editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654788 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทย (2)

       สัญญาว่า วันนี้ผมจะเขียนถึงกรณีศึกษาจริงเพื่อพัฒนาระบบหุ่นยนต์และการผลิตอัตโนมัติขึ้นใช้งานจริงๆ “นอกห้องปฏิบัติการ” ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ฟีโบ้มีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐภายนอกและอุตสาหกรรมเอกชนหลายโครงการ
       

       ลักษณะโครงการที่ฟีโบ้เลือกทำต้องเป็นงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ที่บริษัทรับจ้างเอกชนไทยรายอื่นไม่ทำ เสี่ยงสูงกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จเพราะขาดความรู้ความชำนาญ หรือทำด้วยงบประมาณสูงเกินไป หรือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประเทศ
       
       นอกจากนี้ ดรรชนีชี้วัดความสำเร็จที่ฟีโบ้เน้นมากคืออุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกับฟีโบ้ต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นและพึ่งพาตนเองได้เองหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ทั้งนี้ เนื่องจากฟีโบ้มิใช่องค์กรทางด้านการค้าที่ต้องหารายได้จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ฟีโบ้เลือกเป็น “เฝือก” ดามขาที่หัก เมื่อขานั้นได้การเยียวยาจนแข็งแรงเคลื่อนไหวได้แล้ว ก็ควรถอดเฝือกออก ให้ขาทำงานต่อไปได้เอง หากต้องเป็นเหล็กเสริมฝังตัวอยู่ภายในตลอดเวลา ฟีโบ้คงหมดโอกาสไปทำงานท้าทายอื่นๆที่สามารถเพิ่มพูนภูมิปัญญาได้
       
       ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ๆของโลก หากนับเรื่องของการผลิตแล้วถือว่าการดำเนินการผลิตในประเทศไทยติดอันดับต้นๆของโลก ยอดการผลิตโดยรวมทั้งปีของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ประมาณ 270 ล้านฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 28 Billion US$ (อยู่ในไทยประมาณ 8 Billion US$) ความต้องการเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 20% ต่อปี การแข่งขันสูงมากทั้งในเรื่องนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีช่วง Life Cycle ค่อนข้างสั้น ราคาขาย และต้นทุนการผลิต ทำให้ต้องมีการทำงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิต ลูกค้า และผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบและสร้างกระบวนการผลิตอัตโนมัติ ตลอดจนทำเลที่ตั้งและการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า-ห่วงโซ่อุปทาน
       
       ที่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทยอย่างยิ่งคือ ผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบและสร้างกระบวนการผลิตอัตโนมัตินั้น กลับกลายเป็นบริษัทสิงคโปร์และมาเลเซียมารับงานส่วนใหญ่ไปทำ ทั้งๆที่โรงงานผลิตและปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ฟีโบ้จึงเข้าหาบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้และเสนอตัวทำงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ทางสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้เข้ามา Audit การทำงานและคุณภาพนักวิจัยของฟีโบ้ โดยที่เราต้องทำงานแข่งขันกับห้องปฏิบัติการของบริษัทเขาเองที่ Silicon Valley และที่ Stanford University ต้องยอมรับนะครับว่าอุตสาหกรรมนี้มีคุณภาพในระดับสูงจริงๆ
       
       เทคโนโลยีการผลิตต้องรองรับเทคโนโลยีใหม่ในฮาร์ดดิสก์ได้ เป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้คือการผลิตฮาร์ดดิสก์เชิงพาณิชย์ขนาด 500 Gigabytes ความซับซ้อนทางเทคนิคจึงเกิดขึ้นมากมาย อย่างหนึ่งคือระยะห่างระหว่างหัวอ่าน/เขียน กับแผ่น Magnetics Media ต้องอยู่ในระดับโมเลกุลของอากาศ
       
       เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรู้สึกถึงความยุ่งยากในการควบคุมการทำงานนี้ได้ ผมขอเปรียบหัวอ่าน/เขียนนี้ขยายไปเป็นเครื่องบินโบอิ้ง โจทย์คือเราต้องสามารถควบคุมให้เครื่องบินนี้บินเหนือพื้นเป็นระยะประมาณ 3 นิ้วได้ตลอดเวลาแม้พื้นผิวจะขรุขระบ้างก็ตาม ขนาดและรูปร่าง(Geometry)ของหัวดังกล่าว มีผลต่อสมรรถนะอย่างมาก เราจึงต้องมีกระบวนการผลิตที่มีความแม่นยำสูงใช้ในการขัดหัวอ่าน/เขียน
       
       งานท้าทายที่ฟีโบ้รับมาแก้ปัญหาคือ ต้องขัดตาม Specification: ให้มี Standard Deviation ของ Magnetics Resonance Reading (MRR) ลดจาก 3 มาเป็นน้อยกว่า 1 โอมห์ และให้มี Surface Quality Improvement ขึ้นอีก 20% สำหรับผู้สนใจทางเทคนิค ผมขอเรียนว่าการปรับปรุงดังกล่าวบังคับให้ มีความคลาดเคลื่อน ในสามแกน Crown:Camber:Twist ไม่เกิน 0.3:0.3:0.1 ไมโครอินช์
       เนื่องจากความก้าวหน้าทางวัสดุไปเร็วมากกว่า Life Cycle ของกระบวนการผลิต หากบริษัทต้องเปลี่ยน Hardware ด้านระบบควบคุม ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล งานลักษณะนี้ฟีโบ้จึงต้องทุ่มเทพลังไปศึกษาทั้งทางด้าน Software และ Hardware ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ โดยได้จัด “กำลังพลนักเทคโนโลยี”ประกอบด้วย 3 PhDs ประสบการณ์รวมกันกว่า 50 ปี และนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก อีก 5 ท่าน เข้าไปทำงาน กิน-นอน อยู่ที่โรงงาน ถึง 4 เดือนเต็ม เขียน Software ขึ้นมาทดลองประมาณ 65 Versions จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เราสามารถลดค่า Standard deviation มาน้อยกว่า 1 โอห์ม ช่วยให้บริษัทประหยัดที่ไม่ต้องเปลี่ยน Hardware ถึง 7,000,000 US$
       
       นอกจากนี้ Software ใหม่ที่ฟีโบ้เขียนขึ้นนี้ ช่วยลดของเสียลงหนึ่งเท่าตัวประหยัดเงินอีกประมาณ 2,000,000 US$ ต่อปี ผลสำเร็จนี้ทำให้ผู้บริหารระดับสูงที่สำนักงานใหญ่สหรัฐอเมริกามีจดหมายถึงผม ขออนุญาตถ่ายทอดข้อความบางส่วนเป็นภาษาอังกฤษดังนี้
       
       “Hello Dr. Djitt,………I would like to propose that our Corporation grant your FIBO $(US)100,000 …….. For your perspective, this is as large of a grant as we give to Carnegie Mellon and M.I.T. annually, and is larger that what we give to any other US based university……”
       
       มีเพื่อนๆและครูบาอาจารย์หลายท่านถามผมว่าทำอย่างไร? ฟีโบ้ถึงมีความสามารถไปรับทำงานที่ยากๆเช่นนี้ ผมตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดมาก ว่าเราต้องมีคนเก่ง ที่ฟีโบ้เรามีนักวิจัยมืออาชีพคือ ดร. พิชิต ฤกษ์นันท์ และ ดร.สุรเชษฐ์ ชุติมา ที่ทำงานระดับเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิจัยห้องปฏิบัติการที่ Silicon Valley หากเขาทางโน้นพูด บทที่ 1 บทที่ 2 ทั้งสองท่านนี้สามารถพูดบทที่ 3 และบทที่ 4 ต่อได้เลย
       
       ประการที่สองเราได้รับโอกาสและความเมตตาจากอุตสาหกรรม และฟีโบ้ยอมทุกอย่างเพื่อขอโอกาสเช่นนี้เพื่อไปเรียนรู้และแสดงฝีมือ งานไหนไม่มั่นใจเราจะขอทำงานก่อนเมื่อมีผลงานออกมาดีจึงขอค่าแรงทีหลัง หากไม่สำเร็จ จะไม่มีการ charge ใดๆเลยโครงการไหนสำเร็จเราจะแนะนำลูกศิษย์ที่ร่วมงานเมื่อจบการศึกษาให้ไปทำงานที่บริษัทนั้นๆเพื่อให้บริษัทสามารถพัฒนาต่อได้เอง
       
       ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วฟีโบ้จะยกให้กับอุตสาหกรรมที่เราไปร่วมงานด้วย อันนี้อาจจะขัดต่อทฤษฎีที่ผมเรียนที่ Slaon School, MIT ผู้รู้ทางด้านนี้ของไทยได้แนะนำผมตลอดเวลาว่าจะต้องปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของฟีโบ้ด้วย อันนี้ทำได้ยากครับ เพราะฟีโบ้ไม่ได้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติที่บริษัทเหล่านี้ต้องมาง้อและเอาใจ ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม ฟีโบ้ต้อง “ไม่งอนแต่ง้อ” อุตสาหกรรมครับ เราอาจจะไม่มีงานทำกับอุตสาหกรรมนี้เลยก็ได้หากมัวแต่เจรจาเรื่องผลประโยชน์
       
       ประการที่สองเราเชื่อว่างานที่เราทำใหม่วันนี้ย่อมดีกว่างานเก่าเสมอ แล้วทำไม? ต้องไปยึดมั่นถือมั่นและภูมิใจกับความสำเร็จในอดีต ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ยินดีและขอบคุณนะครับหากอุตสาหกรรมจะมีค่า license fee ให้ แต่จะไม่เรียกร้องครับ ที่ฟีโบ้ความอยากทำงานมีมากกว่าเรื่องอื่นครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที