จุดกำเนิด แนวคิด ปรัชญา ภารกิจ และค่านิยมของ ส.ส.ท.

ในช่วงทศวรรษ 1960 เกิดสงครามในเวียดนาม และประเทศในแถบอินโดจีน ซึ่งเป้าหมายของการทำสงครามก็เพื่อที่จะต่อสู้และขับไล่กองทหารของสหรัฐฯ ให้ออกจากภูมิภาคนั้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในประเทศไทยก็มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมของนักศึกษาและปัญญาชนต่อภัยที่คุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศ กระบวนการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเริ่มก่อตัวขึ้น และในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีการก่อตั้งชมรมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นขึ้นในต้นปี 2514 จนกลายเป็นความรู้สึกร่วมกันในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาควบคู่ไปกับการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารภายในประเทศในขณะนั้น และได้มีการเดินขบวนใหญ่ในปี 2517 เพื่อต่อต้านการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ นายทานากะ คาคุเอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น

ท่ามกลางกระแสการต่อต้านประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจภายในกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of International Trade and Industry: MITI) จึงมาขอคำปรึกษาหารือจากท่านอาจารย์โฮซูมิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เป็นที่ยอมรับในหมู่นักคิดทางด้านการศึกษา เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นผู้สร้างหอพักเอบีเคและชินเซอิ อันเป็นหอพักเฉพาะสำหรับนักศึกษาต่างชาติ (โดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศไทย) ด้วยจุดมุ่งหมายว่า "...ภายใต้สภาพการที่อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านประเทศญี่ปุ่นที่ครุกรุ่นอยู่เช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นสมควรพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภาคเอกชนต่อประเทศไทย..." แนวคิดในการก่อตั้ง ส.ส.ท. จึงก่อตัวขึ้น ภายใต้ภูมิหลังทางการเมืองในประเทศไทย และความเป็นห่วงกังวลภายในประเทศญี่ปุ่น

และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทั้งในระดับรัฐบาล ระดับเอกชน และระดับประชาชนอยู่ในสภาพที่ไม่ดีเลย ความพยายามใดๆ ที่จะริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การสื่อสารใด ๆ แม้เริ่มต้นจากความหวังดีก็ตาม หากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจผิดและขยายตัวไปเป็นกรณีขัดแย้งโดยไม่จำเป็น นักศึกษาไทยในญี่ปุ่น ทั้งที่กำลังเรียนอยู่และที่จบการศึกษาไปแล้ว จึงร่วมกับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นที่เคยร่วมทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ กันมารับหน้าที่เป็นตัวกลางที่คอยประสานและสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับทั้งสองฝ่าย จวบจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเดินทางไกลร่วมกัน ในความร่วมมือระดับเอกชนของไทยและญี่ปุ่น

จากจุดเริ่มต้นนี้ จึงพัฒนาไปสู่แนวคิดของกิจกรรมความร่วมมือที่มีภาคเอกชนและรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายของผู้ให้การสนับสนุน ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ญี่ปุ่น-ไทย) (Japan Thailand Economic Cooperation Society: JTECS) ในปี 2515 เพื่อทำหน้าที่รวบรวมการสนับสนุนทางการเงินส่งมายังประเทศไทย ขณะเดียวกัน JTECS ก็จะยังทำหน้าที่ประสานงานเพื่อนำเทคโนโลยีการผลิต และเทคโนโลยีการจัดการใหม่ๆ ตลอดถึงผู้เชี่ยวชาญและตำราเอกสารต่างๆ มาร่วมสนับสนุนกิจกรรมของ ส.ส.ท. สำหรับฝ่ายไทยนั้นได้มีการก่อตั้งเป็น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (Technology Promotion Association (Thailand-Japan): TPA) ในปี 2516 โดยมีกลุ่มผู้เคยศึกษา และผู้ผ่านการฝึกอบรมทางเทคนิคจากประเทศญี่ปุ่นเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญซึ่งมี ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง และเป็นฝ่ายรับการสนับสนุนดังกล่าว

โดยมีหลักการสำคัญในความร่วมมือระดับเอกชนของไทย และญี่ปุ่นดังนี้

ประการแรก คือ หลักการที่อาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ญี่ปุ่น-ไทย) ได้ยืนยันต่อกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมว่า "ฝ่ายญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนทางการเงิน (แก่ฝ่ายไทย) แต่จะไม่เข้าไปสั่งการ (ด้านนโยบายการดำเนินงาน)" ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอาจารย์สมหมาย ฮุนตระกูล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตำแหน่งในขณะนั้น) หลักการสำคัญนี้ประกันความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบาย และแผนการทำงานของสมาคมฯ และช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักวิชาการและปัญญาชนไทยได้ว่า ส.ส.ท. มีเจตนารมณ์อย่างแท้จริงในการรับใช้สังคมไทยโดยส่วนรวม ด้วยศรัทธา และความเชื่อมั่นดังกล่าว จึงทำให้สมาคมฯ สามารถระดมความร่วมมือจากนักวิชาการ ช่างเทคนิค และวิศวกรภายในประเทศได้อย่างกว้างขวาง และเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง คือ หลักการที่ว่า "ช่องประสานงาน เพียงช่องเดียว" ที่กำหนดให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประสานงานทั้งหมด ต้องผ่านเพียงช่องทางเดียว ช่องทางดังกล่าวคือ ส.ส.ท. ในประเทศไทย และ JTECS ในประเทศญี่ปุ่น การกำหนดหลักการดังกล่าวนี้ เป็นการป้องกันการแทรกแซงหรือการสั่งการจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ของญี่ปุ่น สำหรับระยะแรกของการทำกิจกรรม หลักการดังกล่าวช่วยให้ ส.ส.ท. สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ มีสมาธิ โดยไม่ต้องวุ่นวายกับความต้องการหรือการแทรกแซงจากหน่วยงานราชการหรือสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้น หลักการสำคัญทั้งสองประการได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนต่อสาธารณะอันเป็นการประกาศเปิดเผย เพื่อให้มีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกอย่างกว้างขวาง และย้ำความช่วยเหลือของญี่ปุ่นจะต้องเป็นแบบ "ออกเงินแต่ไม่ออกปาก" (kane wo dasu ga, kuchi wo dasanai) ซึ่งได้รับการปฏิบัติและรักษามาโดยตลอด กล่าวได้ว่า หลักการสำคัญทั้งสองประการนั้น เป็นเสาเข็มสำคัญในการปูรากฐานที่ดีเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของกิจกรรม และความสัมพันธ์ที่ราบรื่นของทั้งสององค์กรมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว ส.ส.ท. ยังมีกิจกรรม CSR ที่จัดขึ้นประจำทุกปี อาทิ งานประกาศผลรางวัลแก่วงการอุตสาหกรรม คือ Thailand Quality Prize, KANO Quality Award, Thailand Kaizen Award, Thailand Lean Award, และ Thailand 5S Award และกิจกรรมเพื่อเยาวชน คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ยุวชน และการแข่งขัน PLC Competition รวมทั้งกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์แก่สังคม คือ การจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล การบริจาคหนังสือแก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การปลูกป่า และการช่วยเหลือในด้านการเผยแพร่วิทยาการต่าง ๆ ผ่านการฝึกอบรม และเชิญบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมฝึกอบรมกับภาคอุตสาหกรรมไทยที่สมาคมฯ เช่น เขมร ลาว พม่า เวียดนาม

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 50 ปี ส.ส.ท. ได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ และสำหรับก้าวต่อไป ส.ส.ท. ยืนยันที่จะยึดถือเจตนารมณ์เดิมในการเป็นผู้ส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่บุคลากรไทย เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสืบไป ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า "ส.ส.ท. มุ่งที่จะเป็นผู้นำในการสั่งสม สร้าง และเผยแพร่วิทยาการ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย"


ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล อาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ และคุณวารี พงษ์เวช ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล อาจารย์โกอิจิ โฮซูมิ และคุณวารี พงษ์เวช
ร่วมพิธีเปิดที่ทำการแห่งแรก ณ อาคารอื้อจือเหลียง 24 พ.ค. 2516

ในปี พ.ศ.2518 ส.ส.ท. ได้ย้ายที่ทำการมายัง ซอยสุขุมวิท 29 ในปี พ.ศ.2518
ส.ส.ท. ได้ย้ายที่ทำการมายัง ซอยสุขุมวิท 29

ในปี พ.ศ.2541 ส.ส.ท. ได้ขยายเพิ่มที่ทำการแห่งใหม่ ถนนพัฒนาการ ซอย 18 ในปี พ.ศ.2541
ส.ส.ท. ได้ขยายเพิ่มที่ทำการแห่งใหม่ ถนนพัฒนาการ ซอย 18

ในปี พ.ศ.2550 เปิดสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2550
เปิดสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น


<< กลับหน้าแรก