GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 16 ส.ค. 2021 16.07 น. บทความนี้มีผู้ชม: 927 ครั้ง

McKinsey & Co ระบุว่าภายในปี 2025 การขายทางออนไลน์ การเติบโตของเครื่องประดับแบรนด์เนม ตลอดจนความต้องการด้านความยั่งยืนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องประดับโลกให้เติบโตยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ทั่วโลกจะเติบโตที่อัตรา 3-4% ต่อปี และยอดขายสินค้านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 18- 21% ภายในปี 2025 ซึ่งกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการบริโภคที่สำคัญของตลาด กระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนี้


กระแสที่จะพลิกโฉมวงการเครื่องประดับภายในปี 2025

        McKinsey & Co บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจจากอเมริการะบุในรายงาน State of Fashion: Watches and Jewellery ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าภายในปี 2025 การขายทางออนไลน์ การเติบโตของเครื่องประดับแบรนด์เนม ตลอดจนความต้องการด้านความยั่งยืนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องประดับโลกให้เติบโตยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

        McKinsey ระบุว่า ในช่วง 5 ห้าปีข้างหน้าเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ รูปแบบการจัดจำหน่าย และกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ขายและผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่เตรียมพร้อมและเปิดรับความเปลี่ยนแปลงในตลาดจะก้าวทันกระแสการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal

“ภายในปี 2025 ตลาดเครื่องประดับแท้ทั่วโลกจะเน้นแบรนด์มากขึ้น 

ใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากกว่าที่เคยเป็นมา”

        ในรายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ทั่วโลกจะเติบโตที่อัตราร้อยละ 3 - 4 ต่อปีนับจากปัจจุบันจนถึงปี 2025 โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมถึงตลาดภายในประเทศเนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดในการเดินทาง 

        McKinsey ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 3 ประการดังต่อไปนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้

        • ความมหัศจรรย์ของโลกออนไลน์ ที่ผ่านมาผู้ขายเครื่องประดับต้องเผชิญความท้าทายในการจำลองสิ่งต่างๆ ให้มาอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบริการสั่งทำเครื่องประดับ หรือการมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อธุรกิจออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยยอดขายเครื่องประดับแท้ทางออนไลน์ทั่วโลกน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 18 - 21 ของตลาดเครื่องประดับแท้โดยรวมภายในปี 2025 อย่างไรก็ดี ผู้ขายเครื่องประดับควรพิจารณาการเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรอบคอบ โดยไม่ลดความสำคัญของการสร้างประสบการณ์ทางดิจิทัล ด้วยการสร้างสรรค์นำเสนอสินค้าที่ดึงดูดใจ เพราะผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อเครื่องประดับจากอารมณ์ความรู้สึกเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คาดหวังการบริการและความใส่ใจในรายละเอียดจากการขายทางออนไลน์เช่นเดียวกับที่คาดหวังจากในร้าน และเนื่องจากในช่วงปี 2025 การขายเครื่องประดับแท้ราวร้อยละ 80 จะยังคงเกิดขึ้นภายในร้าน ดังนั้นการเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง

        • ซื้อสินค้าแบรนด์เนม เครื่องประดับแท้มักเชื่อมโยงกับกล่องสีน้ำเงินของ Tiffany & Co. หรือกล่องสีแดงของ Cartier หรือไม่ก็แคมเปญการตลาดอันเก่าแก่ “A Diamond Is Forever” ของ De Beers แม้ว่าแบรนด์เหล่านี้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เครื่องประดับแท้แบรนด์เนมก็ยังถือเป็นส่วนน้อยในตลาด โดยสร้างรายได้เพียงร้อยละ 20 จากยอดขายปลีกเครื่องประดับทั่วโลก แต่ในอนาคตข้างหน้าเครื่องประดับแท้แบรนด์เนมจะมีสัดส่วนตลาดเพิ่มเป็นร้อยละ 25 - 30 ภายในปี 2025 โดยคาดว่าจะทำรายได้ราว 8 หมื่นล้านถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แนวโน้มที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ McKinsey จึงคาดว่าเครื่องประดับแท้แบรนด์เนมจะมีอัตราการขยายตัวต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate) ที่ร้อยละ 8 - 12 ในช่วงปี 2019 - 2025 ซึ่งหมายความว่าเครื่องประดับแท้แบรนด์เนมน่าจะขยายตัวเร็วกว่าตลาดโดยรวมราว 3 เท่า

                ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดที่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยยอดขายในเอเชียนั้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของยอดขายเครื่องประดับแท้ทั่วโลก และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีจีนเป็นผู้นำ ยอดขายเครื่องประดับแท้แบรนด์เนมในเอเชียจึงอาจเติบโตถึงร้อยละ 10 - 14 ต่อปีตามข้อมูลจาก McKinsey

 

ที่มา: State of Fashion: Watches and Jewellery. McKinsey & Co.

        • ความยั่งยืนมาแรง การซื้อเครื่องประดับแท้ด้วยอิทธิพลจากปัจจัยด้านความยั่งยืนจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าภายในปี 2025 โดยยอดขายเครื่องประดับทั่วโลกราวร้อยละ 20 - 30 จะมาจากผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านความยั่งยืน จากเดิมที่เคยมองกันว่าความยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องของการบรรเทาความเสี่ยง ถึงตอนนี้อุตสาหกรรมเครื่องประดับจะต้องดำเนินการอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับปรุงขีดความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาและความโปร่งใสภายในห่วงโซ่อุปทาน ฉะนั้น แบรนด์ชั้นนำที่มีแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนจะสามารถชนะใจผู้บริโภครุ่นใหม่และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้วยประเด็นที่มาแรงนี้

ข้อมูลอ้างอิง


1. “‘Seismic shifts’ could bolster jewellery trade by 2025 – McKinsey.” Retrieved July 22, 2021 from https://jewellerynet.com/en/jnanews/news/24290.
2. “State of Fashion: Watches and Jewellery.” McKinsey. Retrieved July 23, 2021 from https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/state-of-fashion-watches-and-jewellery

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที