ผู้เขียน :

อัพเดท: . น. บทความนี้มีผู้ชม: ครั้ง


เตือน กินก๋วยเตี๋ยวนำตกเสี่ยงหูดับไตวาย

      เตือน! กินก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเสี่ยงหูดับ ไตวาย เสียชีวิตได้

 

       โดย ผู้จัดการออนไลน์

     2 เมษายน 2551 06:52 น.

    

                  สธ.เตือน “ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก” ใส่เลือดสด เสี่ยงติดเชื้อ “สเตรปโตค็อกคัส ซูอิส” หากน้ำไม่เดือดพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ ระบุหน้าร้อนแบคทีเรียยิ่งเจริญเติบโตได้ดี ระบุเสี่ยงหูหนวกเฉียบพลัน หากเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้ช็อก ไตวาย ถึงขั้นเสียชีวิตได้

                  

                   วานนี้ (1 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายโรค ทั้งโรคระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากในหน้าร้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าฤดูอื่นๆ ซึ่งโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปรุงไม่สุก ที่น่าเป็นห่วงโรคหนึ่ง คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส ที่เกิดจากการบริโภค อาหารที่ปรุงจากเนื้อหมูที่ไม่สุกและราดด้วยเลือดดิบๆ โดยเฉพาะ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ที่มีการนำเลือดหมูมาผสมกับน้ำก๋วยเตี๋ยว ทำให้เข้มข้นมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งหากน้ำก๋วยเตี๋ยวที่นำมาปรุงนั้น เป็นน้ำก๋วยเตี๋ยวที่เดือดหรือร้อนจัด จะไม่มีปัญหาเพราะความร้อนสามารถฆ่าเชื้อได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ พ่อค้า แม่ค้า ก๋วยเตี๋ยวจะนำเลือดเทใส่กระบวยตักน้ำก๋วยเตี๋ยวแล้วแค่แกว่งๆ ในน้ำร้อนไม่ถึง 30 วินาที ก็นำกลับมาเทใส่ชามให้ผู้บริโภคซึ่งอันตรายมาก เพราะหากเลือดหมูมีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอยู่ ก็สามารถที่จะติดสู่คนได้

                  

                   “เชื้อดังกล่าวสามารถเข้าสู่คนได้ 2 วิธี คือ เมื่อร่างกายคนมีแผลไปจับต้องหมูและกินเนื้อหมูหรือเลือดสด ความน่ากลัวของเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตค็อกคัส ซูอิส ไม่เพียงแต่ทำให้หูหนวกและสูญเสียการทรงตัว แต่หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียทำลายเยื่อหุ้มสมองจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 14 วัน หลังจากรับเชื้อ ประชาชนจึงควรรับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกก่อนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการติดต่อเชื้อนี้จากคนสู่คน”

                   นายชวรัตน์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องออกมาเตือนเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเนื้อหมูดิบ เลือดดิบ เพราะปัจจุบันยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก นิยมบริโภคของดิบ เลือดดิบ จึงจำเป็นต้องเตือนก่อนที่จะมีคนป่วยหรือเสียชีวิต

                  

                   ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ถือว่ามีความรุนแรงและน่ากลัว โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมองจนเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรวดเร็ว ภายใน 3 วันหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงลุกลามและทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึงและหูหนวกร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซ อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มอาการไข้

                  

                   นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส จะพบอยู่ที่บริเวณคอ ต่อมทอนซิล และเยื่อบุโพรงจมูกของหมู และพบประปรายในวัว แกะและแพะ เมื่อคนได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-3 วัน หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรุนแรงทำให้มีไข้ เวียนหัว ช็อกและไตวายเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต โดยเชื้อชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายคน หากนำหมูหรือเลือดหมูที่มีเชื้อมารับประทานโดยวิธีการปรุงไม่สุกและเมื่อเชื้อชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าทำลายระบบหูเป็นอันดับแรก หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ตาบอด โดยพบว่า ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายมีโอกาสที่จะเกิดหูหนวกหรือ หูดับ ถึงประมาณ 70-80%

                  

                   “นอกจากการ กินเนื้อหมูที่ไม่สุกหรือเลือดหมูที่ไม่สุกแล้ว คนสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนทำงานในโรงฆ่สัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล และสัตวแพทย์ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา วิธีการป้องกันจึงควรมีสวมถุงมือทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

                  

                   อนึ่ง จากข้อมูลประเทศไทยมีรายงานการพบผู้ป่วยลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2529 โดยป่วยเป็นโรคสเตร็ปโตค็อกโคซิส มีอัตราการตายประมาณ 10% ต่อมาในปี 2542 มีผู้ป่วยที่ รพ.ลำพูน ป่วย 10 คน เสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อที่ จ.เชียงใหม่ 40 ราย นครสวรรค์ 30 ราย ต่อมาช่วงเดือน ก.ค.2544 - ก.ค.2545 พบผู้ป่วย 19 ราย เสียชีวิต 7 ราย ที่เหลืออีก 12 ราย มีความพิการ หูหนวกทั้ง 2 ข้าง 3 ราย และอัมพาตครึ่งซีก 1 ราย อีกทั้ง ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2549 เฉพาะที่ จ.ลำพูน พบผู้ป่วย 15 ราย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที