ยนเป้าการโจมตีของข้าศึกข้าศึกก็จะรีบไปป้องกันที่จุดนั้น ดังนั้นเราจะสามารถกำหนดรูปแบบของข้าศึกได้ แต่เราต้องไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (ไร้กระบวนทัพ เพื่อไม่ให้ข้าศึกจับทางได้) เมื่อเราไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เราจึงสามารถรวมกำลังของเรา แบ่งแยกกำลังข้าศึกได้ เราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ข้าศึกแตกแยกกันเป็นสิบ จึงเปรียบได้ว่าเราใช้สิบโจมตีหนึ่ง สถานการณ์นี้เราจะมีกำลังมากเข้าตีข้าศึกที่กำลังน้อยได้ ผู้ชำนาญการสงครามใช้กำลังมากตีกำลังน้อยจะสามารถกำจัดฝ่ายข้าศึกได้

                เราจะรบกับข้าศึกที่ได้ โดยข้าศึกไม่สามารถล่วงรู้ได้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องป้องกันไปเกือบทุกแห่ง ทำให้กำลังได้ถูกแบ่งออกไป จำนวนพลที่ป้องกันก็จะยิ่งน้อย เช่นถ้าข้าศึกป้องกันด้านหน้า กำลังด้านหลังก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านหลัง กำลังด้านหน้าก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านซ้าย กำลังด้านขวาก็เบาบาง มาป้องกันทางขวา กำลังด้านซ้ายก็เบาบาง และเมื่อป้องกันทุกแห่ง กองกำลังแต่ละแห่งก็เบาบาง

                เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าศึกอ่อนแอเพราะทำการแบ่งกำลังป้องกันเกือบทุกที่ กองกำลังฝ่ายเราจึงมีกำลังเข้มแข็ง เพราะเราได้ทำการแบ่งกำลังข้าศึก

                ถ้าข้าศึกสามารถคาดเดาเหตุการณ์  เวลา และสถานที่ในการสู้รบได้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากที่ทำการรบ ก็สามารถทำศึกได้ ถ้าข้าศึกไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ที่จะสู้รบได้ล่วงหน้า เมื่อทำการแบ่งแยกกำลังข้าศึกแล้ว ด้านหน้าก็จะช่วยด้านหลังไม่ได้ ด้านหลังก็จะช่วยด้านหน้าไม่ได้ ปีกขวาก็จะช่วยปีกซ้ายไม่ได้ ปีกซ้ายก็จะช่วยปีกขวาไม่ได้ ยิ่งถ้าอยู่ห่างไกลกัน ข้าศึกจะทำการได้ทันหรือ? แล้วกองทัพที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีประโยชน์อะไรล่ะ พูดได้ว่าชัยชนะนั้นเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ แม้ว่ากองทัพข้าศึกมีกำลังมหาศาลเราก็สามารถทำให้ข้าศึกไม่อาจสู้รบต่อกรกับเราได้

                ดังนั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแผนการ

ต้องกวนข้าศึกให้ปั่นป่วน เพื่อหยั่งเชิงกองทัพข้าศึก

ต้องรู้กฎเกณฑ์ และรูปแบบของข้าศึก เพื่อทราบจุดเป็นจุดตาย

และ ต้องทำการสู้รบดูเพื่อหาจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย

               

                สิ่งสำคัญในการวางแผนจัดรูปกระบวนศึก อยู่ที่จะไม่กำหนดรูปร่างให้แน่ชัด เพื่อว่าข้าศึกที่อาจเป็นสายลับแอบแฝงในกองทัพไม่สามารถดูรูปกระบวนศึกออก ถึงแม้ข้าศึกจะดูออกก็ไม่สามารถทำลายแผนนั้นได้

                และเมื่อแผนนี้ใช้สู้รบจนได้รับชัยชนะแล้ว ก็จะไม่ใช้ยุทธวิธีนั้นซ้ำอีก แต่จะวางแผนโดยดูสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่รู้จักจบสิ้น กล่าวว่าในการทำสงครามจะไม่มีสภาวะใดคงที่ 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที